"บิ๊กตู่" ปัดไม่เกี่ยวโพลนาฬิกาหรูโดนเบรก "อานนท์" ยื่นหนังสือลาออกพ้น "ผอ.นิด้าโพล" ระบุรับไม่ได้สั่งเซ็นเซอร์ตัวเอง ย้ำผลสำรวจสะท้อนความเห็นประชาชนไม่ใช่ชี้นำ "คณาจารย์นิด้า" อัด "อธิการบดี" แทรกแซงการทำงาน "อภิสิทธิ์" ห่วงเสรีภาพทางวิชาการ เชื่อเรื่องนี้บานปลาย "ศุลกากร" ลั่นพร้อมตรวจสอบภาษีนาฬิกาประวิตร
เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีนายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังถูกระงับการเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นประเด็นนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่าเป็นเรื่องของผู้อำนวยการคนดังกล่าวแล้วเกี่ยวอะไรกับตน
"ผมก็เห็นข่าวจากทางโซเชียลมีเดียแล้ว เขาบอกว่าไม่ได้ถูกบังคับ ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป สื่อก็ขยายความให้เขาไปเรื่อยๆ ก็แล้วกัน บ้านเมืองจะได้ไม่สงบดีไง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ขณะที่นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะผู้อำนวยการนิด้าโพล ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งแล้ว หลังถูกเบรกการเผยแพร่ผลสำรวจความเห็นเรื่องนาฬิกาหรู
นายอานนท์กล่าวว่า สาเหตุที่ลาออกเพราะยอมรับไม่ได้กับการเซ็นเซอร์ตัวเองของมหาวิทยาลัย ไม่ได้เกี่ยวกับการมีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)แต่อย่างใด เพราะมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ชี้นำสังคม และการทำโพลก็เป็นการสะท้อนความคิดเห็นในเวลาขณะนั้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าโพลเรื่องนาฬิกาหรูก็ไม่ได้เป็นการชี้นำแต่อย่างใด เนื่องจากไม่แตกต่างจากการทำโพลกรณีการเมืองอื่นๆ เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประเด็นทุจริตจำนำข้าว ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล เป็นต้น
"ผมรับกับการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ไม่ได้ การทำโพลการเมืองก็ไม่มีความแตกต่างกันเลย จึงไม่เห็นเหตุผลใดที่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องเลวร้ายยิ่งกว่าการปิดโทรทัศน์ แท่นพิมพ์ หรือมหาวิทยาลัยเสียอีก เพราะหากผิดก็ยังเปิดใหม่ได้ เพราะมีจิตวิญญาณที่จะพูดความจริง รักษาสิ่งที่ถูกต้อง สร้างปัญญาให้แก่สังคม แต่การเซ็นเซอร์ตัวเองก็เท่ากับไม่มีแล้ว ทั้งที่นิด้ามีปรัชญาคือ สร้างปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Wisdom for change)" นายอานนท์กล่าว
อดีต ผอ.นิด้าโพลกล่าวว่า เรื่องการลาออกจะมีผลเมื่อไรนั้น ขึ้นกับอธิการบดี แต่เบื้องต้นยังไม่ได้มีการพูดคุยกับอธิการบดี และอธิการบดีก็ยังไม่ได้โทรศัพท์มาพูดคุยแต่อย่างใด ซึ่งการมาเป็น ผอ.นิด้าโพลของตนนั้นอาจเป็นเพราะตนตามประเด็นเรื่องการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ มีความรู้ด้านสถิติค่อนข้างดี และเรื่องการทำวิจัยสำรวจ รู้วิธีในการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม หลังการลาออกตนก็กลับมาทำหน้าที่อาจารย์สอนตามเดิม
"หากต้องมานั่งเป็น ผอ.ทั้งที่ปราศจากเสรีภาพทางวิชาการ ความซื่อตรงทางวิชาการ ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ผมก็ไม่รู้ว่าจะมาเป็น ผอ.นิด้าโพลที่มีหน้าสะท้อนความคิดเห็นสังคมไปทำไม และคงไม่สามารถตอบคำถามลูกน้องที่ทำงานหนักในการทำโพลให้ทันเวลาได้" อดีต ผอ.นิด้าโพลกล่าว
ถามถึงผลสำรวจเรื่องนาฬิกาหรู นายอานนท์กล่าวว่า คงต้องถามไปยังทางอธิการบดี เพราะเป็นคนสั่งระงับเผยแพร่ผลโพล หรือไม่ทางสังคมเองก็ต้องกดดันให้มีการเปิดเผย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายอานนท์จะไปยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ผอ.นิด้าโพล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Arnond Sakworawich ระบุว่า "สงสารและเห็นใจ เสธ.ไก่อูมาก ที่ต้องงงเป็นไก่ตาแตก เพราะเรื่อง self censor แทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการในนิด้า โดยที่รัฐบาลไม่ได้รู้เรื่องด้วยเลย"
จากนั้น อดีต ผอ.นิด้าโพลยังโพสต์ข้อความอีกครั้ง ระบุ "รู้สึกขอบพระคุณที่มีเพื่อนอาจารย์ รุ่นพี่ รุ่นน้อง อีกหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงเทพมหานคร ที่เห็นคุณค่าของเผือกร้อนสุดๆ อย่างตัวผมในเวลานี้ ได้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อให้ผมย้ายไปสอนมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของไทย ทั้งมหาวิทยาลัยที่เป็น alma mater และที่อื่นๆ ในสาขาวิชาที่ผมไม่ได้จบมาในสาขาวิชานั้นๆ โดยตรง และในสาขาวิชาที่ใกล้เคียงกันกับที่ผมสอนอยู่เดิม ได้ชักชวนเชื้อเชิญให้ผมเปลี่ยนที่ทำงานไปสอนที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ และพยายามมองว่าตัวผมจะพอสอนวิชาอะไรได้บ้าง ถึงแม้จะไม่ได้จบมาโดยตรง จะทำอะไรได้บ้าง
ผมขอน้อมรับไว้ด้วยความตื้นตันใจ แต่ผมยังไม่คิดจะย้ายไปที่ไหนทั้งสิ้น ผมเองก็จบจากนิด้า แต่ที่สำคัญที่สุดคือการทำงานที่คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นการทำงานทุกวันเพื่อสนองพระราชดำริในการจัดตั้งคณะโดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผมยังจะทำงานที่คณะสถิติประยุกต์ ที่นิด้าต่อไปครับ"
ส่วนนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้น แม้นายอานนท์จะลาออกไปแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะจบหรือไม่ และทางสภาคณาจารย์นิด้าจะดำเนินการกันต่อไปอย่างไร แต่ในส่วนของประชาคมคณาจารย์นิด้าในช่วงวันที่ผ่านมา ยังไม่ได้พูดคุยกันว่ามีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร เพราะเป็นวันที่นิด้าติดงานรับปริญญาของสถาบัน เลยยังไม่ได้คุยกับอาจารย์นิด้าคนอื่นๆ
"หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว รู้สึกกังวล เพราะทำให้ต่อจากนี้คนที่จะเข้าไปเป็น ผอ.นิด้าโพลคนใหม่ ก็คงไม่มีใครอยากไปเป็น เพราะไปเป็น ผอ.นิด้าโพลแล้วต้องมาถูกแทรกแซงการทำงาน ต้องไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดแบบนี้ คนจะมาเป็น ผอ.นิด้าโพลก็ลำบาก อาจารย์ที่จะไปเป็น ผอ.นิด้าโพลก็คงไม่อยากไป แต่ก็อาจมีบางคนที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับอธิการฯ ก็อาจจะไปเป็นก็ได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้อาจารย์ได้รู้แนวคิดของผู้บริหารนิด้าจากที่ไม่เคยรู้มาก่อนด้วย" นายพิชายกล่าว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า การสำรวจความเห็นของศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ได้จัดทำตามปกติ โดยสำรวจจากคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์ไปสอบถามความเห็นจากประชาชนโดยตรงด้วยกรณีดังกล่าวมีกลุ่มตัวอย่าง 1,250 คน และในคำถามไม่ได้มีการระบุชื่อของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เนื่องจากการสำรวจความเห็นในลักษณะดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อบุคคลที่สามได้ จึงเลือกสอบถามแบบไม่ระบุชื่อ
แหล่งข่าวจากนิด้าให้ข้อมูลสำนักข่าวอิศราว่า คำถามในแบบสำรวจในสัดส่วนแรกคือ ถามข้อมูลทั่วไปตามแบบฟอร์มของแบบสำรวจความเห็น เช่น เพศ อายุ การศึกษา เป็นต้น ก่อนที่จะสอบถามในคำถามที่ได้ตั้งประเด็นเอาไว้ โดยในกรณีนี้มีเพียง 4 คำถาม เนื่องจากการสำรวจความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องสอบถามข้อมูลจำนวนมาก
โดยทั้ง 4 คำถามมีเนื้อหาดังนี้ 1.เพื่อนสนิทเคยให้ยืมนาฬิกาหรูหรือไม่ ซึ่งผลสำรวจร้อยละ 90 บอกว่าไม่เคย 2.ผู้ถือครองนาฬิกาบอกว่าเพื่อนให้ยืมมาคิดว่าพูดจริงหรือไม่ คำตอบส่วนใหญ่คือ ไม่เชื่อ 3.คิดว่าคนที่พูดโกหกมีแนวโน้มการทุจริตหรือไม่ คำตอบส่วนใหญ่คือ ใช่ 4.รับได้หรือไม่ที่รุ่นน้องช่วยรุ่นพี่ปกปิดเรื่องดังกล่าว คำตอบคือ รับไม่ได้
ทั้งนี้ แม้คำถามในแบบสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพลไม่ได้ระบุชื่อ พล.อ.ประวิตร แต่ผู้ตอบคำถามสามารถเข้าใจคำถามได้ว่าหมายถึงใคร เนื่องจากข่าวพล.อ.ประวิตรถือครองนาฬิกาหรูหลายเรือนอยู่ในความสนใจของประชาชน และสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวมาแล้วเกือบ 2 เดือน อีกทั้งสื่อต่างประเทศก็ยังนำไปทำสกู๊ปข่าวอีกด้วย
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การลาออกของ ผอ.นิด้าโพล ทำให้คนไม่แน่ใจว่าไปเกี่ยวกับ คสช.หรือไม่ ทำให้ คสช.ติดลบไปด้านแล้ว เรื่องนี้น่าหนักใจ เพราะไม่เป็นผลดีกับใคร ความจริงควรให้เป็นไปตามปกติ ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหา เมื่อสำรวจความคิดเห็นถูกต้องตามหลักวิชาการก็เผยแพร่ไป โปร่งใสชัดเจน
"ถามว่าอะไร ตอบว่าอะไร และไม่ได้เป็นส่วนที่จะบอกว่าคนนั้นถูกหรือคนนี้ถูก เพราะผมก็เห็นการสำรวจหลายสำนัก เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรที่บอกว่าเชื่อคนนั้นหรือไม่ ชอบคนนี้หรือไม่ คิดว่าใครต้องเป็นคนรับผิดขอบเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เห็นทำงานกันอยู่ตลอดเวลา ก็ควรทำให้เป็นเรื่องปกติ" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ซักว่า โพลดังกล่าวถูกมองชี้นำประชาชนเรื่องนาฬิกาไปยืมเพื่อนมา ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังตรวจสอบอยู่ หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า ป.ป.ช.ต้องตัดสินตามพยานหลักฐาน และมีมาตรฐานของตัวเอง และต้องชี้แจง ประชาชนจะเชื่อหรืออย่างไรก็ตาม แต่องค์กรอิสระก็ต้องตรงไปตรงมา อาจมีแรงกดดัน ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ก็เหมือนกับทุกคดีที่เกิดขึ้นกับพระหรือดาราที่มีชื่อเสียง อย่างไรก็มีแรงกดดันอยู่แล้ว เพราะว่ามีทั้งคนที่เชื่อ ที่ชอบ ก็ต้องว่ากันไป
"ถ้าเราปล่อยให้แต่ละฝ่ายทำหน้าที่กันเสียก็หมดเรื่อง ตรงนั้นก็กลับมาเรื่องเดิม เรื่องพวกนี้ป้องกันได้หมดหากว่าเรามีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบแต่แรก ถ้าปล่อยให้มีความคลุมเครือ สุดท้าย ป.ป.ช.ตัดสินออกมา ป.ป.ช.ก็อาจกลายเป็นจำเลยไปด้วย" หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัว ผอ.นิด้า แต่ความสำคัญอยู่ที่เรากำลังกังวลเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ และความกังวลที่ทำให้รู้สึกว่าถ้าบรรยากาศของบ้านเมืองบางเรื่องแตะต้องไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ ไม่เป็นผลดีมากกว่า ถ้าคลายตรงนี้ได้ สถานการณ์ก็จะดีขึ้น และเห็นว่าการเผยแพร่ผลสำรวจที่ชัดเจนน่าจะมีผลกระทบน้อยกว่าเยอะในทุกๆ ด้าน
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังให้สัมภาษณ์ผ่านรายการต้องถาม กรณีมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสออกจากการเป็นภาคีขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ว่า เป็นเรื่องที่อยากได้คำตอบเช่นกันว่าทำไมถึงถอนตัว มูลนิธิดังกล่าวเป็นเอกชน และไม่เกี่ยวกับภาครัฐใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องสำคัญและต้องจับตา เพราะองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเป็นองค์กรที่จัดอันดับและให้คะแนนประเทศต่างๆ เกี่ยวกับความโปร่งใสมาช้านาน แต่ปรากฏว่ามูลนิธิของไทยกลับถอนตัวจากการเป็นภาคี
"คำถามคือ ทำไมต้องถอนตัว ซึ่งจากคำชี้แจงทราบว่ามีปัญหาการทำงานที่องค์กรนานาชาติไม่ค่อยเข้าใจวัฒนธรรมไทยและมีอคติ" นายอภิสิทธิ์กล่าว
วันเดียวกัน นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงกรณีมีการเรียกร้องให้กรมศุลกากรตรวจสอบการเสียภาษีการนำเข้านาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งให้มีการแสดงที่มาของนาฬิกาแต่ละเรือนอย่างชัดเจนว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่หากมีหนังสือมาถึง ก็ต้องขอดูในรายละเอียดก่อน ซึ่งก็พร้อมจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายภายใต้หน้าที่ของกรมศุลกากรอย่างเคร่งครัดทุกอย่าง
นายกุลิศกล่าวว่า ถ้ามีการตรวจสอบเบื้องต้นอาจต้องมีการพิจารณาหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาของนาฬิกาสำหรับบุคคลที่เป็นเจ้าของว่าซื้อมาเมื่อไหร่ ราคาเท่าไหร่ ต้องไปดูว่าเป็นการลักลอบนำเข้ามาหรือไม่ โดยทั้งหมดต้องมาพิจารณาในรายละเอียดตามหลักกฎหมายกรมศุลกากรด้วยว่าบุคคลที่ซื้อนาฬิกาเข้ามาแล้วจะสามารถตรวจสอบอะไรได้บ้าง
"เข้าใจว่าหลังจากนี้จะมีการอ้างข้อกฎหมายมาตราต่างๆ เพื่อให้กรมศุลกากรเข้าไปตรวจสอบในแต่ละจุด ซึ่งยืนยันจะต้องดูตามหลักของกฎหมายว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบจะต้องไม่ไปซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่ได้ดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะป.ป.ช." อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |