ระยะหลังๆ หลายคนคงเริ่มได้ยินคำว่าบล็อกเชน (Blockchain) กันมากขึ้น ซึ่งในตอนนี้หลายองค์กรก็ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้งานกับธุรกิจของตนเองมากขึ้น หรือจากผลสำรวจของ PWC ระบุไว้ว่า 84% ของผู้บริหารทั่วโลกที่ทำการสำรวจนั้น พบว่าประมาณ 15% ได้บล็อกเชนเข้ามาใช้งานจริงแล้ว ขณะที่เกือบ 1 ใน 3 หรือ 32% มีแผนที่กำลังจะพัฒนาโครงการ และ 1 ใน 5 หรือ 20% อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้อยู่
ลองมาดูกันว่ารายงาน Blockchain is here. What’s your next move? นี้ จะสะท้อนให้เห็นอะไรกันบ้าง แล้วเหล่าบรรดานักธุรกิจและผู้ประกอบการต้องปรับตัวกันอย่างไร โดยรายงานดังกล่าวได้ทำการสำรวจผู้บริหารจำนวน 600 ราย ใน 15 ตลาดสำคัญทั่วโลก เกี่ยวกับการพัฒนาระบบบล็อกเชนรวมถึงมุมมองต่อศักยภาพของเทคโนโลยีดังกล่าว โดยมีสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าหลายองค์กรยังคงมีความกังวลว่าตนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หลังการพัฒนาบล็อกเชนได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเปิดประตูไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยต้นทุนที่ลดลง ความรวดเร็วที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ที่มีมากขึ้นนั่นเอง
สำหรับประเทศที่ถูกมองว่ามีความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการบล็อกเชนมากที่สุดจะเป็นสหรัฐอเมริกาประมาณ 29% สาธารณรัฐประชาชนจีน 18% และออสเตรเลีย 7% แต่กระนั้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้าประมาณ 30% ของผู้บริหารเชื่อว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐได้ ดังนั้นจะทำให้ศูนย์กลางในการพัฒนาบล็อกเชนมาอยู่ในประเทศจีนแทน
ขณะเดียวกัน จากรายงานในชุดเดียวกันนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความล้ำหน้าของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินในการพัฒนาบล็อกเชน โดย 46% ของผู้บริหารระบุว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน เป็นผู้นำการพัฒนาบล็อกเชนอยู่ในปัจจุบัน ส่วนอีก 41% บอกว่าในระยะอันใกล้หรือ 3-5 ปีข้างหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานและสาธารณูปโภค หรือแม้แต่บริการทางด้านสุขภาพ และอุตสาหกรรมการผลิต ก็ล้วนแต่มีความต้องการใช้บล็อกเชนในอนาคต
ในเรื่องนี้ยังมีความเห็นจากสตีฟ เดวีส์ หัวหน้าสายงานบล็อกเชนของ PwC ระบุไว้อีกด้วยว่า สิ่งที่ผู้บริหารธุรกิจบอกกับทางผลสำรวจ ก็คือไม่มีใครอยากถูกบล็อกเชนทิ้งไว้ข้างหลัง แม้ว่าตอนนี้จะเป็นระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ก็ตาม แต่ความกังวลต่อความไว้วางใจและกฎระเบียบข้อบังคับยังคงมีอยู่ โดยบล็อกเชนที่ถูกออกแบบมาอย่างดีนั้น ไม่ได้เพียงช่วยตัดตัวกลางเท่านั้น แต่ทว่ายังช่วยลดต้นทุน เพิ่มความรวดเร็ว การเข้าถึง ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ให้กับกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ หากผู้บริหารมีความเข้าใจอย่างแท้จริงว่า จะนำศักยภาพของเทคโนโลยีนี้มาใช้ได้อย่างไร ก็จะทำให้เหตุผลทางธุรกิจมีน้ำหนักและสร้างความน่าดึงดูด
จะเห็นได้ว่าศักยภาพของบล็อกเชนนั้นมีมาก แต่ก็ยังมีอีก 45% ของผู้บริหารมองว่า ความไว้วางใจ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด ที่ปิดกั้นการนำบล็อกเชนมาใช้ ในขณะที่ 48% เชื่อว่าความไม่แน่นอนของกฎระเบียบจะเป็นปัจจัยที่ปิดกั้นการพัฒนาดังกล่าวอีกด้วย โดยความกังวลเกี่ยวกับความไว้วางใจในหมู่ผู้ใช้งานพบมากที่สุดในกลุ่มผู้บริหารจากสิงคโปร์ 37% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 34% และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 35%
ส่วนความเห็นจาก วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ได้เห็นความเคลื่อนไหวของทั้งองค์กร และหน่วยงานกำกับดูแลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังจำกัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ถือว่าสอดคล้องไปกับกระแสโลก คาดว่าจะเห็นความตื่นตัวขององค์กรไทยจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะเริ่มศึกษาเพื่อนำบล็อกเชนมาพัฒนาในอุตสาหกรรมของตนบ้าง
จากผลสำรวจก็เป็นข้อมูลเบื้องต้น ที่บ่งชี้ถึงการนำบล็อกเชนมาใช้ โดยอีกไม่นานจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โลกการเงินเท่านั้น แต่ในธุรกิจอื่นๆ ก็สามารถปรับใช้ได้เช่นกัน การปรับตัวของทั้งภาครัฐและเอกชนไทยต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีดังกล่าว จะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาบล็อกเชนในระยะยาว
แน่นอนว่ามีปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เกิดโอกาสทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น คือเรื่องของการศึกษา และทำความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับกิจการของตน ก็จะมีข้อได้เปรียบกว่าเดิม.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |