ม็อบเทพาปักหลักหน้าทำเนียบฯ รอคำตอบ "บิ๊กตู่" ยกเลิกก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน-ยุติดำเนินคดีการชุมนุมช่วงนายกฯ ประชุม ครม.สัญจร ลั่นไม่มีกำหนดกลับบ้าน กลับไปก็ไร้บ้าน ไร้ที่ทำกิน นายกฯเลี่ยงม็อบเปลี่ยนใช้เส้นทางออกอีกด้าน สถาบันพระปกเกล้ายื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของ ปชช.ขจัดปัญหาขัดแย้ง
ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ฝั่งสำนักงาน ก.พ. ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล วันที่ 29 มกราคม เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กว่า 20 คน นำโดยนายมัธยม ชายเต็ม ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกร้องขอให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พร้อมขอให้ยุติการดำเนินคดีการชุมนุมในช่วงที่นายกฯจัดการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สงขลา
โดยนายมัธยมกล่าวว่า การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ใกล้จะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ยังมีข้อผิดพลาดและมีข้อมูลเป็นเท็จจำนวนมาก เนื่องจากมีการเกณฑ์คนเข้ามา และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลากีดกันไม่ให้กลุ่มผู้เห็นต่างได้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งอีกไม่นานอีเอชไอเอจะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ก่อนนำเข้า ครม. จึงอยากให้พิจารณาตรงนี้ด้วย เราเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อประชาชนชาวเทพา
"ภายหลังยื่นหนังสือเสร็จ ทางเครือข่ายฯ จะปักหลักรอคำตอบจากนายกฯ หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ยกเลิกไม่สร้างโรงไฟฟ้าเทพา เพราะถ้ากลับไปเราเหมือนคนไม่มีบ้าน ไม่มีที่ทำกิน และกลับบ้านไปไร้ประโยชน์ โดยไม่มีกำหนดว่าจะเดินทางกลับช่วงใด ขอรอจนชัดเจนว่านายกฯ จะยกเลิกหรือเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา" นายมัธยมกล่าว
นายสมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า พวกข้าพเจ้าที่มาในครั้งนี้ ถือเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง จึงขอยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ท่านได้พิจารณาดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังนี้ 1.รัฐบาลต้องยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา และจะต้องตรวจสอบถึงความไม่ชอบธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับพวกข้าพเจ้า 2.รัฐบาลต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 17 คน เพราะทั้ง 17 คน เป็นผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และเป็นสิทธิของประชาชนในการที่จะเดินไปหานายกรัฐมนตรีเพื่อที่จะเสนอข้อคิดเห็นและให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจต่อโครงการนี้ ไม่มีเจตนาที่จะสร้างความวุ่นวายใดๆ หากแต่ต้องการนำเสนอความทุกข์ร้อนของตนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ พวกข้าพเจ้าจะขอเฝ้ารอคำตอบอยู่ที่ข้างทำเนียบรัฐบาลแห่งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะได้คำตอบ
ช่วงเย็น เวลา 16.52 น. เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังคงปักหลักชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าสำนักงาน ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลเพื่อกลับบ้านพัก ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นายกฯ ออกจากทำเนียบฯ โดยใช้เส้นทางประตูสะพานอรทัย จากปกติจะใช้ทางออกประตูสะพานชมัยมรุเชฐ ที่อยู่ใกล้กับสำนักงาน ก.พ.
ภายหลังนายกฯ เดินทางออกจากทำเนียบฯ กลุ่มเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน นำโดยนายมัธยม ชายเต็ม ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ได้นำสมาชิกเครือข่ายฯ เดินทางกลับในเวลา 17.00 น. เพื่อไปรวมตัวกันที่ย่านรามคำแหง และจะกลับมาชุมนุมอีกครั้งในเช้าของวันที่ 30 ม.ค.
ที่ห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)คนที่ 1 รับหนังสือจากสถาบันพระปกเกล้า นำโดยนางถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า พร้อมคณะ เพื่อขอเป็นผู้ริเริ่มเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ พ.ศ. .... ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ โดยกำหนดให้มีการรับรองสิทธิ เสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นได้และเป็นไปอย่างมีความหมาย คือคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ มาตรการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือทั้งในส่วนของหน่วยงานรัฐและประชาชนทั่วไป
นางถวิลวดีกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวจะช่วยสร้างสมดุลอำนาจรัฐในการกำหนดและดำเนินการนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติงานได้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ขจัดความตึงเครียดและปัญหาขัดแย้งกับประชาชนและชุมชน เพราะในกระบวนการนโยบายสาธารณะจำเป็นต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เนื่องจากต้องยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก และต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน หรือหากจำเป็นต้องดำเนินนโยบายสาธารณะและมีผลกระทบเสียหาย ก็ต้องมีมาตรการเยียวยาและชดใช้อย่างเป็นธรรม นโยบายสาธารณะที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ชุมชน สังคม และประเทศชาติโดยรวมอย่างแท้จริง
ด้านนายสุรชัยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ถึงเรื่องของสาธารณะหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิเข้าถึงข้อมูลและแสดงความคิดเห็นได้ แต่ขณะนี้ยังขาดกฎหมายที่มารองรับสิทธิดังกล่าว ดังนั้นการเสนอกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับสาธารณะโดยตรงนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชนโดยรวม ซึ่งจะได้ส่งมอบข้อมูลดังกล่าวให้กลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |