พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นที่ประจักษ์ต่อปวงชนชาวไทยมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีมากถึง 49 เพลง เป็นสิ่งยืนยันถึงพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระองค์เป็นอย่างดี
จากพระราชประวัติในแง่มุมต่างๆ ซึ่งมีทั้งเอกสาร รูปถ่าย และคำบอกเล่าของผู้เคยถวายงานใกล้ชิดต่างกล่าวตรงกันว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดการดนตรีมาตลอดพระชนมชีพ โดยมีพระราชดำรัสว่าการเล่นดนตรีนั้นเป็น "ยา" ขนานแท้
รศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ บุตรชายของอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ (ศิลปินแห่งชาติสาขาดนตรีสากล) ผู้เข้าเฝ้าฯ และถวายงานด้านดนตรีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงพระเมตตาให้เข้าร่วมบรรเลงดนตรีในวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี และทั้งยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์เพื่อให้ไปศึกษาด้านดนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ.2533-2544 จนกระทั่งเด็กชายภาธรได้มีโอกาสเรียนจนจบปริญญาเอกทางด้านดนตรี และปัจจุบันได้เป็นอาจารย์สอนภาควิชาดนตรี เชี่ยวชาญเพลงพระราชนิพนธ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน
อาจารย์ภาธรเล่าว่า ใน พ.ศ.2496 อาจารย์แมนรัตน์ได้เล่นดนตรีถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะนั้นพระองค์ทรงดนตรีชื่อวงว่า วงลายคราม พ่อเคยเล่าว่าประสบการณ์ครั้งแรกของท่านเล่นดนตรีสากลอยู่ที่วงสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สมจ.) ซึ่งเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาเล่นดนตรีเพื่อออกอากาศสดสถานีวิทยุ อ.ส. วันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทอดพระเนตรการอัดเสียงและได้เข้าเฝ้าฯ คุณพ่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านพระราชทานชื่อและนามสกุล "แมนรัตน์ ศรีกรานนท์" เดิมคุณพ่อชื่อ เรมอนด์ ซีเกรา จึงขอรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท จากนั้นมาพระองค์ท่านทรงรับเป็นนักดนตรีวงลายคราม ซึ่งวงลายครามประกอบด้วยเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และพระประยูรญาติ ต่อมาหลายพระองค์มีพระชนม์มากขึ้น จึงมีทั้งกราบบังคมทูลลาและเสียชีวิต ทำให้สมาชิกขาดหายไปเหลือเพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพ่อ จึงได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตหานักดนตรีหนุ่มสาวเพิ่มเข้ามา ซึ่งก็พระราชทานพระบรมราชานุญาต คุณพ่อได้ไปชวนนักดนตรีในวง สมจ. ปัจจุบันนิสิตเหล่านี้จบออกมาเป็นหมอฟัน วิศวกร สถาปนิก เมื่อนักดนตรีอายุมากไม่อยู่แล้วจึงได้เปลี่ยนชื่อจากวงลายครามเป็นวงดนตรี "อ.ส.วันศุกร์" หรือ "อัมพรสถานวันศุกร์" สถานีวิทยุที่จัดตั้งขึ้นในพระที่นั่งอัมพรสถาน และเล่นออกอากาศเฉพาะวันศุกร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นหัวหน้าวง พระองค์ท่านทรงแซ็กโซโฟน คุณพ่อเล่นเปียโน ถือได้ว่าคุณพ่อเป็นลายครามรุ่นสุดท้ายและเป็น อ.ส.วันศุกร์คนแรก
"ตอนเด็กๆ พ่อพาผมไปเฝ้าฯ ขณะพระองค์ท่านทรงดนตรี ผมก็คุ้นเคยกับอาๆ ในวง อ.ส. เมื่อเติบโตรู้เรื่องราว 10 ปี เห็นพระองค์ท่านทรงแซ็กโซโฟนก็เกิดความชอบและอยากเป่า หลังจากนั้นฝึกฝน พอเล่นได้พ่อก็พาเข้าไปถวายตัว นับแต่นั้นมาก็เล่นมาโดยตลอด ที่ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ พระองค์ท่านก็ได้พระราชทานทุนให้ตั้งแต่เกรด 8 หรือ ม.2 ปิดเทอมก็กลับมาเฝ้าฯ และเล่นในวง อ.ส.ถวายพระองค์ท่าน จนจบปริญญาตรีและโทที่อเมริกา ปริญญาเอกที่อังกฤษ" ดร.ภาธรเล่าด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
อาจารย์ภาธรเล่าอีกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงผูกพันกับดนตรี ทรงรักและทุ่มเท มีพระราชดำรัสกับตนว่าดนตรีมีพลังหลายอย่าง เป็นสิ่งกล่อมเกลาจิตใจ มีพลังโน้มน้าว ซึ่งตนก็เห็นตรงกับพระองค์ท่าน ถ้าไม่ควบคุมดนตรีมีคุณอนันต์และโทษมหันต์เพราะมีแรงโน้มน้าวจิตใจ แต่พระองค์ท่านทรงเล็งเห็นการใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อสารกับประชาชนของพระองค์ท่าน นับตั้งแต่แรกเลยที่พระองค์จะทรงสื่อสารกับประชาชน ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลงแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยซ้ำ เช่น เพลงแสงเทียน เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก เพลงยามเย็น เพลงสายฝนเป็นเพลงที่สาม เพลงต่างๆ เหล่านี้มีอิทธิพลในความคิดของคนนั้นๆ
อย่างเพลงแสงเทียน ทรงพระราชนิพนธ์เสร็จแล้วไม่ได้พระราชทานในทันที มีพระราชประสงค์ปรับปรุงแก้ไขให้ดีก่อนพระราชทานออกมา เพลงนี้ทรงแก้เยอะและยาวนานที่สุด ก่อนเสด็จฯ เข้ารับการรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราชก็ยังทรงแก้ไม่เสร็จ เพลงนี้แต่งขึ้นหลังประเทศไทยเพิ่งออกจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงนึกถึงเพลงนี้เป็นเพลงบลูส์ เนื้อหาค่อนข้างหนัก เพลงบลูส์เป็นดนตรีของคนผิวดำที่แสดงความรู้สึกบีบคั้นกดดันที่อยากปลดปล่อยออกมา พระองค์ท่านไม่มีพระราชประสงค์ให้ประชาชนมีความเครียดมากขึ้น จึงไม่พระราชทานเพลงนี้ออกมา เนื้อร้องที่พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ทรงเป็นผู้แต่ง แต่ทำนองเพลงเป็นของพระองค์ท่านที่ต้องการให้เป็นบลูส์ จึงไม่แปลกใจเลยที่จะพระราชทานเพลงยามเย็น เพลงสายฝนมาก่อน เป็นเพลงฟังสบายๆ
เพลงรักก็ทรงพระราชนิพนธ์และพระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่เด่นๆ คือ 5 เพลงพระราชนิพนธ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์เนื้อร้องด้วยพระองค์เอง แล้วยังมีเพลงให้กำลังใจ เพลงมาร์ช เพลงปลุกใจ และเพลงพระราชทานแก่สถาบันต่างๆ อย่างเพลงพระราชนิพนธ์ยิ้มสู้ ทรงแต่งให้กำลังใจคนตาบอด เพลงนี้เป็นตัวอย่างที่ดี วิธีการแต่งเพลงพระองค์ทรงใช้แบบจำง่าย มีแค่สองจังหวะ ตัวโน้ต วลีที่สองก็ล้อวลีที่หนึ่ง นี่คือความใส่พระราชหฤทัยของพระองค์ มีความละเอียดลึกซึ้ง
ขณะที่เพลงแสงเทียนก็แสดงพระอัฉริยภาพของพระองค์ท่าน แต่งยากมาก ใช้โน้ตเพลงสากลระบบ 12 เสียง ทั้งที่ในยุคนั้นคนไทยชินกับ 5 เสียง 7 เสียงเท่านั้น ทรงทดลองหลายอย่าง ช่วงนั้นเป็นยุครัฐนิยม จอมพล ป. พิบูลสงครามสนับสนุนให้คนเต้นลีลาศ เพลงยุคนั้นของพระองค์ท่านจึงเป็นเพลงประกอบการเต้นรำ เช่นเพลงใกล้รุ่ง ตนเคยทูลถามพระองค์ท่านมีพระบรมราชวินิจฉัยอย่างไร จึงมีพระราชดำรัสตอบว่าเป็นจังหวะสวิงธรรมดา แต่ความพิเศษในท่อนกลางอยากให้เป็นจังหวะรำวง ทรงทดลองแต่งเพลงในรูปแบบต่างๆ
หรือเพลงพระราชทานแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จริงๆ แล้วทรงพระราชนิพนธ์เสร็จก่อนมหาวิทยาลัยขอด้วยซ้ำ มีคนบอกเล่นยาก เพลงนี้ท่านแต่งด้วย 5 เสียงเท่านั้น และเลียนเสียงเพลงไทยเดิม ทรงตั้งชื่อเพลง That's All แล้วพระราชทาน นอกจากนี้ยังมีเพลงที่พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสให้คุณพ่อแต่งให้กำลังใจทหาร เพลงปลุกใจถวาย นำไปบรรเลงและเผยแพร่สถานที่ต่างๆ
ดร.ภาธรเล่าต่ออีกว่า พระองค์ทรงเล่าถึงที่มาของการโปรดดนตรีว่า ขณะทรงพระเยาว์แพทย์ประจำพระองค์กราบทูลสมเด็จย่าว่า ทั้งรัชกาลที่ 8 และพระอนุชา (ร.9) มีพระพลานามัยไม่แข็งแรง แนะนำให้สูดอากาศบริสุทธิ์และเล่นเครื่องดนตรีเครื่องเป่าเพื่อบริหารปอดให้แข็งแรง รัชกาลที่ 8 จึงทรงคลาริเนต ส่วนรัชกาลที่ 9 ทรงแซ็กโซโฟน หลังจากนั้นพระองค์ท่านทรงเกิดความรักในเครื่องดนตรีชนิดนี้ และทรงดนตรีชนิดนี้มาตลอดพระชนมชีพ
"ช่วงที่พระองค์ท่านเสด็จฯ มาประทับรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ตลอด 4 ปีพระองค์ทรงดนตรีทุกวันเสาร์ พระองค์ทรงคลาริเนต สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงกีตาร์ คุณพ่อเล่นคีย์บอร์ด และผมเล่นแซ็กโซโฟน พระองค์ท่านทรงเล่นต่อเนื่องหลายชั่วโมงแล้วก็เสวยพระกระยาหาร เปิดเพลงระหว่างเสวยพระกระยาหาร ทำให้ช่วงนั้นพระอาการดีขึ้นและเสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาลได้" อาจารย์ภาธรกล่าว
อาจารย์ภาธรเล่าอีกว่า ได้ถวายรับใช้ด้านดนตรีพระองค์ท่านมาตลอด มีพระราชดำรัสให้แก้ไขปรับปรุงเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมด ซึ่งค่อยๆ ทำกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปีจนครบหมดทุกเพลง เหลือเพียงเพลงแสงเทียนที่ยังมีพระบรมราชวินิจฉัยไม่แล้วเสร็จ
"ผมยังจำได้ดีถึงพระราชกระแสรับสั่งของพระองค์ท่าน ทรงให้รักษาเพลงพระราชนิพนธ์ ทรงให้ผมได้ปรับปรุงแก้ไขเพลงเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว จัดทำโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์แต่ละเพลงและถวายให้ทอดพระเนตรเพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัย ใช้เวลา 5 ปีก็แล้วเสร็จ พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ให้มีการเผยแพร่เพลงพระราชนิพนธ์ได้อย่างกว้างขวางและถูกต้องสมควรกับที่มีพระราชประสงค์ บางครั้งเรารักท่านผิดๆ จะเล่นเพลงพระราชนิพนธ์แต่กลับปู้ยี่ปู้ยำ"
อาจารย์ภาธรกล่าวถึงการเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ว่า ต้องยึดเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ หลายเพลงของพระองค์เป็นสไตล์คลาสสิก เช่น เพลงกินรีสวีท โน้ต ทำนอง และคอร์ดไม่ควรเปลี่ยน ควรรักษาไว้ แต่หากพระราชนิพนธ์เป็นเพลงแจ๊ซ เช่น แคนเดิลไลต์บลู ก็สามารถเล่นสไตล์แจ๊ซพลิกแพลงได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสม สมัยก่อนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งคณะกรรมการพิจารณาเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งอาจารย์ภาธรเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ มีการกำหนดกฎเกณฑ์การแก้ไข
"ปัจจุบันผมนำเพลงพระราชนิพนธ์ไปเล่นทั่วโลกทุกปี ปีละ 3-4 ครั้ง นอกจากงานสอนทางวิชาการ เล่นกว้างไกลอย่างเดียวไม่พอ ต้องถูกต้อง นี่คือพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ผมต้องสานต่อให้ได้ ให้สิ่งนี้เป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระองค์ท่าน ส่วนถ้าบอกให้เล่นตามต้นฉบับเดิมก็อาจไม่ถูกต้องก็ได้ ต้นฉบับผิด แต่ไม่ได้มาจากพระองค์ท่าน ศิลปินบางคนเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ เพิ่มหรือเปลี่ยนคอร์ดเยอะ ซึ่งผมเห็นว่าไม่สมควร นำมาสู่การปรับปรุง พระองค์ท่านทรงตรวจสอบครบทุกเพลง ขาดเพลงแสงเทียนที่ยังมีพระบรมราชวินิจฉัยไม่เสร็จ" อาจารย์ภาธรกล่าว
ส่วนการปรับปรุงเพลงพระราชนิพนธ์ อาจารย์ภาธรเปิดเผยว่า แม้ขณะประทับรักษาในโรงพยาบาลศิริราชก็ยังทรงงานด้านนี้ ตนเองได้พิมพ์โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์จากคอมพิวเตอร์ถวาย เพื่อให้พระองค์ท่านทอดพระเนตรและมีพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งกระดาษที่ใช้พิมพ์ก็ต้องใช้กระดาษรีไซเคิลด้วย ไม่เช่นนั้นจะกริ้ว พอทอดพระเนตรแล้วจะทรงขีดวงและเขียนแก้ให้ถูกต้องด้วยลายพระหัตถ์
"ส่วนผมก็จะจดบันทึกสิ่งที่พระองค์มีพระราชดำรัสว่าต้องแก้ตรงไหนอย่างไร บางจุดทรงเขียนเครื่องหมายคำถามไว้ และวันที่ 9 ต.ค.2005 นี่คือข้อมูลปฐมภูมิ พระองค์ท่านทรงละเอียดมาก รู้ลึกการใช้คอร์ด แต่พระองค์เคยมีพระราชดำรัสว่าไม่ได้ทรงเรียนมา ซึ่งเพลงแสงเทียนแก้ไขมากที่สุด จนวันนี้ก็ยังไม่เสร็จ มีพระราชประสงค์จะให้เป็นบลูส์มากขึ้น คอร์ดแรกที่ทรงใช้เป็นคอร์ดล้ำสมัยในยุค 70 ปีที่แล้วไม่ได้ใช้กัน อย่างเพลงพระราชนิพนธ์สายฝน ทรงแก้คอร์ด ทรงอินโทรเพลงใหม่ และพระราชทานลงมาวันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน 2548 ตนก็จดบันทึกไว้ มีพระราชดำรัสสั่งพระเจน (พระเจนดุริยางค์) ให้ใส่คอร์ดให้ เวอร์ชันพระเจนก็เป็นที่ติดหู พระองค์มีพระราชประสงค์ทำคอร์ดของพระองค์เอง"
"เพลงใกล้รุ่ง พระองค์ท่านทรงอนุมัติเมื่อ 17 กันยายน 2547 แต่ตอนหลังนำมาเล่น คอร์ดนี้ไม่เอา ตัดออกให้หมด ผมก็บันทึก มีพระราชกระแสรับสั่งท่อนกลางให้ใช้คอร์ดอะไร ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้เป็นเพลงรำวงแต่แรก ลงวันที่ 11 ก.พ.50 นี่คือพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน ส่วนชื่อเพลงทรงตั้งเองเกือบทั้งหมด มีบางเพลงไม่ได้ตั้ง เช่น พระมหามงคล และเพลงมีชื่อไทย ไม่มีชื่อภาษาอังกฤษ อย่างเพลงความฝันอันสูงสุด ทรงให้ใช้ว่า The Ultimate Dream
เพลงเราสู้ ทรงให้ใช้ Fight และมีเครื่องหมายตกใจด้วย ทรงตรวจละเอียด พิถีพิถันมาก"
ส่วนเพลงราชวัลลภ มาร์ชราชวัลลภ ท่อนกลางมีเนื้อร้อง แต่มีเนื้อร้องขึ้นมาไม่ตรงทำนอง ตนกราบทูลถามพระองค์เรื่องนี้ จึงมีพระราชดำรัสว่ามาร์ชราชวัลลภเป็นเพลงพระราชนิพนธ์อีกบทหนึ่งเหมือนกัน และมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าราชวัลลภกับมาร์ชราชวัลลภ "เป็นคนละเพลงเดียวกัน" มีพระราชดำรัสว่าพระองค์ไม่ได้ทรงเป็นนักดนตรีอาชีพ และตอนแต่งเพลงนี้ก็ไม่รู้เรื่องคอมโพสิชัน เพลงมาร์ชราชวัลลภจึงออกมาไม่ปกติ แต่เป็นเพลงที่เหล่าทหารราชวัลลภเขาร้องจึงต้องเป็นพระราชนิพนธ์ด้วย
"การแก้ไขเพลงราชวัลลภกับเพลงมาร์ชราชวัลลภ ผมลงบันทึกไว้วันที่ 28 ธันวาคม 2551 เวลาตี 5 รับสนองพระองค์มา ท่านทรงงานกลางคืน มีพระราชกระแสรับสั่งว่าเพลงนี้เป็นเพลงมาร์ช และให้ใส่ชื่อคำว่ามาร์ชเป็นชื่อภาษาไทย ส่วนมาร์ชราชวัลลภที่เป็นเพลงร้อง รับสั่งว่าเป็น song ไม่ใช่มาร์ช ให้ใช้ราชวัลลภแทน ชื่อภาษาอังกฤษ 'รอยัลการ์ด' 4 มกราคม 2552 หกโมงเช้า ซึ่งทำให้เวลานี้เพลงพระราชนิพนธ์มี 49 เพลง จากที่รับรู้มี 48 เพลง เพราะมารช์ราชวัลภกับราชวัลลภเป็นคนละเพลงเดียวกัน"
การถวายงานดนตรีของอาจารย์ภาธร และสานต่องานพระราชนิพนธ์เรื่อยมา จนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว อาจารย์ภาธรได้เรียบเรียงเป็นหนังสือทางวิชาการชื่อ" บทเพลงพระราชนิพนธ์การวิเคราะห์และสังเคราะห์ทางดนตรีศึกษา" แยกเพลงพระราชนิพนธ์เป็นรูปแบบต่างๆ ลงรายละเอียดแต่ละเพลงเพื่อใช้สอนนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อาจารย์ภาธรบอกอีกว่า ตั้งใจจะดำเนินการจัดพิมพ์เพลงพระราชนิพนธ์ที่ผ่านพระบรมราชวินิจฉัย ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว และจะดำเนินแจกปลายปีนี้ จะทำอย่างแน่นอน หากหน่วยงานใดประสงค์จะร่วมสนับสนุนการจัดทำเพื่อเป็นสมบัติของชาติ สำหรับเอกสารโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ฉบับร่างนี้ ซึ่งมีลายพระหัตถ์พระองค์ ต่อไปจะส่งมอบให้หอจดหมายเหตุ เพราะทุกข้อความมาจากพระโอษฐ์พระองค์ท่าน
"เรื่องราวดนตรีกับพระองค์ท่าน เมื่อ 10 ปีก่อนพระองค์ท่านมีพระราชกระแสรับสั่งกับผมว่า สิ่งที่ได้รู้ได้เห็น ความสุขที่ได้ ขอให้จดจำไว้ และบอกเล่าให้คนอื่นฟังว่า เรามีความสุขขนาดไหนเวลาเราเล่นดนตรี อย่าลืมเล่าให้ลูกหลานฟังว่าเรามีความสุขขนาดไหน" ดร.ภาธรเผยพระราชดำรัสที่ฝังแน่นอยู่ในหัวใจทั้งน้ำตาด้วยความรักและอาลัยพระราชาผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |