จ.นครสวรรค์ / พอช.และขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตกจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่จังหวัดนครสวรรค์คึกคัก ยกเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาโดยนำที่ดินของรัฐให้ชุมชนเช่าปลูกสร้างบ้านในระยะยาว โดยทำโครงการบ้านมั่นคงไปแล้ว 9 เมือง รวม 43 โครงการ จำนวน 4,854 ครัวเรือน ด้าน พอช.ทำบ้านมั่นคงเมืองแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศแล้วกว่า 100,000 ครัวเรือน ขณะที่ศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยเอเชีย (ACHR) เสนอจัดตั้งกองทุนที่อยู่อาศัยเอเซียเพื่อระดมทุนแก้ปัญหาระดับภูมิภาค
องค์การสหประชาติกำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม และหามาตรการแก้ไขปัญหา ซึ่งในประเทศไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี และขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ จัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศตลอดช่วงเดือนตุลาคมนี้ โดยในจังหวัดภาคกลางและตะวันตกจัดกิจกรรมที่จังหวัดนครสวรรค์ระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินรณรงค์ การสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ มีผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
วันนี้ (15 ตุลาคม) เวลา 9.00 น. ที่ห้องประชุมเทศบาลนครนครสวรรค์ มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ภายในงานมีการจัดบูธแสดงนิทรรศการการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การมอบโล่เกียรติคุณให้แก่หน่วยงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน โดยมีนายสุเทพ วงษ์พานิช รองผู้ว่าฯ จ.นครสวรรค์ เป็นประธานในงาน มีนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนจากเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยในจังหวัดภาคกลางและตะวันตกเข้าร่วมงานประมาณ 800 คน
นางอร่ามศรี จันทร์สุขศรี ประธานเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลของเครือข่าย พบว่า ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์มีชุมชนทั้งหมด 71 ชุมชน รวม 16,319 ครัวเรือน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่ดินราชพัสดุ ที่ดินวัด/สำนักงานพระพุทธศาสนา เทศบาล เช่าที่ดินเอกชน ฯลฯ มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย บางส่วนบุกรุกที่ดินของรัฐ หรือเช่าที่ดินเอกชนในระยะสั้น เสี่ยงต่อการโดนไล่ที่ รวมทั้งสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม มีปัญหาขยะ น้ำเน่าเสีย บ้านเรือนทรุดโทรม ประชาชนมีรายได้น้อย ฐานะยากจน ฯลฯ
นอกจากนี้ในอำเภอต่างๆ ก็มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยเช่นเดียว ดังนั้นเครือข่ายฯ จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน โดยยึดหลักการ ”ชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา หน่วยงานต่างๆ มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุน” เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน
ประธานเครือข่ายฯ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากจังหวัดนครสวรรค์เป็นประตูไปสู่ภาคเหนือ และเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคกลาง ทำให้ที่ดินมีราคาแพง ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้ ดังนั้นเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ จึงขอใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐมาจัดทำโครงการบ้านมั่นคง เช่น ที่ดินราชพัสดุ โดยขอเช่าที่ดินระยะยาวเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ใช้ที่ดินของรัฐจัดทำโครงการบ้านมั่นคงไปแล้ว 9 เมือง รวม 43 โครงการ จำนวน 4,854 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม มีฐานะยากจน ตามโครงการ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ ในพื้นที่ 12 ตำบล รวม 376 ครัวเรือน อำเภอที่ดำเนินการ เช่น ตาคลี ตากฟ้า ท่าตะโก เก้าเลี้ยว ฯลฯ
“ในจังหวัดนครสวรรค์ เครือข่ายฯ ทำโครงการบ้านมั่นคงโดยไม่ได้ซื้อที่ดิน เพราะที่ดินมีราคาแพง เครือข่ายฯ จึงขอใช้ที่ดินของรัฐ เช่น กรมธนารักษ์ นำมาให้ชาวบ้านเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านในอัตราผ่อนปรน ระยะยาว อยู่ได้ชั่วลูกชั่วหลาน ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่ที่ และไม่ต้องมีภาระในการซื้อที่ดิน นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ช่วยกันพัฒนาชุมชน พัฒนาสิ่งแวดล้อม จัดการเรื่องขยะและน้ำเสีย ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมสนับสนุน เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปา ฯลฯ ขยายการบริการเข้ามาในชุมชน ทำให้ชุมชนมีสาธารณูปโภคใช้ในราคาถูก ถือเป็นการรวมพลังประชารัฐ รวมพลังจากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อย” ประธานเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยจังหวัดนครสวรรค์กล่าว
ตัวอย่างชุมชนที่ทำโครงการบ้านมั่นคง ชุมชนรณชัย ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างตลาดสดเทศบาล ชุมชนอยู่ในที่ดินบุกรุกของกรมธนารักษ์มานานกว่า 60 ปี มีเนื้อที่ 2 ไร่เศษ มีชาวบ้านอยู่อาศัยรวม 180 ครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย รับจ้างทั่วไป และจับปลา โดยชาวชุมชนได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2538 และร่วมกันจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน มีสมาชิก 62 ราย มีเงินออมรวมกันประมาณ 1 ล้านบาทเศษ กำลังสร้างบ้านเฟสแรก 54 หลัง และปรับปรุง 3 หลัง
แบบบ้านเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น บ้านแฝดและบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4x8 ตารางเมตร ราคาประมาณ 250,000-310,000 บาท ผ่อนชำระ 15 ปี รวมค่าเช่าที่ดิน เดือนละ 1,915-2,330 บาท โดย พอช.สนับสนุนงบสาธารณูปโภค 2.85 ล้านบาท งบอุดหนุนรวม 1.42 ล้านบาท ใช้สินเชื่อจาก พอช. รวม 11.7 ล้านบาท ธนารักษ์จังหวัดให้เช่าที่ดินระยะ 30 ปี อัตราตารางวาละ 4.50 บาทต่อเดือน ขณะที่การไฟฟ้าได้ร่วมสนับสนุน โดยขยายเขตไฟฟ้าเข้าไปในชุมชน
ชุมชนสวรรค์เมืองใหม่ ตั้งอยู่ด้านหลังสำนักงานอัยการจังหวัด สร้างบ้านมั่นคงจำนวน 102 หลัง ขณะนี้สร้างเสร็จหมดแล้ว รูปแบบเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว และบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ขนาด 6x8 ตารางเมตร ราคาบ้าน 290,000-380,000 บาท พอช.อนุมัติสินเชื่อรวม 26.5 ล้านบาท (หลังละ 230,000-300,000 บาท) และอุดหนุนสร้างบ้านหลังละ 23,000 บาท ขณะที่ชาวบ้านสมทบเงินหลังละ 37,000-57,000 บาท ผ่อนชำระ 15 ปี เดือนละ 1,941-2,532 บาท นอกจากนี้ พอช.ยังสนับสนุนงบจำนวน 10.5 ล้านบาท เพื่อถมดิน ปรับภูมิทัศน์ บำบัดน้ำเสีย ขณะที่เทศบาลและการไฟฟ้า สร้างถนน ประปา ขยายไฟฟ้า ฯลฯ รวมงบประมาณ 26.4 ล้านบาท
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า พอช.ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบแล้ว มีเป้าหมายประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ จำนวน 1,053,702 ครัวเรือน เช่น โครงการบ้านมั่นเมือง (เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 ) ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว รวม 74 จังหวัด 388 เมือง จำนวน 1,088 โครงการ รวม 108,215 ครัวเรือน
โครงการบ้านมั่นคงชนบท (ปีงบประมาณ 2560-2561) ดำเนินการแล้ว 14 จังหวัด 21 เมือง 36 โครงการ รวม 3,155 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และที่ดินป่าสงวนฯ เสื่อมโทรม โครงการบ้านพอเพียงชนบท เป็นการซ่อมแซมบ้านเรือนในชนบทที่ยากจน มีสภาพทรุดโทรม สนับสนุนครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 18,000 บาท โดยหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชนร่วมกันลงแรง หรือสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ดำเนินการแล้ว (ปีงบประมาณ 2560-2561) รวม 1,583 พื้นที่ จำนวน 31,622 ครัวเรือน
ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดภาคกลางและตะวันตก ได้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 16 จังหวัด 69 เมือง 137 โครงการ รวม 12,415 ครัวเรือน โครงการบ้านมั่นคงชนบท รวม 3 จังหวัด 3 ตำบล จำนวน 768 ครัวเรือน และโครงการบ้านพอเพียงชนบท รวม 16 จังหวัด 508 ตำบล จำนวน 5,611 ครัวเรือน
นอกจากการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกในประเทศไทยแล้ว ศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (Asian Coalition for Housing Rights : ACHR) ซึ่งมีสมาชิกเป็นเครือข่ายภาคประชาชนและประชาสังคมที่ทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศเอเซีย จำนวน 19 ประเทศ ได้จัดประชุม Asia Hub ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 10-14 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้แทนจากประเทศต่างๆ 10 ประเทศ รวม 57 คน เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ เวียดนาม พม่า กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ฯลฯ เข้าร่วมประชุม และเดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย รวมทั้งที่จังหวัดนครสวรรค์ด้วย
การประชุม Asia Hub ครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการฟื้นฟู ‘กองทุนที่อยู่อาศัยเอเซีย’ ขึ้นมา (เดิมเคยมีการจัดตั้งมาแล้ว) โดยให้สมาชิกแต่ละประเทศจัดตั้งกองทุน ‘Asia Community Fund’ ขึ้นมา และสมาชิกร่วมสมทบเงินคนละ 1 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 33 บาท) ต่อปี โดยสมทบปีละ 1 ครั้งในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อรวบรวมเงินเป็นกองทุนในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาที่อยู่อาศัยของแต่ละประเทศและระดับภูมิภาค ในรูปแบบการให้สมาชิกกู้ยืม ดอกเบี้ยต่ำ หรือนำไปสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้แก่ประเทศสมาชิกที่เดือดร้อน โดยขณะนี้ ACHR ได้ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนประเดิมแล้ว จำนวน 10,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 330,000 บาท
สร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |