จากตระกูล 'เพื่อ' ถึง 'ไทยรวมพลัง'


เพิ่มเพื่อน    

      น้ำแยกสาย ไผ่แตกกอ 3 พันธมิตรการเมือง พรรคเพื่อไทย-พรรคเพื่อธรรม-พรรคเพื่อชาติ ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘แยกกันเดิน รวมกันตี’ รวบรวมเสียงข้างมาก (แข่ง) จัดตั้งรัฐบาล บนเป้าหมาย ทวงคืนอำนาจผ่านสนามเลือกตั้ง 2562 เพื่อไทย แหล่งชุมนุมเซียนการเมือง นักการเมืองเกรดเอ แม้นาทีนี้ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ จะมาแรง รั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคตามเดิม

      เนื่องด้วยเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคที่จะไม่ได้ใช้หัวหน้าพรรคขับเคลื่อนนำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง แต่เชื่อกันว่าจะมีตำแหน่งใหม่เปิดว่างรอรับ หญิงหน่อย-สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ให้เป็นคนถือธงแทน ไม่แตกต่างจากโมเดลพานารีเข้าทำเนียบฯ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่คนจะเป็นนายกฯ คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

      พรรคเพื่อชาติ แม้จะเปิดตัวออกมาหลังสุดของพี่น้องตระกูลเพื่อ แต่กลับขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ วางกลยุทธ์ชิงพื้นที่ข่าวได้อย่างน่าสนใจ 3 ผู้สนับสนุนคีย์แมน นักยุทธศาสตร์ อ้ายยุทธ-ยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้นำมวลชน, จตุพร พรหมพันธุ์ ทุน, สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ที่ในวันนี้วางยุทธศาสตร์ไปไกลถึงขั้นจัดวางโควตาผู้สมัคร เตรียมนโยบายกันแล้ว เรื่องผู้นำพรรค หากไม่มีบิ๊กเซอร์ไพรส์ ‘ทนง พิทยะ’ อดีตขุนคลังมือเศรษฐกิจในยุครัฐบาลไทยรักไทยยังเป็นเต็งหนึ่ง

      เดินสายปากท้องควบคู่ปรองดอง ปากท้อง ให้เสี่ยทนงจัดทำแผนงานเศรษฐกิจ ปรองดอง จตุพร-ยงยุทธ แท็กทีมยื่นไมตรี พร้อมเจรจาเปิดทาง ‘เจรจาปรองดอง’ กับทุกพรรคการเมืองไม่เว้นแม้แต่ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย ชิงพื้นที่ข่าวสร้างเสียงฮือฮาการเมือง

      พรรคเพื่อธรรม ที่ได้คีย์แมน สมชาย-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ถือหางเสือ ที่เก็งกันตอนแรกจะเป็นพรรคใหญ่ คึกคักไม่น้อยไปกว่า เพื่อไทย กลับนิ่งเงียบกว่าปกติ ด้วยความกังวล เพื่อไทย จะอยู่ไม่ถึงวันเลือกตั้ง โดนยุบพรรคไม่ด้วยข้อหาคนภายนอกบงการ สั่งการ ผ่านวิดีโอคอลกับสมาชิกพรรค ในงานวันเกิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ก็ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.เคลื่อนไหว ทำกิจกรรมการเมือง จากการแถลงผลงาน 4 ปีรัฐประหารของคณะผู้บริหารพรรค    

      ยุทธศาสตร์ เดิมตั้งใจจะปล่อยให้เพื่อไทยเป็นพรรคร้าง ให้สมาชิกพรรคย้ายไป เพื่อธรรม ให้หมด แต่ต่อมายุทธศาสตร์เปลี่ยน เพื่อธรรม เลยออกอาการสะดุด ‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’ เข้ามารับหน้าที่หัวหน้าพรรค ‘พงศกร อรรณนพพร’ อดีต ส.ส.ขอนแก่น เพื่อไทย เป็นแม่บ้านพรรค เริ่มจับจุดโหมทิศทางไม่ถูก

      เพื่อไทย จุดขายคือนโยบายเพื่อชาติ จุดขายคือความปรองดอง แต่สำหรับ เพื่อธรรม นาทีนี้ยังปักหมุด คลำทางไม่ถูก จะเน้นเรื่องอะไร เป้า ส.ส.จะขอแชร์พื้นที่เขตเมืองเหนือ ภาคกลาง หรือจะหันไปเน้นคะแนนไม่ทิ้งน้ำ หวังเอา ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียงอย่างเดียว บรรดาผู้สมัครแม้แต่ลูกหลาน สะใภ้ ล้วนไม่อยากทิ้งบ้านเก่า เพื่อไทย ต่างรู้กันดีพรรคนี้แบรนด์ยี่ห้อความเชื่อมั่นในฐานเสียงไม่ต้องสร้าง ทำความเข้าใจกันใหม่ เพื่อธรรม โดยที่ยังไม่รู้จุดขายทางการเมือง เป้าหลักทางยุทธศาสตร์คืออะไร เริ่มออกอาการสะดุดขาตัวเอง

      หากเทียบกับ เพื่อไทย หรือ เพื่อชาติ ที่ไปไกลทั้งยุทธศาสตร์ แนวทางคนนำทัพ กระสุนจุดขาย เป้าหมาย การขับเคลื่อนพร้อมรบผ่านสมรภูมิเลือกตั้ง

      ท่ามกลางความยังไม่แน่ชัด ในแวดวงเริ่มซุบซิบ พูดกันหนาหู พรรคไทยรวมพลัง (ทรพ.) ตามประวัติ ก่อตั้ง 27 ก.ค.2552 มี กมล วิจิตรโสภา ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค นายศิรเมศร์ เสถียรรุจิกานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค มีสมาชิกมากถึง 1,340 คน ที่ทำการพรรค 86/114 ซอยอินทามระ 25 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ

      แม้ชื่อเสียงคนทำพรรคไม่โด่งดัง ไม่คุ้นหู แต่สิ่งนั้นไม่สำคัญเท่ากับมีคีย์แมนบางคนจับมาล้างน้ำ ไม่ต่างอะไรจากพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ ที่ล้วนแล้วแต่ถูกเทกโอเวอร์มาทั้งสิ้น ไทยรวมพลัง สแตนด์บายเตรียมไว้สำหรับการเมืองที่ไม่แน่นอน

       ยิ่งคนแดนไกลส่งสัญญาณ ‘เร็วๆ นี้จะมีพรรคใหม่เปิดตัวอีกพรรค’ ยิ่งทำให้แสงไฟเริ่มจับจ้องพรรคแห่งนี้ไม่น้อยไปกว่าพรรคตระกูลเพื่อเลยทีเดียว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"