ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม


เพิ่มเพื่อน    


    รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดระบบบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมแทน โดยเฉพาะการระบุว่ารัฐพึงให้ความช่วยเหลือแก่ “ผู้ยากไร้” ที่ระบุไว้ในมาตรา 68 ว่า “รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้าน ให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร รัฐพึงมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใดๆ รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้ หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมตลอดถึงการจัดหาทนายความให้” แม้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านการยุติธรรมของปวงชนชาวไทยจะได้รับรองโดยรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายอีกหลายฉบับ แต่เอาเข้าจริง การเข้าถึงความยุติธรรมยังเป็นเรื่องยาก
    สถิติจากกรมราชทัณฑ์ ปี 2561 มีผู้ต้องขัง 3.2 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นคนจน และประมาณ 5 หมื่นคนถูกขังก่อนศาลตัดสินคดี เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว บ้างก็ถูกคุมขังแทนค่าปรับ พูดง่ายๆ ก็คือ 1 ใน 6 ของผู้ต้องขังยากจนเกินกว่าจะสามารถจ่ายเพื่ออิสรภาพของตนเองตามเงื่อนไขของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ได้ เป็นการยืนยันคำกล่าวที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” สะท้อนความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างชัดเจนที่สุด เป็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้มีโอกาสและผู้ขาดโอกาส ในการเข้าถึงและการจัดการกลไกที่มีอำนาจในสังคม โดยเฉพาะอำนาจรัฐ จนก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมหลายเรื่องตามมา ที่เห็นได้ชัดคือผู้นำกฎหมายไปบังคับใช้ ซึ่งบางครั้งพบว่ามีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติ
    ฐานะทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่จะกำหนดชะตากรรมของผู้ถูกต้องข้อหา โดยที่ยังไม่ต้องมีการพิสูจน์ว่ากระทำผิดจริงหรือไม่ด้วยซ้ำ ขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมล้วนมีราคาทั้งสิ้น นับตั้งแต่ค่าธรรมเนียมขึ้นศาลหากต้องการฟ้องคดี ค่าจ้างทนายความหากต้องการฟ้องหรือถูกฟ้องคดี ค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์พยานหลักฐานต่างๆ ยังไม่รวมถึงค่าที่พักและค่าเดินทางเมื่อมาทำคดี และยังมีค่าเสียโอกาสจากรายได้ที่สูญเสียไปในการขาดงานเพื่อดำเนินคดีความ ภาระต้นทุนต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยซึ่งมีความสามารถในการจ่ายเพื่อเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไม่เท่ากัน ในหลายกรณีคนจนจึงเลือกที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียเลยแต่แรก เพราะกลัวภาระค่าใช้จ่ายมากมายที่จะตามมานั่นเอง การให้ความช่วยเหลือแก่คนจน เพื่อให้มีโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคมจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้ากระบวนการยุติธรรมยังมีคำว่า “สองมาตรฐาน” และการ “เลือกปฏิบัติ” เมื่อไม่มีความเท่าเทียมกันแล้วจะหวังอะไรกับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำด้านอื่น ตราบใดถ้ามีความไม่เท่าเทียมก็ไม่อาจใช้คำว่า “ความยุติธรรม” ได้ แม้ปัจจุบันจะมีกองทุนยุติธรรมเข้ามาดูแลช่วยเหลือ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้หมด.

            จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์
            ([email protected])


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"