17 ต.ค.61- พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก วาระพิเศษว่า สถานการณ์ในอนาคตข้างหน้า กองทัพบกจะต้องเผชิญกับสถานการณ์หลายอย่างตามปฏิทินการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้านั้น กองทัพบกเตรียมการทำความเข้าใจของกำลังพล ที่สำคัญที่สุดผู้บังคับหน่วยจะต้องแยกแยะภารกิจให้ออก เราในฐานะกองทัพบกและเป็นทหารของชาติทหารของประชาชน มีหน้าที่อยู่แล้วที่จะสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม นี่คือหน้าที่ของกองทัพ กองทัพต้องทำงานให้กับรัฐบาล เพราะฉะนั้นในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีเกิดขึ้น ตนได้ประชุมผู้บังคับหน่วยและเน้นย้ำในส่วนที่เป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.)ได้ให้แนวทางว่าต้องใช้ความระมัดระวัง
"จากนี้ไปก็ต้องถูกจับตา จับจ้องจากนักการเมืองยอมรับว่า ทหารขาดประสบการณ์เรื่องการเมือง
อาชีพทหาร เราอยู่ในกรม กอง โอกาสพบกับประชาชนมีน้อยมาก นอกจากออกไปช่วยเหลือประชาชนเมื่อเดือดร้อนและประสบภัยต่างๆเพราะฉะนั้นวิสัยทัศน์ที่จะไปเผชิญกับโลกภายนอกวิถีทางการเมืองลำบาก ผมจึงให้แนวทางของกองทัพ โดยเฉพาะ กกล.รส.เนื่องจาก เราสวมหมวก 2 ใบ คือ ในฐานะกองทัพบกและในฐานะที่เป็น คสช.จากการเดินต่อไปนี้ต้องระมัดระวัง ไม่ให้การเมืองเข้ามาใช้ประโยชน์ จากการช่วยเหลือประชาชนยืนยันว่า กองทัพช่วยเหลือประชาชนเราไม่ได้หาเสียง"
พล.อ.อภิรัชต์ ยืนยันว่า ทหารไม่มีความจำเป็นต้องหาเสียง เพราะไม่รู้จะหาเสียงไปเพื่ออะไร การช่วยเหลือประชาชนถือเป็นหน้าที่เป็นอาชีพของทหาร ไม่ได้ต้องการช่วยเหลือเพื่อให้ได้เสียงมา เราช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอดในทุกภารกิจ ในทุกครั้งที่ประชาชนเดือดร้อน นี่คือหน้าที่ของทหาร โดยอาชีพ โดยจิตสำนึก และจิตอาสา ในทางกลับกันตนอยากให้กำลังพลระมัดระวังการฉกฉวยโอกาสที่มองว่าการไปช่วยเหลือประชาชนของทหารนั้นเป็นการหาเสียง ขอย้ำว่าเราทำมานานแล้วและอยากให้ประชาชนได้รู้ว่าทหารช่วยเหลือประชาชนด้วยอาชีพด้วยใจ ไม่ได้หวังผลไม่ได้ต้องการ ให้มาเลือกคนที่ไปช่วยเหลือ แต่ช่วยเหลือตามแนวทางของรัฐบาล
ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลใดเราก็ต้องดำเนินการตามแนวทางที่รัฐบาลที่ได้กำหนดไว้ เช่น ปัจจุบันรัฐบาลได้ต่อยอดโครงการประชารัฐเป็นโครงการไทยนิยมยั่งยืนซึ่งก็มี 3 หน่วยงานหลัก ตั้งแต่ กระทรวงมหาดไทย ฝ่ายปกครอง กระทรวงการคลัง โดยแบ่งเป็น 2 หมวดด้วยกันซึ่งก็คงทราบกันดีอยู่แล้วการสร้างความมั่นคงยั่งยืนเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ 10 ประการทั้งหมด ซึ่งทหารต้องสนับสนุนให้เดินควบคู่ไป เห็นว่าโครงการไทยนิยมยั่งยืนนั้นเป็นโครงการที่รัฐบาลมีความตั้งใจจริงต้องการให้เกิดความมั่นคงสอดคล้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ซึ่งกรมการปกครองได้แจกจ่ายคู่มือมาให้กับกองทัพบก เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน
"จากนี้ไปถูกจับตามองแน่ เพราะกองทัพและ คสช.ก็คือเนื้อเดียวกัน ขณะนี้รัฐบาลก็คือรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยืนยันว่าไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลเราก็ต้องทำ ผมก็ต้องทำ ไม่ว่าใคร พรรคการเมืองใดมาเป็นรัฐบาล ไม่ต้องห่วง ผมยืนยันและจุดยืนในการทำงานของผมในการกำหนดทิศทางๆให้กำลังพลในกองทัพบก ได้ดำเนินการ ผมทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์และเกินร้อยอยู่แล้ว ไม่ว่าใครมาเป็นนายผม" ผบ.ทบ.กล่าวและว่า
ส่วนการวางตัวเป็นกลางในสถานการณ์ข้างหน้านั้นเราเป็นทหารอาชีพ และตนผ่านวิกฤตทางการเมืองและการทหารมาทุกยุคทุกสมัยประสบการณ์ที่ตนเก็บเกี่ยวตลอดระยะเวลาที่รับราชการมาตั้งแต่สมัยเด็กๆและมาจาก พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งเป็นคุณพ่อของตน จนมายืนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในทุกวันนี้ ความเป็นกลางนั้นขึ้นอยู่กับคนมอง บางครั้งเราทำเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำเป็นกลาง แต่มุมมองของคนอื่นมองว่าเราไม่เป็นกลางถามว่าจะเอาอะไรมาตัดสินหรือเป็นเครื่องวัดว่ากองทัพอยู่ตรงไหนแต่ขอให้มั่นใจว่า กองทัพเป็นกลางและอยู่เคียงข้างประชาชนจะดำเนินการทุกอย่างให้ประชาชน อยู่ดีกินดีช่วยเหลือประชาชนทุกโอกาส
ย้ำว่ากองทัพบกเป็นมืออาชีพ เป็นทหารอาชีพ คำว่าทหารอาชีพกับอาชีพทหารแตกต่างกัน ขอความเป็นธรรมด้วย ตั้งแต่เริ่มต้นว่า เรากองทัพบกจะวางตัวเป็นกลางเราในฐานะทหารอาชีพ ใครมาเป็นรัฐบาลต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล
เมื่อถามว่า อุปสรรคในการทำหน้าที่และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น มีอะไรน่าห่วงหรือไม่ พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า อุปสรรคของกองทัพในขณะนี้ตนคิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการที่ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของกองทัพ ว่ากองทัพออกไปช่วยเหลือประชาชนด้วยความบริสุทธิ์ใจ และ การทำความเข้าใจกับกำลังพลในการลงไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกำลังพลนั้นบางครั้งมุมมองหรือการทำงานของเขา เป็นอุปสรรคในตัวเอง ถามว่าโครงการไทยนิยมยั่งยืน จะจบเมื่อไหร่ สมมุติว่าทหารเข้าไปแนะนำชาวบ้านตามคู่มือโครงการไทยนิยมยั่งยืน แต่โครงการไทยนิยมยั่งยืนอยู่ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แล้วจะบอกว่าเราสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หรืออย่างไร ซึ่งถือเป็นเรื่องลำบากขอให้แยกแยะอยากให้ประชาชนได้เข้าใจและให้ความเป็นธรรมกับเราด้วย
พล.อ.อภิรัชต์ ย้ำว่า อย่าลืมในช่วงสมัยรัฐบาลรักษาการเมื่อปี 2552 และ 2553 เกิดวิกฤติการณ์ก่อนการเลือกตั้ง ทหารก็ต้องดำเนินการตามรัฐบาลที่รักษาการเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นอุปสรรคก็คือการทำงานและความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ที่เราเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนการเตรียมการการเลือกตั้งนั้น
ในปัจจุบันให้หน่วยได้มีความเข้าใจตรงกันว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นในปฏิทินการเลือกตั้งตามโรดแมปตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าลงพระปรมาภิไธยใน พรป.ประกอบการเลือกตั้ง ที่มาของ สส.และสว. ซึ่งตนได้แจกจ่ายรายละเอียดให้กับ ผบ.หน่วย เพื่อให้หน่วยมีความเข้าใจว่าจากนี้ไป 90 วันจะเกิดอะไรขึ้นอีก 150 วันและการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด หากผู้บังคับหน่วยเข้าใจตรงกันไปในทางเดียวกัน เราก็จะมาดูในแต่ละเรื่องการทำงานกองทัพควรจะดำเนินการอย่างไร
เมื่อถามว่า สถานการณ์ในอนาคตเกิดวิกฤติกองทัพจะปฏิวัติอีกหรือไม่ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงเป็น ผบ.ทบ.ยืนยันมาตลอดไม่ปฏิวัติ แต่ก็ปฏิวัติ พล.อ.อภิรัชต์ นิ่งไปครู่หนึ่งก่อนจะตอบว่า เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สื่อได้มีการบันทึกภาพในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่าให้เป็นเพียงแต่ภาพที่เกิดขึ้น ให้บันทึกอยู่ในสมองในความทรงจำ เช่นเดียวกับคนไทยทุกคนที่เคยเห็นภาพต่างๆที่เคยเกิดขึ้นเมื่อบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ทำอะไรก็ลำบาก ค้าขายก็ลำบาก ถนนถูกบล็อก คนไทยออกมาตีกัน ยิงกัน ฆ่ากัน วันนั้น ทหารยืนอยู่ตรงไหน เราถูกรัฐบาลสั่งการให้ออกมาควบคุมความสงบเรียบร้อย เราทำด้วยหัวใจ ที่ไม่ได้คิดแบบนักการเมืองว่าเราจะเข้ามาบริหารประเทศ
"และผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้คิดอยากช่นเดียวกัน แต่ความที่ท่านต้องเสียสละ ถามว่าในวันนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตัดสินใจทำรัฐประหาร ยอมรับว่าผมมีความคุ้นเคยกับ พล.อ.ประยุทธ์แต่ไม่มีเรื่องส่วนตัวกับท่าน เพราะท่านใช้ผมทำงานมาโดยตลอด เดือนหนึ่งได้เจอกัน 5 ถึง 10 นาทีก็เต็มที่แล้ว ผมถึงบอกว่าความเป็นกลางก่อนผมในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก ผมเจอท่านในเวลาสั้นๆถือว่าเก่งแล้วในชีวิตนี้เคยนั่งคุยกับท่านไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ได้เห็นความรัก ความรู้ ความทุ่มเทในการทำงานของท่าน ซึ่งเป็นแบบอย่างหนึ่งของผมในการดำเนินงานด้านราชการและถ้าวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตัดสินใจบ้านเมืองจะเกิดอะไรขึ้น ผมว่าการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่อยู่ที่ประชาชน "
ผบ.ทบ.กล่าวว่าหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์รุนแรงในบ้านเมืองเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นอีก ที่ผ่านมามีเหตุการณ์อะไรขึ้นมาก็ไม่เคยขนาดนี้ เพราะมีการแย่งแก่งแย่ง ชิงการเมือง การเอาชนะ ไม่รู้จักแพ้ไม่รู้จักชนะ แล้วคนที่แพ้ก็คือประเทศ ยืนยันว่ากองทัพไม่มีวันชนะประชาชน แต่ประชาชนที่ออกมาสร้างความเดือดร้อน ยั่วยุให้จุดไฟเผา มีการประกอบระเบิด นั่นคือท่านแพ้ ท่านเป็นประชาชนที่ทำให้ประเทศแพ้ แทนที่เราจะแข่งขันทางการค้า แล้วต้องใช้เวลากี่ปีฟื้นฟูประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากเกิดเหตุการณ์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีการยกเลิกการนำเข้าส่งออกของประเทศต่างประเทศเป็นเงินมหาศาลกว่าจะฟื้นฟูกลับมาได้ใช้เวลาเท่าไร
"จุดไฟเผาในเมือง เกิดกลียุค ปีเดียวสิ่งปลูกสร้างทำได้ แต่ในทางการค้าไม่ใช่ ความมั่นใจของต่างชาติในการลงทุนต้องใช้เวลานานกว่านั่น แต่วันนี้ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น อาจจะเห็นผลช้า ไม่ทันใจ ผมเชื่อว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำทุกอย่างอย่างรอบคอบ สิ่งที่สื่อถามว่าจะมีปฏิวัติหรือไม่ ผมหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าการเมืองอย่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอีก"
"ผมมั่นใจว่า ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจราจล ก็ไม่มีอะไร ประเทศไทยเคยมีปฏิวัติมา 10 กว่าครั้ง แต่ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว เพราะช่วงหลังเกิดจากการเมืองทั้งสิ้น ผมไม่ได้บอกว่านักการเมืองดีหรือไม่ดี แต่เชื่อว่า นักการเมืองที่ดีก็มี และนักการเมืองที่ไม่ดีก็มี แต่ปัจจุบันคนไทยเป็นอย่างไร ผมเสียใจในหลายๆเรื่องที่เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมถูกละเมิด การตัดสินคดีในหลายคดีกับคนทำความผิด บอกว่าไม่เป็นธรรมและประเทศชาติจะอยู่ตรงไหน อะไรเป็นกกลาง อะไรคือจุดยืนของประเทศ ในเมื่อบอกคนนี้ผิด ก็แย้งว่าไม่ผิดถูกแกล้ง แล้วจะอยู่อย่างไรตนก็ไม่เข้าใจเหมือนกันจะให้คนไทยอยู่กันอย่างไรโดยไม่มีกฎระเบียบวินัย"ผบ.ทบ.กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |