เพื่อชาติฟุ้งเพื่อไทยแห่ซบทะลัก


เพิ่มเพื่อน    

  "นิพิฏฐ์" เฉลยการจะเข้าข้างไหนระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ  จะไปสวรรค์ก็ต้องรู้จักนรกก่อน เข้าใจตรงกันนะ "ณัฐวุฒิ" ยันแกนนำ นปช.อยู่เพื่อไทย ขณะที่ลูกน้องจตุพรฟุ้ง อดีต ส.ส. บุคคลที่เคยมีตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แนวร่วมคนเสื้อแดง นักการเมืองท้องถิ่น ติดต่อขอเข้าพรรคเพื่อชาติจำนวนมาก เพราะเพื่อไทยในอีสานเก้าอี้เต็ม หลายคนไม่มีที่ลง ส่วนแกนนำ นปช.ไม่ต้องมา
    เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีนักการเมืองแสดงความเห็นผ่านทางโซเชียลมีเดียกันจำนวนมาก เพื่อชี้แจงทิศทางทางการเมืองของตนเอง เช่น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความ "พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หรือ ฝ่ายเผด็จการ (1)" ระบุว่า  "มีความพยายามแยกพรรคการเมืองออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ ก่อนที่จะตัดสินใจเข้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จำเป็นที่เราต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยเสียก่อน จึงจะแยกออกว่า ฝ่ายไหนคือประชาธิปไตย ฝ่ายไหนคือเผด็จการ     เหมือนการที่เราจะไปสวรรค์ ก็ต้องรู้จักทางที่จะไปนรกเสียก่อน ไม่งั้นก็ไปสวรรค์ไม่ถูก ความจริงเรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่ต้องให้ความรู้กับประชาชน แต่ประเทศไทยค่อนข้างอาภัพ เพราะนักวิชาการมักเป็นกลุ่มที่อยู่ฝ่ายผู้มีอำนาจ นักวิชาการบ้านเราจึงสามารถอธิบายขาวเป็นดำ ดำเป็นขาวได้ตลอดเวลาตามแต่ผู้มีอำนาจต้องการ ประชาชนของเราจึงไม่ค่อยเข้าใจกับเรื่องเหล่านี้ 
    "ผมว่าเราต้องปูพื้นฐานง่ายๆ ดูตั้งแต่เหตุผลในการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา เมื่อ 4 กรกฎาคม 1776 ที่ประกาศว่า "...มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสวงหาความสุข.." ผมว่าต้องเริ่มจากหลักการนั้นแหละ เพราะการแยกตัวเป็นอิสระของอเมริกา เป็นหลักพื้นฐานของการก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน"
    เริ่มต้นจริงๆ ของประชาธิปไตย สิทธิในทรัพย์สิน และการเก็บภาษีเป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ประเทศอังกฤษที่เป็นต้นแบบของประชาธิปไตย ก็ถือหลักการเสียภาษีมาเป็นหลักในระบอบประชาธิปไตย ว่า "เราไม่ยอมเสียภาษี และเราไม่ยอมให้ใช้ภาษีของเราถ้าตัวแทนของเราไม่ยินยอมด้วย" รัฐบาลที่เก็บและใช้จ่ายเงินภาษีอากรโดยไม่ผ่านตัวแทนของประชาชนรัฐบาลนั้นก็เป็นรัฐบาลเผด็จการ แต่เป็นเผด็จการที่มาจากการยึดอำนาจ 
    ส่วนรัฐบาลที่บอกว่า "จะใช้ภาษีของประชาชนดูแลเฉพาะประชาชนที่เลือกตัวเองเท่านั้น" รัฐบาลนั้นแม้มาจากการเลือกตั้งก็ถือเป็นเผด็จการเช่นเดียวกัน เพราะเป็นการจ่ายภาษีของประชาชนให้กับฝ่ายที่สนับสนุนตนแต่เพียงฝ่ายเดียว เราเรียกรัฐบาลเหล่านี้ว่าเป็น "เผด็จการเสียงข้างมาก" รัฐบาลเผด็จการที่มาจากการยึดอำนาจ และรัฐบาลเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลไหนจะดีกว่ากัน ก็ให้พวกนิยมเผด็จการทั้ง 2 ฝ่ายเขาเถียงกันเอง ผมไม่ร่วมวงเสวนาด้วยก็แล้วกัน"
เลิกตัดเสื้อโหล
    ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "ดิฉันได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเวทีเสวนาในงาน WORLDDIDAC ASIA 2018 มาร่วมกันถอดรื้อปัญหาระบบการศึกษาไทย ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก่อนหน้าหลายเดือนดิฉันตั้งใจทำการบ้าน เข้าไปรับฟังมุมมองต่างๆ ของคนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อทราบถึงความคาดหวังต่อการศึกษาไทยในอนาคต เพื่อมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในงานอยู่มากพอสมควร เพราะดิฉันมองว่ามันคือโอกาส ที่ให้ผู้ใหญ่อย่างเราได้มาร่วมมองปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย
    “ถ้าประเทศไทยคือหนึ่งโรงเรียนใหญ่ คุณอยากเห็นครูใหญ่พัฒนาการศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้อย่างไรบ้าง”
    ดิฉันฝันว่าอยากจะทำโรงเรียนให้เป็นของชุมชน เอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้กระทรวงศึกษาฯ เล็กลง สร้างโรงเรียนให้โตขึ้น โรงเรียนต้องเป็นของเด็ก เป็นของพ่อแม่ เป็นของชุมชน “เราตัดเสื้อโหลไม่ได้อีกแล้ว หลักสูตรการศึกษาไทยต้องเลิกตัดเสื้อโหลได้แล้ว”
    การศึกษาแบบใหม่ คือการร่วมกันออกแบบโดยคนในชุมชน ในการสร้างหลักสูตรขึ้นมาให้เหมาะสมกับเด็ก สร้างพื้นที่ให้เขาสามารถทำงานในชุมชนได้ ในจังหวัดของตนเองได้ และไม่มีความจำเป็นว่าหลักสูตรของชุมชนต่างๆ จะเหมือนกัน เพราะเราไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อโหลที่เหมือนกัน ซึ่งความหลากหลายของหลักสูตรการศึกษานี้ จะเป็นจุดแข็งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่ดีขึ้นในระบบการศึกษาไทย”
    ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการ ‘เข้าใจตรงกันนะ’ ทาง Peace TV ถึงกรณีการปรากฏขึ้นของพรรคเพื่อชาติ ซึ่งมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา เป็นผู้สนับสนุน ว่ามีการพูดคุยกันนอกรอบชัดเจนแล้ว นปช.ไม่มีนโยบายตั้งพรรคการเมือง ส่วนพรรคเพื่อชาตินั้น ก็มีการก่อตั้งมาก่อนแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนสองเดือนนี้
    "ผมก็บอกว่า ไปพรรคไหนก็แล้วแต่เถอะครับ มีเสรีภาพส่วนบุคคลตราบเท่าที่พรรคการเมืองนั้นยังยืนยันหลักการประชาธิปไตย ก็ถือว่ายังเป็นแนวร่วม นปช.กันอยู่ แต่ถ้าหากไปเข้าสังกัดกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองที่จุดยืนขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เช่น พรรคพลังประชารัฐ ถูกพูดถึงไปในทางเดียวกันว่าเป็นพรรคที่มีเป้าหมายสืบทอดอำนาจ ก็เท่ากับว่า สิ้นสภาพความเป็น นปช. ถ้าหากใครไปยืนอยู่ตรงนั้น"
    นายณัฐวุฒิกล่าวว่า มีบางส่วนที่ร่วมงานการเมืองกับพรรคเพื่อไทย ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ เพราะว่าตน หรือว่าอีกหลายๆ คน เราเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองตั้งแต่ก่อนมี นปก. ก่อนมี นปช.ด้วยซ้ำไป 
'เต้น'ชัดเจนกอดเพื่อไทย
    "คือผมเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ปี 2547 นะครับ แล้วก็พลังประชาชน เพื่อไทยเรื่อยมาจนถึงวันนี้" นายณัฐวุฒิกล่าว
    เลขาธิการ นปช.กล่าวด้วยว่า ขอให้เข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยก็ยังอยู่ พรรคเพื่อชาติก็อยู่ของเขามา ไม่ใช่เพิ่งเกิดเดือนสองเดือน แล้วพรรคพวกของเราส่วนหนึ่งตั้งใจจะเข้าไปทำงานด้วย ตั้งใจจะเข้าไปมีส่วนร่วม หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องของพี่น้องประชาชนจะได้พิจารณาตัดสินใจ
    "ส่วนของผมก็พูดชัดแล้ว หรือหลายคนก็แสดงความชัดเจนผ่านสื่อ เช่น นิสิต สินธุไพร ก็บอกว่าอยู่เพื่อไทย ส่วนคุณวีระกานต์ คุณหมอเหวง คุณก่อแก้ว ตามที่ได้พูดคุย แล้วสื่อรายงานไปแล้วซึ่งไม่ใช่ความลับ ก็บอกข้อเท็จจริงเพื่อความชัดเจนสบายใจ" นายณัฐวุฒิกล่าว
    นายศักดิ์ระพี พรหมชาติ ผู้ประสานงานพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า หลังจากพรรคเพื่อชาติเริ่มประกาศแนวทางจุดยืนทางการเมืองออกไป ขณะนี้มีคนติดต่ออยากจะมาร่วมงานกับพรรคเพื่อชาติเป็นจำนวนมาก เป็นทั้งอดีต ส.ส. บุคคลที่เคยมีตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เป็นแนวร่วมคนเสื้อแดง นักการเมืองท้องถิ่น ที่ทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านมาโดยตลอด 
    ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคอีสานนั้นเต็ม หลายคนไม่มีพื้นที่ลง จึงได้ติดต่อมาอยากจะมาร่วมงานกับพรรคเพื่อชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่อีสาน บางเขตมีผู้ประสงค์อยากจะลงรับสมัครเลือกตั้งมากกว่า 5 คน ซึ่งคงจะต้องทำไพรมารีโหวต ทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมที่สุด  
    “ต้องยอมรับกันตรงๆ ที่ผ่านมาพี่น้องอีสานอาจจะไม่ได้ชอบผู้สมัครบางพรรคเท่าไหร่ แต่ที่ต้องเลือกเพราะความเป็นพรรค นโยบาย คงจะแตกต่างกันในการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่จะพิจารณาบุคคลเป็นหลัก คนที่จะมาร่วมงานกับเรา เป็นเหมือนมวยสดที่ทำงานคลุกคลีชาวบ้านมาตลอด ส่วนคนเดิมเปรียบเหมือนมวยเก๋า ที่ร้างสนามห่างพื้นที่มานาน การต่อสู้ครั้งหน้าจึงเป็นการวัดกันระหว่างมวยสดกับมวยเก๋า ในข้อเท็จจริง พรรคเพื่อชาติ เปิดโอกาสกว้างทางการเมือง ทำให้มีผู้สนใจจะมาร่วมงานด้วยเยอะ ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดนายจตุพร ที่บอกเอาไว้ อดีต ส.ส.เพื่อไทย ใครที่มีพื้นที่ มีที่ยืนเดิมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมา แต่ถึงเวลาการแข่งขันทั้งเพื่อชาติ เพื่อไทย จะต่อสู้กันอย่างจริงจัง ไม่มีฮั้ว จะมาซูเอี๋ยกันไม่มี เพราะผิดระเบียบทางกฎหมาย”
      เขาบอกว่า ความคิดเห็นแกนนำคนเสื้อแดง อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นางธิดา ถาวรเศรษฐ, นพ.เหวง โตจิราการ ที่มองอีกมุมต่อการตั้งพรรคเพื่อชาติ และย้ำชัดว่า นปช.ไม่มีแนวทางการทำพรรคการเมือง ก็ถูกอยู่แล้ว นพ.เหวงเป็นอดีต ส.ส.เพื่อไทยอยู่แล้ว จะมาพรรคเพื่อชาติทำไม นายจตุพรระบุตั้งแต่แรก ใครที่มีที่อยู่แล้วในพรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องมา ส่วนใครที่ไม่มี หากสนใจในแนวทางนี้ก็มา พรรคเพื่อชาติจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ประชาชน
"ทนง"เก่งกว่า"สมคิด"
    เมื่อถามถึงกระแสข่าวนายทนง พิทยะ อดีต รมว.การคลังในรัฐบาลไทยรักไทย จะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายศักดิ์ระพีตอบว่า ตอนนี้ยังไม่มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค จะมีการประชุมใหญ่เลือกหัวหน้า กรรมการบริหารพรรคในช่วง พ.ย. แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวต่อนายทนง ถือเป็นคนที่เหมาะสม เป็นขุนคลังเศรษฐกิจ เป็นที่ยอมรับจากนักธุรกิจชั้นนำ เรื่องเศรษฐกิจชื่อเสียงดูแล้วได้รับการยอมรับกว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เสียอีก อย่างไรก็ดี ในวันประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรค เปลี่ยนสัญลักษณ์พรรคในวันที่ 14 ต.ค. ที่อิมพีเรียลสำโรง ในวันนั้นเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจในแนวทางพรรคมายื่นสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้ คาดว่าจะมีผู้สนใจเดินทางมาสมัครสมาชิกจำนวนมาก
    ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรคหมายเลข 2 โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 1 บนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "สิ่งที่พวกเรากล้าเปลี่ยน เพื่อประชาชน ต้องขอบอกกล่าวนั่นคือ การกล้าที่จะเสนอตัวชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ มีพื้นฐานมาจากประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในพรรคประชาธิปัตย์ พรรคไม่ควรย่ำอยู่กับที่ในแบบเดิมๆ เพราะผลที่เกิดขึ้นในรอบสิบปีที่ผ่านมา เป็นที่รับทราบ จนนำไปสู่กระแสที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในพรรค การเปลี่นแปลงในพรรคครั้งนี้ มีเป้าหมายให้พรรคกลับมาเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนและประเทศชาติ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้     
    1.เปลี่ยนแปลงภายในพรรคประชาธิปัตย์ โดยยึดมั่นในอุดมการณ์พรรค ความซื่อสัตย์สุจริต และจุดยืนเพื่อประชาชน ประเทศชาติอย่างมั่นคง
    1.1 ประชาธิปัตย์ สัมผัสได้ ปรับภาพลักษณ์ให้พวกเราสัมผัสได้ ทั้งผู้นำพรรค รวมทั้ง ส.ส.ทุกระบบ และสาขาพรรค ต้องสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกระดับ รวมทั้งเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ผู้ใช้แรงงาน แม้แต่ประชาชนในถิ่นห่างไกลและธุรกันดาร เพื่อสื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นของประชาชนทุกระดับ และทุกภูมิภาคของประเทศ ให้ประชาชนสัมผัสการกระทำที่เป็นรูปธรรม มุงเน้นการปฏิบัติ บนพื้นฐานของความกล้าคิด กล้าทำ
    1.2 ทำงานเป็นทีม เนื่องจากภารกิจในการดูแล และขับเคลื่อนประเทศนั้นยิ่งใหญ่มาก พวกเราไม่เชื่อในหลักของการนำเดี่ยว แต่เชื่อมั่นหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งเปิดกว้างให้ประชาชนที่สนใจ และผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามามีส่วนร่วมกันทำงาน บนหลักการของการทำงานเป็นทีม
กระจายอำนาจ
    1.3 การกระจายอำนาจสู่สาขาพรรค พวกเราถือว่าการกระจายอำนาจคืออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเปิดโอกาสสร้างความมีส่วนร่วมจากสมาชิกและประชาชน เราจึงต้องปฏิบัติภายในองค์กรให้เป็นจริง ก่อนที่จะกระจายอำนาจของประเทศ ด้วยการกระจายอำนาจสู่สาขาพรรค สร้างสาขาพรรคให้เข้มแข็ง เพราะถือว่าสาขาพรรคคือรากฐานของพรรคที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ถ้าสาขาพรรคเข้มแข็ง จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์แข็งแกร่งขึ้นแน่นอน
    2.เปลี่ยนการเมืองให้สร้างสรรค์ และเป็นที่พึ่งของประชาชน
    2.1 การประกาศจุดยืนทางการเมือง เรายึดมั่นในแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์อย่างมั่นคง นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ต้องเสนอหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้น และพวกเรามีหน้าที่มุ่งมั่น ทุ่มเทหัวใจที่จะต้องทำให้ได้ชัยชนะตามเป้าหมาย ถ้าเกินกว่านั้นเรายึดถือมติพรรคเป็นแนวทางของพรรคเรา ที่ยึดถือมาในอดีต
    2.2 พวกเราจะไม่ทะเลาะเบาะแว้ง วิพากษ์วิจารณ์กับกลุ่มหรือพรรคการเมืองอื่น มุ่งเน้นการทำงาน แก้ไขปัญหาประชาชาชนและประเทศชาติ เราจะทะเลาะเฉพาะศัตรูของประชาชน นั่นคือการโกง ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประเทศ และดูแลช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากความยากจน 
    2.3 พวกเราถือว่าสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการให้สมาชิกพรรคหยั่งเสียงเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยพื้นฐานที่สำคัญ และถ้าทุกพรรคการเมืองดำเนินการตามนี้ จะทำให้ระบบการเมืองของประเทศดีขึ้นแน่นอน และนี่คือการเป็นนักประชาธิปไตยที่ไม่ต้องพูดแต่ทำ
    3.เปลี่ยนประเทศให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำของโลกภายใน 20 ปี พวกเราถือว่าประเทศไทยของเรามีศักยภาพที่สูงมาก ตั้งแต่ตำแหน่งที่ตั้ง ทรัพยากรธรรมชาติ ภัยธรรมชาติน้อยมาก จิตใจโอบอ้อมอารีของคนไทย ความสมบูรณ์ของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่เราไม่มีวิสัยทัศน์ในการนำพาประเทศ เพราะปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น 
    พวกเรามีทิศทางที่ชัดเจน ในการนำพาประเทศเป็นประเทศชั้นนำของโลก ไม่ใช่เรื่องยากที่พวกเราจะทำ เพราะในเมื่อประเทศอื่นอย่างจีน เขาใหญ่โตกว่าประเทศเราหลายเท่า และเคยจนกว่าเรา หรือสิงคโปร์เขาเล็กกว่าประเทศไทยเราหลายเท่า เขายังทำได้ ดังนั้นพวกเราต้องทำได้ ในส่วนรายละเอียดให้ติดตาม ทางวิสัยทัศน์ในการสร้างประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำของโลกต่อไป
    สิ่งเหล่านี้คือแนวทางที่พวกเรากล้าเปลี่ยน เพื่อประชาชนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โปรดติดตามพวกเรากล้าเปลี่ยน เพื่อประชาชนต่อไป" 
ไม่ว่าคุณเป็นใคร
    ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 1 ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "Abhisit Vejjajiva" ระบุว่า "ไม่ว่าคุณเป็นใคร จะมีประสบการณ์หรือไม่ ก็ไม่สำคัญ เพียงคุณมีจุดหมายและอุดมการณ์เดียวกันกับผม เชื่อมั่นในประชาธิปไตย อยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทยของเราให้ดีกว่าเดิม เริ่มต้นง่ายๆ ตั้งแต่วันนี้ มาร่วมมือกับผม เป็นทีมอภิสิทธิ์ เพราะทุกพลังของคุณ สามารถเปลี่ยนเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ขับเคลื่อนประเทศได้แน่นอนครับ
      คุณสามารถมีส่วนร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ด้วยการสมัครสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และออกเสียงโหวตเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แล้วร่วมกันสร้างใหม่ไปกับผม ได้ 3 ช่องทางด้วยกันคือ การสมัครผ่านแอปพลิเคชัน (Android เท่านั้น) ได้ที่ http://bit.ly/DownloadDconnect หรือการสมัครผ่านอีเมล ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่ http://bit.ly/DemocratSupport หรือการสมัครด้วยตนเองที่จุดรับสมัครทั่วประเทศ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/DemocratSupport
    ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่าที่หัวหน้าพรรค เปิดเผยว่า กิจกรรมพบเครือข่ายประชาชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ จัดโดยนายชวน ชูจันทร์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค โดยได้เชิญ 4 รัฐมนตรีไปร่วมกิจกรรม เพราะเห็นว่ามีความสนใจด้านการเมือง หลังจากประกาศตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งนี้ พรรค พปชร.ต้องการไปรับฟังความเห็นเพื่อเตรียมพรรค เพราะเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองพรรคแล้ว จะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย ดังนั้นสิ่งที่ได้รับฟังจากคนทุกหมู่เหล่า ถือว่าเป็นประโยชน์ในการจัดทำนโยบาย เชื่อว่ากิจกรรมเช่นนี้จะนำมาซึ่งข้อมูลที่ได้เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำนโยบาย ที่จะต้องตอบโจทย์ของคนในพื้นที่ให้มากที่สุด
    นายอุตตมกล่าวว่า กิจกรรมวันที่ 15 ต.ค.นี้ จะคล้ายกับการประชุมเชิงปฏิบัติการของคนรุ่นใหม่ ที่สนใจทำงานการเมือง เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ถือว่าฟิตจัด แม้ไม่เคยเข้ามาในแวดวงการเมืองมาก่อน เมื่อพรรค พปชร.เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้แสดงออก นำเสนอประสบการณ์มาช่วยประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ จึงจะต้องจัดกิจกรรมเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง และหากมีเครือข่ายใดชวนให้พรรค พปชร.ไปร่วมกิจกรรมหรือรับฟังข้อเสนอแนะ เราก็จะไป และเบื้องต้นทราบว่าจะมีกิจกรรมเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง
    “พปชร.ได้รับฟังความเห็นจากคนหลายกลุ่ม ทำให้ได้ข้อมูลมาพอสมควร เราจะพยายามร่วมกิจกรรมอย่างนี้ ถ้ามีการประสานมา เราจะพยายามจัดให้ เพราะเป็นสิ่งที่ดี กิจกรรมนี้จะถือเป็นการสร้างกระแสของพรรคหรือไม่ อยู่ที่คนดู แล้วแต่คนดูจะมองว่ากิจกรรมอย่างนี้เข้าท่าไหม เพราะตอนนี้ทำได้แค่ไปรับฟัง” นายอุตตม กล่าว
    เมื่อถามว่า จะมีโอกาสได้เห็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองหรือการทำงานร่วมงานกับพรรค พปชร.อีกหรือไม่ นายอุตตมกล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะเราไม่ปิดกั้น เราเปิดรับฟังคนจากทุกภาคส่วน รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยก้าวเข้ามาในการเมือง และคนที่มีประสบการณ์ในการทำงาน เมื่อถามว่าตระกูลสะสมทรัพย์ได้ประสานเข้าพรรค พปชร.หรือไม่ นายอุตตมกล่าวว่า “ไม่ได้คุยกับผมเลย”
ไม่รู้มีการดูด ปชป.
    ด้านนายพุทธิพงษ์? ปุณณกันต์ ว่าที่กรรมการบริหารพรรคประชารัฐ เปิดเผยถึงกิจกรรมในวันที่ 15 ต.ค. ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม โดยมี 4 รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐร่วมกิจกรรมด้วยว่า ที่คลองลัดมะยมเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับภาคประชาสังคม ที่มีตัวแทนกลุ่มเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ มาแชร์ประสบการณ์ และหลังจากนี้ทุกสัปดาห์จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มคนต่างๆ หากในอนาคตเมื่อพลังประชารัฐได้รับอนุมัติจัดตั้งพรรคเป็นทางการแล้ว จะเชิญตัวแทนกลุ่มคนเหล่านี้มาร่วมกันร่างนโยบายพรรคด้วย
    เขาบอกว่า ในวันนั้นจะมีการเปิดตัว นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีต รมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่จะมาร่วมทำงาน เป็นแกนหลักดูงานด้านประชาสังคม และนายอำนวย กลิ่นอยู่ นายกสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย จะมาช่วยดูเรื่องคนพิการ
    นายพุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การทำงานของพรรค เป็นการทำงานเริ่มจากฐานรากขึ้นมาข้างบน และมีนโยบายลงไป เบื้องต้นมีกลุ่มคนจากทุกๆ ภาคของประเทศไทยมาร่วมขับเคลื่อน อย่างคนรุ่นใหม่ที่เปิดตัวไปจะทำงานกันทุกสัปดาห์ และดึงเพื่อนๆ เข้ามาขยายกิจกรรมออกไป เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในรูปแบบคนรุ่นใหม่ เป็นต้น
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะว่าที่เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดตั้งพรรคว่า ขณะนี้พรรคอยู่ระหว่างจัดตั้ง ซึ่งการดำเนินการต่างๆ ของพรรคก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย อะไรทำได้ หรือทำไม่ได้เราก็รู้ 
    เมื่อถามถึงรูปแบบการลงพื้นที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมในวันที่ 15 ต.ค.นี้ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า การไปดำเนินกิจกรรมในวันที่ 15 ต.ค.นี้ เราไปในฐานะพรรคพปชร. เป็นเรื่องของภาคประชาสังคม ซึ่งพรรคให้ความสนใจในเรื่องนี้อยู่แล้ว และเขาก็รวมตัวกัน จึงอยากจะพบปะเพื่อพูดคุยเพื่อนำเสนอความคิดเห็นที่คิดว่าน่าจะเป็นนโยบายที่พรรคจะรับฟังได้ โดยตนเห็นว่าภาคประชาสังคมเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ขับเคลื่อนประเทศได้
    ถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคการเมืองอื่นทำไม่ได้ แต่พรรค พปชร.ซึ่งมีรัฐมนตรีเป็นผู้ก่อตั้งสามารถทำได้ จึงทำให้มองว่าเป็นการเอาเปรียบพรรคอื่น นายสนธิรัตน์กล่าวว่า การไปรับฟังภาคประชาชนเป็นเพียงการไปรับฟัง ซึ่งปกติการทำงานเราก็รับฟังทุกฝ่ายอยู่แล้ว และจะรับฟังทุกกลุ่มไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันช่วงนี้พรรคกำลังอยู่ระหว่างรับฟังประชาชน เพื่อนำมาเป็นนโนบายของพรรคและนำเสนอต่อประชาชนในโอกาสต่อไป
    ถามถึงกรณีที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่า พรรค พปชร. ออกมาดูดอดีตสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) ของพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว 3 คน และเชื่อว่ายังคงพยายามที่จะดูดต่อไปอีก เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐปฏิเสธว่าไม่ทราบ และไม่มี ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีการนำเสนอมาที่พรรค เป็นเพียงกระแสข่าว แต่อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่อดีต ส.ส.และนักการเมืองจะต้องย้ายพรรคเพื่อหาที่สังกัด และมีอยู่ทั่วไป ไม่ใช่จุดใดจุดหนึ่ง
    ถามย้ำว่า มีการวิจารณ์ว่าพรรค พปชร.ใช้วิธีการทางการเมืองเดินในรูปแบบเก่า นายสนธิรัตน์กล่าวว่า อยู่ที่สื่อมวลชนและประชาชนจะต้องพิจารณา ตนคิดว่าการเมืองเราจะต้องเดินก้าวข้ามความขัดแย้ง และสิ่งที่จะนำไปสู่วาทกรรมต่างๆ เราพยายามเร่งนำเสนอสิ่งที่มีประโยชน์. 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"