'หน่อย'ซัดแบ่งแยกคนจน 'ไก่อู'โต้วาทกรรมขัดแย้ง


เพิ่มเพื่อน    


    "สุดารัตน์" โพสต์ซัด "รัฐบาล" ทำคนไทยไม่เท่าเทียมกัน แบ่งแยกคนจนคนรวย อุ้มผู้ถือบัตรคนจนรักษาฟรี แถมกีดกัน ปชช.นั่งซูเปอร์บอร์ดสุขภาพแค่ 3 คนจาก 45 คน "ไก่อู" ตอก "หญิงหน่อย" อย่าใช้วาทกรรมสร้างความขัดแย้งหวังผลการเมือง ยันแก้ข้อความ กม.ให้ครอบคลุมไม่กระทบสิทธิ์เดิม "ปชป." อัด "ไทยนิยมลุงตู่" เหมือน "ประชานิยมแม้ว" แค่โครงการหาเสียง 
    เมื่อวันที่ 15 ต.ค. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" เรื่อง "อย่าทำให้คนไทยไม่เท่ากัน ด้วยบัตรคนจน" เนื้อหาระบุว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคต้องยึดหลักความทัดเทียม ที่คนไทยทุกคนจะต้องได้รับสิทธิและโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพทัดเทียมกัน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของประชาชน จึงต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ล่าสุดคณะรัฐมนตรีกลับมีมติอนุมัติกฎหมายตั้งซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ โดยให้มีภาคประชาชนเพียง 3 คน จาก 45 คน ซึ่งที่เหลือส่วนมากเป็นข้าราชการ  และมีเอกชนตัวแทนบริษัทยาข้ามชาติมาเป็นกรรมการ แล้วประชาชนอยู่ตรงไหน
    คุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลนี้ได้ประกาศให้ผู้ที่ถือบัตรคนจนรักษาฟรี  ทั้งที่ในความเป็นจริงประชาชนทุกคนที่ได้รับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคก็ได้รับการรักษาฟรีอยู่แล้ว  โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นคนจน แต่รัฐบาลกลับมีมติ ครม.ให้ผู้ถือบัตรคนจนรักษาฟรี ซึ่งกลายเป็นเรื่องแบ่งแยกคนจนคนรวย ย้อนกลับไปเหมือนยุคบัตรอนาถาสำหรับคนจนเหมือนเมื่อสมัยปี พ.ศ.2518 ซึ่งอาจจะเป็นการเปิดช่องแบ่งแยกคนจนออกไป และอาจทำให้มีการเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งถือเป็นการขัดหลักการของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างร้ายแรง
    "ขอย้ำว่าหลักการของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค คือต้องการให้คนไทยทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยคุณภาพดีทัดเทียมกัน โดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ  คนรวยหรือคนจน ไม่ใช่คนจนต้องรักษาแบบอนาถา นี่คือหัวใจของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มิใช่เรื่องที่ใครจะพยายามเอาเรื่องการรักษาฟรีไปหาเสียงอย่างผิดๆ โดยทำให้ 'หลักการ' ของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดิฉันยอมไม่ได้ค่ะ" คุณหญิงสุดารัตน์ระบุในโพสต์
    ช่วงท้ายของการโพสต์ครั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ยังได้ติดแฮชแท็ก "#คนไทยต้องเท่ากัน"
    จากนั้น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้โพสต์ดังกล่าวของคุณหญิงสุดารัตน์ว่า คุณหญิงสุดารัตน์อาจจะไม่ได้ศึกษาจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรเป็นอะไร โดยมองปัญหาจากความคิดของตัวท่านเองเป็นหลัก เพราะมติ ครม.ที่ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรักษาฟรีนั้น เป็นเพียงการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในกฎหมายให้ครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการ ไม่ได้มีผลต่อสิทธิ์รับการรักษาที่ฟรีอยู่แล้ว
    พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า เมื่อดูจากเนื้อหาที่คุณหญิงสุดารัตน์เขียนก็น่าจะหวังผลทางการเมือง เพื่อลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมากกว่าที่จะเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาให้สังคม คล้ายกับที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลเคยถูกกล่าวหาว่าจะยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทั้งที่ไม่เป็นความจริง สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเสมอคนไทยทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการหรือประกันสังคมจะได้รับสิทธิ์นี้ ซึ่งเป็นการรักษาฟรีด้วยคุณภาพที่ดีทัดเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ แต่หากใครมีกำลังพออยากจะร่วมจ่ายกับภาครัฐก็สามารถทำได้
    "ยืนยันรัฐบาลนี้ไม่เคยแบ่งแยกประชาชน มีแต่นักการเมืองบางกลุ่มบางคนที่ชอบใช้วาทกรรมแบ่งแยกคนรวยคนจนให้เกิดความขัดแย้ง ขอย้ำว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการพัฒนาไปมาก  ทั้งเรื่องงบประมาณรายหัวที่รัฐสนับสนุน ประเภทของโรคและยาที่เพิ่มขึ้น และอีกหลายเรื่อง จนได้รับการยกย่องชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาชาติ" พล.ท.สรรเสริญกล่าว
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาตินั้น  เป็นการรวมบุคคลหรือหน่วยงานที่หลากหลายกระจายไปทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยราชการที่มีภารกิจด้านสุขภาพ สภาวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
    ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ว่า ไม่แตกต่างอะไรกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยด่าว่าไว้เลยแม้แต่น้อย เพราะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ คือรองนายกฯ สมัยนายทักษิณเป็นนายกฯ นั่นเอง จึงสามารถลอกเลียนแบบได้อย่างแนบเนียน มีทั้งข้อดีและข้อเสียติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
    "ข้อดีนั้นคือดูเสมือนว่าเงินลงไปถึงมือชุมชน ข้อด้อยคือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบราชการ และการทุจริตจะเป็นทวีคูณภายใต้อำนาจของ ม.44 เพียงแต่ว่ารอเวลารัฐบาลชุดนี้จะหมดอำนาจเท่านั้นเอง การทุจริตต่างๆ ก็จะเปิดเผยยิ่งกว่าดอกเห็ด" นายวัชระกล่าว
    อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า โครงการไทยนิยมยั่งยืนคือโครงการเอาเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศไปหว่านโปรยทุกหมู่บ้านนับแสนๆ ล้านบาท ยิงตรงหมู่บ้านละ 2 แสนบ้าง ผ่านบัตรโครงการสวัสดิการคนจนให้ไปซื้อที่ร้านประชารัฐ ปีละกว่า 5 หมื่นล้านบาทบ้าง ยิ่งใกล้เลือกตั้งก็จะลดแลกแจกแถมเติมเงินให้ยิ่งกว่าซานตาคลอส ซึ่งมีเป้าหมายเดียวที่ว่าเพื่อหาคะแนนนิยมให้ พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ สมัยหน้าชัดๆ
    "ประเทศชาติจะเสียงบประมาณ จะฉิบหายไม่ว่า ขอให้นายข้าเป็นนายกฯ ขอให้ คสช.ได้สืบทอดอำนาจก็พอนั้นอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วยหรือ รัฐบาลต้องทบทวนโครงการประชานิยมแบบนี้ ว่าจะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนคนยากจนจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแก้ไขปัญหาเพื่อให้ได้คะแนนเสียงของพลเอกประยุทธ์เพียงอย่างเดียว ไม่ว่ารัฐบาลจะทุ่มงบประมาณเพิ่มมากขึ้นอีกกี่แสนล้านบาทในช่วงไตรมาสสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง แต่ถ้ายังกดหัวพี่น้องประชาชนด้วยอำนาจเผด็จการเศรษฐกิจและการเมืองแบบนี้ ก็ไม่อาจจะเอาชนะใจของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศได้ อาจเป็นเพียงการถูกใจชั่วขณะของบรรดาลิ่วล้อพรรคการเมืองในเครือข่ายของ คสช.เท่านั้น" อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ผู้นี้กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"