เลขาฯ กกต.ลั่นหมดยุคเสือกระดาษ โวกฎหมายให้อำนาจฟันโกงเลือกตั้งเต็มที่ รางวัลชี้เบาะแส 1 แสนบาทคือหัวใจสำคัญ เตือนครอบงำพรรคถึงขั้นถูกยุบ "FFFE" เรียกร้องเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม "เพื่อชาติ" ประชุมพรรค นปช.-พท. นายทุนตบเท้าให้กำลังใจ "ตู่" ยันพร้อมคุยกับทุกฝ่ายหาทางออกบ้านเมือง พท.จ่อเลือก "หญิงหน่อย" ถือธงนำ จี้ กกต.จับตา รมต.สวมหมวก พปชร.ลงพื้นที่คลองลัดมะยมขัดคำสั่ง คสช. ด้าน ปชป.ตอก พท.หยุดสร้างวาทกรรมฝ่าย ปชต.ทั้งที่เคยหนุน "บิ๊กบัง" ดันนิรโทษกรรมสุดซอย
เมื่อวันอาทิตย์ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน มีการจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ “เตรียมความพร้อมทำข่าวเลือกตั้ง 62” โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ขณะนี้พรรคการเมืองหลายพรรคประกาศว่าจะเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง และเลือกตั้งครั้งนี้ต้องไม่มีเลือด ต้องเป็นการเลือกตั้งที่สงบ ระบบเลือกตั้งตอนนี้มีปัญหาแตกเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย ซึ่งเป็นธรรมชาติพรรคการเมือง เพราะทุกพรรคอยากเป็นตัวแทนประชาชนเข้าไปทำงานในสภา อยากได้ส.ส.มากที่สุด จึงมีเทคนิคและวิธีการต่างๆ แต่ทุกอย่างต้องไม่ซื้อเสียงและทำผิดกฎหมาย
พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า ส่วนเงินบริจาคพรรคและการระดมทุนพรรคนั้น หากเราบริจาคเงินให้พรรค 10 ล้านบาท แล้วจะไประดมทุนให้พรรคเกิน 10 ล้านบาทนั้นทำไม่ได้ เพราะต้องเป็นไปตามกฎหมาย แนวคิดและเจตนาของ กกต.ไม่อยากให้พรรคการเมืองเป็นของกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งเท่านั้น สำหรับการจัดกิจกรรมระดมทุนพรรคการเมืองในตอนนี้ จะต้องขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน การหาเสียงครั้งนี้จะหนักไปทางโซเชียลมีเดีย โดยทุกวิธีการหาเสียง กกต.ต้องเป็นผู้กำหนด คำนึงถึงความเป็นธรรมและความเท่าเทียมให้กับทุกพรรค
"เมื่อก่อน กกต.เหมือนเสือกระดาษ แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าเรื่องซื้อเสียง กฎหมายให้อำนาจหน้าที่กกต.ดำเนินการอย่างเต็มที่ มีอำนาจออกหมายเรียก และออกหมายจับได้ในคดีเลือกตั้งตามกฎหมาย ป.วิอาญา อีกทั้งมีการให้รางวัลแก่ผู้ที่ชี้เบาะแสในคดีเลือกตั้งระดับชาติคดีละ 1 แสนบาท โดยต้องมีหลักฐานให้ศาลสามารถลงโทษให้ใบแดงการเลือกตั้งได้จะเป็นหัวใจสำคัญแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้ และไม่ทำให้สังคมแตกแยก เราสามารถกันผู้ที่ให้ข้อมูลไว้เป็นพยานได้ ถือเป็นมีดดาบของ กกต. ซึ่งนักการเมืองที่แพ้คดีต้องชดใช้เงินการจัดการเลือกตั้งด้วย เชื่อว่าหากแจกเงินไป 100 บ้าน ต้องมีสัก 3-4 บ้านที่มาให้หลักฐานกับ กกต. เชื่อว่าจากนี้พรรคการเมืองจะไม่กล้าทำแน่นอน เราต้องปฏิรูประบบการเลือกตั้ง และต้องไม่มีการทุจริตการเลือกตั้ง”
เลขาธิการ กกต.กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีข้อกังวลเรื่องการครอบงำชี้นำพรรคจากบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ทำให้พรรคดำเนินงานได้ไม่อิสระ กฎหมายกำหนดให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคต่างๆ ต้องเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น ถ้าเป็นบุคคลภายนอกอาจมีความผิดถึงขั้นยุบพรรคได้ และเป็นห่วงว่าเมื่อใกล้การเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะต้องไปหาสมาชิกพรรคได้ตามที่กฎหมายกำหนด อาจมีการให้สินบนหรือสัญญาว่าจะให้ เช่น การออกค่าใช้จ่ายการเป็นสมาชิกพรรคให้ ซึ่งความผิดถึงขั้นยุบพรรคได้เช่นกัน ตอนนี้มีหลายที่ที่มีคนไปเก็บบัตรประชาชนและแจกข้าวสาร หากมีพยานหลักฐานเราต้องดำเนินการ
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อธรรม และพรรคเพื่อชาติ อาจจะเป็นพรรคนอมินีกันหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า ต้องดูข้อเท็จจริงก่อน และต้องเปิดกฎหมายว่าเข้าข่ายการครอบงำหรือไม่ เพราะพรรคต้องมีอิสระ ไม่ถูกครอบงำ หลักการพิจารณาจะต้องดูข้อเท็จจริงว่าพรรคหนึ่งพรรคใดมีการครอบงำกันหรือไม่ เพราะพรรคถือเป็นนิติบุคคล หากเป็นนอมินีกันก็มีความผิดถึงขั้นยุบพรรค
ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (FFFE) นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ อ่านแถลงการณ์ว่า การเลือกตั้งจะสามารถเป็นประตูไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้จะต้องประกอบด้วยปัจจัยดังนี้ 1.มีเสรี คือ ประชาชนสามารถแสดงความเห็นต่อกระบวนการเลือกตั้งได้อย่างเสรี ไม่ถูกจำกัดโดยกฎหมาย 2.มีความเป็นธรรม คือประชาชนสามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้อย่างเท่าเทียมกัน และต้องไม่มีการใช้อำนาจหรือกลไกรัฐเอื้อประโยชน์หรือขัดขวาง และ 3.มีผลในทางปฏิบัติ คือประชาชนสามารถติดตามกำกับผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของตน
นปช.-พท.มาเชียร์เพื่อชาติ
เครือข่ายประชาชนฯ และพรรคการเมืองที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ครั้งนี้ ที่ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคสามัญชน ขอเรียกร้องให้ประชาชนได้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมเพื่อรับฟังและเสนอนโยบายกับประชาชนได้อย่างอิสระและเท่าเทียม รวมถึงขอให้เคารพในเจตนารมณ์ของประชาชน
ในการเสวนาเรื่อง "การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมกับอนาคตสังคมไทยและการเมือง : มุมมองจากภาคประชาชน" นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี ม.มหิดล กล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงควรต้องทำให้สังคมปราศจากความกลัว และมีข้อเสนอถึงนักการเมืองและพรรคการเมืองร่วมสัตยาบัน หรือประกาศข้อตกลงร่วมกันว่าต้องไม่ซื้อเสียง ไม่ใช้กลไกหรือทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์หรือให้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง รวมถึงหลีกเลี่ยงสร้างความเกลียดชังของประชาชน รวมถึงหลังการเลือกตั้งต้องประกาศชัดเจนว่าจะไม่เลือกบุคคลที่ไม่อยู่ในบัญชีนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกฯ
ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ห้างอิมพีเรียล สำโรง พรรคเพื่อชาติจัดประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 2/2561 เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อบังคับพรรค รวมถึงสัญลักษณ์ของพรรค โดยมีนายเถลิงยศ บุตุคำ หัวหน้าพรรค ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พร้อมสมาชิกกว่า 500 คน ส่วนที่บริเวณภายนอกห้องประชุม บรรดาแกนนำผู้ร่วมสนับสนุนพรรค อาทิ นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา, นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช., นายอารี ไกรนรา อดีตหัวหน้าการ์ด นปช. เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ เช่นเดียวกับสมาชิกพรรคเพื่อไทย เช่น นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเจ้าของห้างอิมพีเรียลสำโรง, นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ เป็นต้น โดยหนึ่งในสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมมีบุตรชายนายสงครามเข้าร่วมประชุมด้วย
นายยงยุทธกล่าวว่า มาในฐานะกองเชียร์ ให้กำลังใจ พรรคเพื่อชาติเป็นพรรคเกาะกลาง เพราะหากถ้าไปยืนซีกซ้ายหรือขวา คนอาจจะยังไม่เชื่อ สิ่งที่เป็นเป้าหมายของเราคือ เราจะยื่นมือไป ส่วนใครจะจับมือกับเราหรือไม่ ก็แล้วแต่เขา ส่วนข้อวิจารณ์เรื่องพรรคนี้เป็นพรรคนอมินีของพรรคเพื่อไทยหรือของพรรคอื่นๆ นั้น ขอให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ส่วนข้อวิจารณ์ว่าพรรคเพื่อชาติจะไปแย่งคะแนนเสียงพรรคเพื่อไทย เป็นแนวคิดแบบการเมืองเก่า แต่ความคิด การเมืองใหม่เราต้องมีพื้นที่ตรงกลางให้มายืนร่วมกัน
นายจตุพรกล่าวเช่นกันว่า มาให้กำลังใจพรรคเพื่อชาติ โดยจะร่วมทำในส่วนที่กฎหมายจะอำนวย พรรคเพื่อชาติพร้อมเปิดกว้างกับทุกฝ่าย ภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตย เพื่อมาร่วมหารือทางออกให้บ้านเมืองอย่างที่เคยพูดไป ถ้าเราไม่คุยกัน ไม่ว่าใครจะเป็นผู้แพ้หรือชนะ ก็จะเกิดปัญหาตามมา คนชนะปกครองไม่ได้ คนแพ้ไม่มีที่ยืน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขอยื่นไมตรีให้กับทุกฝ่าย พร้อมพูดคุยกับทุกฝ่าย
เมื่อถามว่า พร้อมที่จะพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคแนวร่วมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.หรือไม่ นายจตุพรกล่าวว่า ลำพังเพียง 2 พรรคก็ไม่ได้ ต้องมีผู้มีอำนาจร่วมพูดคุยด้วย เพื่อตกลงเป็นสัญญาประชาคม บรรยากาศแบบเดิมๆ ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก คนไทยเดือดร้อนมาก เราต้องการความสงบภายในชาติ และพรรคนี้ก็คิดเพื่อชาติ ตนถูกห้ามไม่ให้ลงรับสมัครเลือกตั้ง เปรียบเหมือนทีมฟุตบอล ตนกับนายยงยุทธเป็นกองเชียร์ที่นั่งบนอัฒจันทร์แล้วส่งเสียงเชียร์ เพราะเห็นว่าทีมนี้มีความตั้งใจดี
ถามถึงกระแสข่าวที่นายทนง พิทยะ จะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายยงยุทธกล่าวว่า ไม่ว่าใครจะมารับตำแหน่ง เชื่อว่าทางพรรคน่าจะพร้อมสนับสนุน แต่ตอนนี้ยังไม่มีการเลือกหัวหน้าพรรค ต้องรอให้มีการประชุมใหญ่ รอให้สมาชิกพรรคเป็นคนเลือก
พท.ยันเกี๊ยะเซียะไม่ได้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข่าวการจัดตั้งพรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อธรรม เพื่อเป็นเครือข่ายให้กับพรรคเพื่อไทยในการเก็บคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า พรรคการเมืองทุกพรรคมีสถานะทางกฎหมายของตัวเอง ต้องทำหน้าที่และแสดงจุดยืนเป็นของตนเองเพื่อให้สมาชิกพรรคมั่นใจ และต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ซึ่งไม่มีพรรคไหนจะได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นเพียงพรรคเดียวได้ง่ายนัก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดพรรคการเมืองต่างๆ มากมาย การรวมพรรคหรือการเกี๊ยะเซียะกันของพรรคการเมืองในทางกฎหมายทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่สมาชิกพรรคของพรรคเพื่อไทยสามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ในจุดยืนใด และไม่ว่าทุกคนจะตัดสินใจอย่างไร สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้เลือก
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งพรรคเพื่อชาติและเพื่อธรรมขึ้นมาเพื่อแก้เกมเผื่อพรรคเพื่อไทยถูกยุบนั้น นายภูมิธรรมกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีประเด็นใดเข้าข่ายที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยถูกยุบ เพราะที่ผ่านมาพยายามทำตามกติกาที่ผู้มีอำนาจวางไว้ แม้จะไม่เห็นด้วยกับกติกาบางอย่าง แต่เมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง จะมีการแก้กติกาที่ไม่เห็นด้วย
มีรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ พรรคเพื่อไทยจะจัดให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ซึ่งคาดว่านายทักษิณ ชินวัตร ได้ไว้วางใจให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค ล่าสุด นายวัฒนา เมืองสุข คนสนิทนายทักษิณได้ออกมาสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ให้เป็นผู้ถือธงนำพรรค เพราะเห็นด้วยกับจุดยืนต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลคณะรัฐประหาร
แหล่งข่างอ้างว่า เริ่มมีความเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรคที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หลายคนได้เข้าหาคุณหญิงสุดารัตน์เพื่อเสนอตัวลงสมัครในแต่ละเขตพื้นที่จังหวัด หนึ่งในนั้นคือ ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง หรือหมวดเจี๊ยบ ได้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขตวังทองหลาง กทม. หลังพื้นที่เดิมคือเขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขมนั้น นายวัฒนา เมืองสุข เสนอตัวลงสมัครไว้แล้ว
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) จะลงพื้นที่พบปะประชาชน และสมาชิกพรรคในวันที่ 15 ต.ค. ที่ตลาดคลองลัดมะยม ว่าการดำเนินกิจกรรมของนายสนธิรัตน์เป็นการชุมนุมเกิน 5 คน และเป็นการทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างชัดเจน ที่สำคัญยังมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ย่อมมีการแอบแฝงใช้ตำแหน่งในรัฐบาลให้ความช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อม การลงไปทำกิจกรรมในพื้นที่ที่ได้รับงบประมาณจากโครงการประชารัฐ ซึ่งเป็นเงินจากภาษีประชาชน เป็นการเอาเปรียบกันอย่างยิ่ง แล้วก็นำชื่อโครงการประชารัฐที่ใช้เงินหลวง ไม่ใช่ใช้เงินส่วนตัว มาตั้งเป็นชื่อพรรคการเมือง ถือว่าน่าละอาย กกต.ต้อง ติดตามอย่างใกล้ชิด
นายศักดา นพสิทธิ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า เป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่13/2561 เนื่องจากให้ทำกิจกรรมได้ภายใต้กรอบที่ระบุในคำสั่งเท่านั้น ซึ่งกิจกรรมที่จัดทำนั้นอยู่นอกเหนือคำสั่ง หากคสช.เพิกเฉยไม่ห้ามปราบ ก็จะเกิดข้อสงสัยอีกว่าคสช.สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น กกต.มีหน้าที่ดูแลพรรคการเมืองให้ปฏิบัติตามกฎหมาย
ลูกกำนันเซี้ยซบ พปชร.
ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ว่าที่กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ พรรคจะเปิดตัวสถาบัน ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าที่รองหัวหน้าพรรคพปชร. รับผิดชอบดูแล โดยการดำเนินงานของสถาบันนี้ อาจมีหลักสูตรเตรียมสร้างผู้นำรุ่นใหม่ และจะระดมความคิดเห็นจากคนหลายกลุ่ม โดยจะเชิญให้ผู้นำในด้านต่างๆ เข้ามาร่วมงานต่อไป สถาบันดังกล่าวจะมีไปตลอด และในอนาคตอาจเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของพรรคต่อไป ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเฉพาะช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง ขณะนี้ก็มีคนรุ่นใหม่ที่มีเจตนาชัดเจนที่จะมาทำงานร่วมกับพรรค พปชร.ประมาณ 100 คน และจะทยอยเข้ามาอีก
แหล่งข่าวจากพรรค พปชร.เปิดเผยว่า ได้มีการประสานกับนายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ปชป. และนายปารเมศ โพธิพิพิธ อดีต ส.ส.ปชป. ซึ่งเป็นลูกชายนายประชา โพธิพิพิธ หรือกำนันเซี้ย ส.ส.กาญจนบุรี ปชป.ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองกาญจน์ มาลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรค พปชร. โดยนายธรรมวิชญ์และนายปารเมศได้ลาผู้ใหญ่ใน ปชป.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแกนนำ ปชป.ก็เข้าใจสาเหตุที่ต้องไป
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. เรียกร้องให้แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนที่ระบุว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจและจะไม่จับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี โดยสร้างภาพว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเคยกอดคอกับพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน อดีตหัวหน้า คมช. ที่ทำการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ หลังจากที่เข้ามาทำงานการเมืองเป็นหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ โดยส่งชื่อ พล.อ.สนธิ เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ในนามของพรรคเพื่อไทย และผลักดันให้เป็นที่ปรึกษา กมธ.ชุดนี้ เพื่อให้ทำเรื่องนิรโทษกรรม ก่อนที่จะมีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยออกมา จนเป็นชนวนที่ทำให้ประชาชนต่อต้าน สะท้อนให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่เคยคำนึงถึงเรื่องประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ตราบใดที่ผลประโยชน์ลงตัว ก็พร้อมจับมือกับคนที่ทำรัฐประหารตัวเองได้ จึงควรหยุดสร้างวาทกรรมหลอกลวงว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยได้แล้ว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการหัวหน้าพรรคปชป. กล่าวถึงกรณีที่เคยระบุว่าจะร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ หากมีการปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารต่างไปจาก 4 ปีที่ผ่านมาว่า ปชป.คือทางเลือกหลักให้กับประเทศไทยและคนไทย ส่วนการจะไปร่วมงานกับใครก็แล้วแต่เงื่อนไขของตน คือต้องสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ แต่ 4 ปีที่ผ่านมา การบริหารงานของรัฐบาลเป็นการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ การบริหารงานด้านเศรษฐกิจไม่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศ และการบริหารงานจำกัดเสรีภาพของประชาชนเราไม่เห็นด้วย
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กรุงเทพ ปชป. กล่าวว่า การเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ครั้งนี้ มีผลจริงๆ ไม่ใช่มีผลแค่ในพรรค แต่มีผลต่อประเทศและทั้งอาเซียน ส่วนที่มองว่าหากเลือกนายวรงค์ เดชกิจวิกรม ก็จะจับมือกับ คสช. แต่หากเลือกนายอภิสิทธิ์ จะต้องต่อสู้กับ คสชนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะการจับมือกับพรรคการเมืองใด ต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าพรรคไหนได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน แล้วมีนโยบายเหมือนกันกับ ปชป.ก็สามารถรวมกันได้ แต่ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับนายกฯคนนอก
จุดยืนจ้อนไม่ล้มเลือกตั้ง
นายอลงกรณ์ พลบุตร ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า ตนขอแถลงแสดงจุดยืนและท่าทีทางการเมืองใน 3 เรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการเมืองไทยและอนาคตของประเทศ 1.จุดยืนต่อการเลือกตั้ง ปชป. โดยการนำของตนจะร่วมแข่งขันในการเลือกตั้งตามกฎหมายและกติกาอย่างสุภาพบุรุษ โดยจะไม่มีการขัดขวางหรือบอยคอตการเลือกตั้งในยุคที่ตนเป็นหัวหน้าพรรค เราพร้อมเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แพ้คือแพ้ ชนะคือชนะ ตามเจตนารมณ์ของประชาชน 2.การจัดตั้งรัฐบาล จะเคารพสิทธิพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งให้มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลก่อนตามครรลองประชาธิปไตย เพื่อแสดงว่า ปชป.เคารพเสียงของประชาชน และต้องพร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลบนความชอบธรรมเท่านั้น 3.ไม่รับนายกฯ คนนอก เพราะจะเป็นชนวนก่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ จะไม่ยอมให้ประเทศต้องจมปลักอยู่กับความแตกแยกขัดแย้งอีกต่อไป จะไม่ยอมให้ประชาชนของเราไม่ว่าจะคิดต่างกันอย่างไรต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้ออีกต่อไป
ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ร่วมด้วยนายภูวกร ศรีเนียน, นายคริส โปตระนันท์ และนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกพรรค ร่วมปั่นจักรยานในแคมเปญ “Bike for the Future” หาเพื่อนร่วมทาง สร้างอนาคตใหม่ ทั่วไทย โดยมีจุดเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังภาคตะวันออก และจะมีโครงการปั่นจักรยานไปยังทุกภาคของประเทศไทย รวมระยะทางกว่า 7,300 กิโลเมตร เพื่อรับสมัครสมาชิก โดยเตรียมใบสมัครไปกับคาราวานจักรยาน 6,000 ใบ และพร้อมเติมตลอดเวลาหากมีเสียงตอบรับดี
น.ส.เยาวภา บุรพลชัย รองโฆษกพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) เปิดเผยถึงการเปิดรับสมัครสมาชิกพรรค ชพน.ว่า ขณะนี้ น.ส.สุพัตรวี อยู่แพทย์ (แม่หลวงกุ้ง) อดีตผู้ใหญ่บ้านที่สวยที่สุดในประเทศไทย ได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค ชพน.แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีความคิดและแนวทางการทำงานสอดคล้องการอุดมการณ์ของพรรค ที่ทำงานไม่ขัดแย้ง และต้องการทำงานเพื่อประชาชน
ด้าน น.ส.สุพัตรวี เปิดเผยถึงการตัดสินใจสมัครเข้าร่วมสมาชิก ชพน.ว่า เป็นการสานฝันตนเองที่ต้องการทำงานเพื่อประชาชน เพราะตนชอบทำงานด้านจิตอาสาเพื่อสังคม แต่เนื่องจากการเป็นผู้ใหญ่บ้านจึงยังไม่สามารถทำงานด้านอาสาได้อย่างเต็มที่ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงขอเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค ชพน. เพราะชอบที่มีความเป็นกลาง ไม่มีความขัดแย้ง เน้นการทำงานสร้างสรรค์ประเทศชาติ ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ที่โรงแรม Regent ซอยรามคำแหง 22 พรรคภราดรภาพ จัดแถลงข่าวเรื่องการรวมกับพรรคประชาชาติ โดยมีอดีตสมาชิกพรรคภราดรภาพที่รวมแถลง อาทิ นายสมบูรณ์ จิตรสมบูรณ์ อดีตรองเลขาธิการพรรค, ดร.บุญญา หลีเหลด อดีตที่ปรึกษาพรรค, นายชัยวุฒิ แอเดช อดีตผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ, นายนุรดดีน ดะแซสาเมาะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ, นายอับดุลรอชัก หมีนยะลา อดีตสมาชิกพรรค ส่วนผู้แทนพรรคประชาชาติที่ร่วมแถลง ประกอบด้วย ร.ต.อ.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ว่าที่รองหัวหน้าพรรค และนายมุข สุไลมาน เหรัญญิกพรรค
นายสมบูรณ์แถลงว่า เนื่องจากเล็งเห็นว่าแนวทางการเมืองกับกรรมการในพรรคภราดรภาพไม่ตรงกัน เราจึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นควรเข้าร่วมกับพรรคประชาชาติ ซึ่งมีแนวคิดวิธีการดำเนินทางการเมืองสอดคล้องใกล้เคียงกับวิธีของพรรคภราดรภาพเดิม ดังนั้นจึงมีมติเข้าร่วมกับพรรคการเมืองพรรคประชาชาติ ซึ่งการนี้ สมาชิกในพรรคก็ได้มีความนับถือนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และสนิทคุ้นเคยกับ ร.ต.อ.นิติภูมิธณัฐอยู่แล้วอีกด้วย
นายสมบูรณ์กล่าวว่า เดิมจุดยืนของพรรคภราดรภาพไม่สนับสนุนรัฐบาลทหารอยู่แล้ว การย้ายมาสังกัดกับพรรคประชาชาติก็ได้มีการพูดคุยกันมาก่อนแล้วว่าเราจะยังคงหลักการเดิมที่ไม่สนับสนุนอำนาจที่มาจากรัฐบาลทหารเด็ดขาด ส่วนพรรคภราดรภาพที่เราย้ายออกมานั้น ก็ยังคงยืนอยู่จุดเดิมที่จะไม่ร่วมกับรัฐบาลทหารเช่นกัน ซึ่งแม้เราย้ายมาอยู่พรรคประชาชาติ แต่กับพรรคภราดรภาพเราก็ยังเป็นมิตรสหายกันอยู่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |