มีอำนาจเหนือศาล ตุลาการฯข้างน้อยฉะคสช. ยกคำขอปูทุเลาอายัดทรัพย์


เพิ่มเพื่อน    

“ยิ่งลักษณ์” แห้วคำขอทุเลาอายัดทรัพย์ 3.5 หมื่นล้าน ศาลปกครองมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงยก เผยมีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเทบัญชีเงินฝาก เพราะอายัดได้แค่ 8% จากที่แจ้ง ป.ป.ช.ไว้ สำทับหากเสียหายหลังคดีถึงที่สุด “คลัง” ก็มีปัญญาชดใช้ “ตุลาการเสียงข้างน้อย” อัด “บิ๊กตู่-คสช.” เละ ชี้มีอำนาจสูงสุดเหนือศาล พร้อมทั้งมาตรา 44 ในมือทุเลาก็ไม่กระทบ ลั่นต้องทำหน้าที่ถ่วงดุลในสถานการณ์ประเทศไม่ปกติ!
    เมื่อวันจันทร์ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา (ครั้งที่ 2) ในคดีหมายเลขดำที่ 1996/2559 ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ฟ้องคดี กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน ผู้ถูกฟ้องคดี เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
    โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ฟ้องว่า ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 ให้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 35,717,273.028.23 บาทแก่กระทรวงการคลังภายใน 30 วัน ตามที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณีกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะนายกฯ และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และทำให้ราชการเสียหายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น 
    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทในระหว่างพิจารณาคดีได้นั้น  ต้องมีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 3 ประการเกิดขึ้นครบถ้วน คือ 1.คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.การให้คำสั่งพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง และ 3.การทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ ซึ่งเมื่อพิจารณาคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งได้ยื่นคำขอเป็นครั้งที่ 2 และข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของคู่กรณี รวมถึงกรมบังคับคดีแล้ว เห็นว่าแม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างเหตุความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งเรียกให้ชดใช้เงินหลายประการ แต่ในเมื่อการจะวินิจฉัยว่าคำสั่งพิพาทจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นประเด็นในเนื้อหาของคดีที่ศาลต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าคำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ชี้มีพฤติการณ์โยกทรัพย์สิน 
    ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่ามีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองยึดอายัดทรัพย์สินบางรายการไปแล้วทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ยากแก่การเยียวยาภายหลังนั้น เห็นว่า กระทรวงการคลังมีศักยภาพในการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในภายหลังหากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพิพาทแล้ว และข้อเท็จจริงยังปรากฏด้วยว่าในส่วนข้อมูลในบัญชีเงินฝากทั้ง 16 บัญชีที่กรมบังคับคดีชี้แจงต่อศาลว่าตามบัญชีรายการแสดงทรัพย์และหนี้สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี มีจำนวนเงินรวม 24,908,420.28 บาท แต่การอายัดเงินฝากของกรมบังคับคดีมีเพียง 1,969,884.31 บาท ลดลงจากเดิม 22,938,535.97 บาท หรือ 92.09% โดยศาลได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบแล้ว แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ชี้แจงหรือโต้แย้งข้อมูลดังกล่าว กรณีนี้จึงน่าเชื่อได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินจริง 
ประกอบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ถูกดำเนินการตามมาตรการบังคับทางปกครองไม่ได้อุทธรณ์การบังคับทางปกครองตามมาตรา 62 ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าหากศาลไม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่พิพาทจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง จึงต้องถือว่าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
    สำหรับคำสั่งยกคำขอทุเลาฯ ดังกล่าว เป็นมติเสียงข้างมากขององค์คณะ 5 เสียง ประกอบด้วย นายวุฒิ มีช่วย อธิบดีศาลปกครองกลาง, นายชวลิต ลาภผล ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครอง, นายธวัชไชย สนธิวนิช ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครอง, น.ส.ผึ้งรวง ประเสริฐพานิชการ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครอง และนายหัสฎี ศรีวิเชียร ตุลาการศาลปกครอง โดยมีเสียงข้างน้อย 2 เสียงเห็นแย้ง คือ นายวชิระ ชอบแต่ง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน และนายภานุพันธ์ ชัยรัต รองอธิบดีศาลปกครองกลาง   
โดยนายวชิระเห็นควรมีคำสั่งทุเลาการยึดอายัดทรัพย์บางส่วน คือ ห้ามมิให้ขายทอดตลาดบ้านและที่ดิน ซอยนวมินทร์ 111 แขวงนวมินทร์ กทม. ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของครอบครัว รวมทั้งบรรดาสิ่งของ เครื่องใช้ภายในบ้านไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดี ส่วนนายภานุพันธ์ เห็นสมควรให้มีคำสั่งทุเลาการยึดอายัดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไว้จนกว่าศาลพิพากษาคดี และห้ามกระทำการใดๆ ต่อไปที่เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 16505 และเลขที่ 70389 ต.บึงกุ่ม อ.บึงกุ่ม กทม. พร้อมสิ่งปลูกสร้าง บ้านพักอาศัย 2 ชั้น เลขที่ 38/9 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. ที่กรมบังคับคดีอายัดไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ นายภานุพันธ์ให้ความเห็นแย้งตอนหนึ่งว่า   พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายอื่นๆ  อีกหลายฉบับ และเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานของรัฐจำนวนมาก จึงมีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานอื่นๆ ตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ย้อนหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ศาลปกครองจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดี นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังมีอำนาจพิเศษเหนือศาลที่จะสั่งการระงับยับยั้งคำสั่งของศาลปกครองดังกล่าวได้ตามมาตรา 44 จึงเห็นว่าการทุเลาการบังคับตามคำสั่งปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่การบริการสาธารณะ
ซัด"บิ๊กตู่-คสช."เละ
นายภานุพันธ์ยังระบุว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีปกครองลักษณะทั่วไปในสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีสภาพการปกครองเป็นปกติ แต่เป็นคดีปกครองที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวเรื่องทางการเมือง และมีการใช้อำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศทุกระดับ จึงเกี่ยวข้องกับอำนาจของศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลาการของรัฐในการทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และจะต้องวินิจฉัยคดีนี้ตามหลัก Judicial Activism เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นการได้อำนาจรัฐโดยไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่วิถีการปกครองที่ได้รับการรับรองจากนานาอารยประเทศและองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ไทยเป็นสมาชิก
“ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ และมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการออกคำสั่งให้คุณให้โทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับ และที่ผ่านมาได้มีคำสั่งให้คุณให้โทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการมาแล้วเป็นจำนวนมาก จึงไม่มีหลักประกันว่ากรมบังคับคดีและเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจพิเศษของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. จะดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. 56/2559 ลงวันที่ 13 ก.ย.2559 ภายใต้หลักการปฏิบัติราชการที่ดีและหลักนิติธรรม ดังนั้นเพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐฝ่ายเดียวโดยไม่เป็นธรรมต่อประชาชน จึงสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง”
รองอธิบดีศาลปกครองกลางยังย้ำว่า ในสภาพที่ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองที่ไม่ปกติ เพราะถูกปกครองโดยคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุด ซึ่งมาจากการทำรัฐประหาร โดยในการปกครองประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินไม่มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่แท้จริงตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อคณะบุคคลดังกล่าวได้ใช้อำนาจทางปกครองต่อประชาชนเกิดเป็นข้อพิพาทและนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ตุลาการศาลปกครองซึ่งทำหน้าที่ต้องตระหนักและสำนึกต่อการทำหน้าที่ตุลาการของรัฐและมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่อันสำคัญขององค์กรตุลาการในรัฐสมัยใหม่ตามหลักกฎหมายมหาชน เพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจหรือไม่เป็นธรรม และเพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความมั่นใจแก่สังคมไทย ตลอดจนความเชื่อถือในการอำนาจความยุติธรรมทางปกครองของศาลปกครองไทยต่อสังคมโลก
เปิดรายการอายัด
ด้านนายนพดล หลาวทอง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวหลังรับทราบคำสั่งศาลปกครองว่า เราคงต้องติดตามต่อไป การบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์นั้น หน่วยงานรัฐจะปฏิบัติอย่างไร เพราะเท่ากับกรมบังคับคดีมีอำนาจตามคำสั่งที่ได้รับไว้ในมาตรา 44 แต่หากพบว่าการบังคับอายัดทรัพย์ดำเนินการจากกรอบคำสั่งและกฎหมายที่ใช้อยู่เกี่ยวกับการบังคับคดี เราต้องใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อสู้โต้แย้งใหม่ โดยขณะนี้ทรัพย์นั้นถูกอายัดไว้ไม่ให้เคลื่อนย้ายถ่ายเท แต่ยังไม่ได้ยึดขายทอดตลาด ซึ่งทรัพย์สินที่เราเคยยื่นคำร้องขอให้ระงับไว้ในครั้งแรกและครั้งที่ 2 คือบ้านพักและบัญชีเงินฝากประมาณ 12-13 บัญชี จากนี้เราต้องต่อสู้ในเนื้อหาคดีหลักว่าการออกคำสั่งนั้นไม่ชอบอย่างไร
    ส่วน น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าวว่า ตามขั้นตอนนั้นกระทรวงการคลังต้องดำเนินการสืบทรัพย์และตั้งเรื่องเพื่อขอยึดอายัดทรัพย์ หลังจากนี้กรมต้องรอทางกระทรวงการคลังมายื่นเรื่องเพิ่มเติมต่อไป โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังได้ยื่นคำร้องขอให้ยึดอายัดทรัพย์ไปบางส่วนนั้น ซึ่งทางกรมบังคับคดีก็ได้ดำเนินการตามคำร้องที่โจทก์สืบทรัพย์มาบางส่วนแล้ว โดยทำตามขั้นตอนของกฎหมายมาตลอด
    ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า กระทรวงการคลังช่วยชี้เป้าให้ ซึ่งเราก็ดำเนินการที่กระทรวงชี้เป้า
    สำหรับการอายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์โดยกรมบังคับคดีนั้น ประกอบด้วย 1.อายัดบัญชีเงินฝาก 16 บัญชี และ 2.อายัดเงินส่วนแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายของศาลละลายกลาง คดีหมายเลขดำที่ ล.13430/2552 และยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 37 รายการ ประกอบด้วย ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4 รายการ คือ 1.บ้านพักอาศัย 2 ชั้น และที่ดินโฉนดเลขที่ 57310 เขตบางขุนเทียน 2.บ้านพักอาศัย 2 ชั้น และที่ดินโฉนดเลขที่ 57430 เขตบางขุนเทียน 3.ที่ดินโฉนดเลขที่ 16505 เขตบึงกุ่ม (สนามฟุตบอล) 4.บ้านพักอาศัย 2 ชั้น และที่ดินโฉนดเลขที่ 70389 เขตบึงกุ่ม ที่ดินว่างเปล่า 3 รายการ คือ 1.ที่ดินโฉนดเลขที่ 25401 เขตบึงกุ่ม 2.ที่ดินโฉนดเลขที่ 10005 อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ 3.ที่ดินโฉนดเลขที่ 7480 กิ่ง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ และห้องชุด 30 รายการ ได้แก่ 1.ห้องชุดเซ็น ทริค ซีน สุขุมวิท 64 เขตบางนา 2 ห้อง และ 2.ห้องชุดยูคอมเพล็กซ์ คอนโดมีเนีย กิ่ง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการจำนวน 28 ห้อง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"