ชี้บิ๊กสื่อเสี่ยงคุกคามทางเพศ


เพิ่มเพื่อน    

สมาคมนักข่าวฯ เปิดผลสอบ "บิ๊กสื่อ" ชี้แค่ "สุ่มเสี่ยงการคุกคามทางเพศ" ระบุมีการดูแลใกล้ชิด สนิทสนมไว้วางใจกัน ทำให้ฝ่ายชายตีความเข้าข้างตนเอง เผยสองฝ่ายขอโทษต่อกันแล้ว สุดท้ายฝ่ายหญิงลาออกไม่ติดใจเอาความ ติงสื่อเสนอข่าวไม่ครบถ้วนรอบด้านเกินเลยไปกว่าข้อเท็จจริง แนะองค์กรสื่อวางมาตรการปฏิบัติทางจริยธรรมอย่างเหมาะสม ชงองค์กรวิชาชีพสื่อหารือสร้างกลไกกำกับกันเองอย่างเป็นระบบ 
    เมื่อวันที่ 29 มกราคม คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่คำแถลงผลการพิจารณารายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ ระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีมีกระแสข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ พาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อแห่ง หนึ่งว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ และมีกลุ่มนักข่าวกลุ่มหนึ่งส่งจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เพื่อเรียกร้องให้สมาคมนักข่าวฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ได้แต่งตั้งคณะ อนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกจำนวน 6 ท่าน และดำเนินกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงในทางลับ เพื่อให้ปราศจากอิทธิพลหรือปัจจัยภายนอกใดๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด 
    ภายหลังคณะอนุกรรมการฯ ใช้เวลาดำเนินการภายในกรอบเวลา 90 วันแล้ว คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ได้ส่งรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงให้แก่สมาคมนักข่าวฯ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 โดยระบุ ว่า ได้มีการประชุม และพบผู้ให้ข้อมูลตั้งแต่ผู้เกี่ยวข้องกับการสื่อสารทางสาธารณะต่อกระแสข่าวผู้ใกล้ชิดกับผู้ถูกกล่าวอ้างถึงทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ผู้โพสต์ข้อความพาดพิงถึงผู้ถูกกล่าวอ้างถึงทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ไปจนถึงผู้ถูกกล่าวอ้างถึงฝ่ายชายและผู้ถูกกล่าวอ้างถึงฝ่ายหญิง รวมผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 11 คน และการประชุมและการพบกับผู้ให้ข้อมูลทุกครั้งเป็นไปในทางลับตามกรอบมติที่คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯกำหนดไว้
    คำแถลงระบุว่า ในระหว่างกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง สมาคมนักข่าวฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้มีข้อมูลหรือผู้ที่คิดว่าจะได้รับความเสียหาย ให้มายื่นข้อมูลกับสมาคมนักข่าวฯ โดยตรง หรือผ่านตู้ ปณ. ที่ได้แจ้งต่อสาธารณะไว้ แต่ก็ไม่ปรากฏผู้ยื่นข้อมูลใดๆ จากช่องทางดังกล่าว และตลอดระยะเวลาของกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง ก็ไม่ปรากฏผู้แสดงความจำนงจะร้องทุกข์ต่อสมาคมฯ
    ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ตั้งประเด็นการพิจารณา ได้แก่ 1.การกล่าวอ้างว่ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในที่ทำงาน 2.การสื่อสารการใช้สังคมออนไลน์ในการแพร่กระจายประเด็นและการนำเสนอของสื่อหลัก 3.ข้อเสนอต่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ และการทำหน้าที่ของสื่อ คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯได้ประชุมพิจารณารายงานฯ เป็นรายประเด็นแล้วมีมติดังต่อไปนี้
    คำแถลงสมาคมนักข่าวฯ ระบุว่า ประเด็นการกล่าวอ้างว่ามีการคุกคามทางเพศนั้น มีความเห็นสอดคล้องกับรายงานของอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ที่ระบุว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวอ้างฝ่ายชายและผู้ถูกกล่าวอ้างฝ่ายหญิง ได้ถูกนำมาพูดคุยสื่อสารกับบุคคลภายในองค์กรจำนวนหนึ่ง อันเป็นเหตุทำให้เรื่องราวที่น่าจะจบลงระหว่างบุคคลทั้งสอง กลายเป็นเรื่องที่ต้องมีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความจำเป็นที่องค์กรที่ต้องกำกับดูแลกันเอง เช่น สมาคมนักข่าวฯ มีหน้าที่ต้องเข้ามาแสวงหาข้อเท็จจริง เป็นเหตุให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ จนได้นำไปสู่ข้อสรุปว่า พบว่ามีองค์กรข่าวแห่งหนึ่งที่บุคลากรทำงานด้วยความใกล้ชิดสนิทสนม เมื่อยามสนทนากันหรือทำงานร่วมกัน ก็มีการหยอกล้อกันเล่น มีการถูกเนื้อต้องตัวกันบ้างตามประสาคนที่ใกล้ชิด 
    "แต่ในช่วงกลางปี 2560 มีเหตุการณ์เป็นประเด็น ระหว่างบุคคลสองคน ซึ่งบุคคลหนึ่งได้รับการปลูกฝังมาในเรื่องการให้เคารพต่อผู้ใหญ่ และวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับผู้บังคับบัญชา จึงมีการดูแลบุคคลอีกคนหนึ่งในลักษณะที่ใกล้ชิดสนิทสนม การให้ความไว้วางใจ ซึ่งมีบางเรื่องที่ความไว้วางใจเป็นเหตุทำให้เกิดความเข้าใจในลักษณะที่เป็นการตีความเข้าข้างตนเองของอีกฝ่ายหนึ่ง จนอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ เพราะต่างตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน ต่อมาได้มีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจและขอโทษต่อกัน ซึ่งในท้ายที่สุดฝ่ายหนึ่งลาออกจากองค์กรข่าวแห่งนั้น ต่อมามีบุคคลที่สามนำเรื่องราว ที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงไปเผยแพร่สู่สาธารณะ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสองฝ่าย โดยที่ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าไม่ติดใจที่จะเอาความต่อกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน  ทั้ง ยังกังวลแทนอีกฝ่ายจากการได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่ได้รับจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นต่อมา"
    สำหรับประเด็นการสื่อสารการใช้สังคมออนไลน์ในการแพร่กระจายประเด็น และการนำเสนอของสื่อหลัก มีความเห็นสอดคล้องกับรายงานฯ ที่พบว่าผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาชีพสื่อสารมวลชน ไม่ใช้การสื่อสาร เชิงปรึกษาหารือ หรือการสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ทั้งอย่างเป็นทางการหรืออย่างไม่เป็นทางการ แต่กลับใช้วิธีการสอบสวนเรื่องราวหรือเหตุการณ์อย่างไม่ครบถ้วนรอบด้าน แล้วสื่อสารความเห็นสู่สาธารณะผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ทั้งในพื้นที่ในชื่อส่วนบุคคลและชื่อองค์กร จนเป็นเหตุให้มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนหนึ่งใช้สื่อสังคมออนไลน์สื่อสารขยายเรื่องราวจนเกินเลยไปกว่าข้อเท็จจริงมาก ทั้งในมิติความสัมพันธ์และพฤติกรรมการคุกคามทางเพศ ส่วนการสื่อสารของสื่อหลักพบว่า ส่วนใหญ่ใช้ภาษาที่หวือหวา โดยการเสนอข่าวเชิงกล่าวหาตัดสินพบมากที่สุดในสื่อเว็บไซต์ รองลงมาพบบ้างในสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน ขณะที่สื่อโทรทัศน์มีความระมัดระวังในการใช้ภาษา
    ส่วนประเด็นข้อเสนอต่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ และการทำหน้าที่ของสื่อนั้น เห็นชอบกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ที่ว่า บุคลากรวิชาชีพสื่อ ต้องมีความเชื่อมั่นในกลไกการกำกับดูแลกันเอง และมีวิถีปฏิบัติต่อกลไกอย่างเป็นระบบ รวดเร็วทันกาล และด้วยความเสมอ ภาค ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะมีตำแหน่งหน้าที่ใด ภายใต้หลักการเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่ากระบวนการสอบสวนและพิจารณาข้อเท็จจริงจะเป็นที่สิ้นสุด โดยเฉพาะไม่พึงทำการสื่อสารโดยตรงหรือโดยนัยทางพื้นที่สาธารณะอย่างขาดข้อเท็จจริงรอบด้าน หรืออย่างต่อเติม และตัดสิน อันส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในวิชาชีพ ขณะที่องค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ จำเป็นต้องมีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติต่อกันอย่างเคารพในสิทธิแห่งตัวตนและร่างกาย โดยเฉพาะในมิติของความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะทั้งในพฤติกรรมส่วนตัว ทั้งในการสื่อสารในพื้นที่ส่วนตัว แต่อย่าแสดงตัวตนความเป็นนักวิชาชีพสื่อไปจนถึงการสื่อสารในทางวิชาชีพทั้งด้านข่าวและอื่นๆ 
    อีกทั้งยังเสนอให้องค์กรวิชาชีพสื่อ ร่วมกันพัฒนามาตรการหรือแนวทางปฏิบัติในทางจริยธรรม เกี่ยวกับ การปฏิบัติอย่างเหมาะสมในทางความสัมพันธ์ในองค์กรวิชาชีพสื่อ วิธีการติดตามเฝ้าระวังการปฏิบัติอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศที่แตกต่างในองค์กรวิชาชีพสื่อ การปฏิบัติอย่างเที่ยงตรง เหมาะสม ชัดเจนในการสื่อสารทางออนไลน์ การทำหน้าที่ของสื่อเพื่อนำเสนอเนื้อหาในประเด็นทางเพศอย่างระมัดระวัง การนำข้อมูลจากสื่อออนไลน์ไปนำเสนอทางสื่อหลัก ที่หมายถึงสื่อหลักเดิมและสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์เพื่อเปิดประเด็นหรือสร้างกระแส แล้วเชื่อมโยงหรือนำไปสู่การผลิตซ้ำในสื่อหลัก ที่ส่งผลในเชิงความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของบุคคลและองค์กรวิชาชีพ
    "คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ มีมติเห็นชอบกับข้อสรุปดังกล่าว และยังตระหนักดีว่า กรณีนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ขององค์กรสื่อสารมวลชน นักวิชาชีพสื่อมวลชนโดยรวม จึงรับข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อและ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยจะส่งผลสรุปและข้อเสนอแนะของอนุกรรมการฯ ให้องค์กรวิชาชีพสื่อ เพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม และจะมีการหารือกับองค์กรวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นในกลไกการกำกับดูแลกันเอง และมีวิถีปฏิบัติต่อกลไกอย่างเป็นระบบ รวดเร็วทันกาล ด้วยความเสมอภาคต่อไป" คำแถลงสมาคมนักข่าวฯ ระบุ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ชุดนี้ ประกอบด้วย 1.รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย 2.รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย 3.ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม 4.น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 5.นายนคร ศรีสุโข นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการพิเศษ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา 6.นายทัศนัย ไชยแขวง อุปนายกฝ่ายประชาสัมพันธ์ และอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์
    ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ยังได้มอบหมายให้นายมงคล บางประภา อุปนายกฯ ฝ่ายบริหาร และเลขาธิการ เป็นเลขานุการ และ น.ส.สุมนชยา จึงเจริญศิลป์ กรรมการฝ่ายต่างประเทศ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานด้านธุรการ การจัดทำรายงาน โดยไม่มีอำนาจร่วมตัดสินใจ หรือแสดงความคิดเห็นในกระบวนการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ จนนำไปสู่ข้อสรุปดังกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"