8 ศิลปินสร้างสีสันศิลปะแสดงสด'บางกอกอาร์ตเบียนนาเล่'


เพิ่มเพื่อน    

แวนดานา ศิลปินอินเดียกับการแสดง ฉัน เปลวไฟ

     

     นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่วัน “เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่” ก็จะมาถึง ภายใต้ชื่อ Beyond Bliss หรือ “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” โดย 75 กลุ่มศิลปินชั้นนำระดับโลกจาก 34 ประเทศ เดินทางมาจัดแสดงบนสถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ กว่า 20 แห่งในย่านสำคัญ

      และหนึ่งในงานศิลปะที่ไม่ได้มีให้ชมบ่อยๆ ก็คือศิลปะการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ หรือการแสดงสด จะมีขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยศิลปินจาก MAI ซึ่งก็คือกลุ่มศิลปินที่สนับสนุนศิลปะการแสดงสดและเผยแพร่ศิลปะแสดงสดกว่า 8 ชีวิต ได้แก่ ยานนิสพาพัส ประเทศกรีซ, แพนเทีย  ประเทศอิหร่าน, เดสปินา ซาคาโรโพลู  ประเทศกรีซ, แวนดานา  ประเทศอินเดีย, ลินเท็ต  เมียนมา, จี ฮุนยุน เกาหลีใต้, รีทู สัทธา  บังกลาเทศ และทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ ประเทศไทย จะมาร่วมสร้างสีสันเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบต่อเนื่องถึง 8 ชั่วโมงในแต่ละวัน ผ่านการแสดงชื่อ A POSSIBLE ISLAND? หรือเกาะแห่งความเป็นไปได้?

 

     ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการหอศิลป์บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวว่า A POSSIBLE ISLAND? หรือเกาะแห่งความเป็นไปได้ ไม่ได้มีความหมายที่ตายตัว ผู้ที่เข้ามาชมจะต้องตีความหมายความเข้าใจด้วยตนเอง ว่าเกี่ยวข้องกับชื่อการแสดงดังกล่าวอย่างไร แต่มีจุดประสงค์เพื่อนำผู้เข้าชมเดินทางสู่พื้นที่ที่จะสามารถหายใจแล้วกลับมาค้นหาตนเอง พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ และในขณะนั้นอาจได้เจอกับคำตอบอีกมากมายของชีวิต

      สำหรับการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบต่อเนื่องจาก 8 ศิลปิน คือแนวทางที่เลือกใช้เพื่อนำพาผู้ชมเข้าสู่ช่วงเวลาคู่ขนาน โดยช่วงเวลาที่ต่างจากปัจจุบัน การให้เวลากับการหายใจเข้า-ออก และการคิดวิเคราะห์คือหัวใจสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้ชมอาจจะเข้าใจในการแสดงรูปแบบต่างกัน หรืออาจจะยังเข้าไม่ถึง แต่อย่างน้อยๆ ก็อยากให้ผู้ชมได้รับรู้ว่าการแสดงสดคืออะไร และรู้จักว่า MAI คืออะไร ซึ่งก็คือกลุ่มที่สนับสนุนการแสดงสดให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก

จี ฮุนยุน กับผลงานรูปร่างของความโศกเศร้า

      จี ฮุนยุน ศิลปินชาวเกาหลีใต้ จะมาแสดงถึง “รูปร่างของความโศกเศร้า” (Geometry of Lamentation) เธอเผยถึงรายละเอียดการแสดงให้ฟังคร่าวๆ ว่า การแสดงชุดนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหว กับอารมณ์ชนิดหนึ่งที่เป็นความโศกเศร้า ซึ่งความโศกเศร้าเป็นโจทย์ที่ตนตั้งขึ้นเพื่อทำการค้นคว้า ว่าทำอย่างไรจึงจะอธิบายอารมณ์ออกมาเป็นรูปร่างได้ แล้วเราจะวัดอารมณ์ได้อย่างไร

      "จุดเริ่มต้นของงานนี้มาจากการศึกษาการแสดงในราชสำนักโบราณของเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งมีความเป็นนามธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และมีความกระชับเรียบง่าย ทั้งๆ ที่กำลังบอกเล่าเรื่องราวที่มีรายละเอียดมากมาย ได้นำมาใช้ในงานแสดงที่ ผมกำลังพยายามจะวัดสิ่งที่วัดไม่ได้ อย่างเช่น สภาพความเป็นไปของอารมณ์ที่อยู่ภายใน โดยพยายามจะแยกการเคลื่อนไหวแต่ละท่าออกมาเป็นสิ่งหนึ่งที่ไร้ความหมาย เพื่อให้ท่านั้นๆ มีสภาพที่เหมาะสม ใช้วัดอารมณ์ได้ ตอนที่แสดงตนจะสวมชุดขาวและใส่หน้ากาก เพื่อแสดงรูปร่างของความโศกเศร้า การเคลื่อนไหวต่างๆ และจะแสดงออกโดยให้ชุดถูกทาด้วยสีแดง สื่ออารมณ์โศกเศร้าให้ได้มากที่สุด ทำแบบนี้ในทุกๆ วัน" จี ฮุนยุน เล่าที่มาของผลงานของเขา

      ขณะที่แวนดานา ศิลปินชาวอินเดีย จะจัดแสดงเรื่อง “ฉัน, เปลวไฟ” หรือ I the flame โดยศิลปินเผยว่า ชื่อของการแสดงนี้ก็มีที่มาโดยตรง 'จากปรากฏการณ์เป็นหนึ่งเดียว, การกลับมาอยู่ร่วมกัน หรือกล่าวได้ว่าเป็นการค้นพบตนเองที่อยู่ภายในจิตที่อยู่ในร่างกายในรูปแบบของเปลวไฟ' ซึ่งประโยคนี้มีการบันทึกไว้ในคัมภีร์ของศาสนาฮินดู งานแสดงนี้เป็นการทดลองและความพยายามในการยกระดับสติ สมาธิ ให้จดจ่ออยู่กับสิ่งเดียว ซึ่งจะใช้เทียนไขที่มีเปลวไฟกำลังลุกไหม้มาเป็นเครื่องมือในการแสดง โดยการจ้องมองเปลวไฟอย่างต่อเนื่อง เป็นการท้าทายให้จิตอยู่กับปัจจุบัน และคิดว่าจะเตือนตัวเองโดยส่งเสียงบอกว่า 'ฉันกำลังมองเปลวไฟอยู่' หรือหากมีสิ่งอื่นเข้ามารบกวนจิตใจ ตนก็จะจุดเทียนใหม่ หรือเมื่อพบว่าตัวเองบังเอิญละสายตาจากเปลวไฟ ก็จะจุดเทียนเล่มใหม่ก่อนที่เล่มเก่าจะดับ เพื่อรักษาความต่อเนื่องและลื่นไหลของพลังงาน และจะค่อยๆ เบนสายตาจากเทียนเล่มเก่าไปยังเล่มใหม่โดยไม่ขาดตอน

 

ลินเท็ต ศิลปินชาวเมียนมา

       ส่วนลินเท็ต  ศิลปินจากย่างกุ้ง เมียนมา ก็จะมาในผลงานการแสดง "Our Gloious Past Our Glorious Present Our Glorious Future" หรือ "อดีตอันเรืองรอง ปัจจุบันอันเรืองรอง และอนาคตอันเรืองรองของเรา" การแสดงสดชุดนี้เป็นการสำรวจปัญหาเกี่ยวกับตัวตนของผู้คนในเมียนมา ซึ่งมีปัญหาขัดแย้งภายในประเทศมาอย่างยาวนานตั้งแต่เป็นอิสระจากอังกฤษเมื่อปี 2491 โดยเฉพาะวิกฤตการณ์โรฮีนจาในเมียนมา ได้ขับเน้นให้เห็นปัญหาเกี่ยวกับการค้นพบตัวตน การเมืองที่เกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ ความรุนแรงระหว่างกลุ่ม การแบ่งแยกที่สนับสนุนโดยรัฐ และการกดขี่และปฏิเสธโดยรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเศร้า และเป็นสัญญาณเตือนให้รับรู้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัยทั่วทุกมุมโลก      งาน Our Gloious Past Our Glorious Present Our Glorious Future ในครั้งนี้จัดเป็นการใช้ร่างกายนั่งเพื่อการไตร่ตรอง          

      ชมการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ของ 8 ศิลปิน ในวันที่ 18 ต.ค.-11 พ.ย.2561 นี้ ที่ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ติดตามข่าวสารและตารางกิจกรรมของงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018” เพิ่มเติมที่เฟซบุ๊ก Bkkartbiennale หรือ www.bkkartbiennale

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"