สภาทนายความยันบุคลากรมีความพร้อมร่วมโครงการทนายอาสาตามโรงพักสนองนโยบายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่งบประมาณไม่เพียงพอ เผยยังค้างหนี้สร้างที่ทำการใหม่ 300 ล้านบาท ค้างจ่ายทนายอาสาอีกหลายสิบล้าน วอนรัฐบาลช่วยดูแลให้ปลอดหนี้สินด้วย
เมื่อวันอังคาร ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการดำเนินการระหว่างองค์กร โดยมีแผนระยะเร่งด่วนข้อ 2 คือ โครงการทนายอาสาประจำสถานีตำรวจ ว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาทนายความคือมาตรการเร่งด่วนข้อที่ 2 นั้น ทางสภาทนายความมีความพร้อมด้านบุคลากรที่เป็นทนายความอยู่ทั่วประเทศ แต่คงต้องดูรายละเอียดว่ารัฐจะให้ใครเป็นผู้รับผิดชอบในมาตรการนี้ ทั้งการจัดสรรงบประมาณและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในโครงการทั้งหมดต้องมีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อการดำเนินการ ซึ่งที่ปฏิบัติอยู่เดิมเป็นการรับเงินงบประมาณงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายจากงบประมาณแผ่นดินผ่านทางกระทรวงยุติธรรม เพียงปีละ 50 ล้านบาท แต่ต้องช่วยเหลือประชาชนทั้งประเทศ คิดเป็นต่อหัวประชากรทั้งประเทศได้ไม่ถึง 1 บาทต่อคน
ว่าที่ พ.ต.สมบัติกล่าวว่า สภาทนายความเองต้องจัดสรรงบประมาณของสภาทนายความไปสมทบ ทั้งที่สภาทนายความยังมีภาระหนี้สินค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการสภาทนายความอยู่กว่า 300 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ค่าตอบแทนทนายความอาสาจะได้วันละ 1,000 บาท ขณะนี้สภาทนายความยังมียอดค้างจ่ายทนายความอาสาอีกหลายสิบล้านบาท จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศ รัฐให้การสนับสนุนสภาวิชาชีพโดยมีงบประมาณสนับสนุน ทั้งการก่อสร้างที่ทำการด้วย แต่ในประเทศไทยกลับไม่มีงบประมาณสนับสนุน สภาทนายความต้องไปกู้เงินจากธนาคารมาดำเนินการก่อสร้างเอง ครั้นเมื่อรัฐมีนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็จะคิดถึงสภาทนายความ กำหนดมาตรการให้สภาทนายความรับผิดชอบ
"ขอเรียนว่างานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความสามารถช่วยเหลือประชาชนได้โดยไม่มีข้อจำกัด และมีบุคลากรที่มีคุณสมบัติครบถ้วน พร้อมดูแลประชาชนทุกคนได้ทันที และพร้อมตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในทุกนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยดูแลสภาทนายความให้ปลอดภาระหนี้สิน และมีงบประมาณที่เพียงพอต่อการดำเนินการต่างๆ ด้วย ซึ่งนอกจากการช่วยเหลือประชาชนทางด้านการให้คำปรึกษา การจัดทนายความช่วยว่าต่างแก้ต่างทางคดี สภาทนายความยังมีโครงการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชนทั่วประเทศด้วย แต่ในระยะหลังนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทั่วถึง เพราะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ" ว่าที่ พ.ต.สมบัติกล่าว
สำหรับแนวทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตามร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญาและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมี 4 มาตรการเร่งด่วน ดังนี้
1.การรับแจ้งความร้องทุกข์คดีอาชญากรรมต่างท้องที่ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็วแก่ประชาชน ไม่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่จุดเกิดเหตุ แต่สามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งแล้วให้สถานีตำรวจที่รับเรื่องร้องทุกข์เร่งสอบปากคำผู้แจ้งโดยละเอียด ก่อนจะส่งเรื่องให้กับสถานีตำรวจท้องที่ภายใน 3 วัน
2.โครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ ที่ทางสภาทนายความจะจัดทนายไปประจำแต่ละสถานีตำรวจ นำร่องที่ 150 สถานีตำรวจตัวเมือง และสถานีตำรวจที่มีคดีเกิดขึ้นมากกว่า 1,000 คดีต่อปี ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนสถานีที่มีคดีมากกว่า 2,000 คดี ต่อไปจะมีทนายอาสาตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่สถานีตำรวจที่เหลือ แม้จะไม่มีทนายอาสาในช่วงแรก แต่ประชาชนสามารถขอปรึกษากับทนายอาสาผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้เช่นกัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
3.การห้ามนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในทุกกรณี เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา ที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด แต่สามารถนำรูปภาพของผู้ต้องหาหรือภาพถ่ายตามหมายจับมาเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนได้ในกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เช่น เพื่อการสืบสวนจับกุมคนร้าย หรือประชาสัมพันธ์ให้ผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อเข้าแจ้งความเพิ่มเติมกับตำรวจ
4.การขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในวันหยุดราชการ ซึ่งศาลจะมีการพิจารณาคำร้องผัดฟ้องฝากขังและปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุด ขณะที่ตำรวจก็จะเร่งพิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นพนักงานสอบสวนหรือไม่ภายใน 24 ชั่วโมง และสามารถฝากขังผู้ต้องหาได้ในช่วงวันหยุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |