อดีต กปปส.-ถุงเงิน ปชป. ในบทบาทคีย์แมนพรรค พปชร.
หลังมีการเปิดตัว พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)-กรรมการบริหารพรรค อย่างเป็นทางการไปเมื่อ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา การขยับของพรรคใหม่แกะกล่องนี้กำลังถูกจับจ้องจากหลายฝ่าย เช่นสุดท้ายแล้ว รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่จะประกาศตอนเลือกตั้ง จะมีชื่อของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.หรือไม่ จะมีอดีตนักการเมืองและคนดังในแวดวงต่างๆ คนไหนมาอยู่กับ พปชร.อีกหรือไม่ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น มองว่า พปชร.คือพรรคทหาร-พรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อท่ออำนาจให้ คสช.
ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ว่าที่รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่หลายคนรู้จักกันดีในฐานะอดีตแกนนำ กปปส. อดีต ผอ.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีต ส.ส.กทม.ของ ปชป. ซึ่งถูกมองว่าเป็น ทุนใหญ่-ถุงเงิน คนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะในยุคสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการพรรค แต่วันนี้เปลี่ยนค่าย-เปลี่ยนเสื้อจาก ปชป.มาเป็นพรรค พปชร.
ณัฏฐพล หนึ่งในแกนนำผู้ร่วมจัดตั้งพรรค พปชร.ที่เป็นสายตรงของแกนนำรัฐบาลที่ร่วมก่อตั้งพรรค พปชร.บอกเล่าถึงทิศทางของพรรค พปชร.ต่อจากนี้ โดยเฉพาะการเตรียมการสู้ศึกเลือกตั้งของ พปชร. ส่วนที่หลายคนสงสัยว่า พลเอกประยุทธ์จะมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พปชร.ตอนหาเสียงหรือไม่ รองหัวหน้าพรรค พปชร.พูดเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกัน
ก่อนจะไปคุยกันเรื่องพรรค พปชร. เราตั้งคำถามในประเด็นที่หลายคนสงสัยกันว่า ทำไมอดีตแกนนำ กปปส.ที่เคยอยู่ ปชป. อย่างณัฏฐพล และนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกฯ หากต้องออกจาก ปชป.ไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น เหตุใดไม่ไปอยู่กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย ทั้งที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันมากกว่า แต่กลับมาอยู่พลังประชารัฐ คำอธิบายจาก ณัฏฐพล-อดีตแกนนำ กปปส. เขาเล่าว่า จริงๆ ก็ได้คุยกันแล้วว่า หากท่านสุเทพตั้งพรรคการเมือง ผมเคยบอกกับลุงกำนันว่าผมไม่สามารถไปร่วมงานการเมืองด้วยกันได้ ได้เคยบอกไปแล้ว ผมก็เคยคิดอยู่เหมือนกันว่า หากลุงกำนันมาแบบ บีบมือ บีบคอ (หัวเราะ) บีบหัวใจจริงๆ ก็คงเป็นการตัดสินใจที่ยากพอสมควร แต่ลุงกำนันก็ให้เกียรติพวกเรามาก ไม่มากดดันพวกเราในเรื่องของแนวทางการที่จะเดินทางการเมือง ท่านให้อิสระในความคิดตรงนั้น
...อีกทั้งบังเอิญว่าก่อนหน้าที่ตัดสินใจออกจากประชาธิปัตย์ และการได้คุยกับผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐเวลานี้ แนวทางการเมืองก็ตรงกันกับที่เราได้คิดกันเอาไว้ในการสร้างพรรคใหญ่ และสร้างพรรคจากการที่ผู้บริหารพรรค โดยเฉพาะรัฐมนตรีทั้ง 4 ท่าน (อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, สุวิทย์ เมษินทรีย์, กอบศักดิ์ ภูตระกูล) เคยเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำงานของรัฐบาลว่าอยากมีโอกาสได้สานต่องานในแนวทางของรัฐบาล ซึ่งผมก็เห็นด้วย อีกทั้งก่อนหน้านี้บังเอิญได้ไปทำงานอยู่ที่อีอีซี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เห็นว่าหากมีการวางนโยบายที่เป็นการเชื่อมต่อกับการขยายตัวของอีอีซี ณ ปัจจุบัน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประชาชนและประเทศในระยะยะยาว
...เรามาในเวลาที่แตกต่างกัน และแม้จะมีความคิดที่เหมือนกันว่า ต้องการการเมืองรูปแบบใหม่ เรามีแนวคิดที่เหมือนกัน แต่การตัดสินใจไม่เหมือนกัน ความรู้ความสามารถของผมคือการบริหารจัดการพรรค เมื่อผมมองว่ามีโอกาสบริหารจัดการพรรคให้เป็นพรรคที่เข้มแข็ง สิ่งนี้คือจุดที่ผมมีความสนใจ
ส่วน คุณบี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อาจจะมีมุมมองในฐานะที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมา 18 ปี ที่แม้ไม่ได้อยู่ในส่วนของการบริหารจัดการพรรค แต่ก็มีประสบการณ์และจุดแข็งในการบริหารจัดการทางการเมือง เช่น งานในส่วนของรัฐบาล และกรุงเทพมหานคร ซึ่งรู้จักนักการเมืองมากมาย จึงมีจุดแข็งที่นำมาสู่พรรคพลังประชารัฐ ขณะที่คุณสกลธีมีความชำนาญด้านกรุงเทพมหานคร เพราะเคยเป็นอดีต ส.ส.กทม.มาก่อน อีกทั้งมีความรู้ด้านกฎหมาย จึงทำให้สกลธีคิดว่าเขาสามารถนำความรู้และประสบการณ์มาแสดงศักยภาพได้ แต่ละคนจึงมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ความใกล้ชิดของพวกเรา 3 คนที่เคยเป็นอดีตแกนนำ กปปส. และเราเห็นตรงกันว่า หากมีพรรคการเมืองใหม่ พรรคการเมืองต้องมีการเรียนรู้ทั้ง 2 ทาง ระหว่างพรรคกับประชาชน เป็นสิ่งที่เราแลกเปลี่ยนความคิดแบบเดียวกัน
-ใช้เวลาตัดสินใจนานหรือไม่ในการเดินออกจาก ปชป.ที่เคยเป็นถึงระดับ ผอ.พรรค เพื่อมาทำ พปชร.?
ก็ตัดสินใจนานมาก ต้องบอกตรงๆ ว่าทำร้ายจิตใจพอสมควรที่ต้องบินออกจากบ้าน แต่ถามว่าจำเป็นหรือไม่ ก็ไม่จำเป็น อยู่ที่บ้านเดิมก็ได้ แต่ก็อย่างที่ผมได้บอกจุดสำคัญอยู่ที่โอกาส ที่ได้มาบริหารพรรคใหม่ที่เราสามารถกำหนดแนวทางที่เราเห็น เราฝัน และการที่เราได้สะสมประสบการณ์มา การที่สะสมประสบการณ์ก็เพื่อจะได้นำมาใช้ในอนาคต เพื่อจะได้ปรับปรุงให้มันดีกว่าในประสบการณ์ที่เคยผ่านมาก่อน ถ้าเราเอาประสบการณ์ที่เรามี แต่ไม่มีโอกาสทำ ทำทุกอย่างเหมือนเดิม มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ท้าทายและฉลาดนัก เราก็เลยอยากนำประสบการณ์ที่เรามี นำมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับการบริหารจัดการพรรคใหม่นี้
...ความรู้ทางการเมืองที่ผมมีก็มาจากพรรค ปชป. จุดที่นำมาปรับปรุงนำมาใช้ในการขับเคลื่อนพรรค พปชร. หลายเรื่องก็เป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้ในพรรค ปชป. แต่ผมว่าเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์สามารถนำมาใช้ได้ในการบริหารจัดการพรรคที่ดี เพราะพรรค ปชป.มีระบบที่เข้มแข็ง มีการวางเครือข่ายที่ชัดเจนและจับต้องได้ เพียงแต่ผมนำมาดัดแปลง นำมานำเสนอผู้บริหารพรรค พปชร.ว่าเราน่าจะดัดแปลงไปในทางนี้ ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องมีการมาถกกันในคณะกรรมการบริหารพรรค
จุดเริ่มต้นของพลังประชารัฐ
ณัฏฐพล-แกนนำจัดตั้งพรรค พปชร. กล่าวถึงการเกิดขึ้นของ พปชร. จนทำให้ต้องเดินออกจาก ปชป.มาอยู่กับ พปชร.ว่า พรรค พปชร.เป็นการระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิชาชีพต่างๆ กลุ่มคนหน้าใหม่ หรือรุ่นใหม่ที่มีความสนใจอยากเข้ามาพัฒนาการเมืองและประเทศ และอดีตกลุ่มนักการเมืองกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่คิดว่าถึงเวลาที่การเมืองของบ้านเราจะต้องก้าวข้ามปัญหาต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศไปข้างหน้า ประเทศเราเสียเวลามามากกับการเมืองที่มีความขัดแย้ง ดังนั้นกลุ่มเราต้องทำพรรคการเมืองที่ดีที่เป็นความหวังและเป็นทางเลือกให้กับประชาชน โดยความตั้งใจหลักๆ คือต้องการเปลี่ยนแนวทางในการทำงานภาคการเมืองให้สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นระบบของพรรคหรือในเรื่องการวางนโยบายในด้านต่างๆ ที่ต้องขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า
ผมใช้เวลาไตร่ตรองนานพอสมควรก่อนมาพูดคุยกับว่าที่หัวหน้าพรรค ท่านอุตตม รมว.อุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ รมว.พาณิชย์ ว่าที่เลขาธิการพรรค ถึงแนวทางพรรคการเมืองที่ท่านทั้ง 2 คิดและฝันไว้ ในฐานะอดีต ผอ.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ทั้ง 2 ท่านได้ถามความเห็นผมในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานการเมืองและเป็นผู้บริหารพรรคการเมือง ว่ามีแนวมุมมองทางการเมืองอย่างไร และแนวทางการทำพรรคการเมืองนั้นมีความซับซ้อนเพียงไร เพราะทั้ง 2 ท่านที่เป็นนักบริหาร นักวิชาการ ยังไม่เคยเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองมาก่อน เลยมาสอบถามความเห็นกับผม
ในการพูดคุยผมก็ให้ข้อมูลไปในฐานะที่เคยอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่เป็นสถาบันทางการเมือง มีการบริหารงานที่เข้มแข็งที่สุด ก็ให้แนวคิดทั้ง 2 ท่านไป ขณะเดียวกันก็ได้เสริมในเรื่องที่อยากจะทำและหวังจะเห็น ถ้าหากจะมีพรรคการเมืองตั้งขึ้นใหม่จะมีอะไรที่แตกต่างไปจากสมัยที่เคยบริหารพรรคประชาธิปัตย์
การพูดคุยกันดังกล่าวก็เป็นเหมือนกับการจุดประกายในการได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดในการทำการเมืองในรูปแบบที่แตกต่างจากช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา จากนั้นก็ค่อยระดมความคิดและแลกเปลี่ยนกันมาเรื่อยๆ จนทั้ง 2 ท่านบอกว่าควรมีการรวมตัวกันเพื่อสร้างการเมืองรูปแบบใหม่ นำคนใหม่ๆ ที่มีความรู้ความสามารถและอยากเข้ามาพัฒนาบ้านเมือง หรือคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีความสนใจเข้ามาทำงานทางการเมือง จากที่เคยเป็นนักการเมืองมา จะมีความคิดเป็นอย่างไร ซึ่งผมก็มีความชื่นชอบเป็นส่วนตัวอยู่แล้วกับการที่ได้แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะการได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็เป็นการกระตุ้นแนวคิดแนวทางการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ผมมองว่าบรรยากาศหรือโอกาสแบบนี้ผมไม่ค่อยได้สัมผัสมากเท่าไหร่ในการทำงานการเมืองที่ผ่านมา อาจเพราะบางทีเกิดจากที่เคยอยู่กับพรรคการเมืองที่มีระบบแข็งแรงอยู่แล้ว การที่ไปเสนอหรือปรับความคิดอะไรใหม่ๆ ซึ่งมีอยู่เสมอนะครับ แต่การได้รับการยอมรับก็อาจแตกต่างไป ครั้งนี้อาจเหมือนกับผ้าขาวที่ยังไม่เคยมีใครมาวางแนวคิดไว้เลย
จริงๆ ผมตั้งใจจะหยุดการทำงานการเมืองสักพักใหญ่ๆ หลังจากที่เป็นแกนนำ กปปส.ก็ยังมีคดีความอะไรหลายอย่าง และการที่ผมและภรรยา คุณทยา ก็มีความฝันอยากพัฒนาหรือทำการศึกษาในประเทศให้ดี เราและครอบครัวก็เลยลองทำโรงเรียนนานาชาติรักบี้ที่ชลบุรี ซึ่งหวังว่าจะเป็นต้นแบบการศึกษาที่เราสามารถเข้าไปช่วยเด็กๆ ซึ่งจะต้องเป็นกำลังของประเทศในอนาคตได้ การเข้าไปทำโรงเรียนนานาชาติต้องใช้เวลามาก เพราะเราทำตั้งแต่เริ่มตั้งแต่ไปคุยกับโรงเรียนรักบี้ที่อังกฤษ ในแนวทางที่เราอยากทำโรงเรียนนานาชาติรูปแบบใหม่ ซึ่งตอนนี้ก็เปิดได้เป็นปีที่ 2 แล้ว รวมทั้งต้องดูแลธุรกิจอีกหลายอย่าง ทำให้เดิมคิดจะหยุดทำงานการเมือง และจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในรอบนี้ เพื่อไปดูแลธุรกิจสัก 3-4 ปี
แต่เมื่อได้คุยได้เห็นแนวทางของท่านอุตตม-สนธิรัตน์ ทำให้เริ่มคิดว่าถ้าจะมีพรรคการเมืองใหม่ตั้งขึ้นมาพรรคหนึ่ง พรรคดังกล่าวต้องเป็นความหวังและเป็นทางเลือกที่ประชาชนและประเทศต้องการในภาวการณ์ปัจจุบัน รวมถึงแนวคิดของทั้ง 2 ท่านที่อยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน ก็มีแนวคิดที่ได้มีการเชื่อมต่อกับนโยบายที่รัฐบาลทำไว้อยู่ ผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี สำหรับการทำงานที่ควรจะทำและวางแผนให้ประเทศแบบระยะยาว ไม่ต้องมาผลัดเปลี่ยนนโยบายและแนวคิด เพราะจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ไกลและเร็วขึ้น ก็เป็นที่มาที่ไปของการชักชวน จูงใจ ระดมสมอง ให้ผมเข้ามาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค พปชร. จุดสำคัญที่สุดที่ผมได้ตรงนี้คือ เรื่องของโอกาส แน่นอนที่สุดว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสให้พอสมควร แต่ผมมองว่าพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่เลย โอกาสน่าจะเปิดกว้างขึ้นไปอีกมาก
-คุยกับนายอุตตมและนายสนธิรัตน์นานขนาดไหน ก่อนตัดสินใจมาร่วมก่อตั้งพรรค พปชร.?
จริงๆ แล้วคุยกันไม่นาน ผมก็ได้เสนอไอเดียเกี่ยวกับเรื่องการบริหารพรรคการเมือง การเชื่อมต่อกับประชาชน การทำนโยบายต่างๆ ใช้เวลาประมาณสัก 2-3 เดือน คุยกันยาวๆ สัก 4 ครั้ง จนต่อมาทั้ง 2 ท่านก็บอกว่าทำไมไม่มาร่วมก่อตั้งพรรค พปชร.ด้วยกัน
...ต้องบอกตรงๆ ว่า ผมใช้เวลาในการคิดนานพอสมควร เพราะว่าประสบการณ์ทางการเมือง ความรู้ทางการเมือง เพื่อนทางการเมือง กลยุทธ์อะไรต่างๆ ทางการเมือง เรียนรู้มาจากพรรค ปชป.ที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่ให้ทั้งโอกาสและความไว้วางใจ ให้มาเป็นผู้บริหาร ผู้อำนวยการพรรค ปชป.ตัดสินใจยากมากๆ บอกตรงๆ ไม่เคยคิดว่าจะต้องออกมาอยู่กับอีกพรรคการเมืองอื่น แต่พอนึกถึงโอกาสที่จะทำให้ประเทศ ก็เลยตัดสินใจว่าจะมาร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรค พปชร.
ถามว่าเสน่ห์ของการมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐคืออะไร คำตอบก็คือ ทุกอย่างเป็นไปได้หมด เช่น การใช้เทคโนโลยีมาบริหารพรรค ใช้การเชื่อมต่อไปกับผู้บริหารหรือแกนนำท้องถิ่นทั่วประเทศไทย เหมือนกับทุกอย่างเริ่มต้นได้ใหม่หมด อยากจะไปคุยกับใคร อยากจะไปเดินที่ไหน เราเลือกเองได้หมดเลย หากเดินไปพบผู้คนในจังหวัดนี้แล้วเราไม่เห็นตรงกัน เราก็เลือกคนอื่น เดินไปทางอื่น แต่ที่ผ่านมาอาจจะต้องติดขัด เพราะปัจจัยต่างๆ เช่น มีเครือข่ายเดิมอยู่แล้ว จะไปทางนี้ ก็ต้องเกรงใจคนต่างๆ อันนี้บอกตรงๆ ไม่ต้องเกรงใจใคร เอาความคิดของเรา ไม่ได้บอกว่าดี แต่ผมคิดว่าเป็นความอิสระของการได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเรา เช่น ทำไมเราไม่ไปจังหวัดหนองคาย ไม่ไปคุยกับคนกลุ่มนี้ ไม่คิดถึงนโยบายตรงนี้ มันไม่มีกรอบ
อีกทั้งเมื่อได้รวมกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่ได้มาทำงานร่วมกันสักพักหนึ่ง ระดมสมองกัน ความกว้างขวางในการขยายความคิดมันผสมผสานกันได้อย่างดี ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้หลายคนเช่นนักวิชาการ ต่างต้องการเข้ามาเป็นหนึ่งในการทำพรรคทางเลือก แต่สำหรับการทำให้พรรค ปชป.แข็งแกร่งเท่ากับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เรื่องนี้ต้องใช้เวลา
-ข่าวความเคลื่อนไหวของพลังประชารัฐมีการพูดถึงทำนองว่าเป็นพรรคพลังดูด แม้จะยังไม่เปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการ?
คำว่า ดูด ฟังดูโหดร้ายไป ผมว่ามันเป็นเสน่ห์ของพรรค ถามว่าใครไม่อยากจะมาทำงานอยู่ในที่ใดที่หนึ่งที่เขาเปิดโอกาสให้ทำงาน ผมว่าเสน่ห์ของพรรค พปชร.คือโอกาสที่จะได้ทำงานในหลายส่วนโดยยังไม่มีข้อจำกัด เช่น อยากจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็มีโอกาส เพราะตอนนี้พื้นที่เลือกตั้งยังเป็นศูนย์ เพราะพรรคยังไม่มีพื้นที่ซึ่งมีการจับจองแล้วของใคร คนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครแล้วประสงค์อยากจะลงสมัคร ส.ส.ในพื้นที่ กทม.ก็ลงได้ทุกเขต เพราะตอนนี้ยังว่างหมด ในต่างจังหวัดหากมีพื้นที่ไหน มีความทับซ้อนกัน บางเขตหากไปลงแล้วไม่ประสบความสำเร็จ นักการเมืองเขาอาจมองว่า ถ้าย้ายไปอยู่ที่ใหม่แล้วมีโอกาสประสบความสำเร็จ ทางพรรคก็จะมีการใช้เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์มาช่วยวางแผนในเรื่องความเห็นชอบของประชาชน ความถูกต้องของข้อมูล และที่สำคัญคือ ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
-วาทกรรมที่ว่าพลังประชารัฐเป็นพรรคทหาร พรรคของ คสช. พรรคที่ตั้งมาเพื่อสืบทอดอำนาจให้พลเอกประยุทธ์คงต้องเกิดขึ้นแน่นอนตอนช่วงหาเสียงเต็มตัว?
อันนี้ชี้แจงได้ง่ายเลย เห็นได้จากการก่อตั้งพรรค ก็ไม่มีอดีตทหารคนใดมาเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และพรรคก็ไม่ได้เป็นเครือข่ายของทหาร และผมก็มั่นใจว่า ถ้าหากพลังประชารัฐได้มีโอกาสได้เข้าไปบริหารเป็นรัฐบาล คนในพรรคที่เราเห็นกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักการเมือง คนรุ่นใหม่ ก็อาจได้เข้าไปเป็นผู้บริหารรัฐบาลและประเทศต่อไป
ถามถึงว่า พลังประชารัฐเป็นพรรคเฉพาะกิจหรือไม่ หาก คสช.ลงจากอำนาจหลังเลือกตั้งแล้ว พรรคจะอยู่ต่อได้หรือไม่ ณัฏฐพล-แกนนำ พปชร. ย้ำว่า คำถามนี้คือคำถามแรกที่ผมได้ถามกับคุณอุตตม ว่าที่หัวหน้าพรรค และคุณสนธิรัตน์ ว่าที่เลขาธิการพรรคว่า เราจะทำพรรคการเมืองเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น หรือจะทำเพื่อชนะใจประชาชนและสร้างพรรคในระยะยาว? ทั้ง 2 ท่านก็ตอบว่าสิ่งที่ได้คุยกัน เช่น การวางแผนสร้างพรรค การจะใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างเครือข่ายระดมคนรุ่นใหม่ๆ การทำงานกับท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้ทำมาเพียงเพื่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเท่านั้น เราเองกลับมองว่าถ้าเราบริหารจัดการไม่ดี เราก็อาจจะกลายเป็นพรรคการเมืองเล็กๆ ไม่ได้ประสบความสำเร็จ ก็ต้องไปรอครั้งต่อไป ไม่มีปัญหาอะไร
ถ้าโชคดีได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ประชาชนมองเห็นแนวทางชัดเจนว่าในอนาคตต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้และผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ของนักวิชาการ การนำคนรุ่นใหม่มาเพื่อร่วมกันผลักดันประเทศทำให้การเมืองเข้าสู่การเมืองยุคใหม่ เราก็อาจได้ ส.ส.เข้าไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ประชาชนจะตัดสิน ที่ยังเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนต่อจากนี้
-คือจะไม่ใช่พรรคการเมืองเฉพาะกิจ ที่ตั้งมาแล้วก็ล้มหายไปในเวลาไม่นาน?
แน่นอนครับ ไม่เช่นนั้นผมคงไม่ก้าวออกมาจากพรรค ปชป. ซึ่งพรรค ปชป.ก็คือสถาบันการเมืองที่มั่นคงอยู่แล้ว ถ้าพูดประสาชาวบ้านก็คือ เหมือนนกที่บินออกจากรัง แล้วมาสร้างรังของตัวเอง ซึ่งผมก็ยังมีความรักความผูกพัน และความเคารพในผู้หลักผู้ใหญ่ผู้บริหารของพรรค ปชป. มีพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ในพรรค ปชป.ที่ถึงตอนนี้ก็ยังพูดคุยกันได้อยู่อย่างสม่ำเสมอ
ขยับเลื่อนเลือกตั้ง อะไรก็เกิดขึ้นได้
ณัฏฐพล-ว่าที่รองหัวหน้าพรรค พปชร. ยังกล่าวถึงกรณี พปชร.ถูกจับตามองอย่างมากตอนนี้ โดยเฉพาะแกนนำพรรคที่เป็นรัฐมนตรี 4 คน ก็ยังคงถูกกดดันจากเกือบทุกพรรคการเมืองเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งหลังเปิดตัวเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐว่า มองว่าหากจะไม่มีกระแสเชิงลบเลยบ้างก็คงเป็นเรื่องที่แปลก ผมกลับมองว่าเป็นความท้าทายที่น่าสนใจ ทั้งที่พรรค พปชร.ยังไม่ได้รับการรับรองจาก กกต. ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงวันออกเสียงเลือกตั้งที่ชัดเจนออกมา เรื่องสี่รัฐมนตรีกลับกลายมาเป็นเรื่องที่คนอื่นยกขึ้นมาโจมตี ตรงนี้อาจเพราะ พปชร.ไม่ได้มีจุดอื่นที่คนหยิบมาโจมตีได้ ก็เลยเอาเรื่องที่ยังไม่ได้มีอะไรตอนนี้ แต่หากอนาคตเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันเลือกตั้งออกมาอย่างเป็นทางการ แล้วไม่มีอะไร แบบนั้นสิถึงจะโจมตีได้ วันที่เรารู้แน่ชัดแล้วว่าเลือกตั้งวันไหน แล้วไม่มีการแสดงสปิริตของผู้บริหารพรรค อย่างนั้นถึงค่อยหยิบยกมาตำหนิหรือเป็นประเด็นเรื่องของมารยาททางการเมือง จะเลือกตั้งกันวันไหน การเตรียมวางแผนจัดการเลือกตั้งประเมินโดยมองจากที่เห็นรางๆ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เมื่อยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้ง
...ตรงนี้หมายถึงว่าถ้าอีกหนึ่งปีถึงค่อยมีการเลือกตั้ง แล้วคุณอุตตมจะมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐไม่ได้หรือ แม้จะเป็นรัฐมนตรีก็ยังเป็นหัวหน้าพรรคได้ ในเมื่อได้เลือกตัดสินใจที่จะมาทำการเมือง จริงๆ แล้วต้องชื่นชมท่านด้วยซ้ำ จากการที่เป็นนักวิชาการแล้วสนใจทางการเมือง ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะก็อยากให้นักวิชาการและประชาชนในทุกภาคส่วนมาสนใจการเมือง มาร่วมกันพัฒนาประเทศเราให้ดีขึ้น
-เหตุใดมองว่าอาจไม่มีการเลือกตั้ง คิดว่าโรดแมปอาจเลื่อนออกไปอีกหรือ?
ผมมองว่ามันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้ เราพอรู้รางๆ ว่าวันเลือกตั้งอาจจะเป็นวันไหน ที่เราจัดตั้งพรรค พปชร.ขึ้นมาก็เพราะเราเตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เพียงแต่ยังไม่ได้เป็นทางการเท่านั้น ผมมั่นใจว่าเมื่อใดที่การเลือกตั้งมีความชัดเจนอย่างเป็นทางการ รัฐมนตรีของพรรคทั้งสี่ท่านก็จะแสดงสปิริตหรือแสดงมารยาททางการเมืองแน่นอน
สำหรับการที่สี่รัฐมนตรีของพรรคไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้ ณัฏฐพล-แกนนำ พปชร. แสดงความมั่นใจว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะการที่พรรคจะมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ พวกผมที่เป็นอดีตนักการเมืองมาก่อน ในพรรค พปชร.มีอดีตนักการเมืองเองก็หลายคน มีนักบริหารหลายคน และนักกิจกรรมจากอีกหลายภาคส่วน ก็จะสามารถขับเคลื่อนพรรคไปได้ เพราะเราเข้าใจบทบาทของแต่ละคนดี และเราก็เคารพกติกา เพราะขนาดทั้งสี่ท่านรู้ว่ามาเล่นการเมืองก็ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ก็อยากจะมาทำงานการเมืองเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงและทำให้ดีขึ้น ตรงนี้จริงๆ ต้องชื่นชม
-เท่าที่เปิดตัวพบว่ามีหลายกลุ่มการเมือง ทั้งอดีต กปปส., กลุ่มสามมิตร หรือแม้แต่อดีตแกนนำ อดีต ส.ส.เพื่อไทยหลายคน ทำให้ พปชร.มีหลายกลุ่มหลายมุ้งในพรรค
ผมว่านั่นคือเสน่ห์ของพรรคการเมืองตั้งใหม่ เหมือนผ้าขาว เป็นศูนย์ ทุกคนก็เข้ามาเป็นเหมือนผู้ร่วมก่อตั้งด้วยกัน แชร์ไอเดียอะไรต่างๆ ที่เหมือนกัน คือมันเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างพรรคการเมืองโดยไม่มีอดีตนักการเมืองเลย ก็คงไม่ได้ โดยเฉพาะการเมืองไทย มันเป็นเครือข่ายที่ต้องมี แต่ถ้าดูไปลึกๆ ของพรรค พปชร.จะพบว่าสัดส่วนของอดีตนักการเมืองที่อยู่ในพรรคเวลานี้ ยังน้อยกว่าสัดส่วนของนักวิชาการ คนรุ่นใหม่ อดีตข้าราชการในพรรค เราอยากจะส่งผู้สมัคร ส.ส.ให้ครบทั้ง 350 เขต เป็นธรรมดา เราก็ต้องดึงคนจากหลายภาคส่วนเข้ามา เพื่อลงในพื้นที่ต่างๆ คือยังไงก็ต้องมี เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะสร้างพรรคอย่างที่เราคิดเอาไว้ไม่ได้
-พลังประชารัฐจะไม่ใช่พรรคแบบเดิมๆ ที่ปล่อยให้มีกลุ่มมุ้งการเมืองมาสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง ขอเก้าอี้รัฐมนตรีหรือขออำนาจจัดคนลงเลือกตั้ง?
จุดนี้ชัดเจนเลย เพราะว่าที่หัวหน้าพรรคและว่าที่เลขาธิการพรรคได้วางหลักไว้ว่า เมื่อเข้ามาทำงานการเมืองทุกคนต้องแสดงความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ ทุกคนต้องมีส่วนในการทำให้พรรคเกิดขึ้นให้ได้ ส่วนใครจะขึ้นมาเป็นตัวแทนพรรคในบทบาทต่างๆ เช่น การบริหารด้านต่างๆ สุดท้าย ผลงานจะบอกออกมาเอง ไม่ต้องมานั่งต่อรอง มานั่งขอตำแหน่ง เพราะหากเก่งจริงในพรรคมีที่ให้ทำงาน มีบทบาทให้แสดง ผลงานจะเป็นสิ่งที่บอกและตัดสิน
ณัฏฐพล ยังกล่าวถึงกระแสข่าวความขัดแย้งภายในกลุ่มแกนนำตั้งพรรค เรื่องความไม่ลงตัวในการเตรียมจัดคนลงเลือกตั้งโดยเฉพาะในระบบเขตว่า เรื่องนี้ผมไม่ได้กังวลเลย เพราะถึงเวลานี้ก็ยังไม่เห็นมีใครมาต่อรองอะไร ว่าจะขอลงเขตนี้และต้องได้เขตนี้ ถึงตอนนี้พรรคยังไม่ได้คุยกันถึงขั้นที่ว่าเขตไหนจะส่งใคร เพราะพรรคตอนนี้ก็รอให้ กกต.รับรอง อีกทั้งกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครลงเลือกตั้งก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน คือต้องมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นไปตามข่าวที่ออกมาว่า ตอนนี้ในพรรคมีการต่อรองกันแล้ว เขตเลือกตั้งตัวผู้สมัครเริ่มมีปัญหาชนกันแล้ว ยืนยันว่าไม่ใช่ แต่ถามว่ากำลังเริ่มพิจารณาดูจากผู้ที่แสดงเจตจำนงเข้ามายังพรรคหรือไม่-ก็มี เพราะพรรคก็ต้องเตรียมการไว้หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่นาน สำหรับเป้าหมายจำนวนส.ส.ที่คาดว่าจะได้ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นคงบอกลำบากเพราะ พปชร. เป็นพรรคการเมืองตั้งใหม่ และต้องถือว่าเป็นพรรคเล็กด้วยซ้ำในเบื้องต้น เพราะก็ยังไม่มีผู้สมัครเลยสักคนเดียว แต่ยืนยันว่าเราจะทำให้ดีที่สุด และคิดว่าในการต่อสู้ทั่วประเทศ เมื่อพรรคมีคนพร้อมแล้ว เราต้องทำคะแนนให้ได้พอสมควร
พร้อมชน ปชป.สนาม กทม.
-ในฐานะแกนนำที่เป็นอดีต ส.ส.กทม.ประเมินสนามเลือกตั้ง กทม.อย่างไร มีโอกาสหรือไม่?
เราในฐานะพรรคน้องใหม่ก็ต้องทำงานเต็มที่ แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ต้องรอดูพรรคการเมืองคู่แข่งต่างๆ เช่น ส่งคนเดิมลงสมัครหรือไม่ หรือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ จะมีผลกระทบจากพรรคการเมืองอื่นหรือไม่
ผมมองว่าในพื้นที่ กทม.การแข่งขันจะท้าทาย เพราะหลายพรรคการเมืองได้เตรียมตัวกัน เห็นว่าจะมีการส่งผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองลงมาสู้กับอดีต ส.ส.กทม.เดิม เป็นเรื่องที่น่าติดตามสำหรับพื้นที่กทม.
...พปชร.เราก็คาดหวังในพื้นที่กทม. โดยเฉพาะผม, สกลธี, พุทธิพงษ์ พื้นฐานเคยเป็นอดีต ส.ส.กทม.และเคยทำงานร่วมกับ กทม. มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กทม. เราก็เห็นช่องทางว่าถ้าทำพื้นที่ กทม.ให้เข้มแข็ง มีโอกาสที่จะต่อสู้ในพื้นที่ กทม. จะทำได้อย่างไร แต่ขอปิดไว้ก่อน
-ต้องไปสู้กับ ปชป.ที่เป็นแชมป์มาหลายสมัย หนักใจหรือไม่ เพราะก็เคยอยู่กับ ปชป.มาก่อน?
ผมมั่นใจในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับ กทม.ที่เรามี และมั่นใจในเรื่องการเตรียมการเลือกตั้งที่ กทม. เพราะก็เคยผ่านมาแล้วทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เลือกตั้ง ส.ส.กทม. เลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผมก็เป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตรงนั้นอยู่พอสมควร ก็หวังว่าจะนำความรู้ความสามารถที่เคยมีตรงนั้นมาช่วยดัดแปลงให้ พปชร.ที่เป็นพรรคน้องใหม่ได้รับโอกาสในเวที กทม.
-สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำและวางไว้ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โครงการอีอีซี บัตรสวัสดิการคนจน พรรคพร้อมจะสานต่อหรือไม่ และชูเรื่องเหล่านี้ในการหาเสียงหรือไม่ ?
คงไม่เรียกว่าชู แต่อะไรก็ตามที่รัฐบาลแต่ละชุดในช่วงที่ผ่านมานำเสนอแล้วเป็นเรื่องที่ดี เราก็ควรสนับสนุนและให้มีสิ่งใหม่ๆ ด้วย ก็เป็นเรื่องที่เราต้องมาดูในสิ่งที่เคยทำมาทั้งหมด เช่นเรื่องกระจายอำนาจที่อาจมีการทำไว้แล้วดี เราก็ต้องให้ความสนใจ หรือการดูแลผู้สูงอายุที่อาจมีการนำเสนอมาจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เราก็ต้องให้ความสนใจ หรือการวางโครงข่ายระบบขนส่งคมนาคม ที่ตอนนี้มีการวางแผนงานและผลักดันอย่างเต็มรูปแบบ ก็เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนและยังมีเรื่องที่เราก็คุยกันเองอยู่ ถึงตอนนี้ยังไม่สามารถกล่าวถึงนโยบายพรรคได้ เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะแนวทางให้มีการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่พวกเราให้ความสนใจและอยู่ในใจของพวกเรา ที่ต้องการให้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปไปในทางที่ดีขึ้น ก็จะมีการผสมผสานกัน นโยบายอะไรที่เคยมีแล้วดีก็ควรทำต่อ แต่อันไหนยังไม่เหมาะสมก็ต้องติชมไป
เมื่อถามว่าหากสุดท้ายการเลือกตั้งไม่เลื่อนออกไป โดยจะเลือกกันในช่วง ก.พ.ปีหน้า พรรค พปชร.ก็พร้อมเต็มที่ เรื่องนี้ ณัฏฐพล-ว่าที่หัวหน้าพรรค พปชร. ยืนยันว่าพรรคพร้อมแน่นอน เพราะจะเห็นได้ว่าเราใช้เวลาในการเตรียมการอยู่พอสมควรในการเปิดตัว และต่อไปเมื่อได้รับการรับรองจาก กกต. ก็ต้องมีการเตรียมระดมทุน การเตรียมงานด้านนโยบายพรรค การเตรียมในเรื่องการปราศรัยของพรรค ทั้งหมดเป็นขั้นตอนที่พรรคต้องคิดเช่น เรื่องของงบประมาณ แนวทางของพรรค ที่เมื่อถึงวันนั้น ต้องมีการเดินไปตามกิจกรรมต่างๆ พรรคต้องใช้อะไรบ้าง เราใช้เวลาตรงนี้พอสมควร โดยที่เมื่อถึงวันที่มีประกาศกำหนดวันออกเสียงเลือกตั้ง เรามั่นใจว่าเราพร้อม หากนับถึงตอนนี้การเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งอีก 5 เดือน ผมว่าเรายังมีเวลาเหลืออีกเยอะ เราก็ไม่ประมาท พรรคก็ทำไปเรื่อยๆ หวังว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีให้ประชาชนได้.
.......................................
พลังประชารัฐ รอใส่ชื่อ 'บิ๊กตู่' แคนดิเดตนายกฯ?
สำหรับสิ่งที่แวดวงการเมืองเชื่อกันว่า พรรคพลังประชารัฐคือพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ ให้คัมแบ็กกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบหลังเลือกตั้ง ณัฏฐพล-ว่าที่รองหัวหน้าพรรค พปชร. พูดถึงเรื่องนี้ โดยเมื่อเราถามเรื่องรายชื่อ 3 แคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร.มีความชัดเจนอย่างไรบ้าง เขาตอบว่าที่ชัดเจนแล้วคนหนึ่งก็คือ หัวหน้าพรรค (อุตตม) ส่วนนอกเหนือจากนั้นก็ต้องผ่านกระบวนการของพรรค ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพรรค ซึ่งเมื่อ กกต.รับรองการตั้งพรรคพปชร. ถึงตอนนั้นใครจะมาเป็นสมาชิกพรรคเรายังไม่รู้ ก็หวังว่าคนที่มีความรู้ความสามารถ คนที่อยากทำงานทางการเมือง จะให้ความสนใจพรรค พปชร.มาสมัครเป็นสมาชิกแล้ว หลังจากนั้นกระบวนการคัดสรรของพรรคที่เราจะดูกันในพรรค ก็จะได้คนที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะจะมาเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ต้องรอให้เขามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก่อน
-มีข่าวมาตลอดว่าพลเอกประยุทธ์จะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ?
หากท่านสนใจทางการเมือง ท่านอาจมาแสดงเจตจำนงเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งถึงตอนนั้นหากว่าท่านมาลงการเมือง ก็คงเลือกว่าจะไปเสนอตัวเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด หรือไม่เสนอตัวเป็นสมาชิกพรรคก็ไม่รู้ ผมตอบแทนท่านไม่ได้ แต่ก็อยากให้คนดีๆ คนที่ตั้งใจทำงานอย่างท่านนายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสมาทำงานการเมืองต่อ ตรงนี้คือความเห็นส่วนตัว เพราะคนที่มีภาวะผู้นำ คนที่มีความกล้าหาญในการตัดสินใจเด็ดขาด คนที่มานำพาความสงบของประเทศ ซึ่งบุคลิกโดยรวมทั้งหมดเหล่านี้มีอยู่ในตัวของคนไม่กี่คน ท่านนายกฯ เป็นท่านหนึ่งในนั้น ก็อยากให้ท่านมาช่วยเหลือประเทศชาติต่อ แต่ไม่ได้จำกัดที่ท่านนายกฯ คนเดียว แต่รวมถึงหลายๆ ท่าน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้แสดงความสนใจและยังไม่ได้แสดงตัวทางการเมืองออกมา หากว่าเมื่อถึงเวลาที่พร้อม พรรค พปชร.ก็ขอเป็นหนึ่งในพรรคที่จะได้รับการพิจารณาให้ท่านเหล่านั้นมาสมัครเป็นสมาชิกและเป็นกำลังของพรรค
-หากไปถึงจุดที่ไม่สามารถหาคนในบัญชีรายชื่อได้ ต้องไปถึงนายกฯ คนนอก พปชร.มีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร เพราะบางพรรคเช่น เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ก็ยืนยันไม่เอานายกฯ คนนอก?
ความเห็นส่วนตัวของผมมองว่า ถ้ากติกาให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองตอนหาเสียงได้ ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคการเมืองที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีได้ จะเป็นคนนอกหรือคนในทุกพรรคมีสิทธิ์แสดงความเห็นได้หมดหากติกาเปิดให้
ส่วนตัวผมเองเห็นว่าหากสมาชิกในพรรคมีความรู้ความสามารถที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ก็น่าจะมานำเสนอคนในพรรค แต่หากสมมุติว่าถ้ามีคนนอกพรรคซึ่งมีความรู้ความสามารถ มีภาวะผู้นำมากกว่า แต่ว่าตัวเขาไม่ได้อยากเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ก็น่าจะพิจารณาเพราะก็ต้องเลือกคนที่เหมาะสมที่สุดมาเป็นนายกรัฐมนตรี
..คือถ้าหากว่าสมมุติมีนาย ก. แล้วนาย ก.เป็นบุคคลที่ประชาชนทั่วไปเห็นว่าเหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ว่าบังเอิญเขาไม่ได้มาเป็นสมาชิกพรรค แต่หากกติกาเปิดทางให้พรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งนำเสนอชื่อนาย ก. ผมว่าก็ต้องมีพรรคที่ต้องพิจารณาตรงนั้น คือถ้าเป็นนายกฯ คนนอก ผมว่าต้องตั้งหลักดูที่ความสามารถของเขาว่าจะสามารถนำพาประเทศ นำพาการเมือง นำพาการบริหารจัดการประเทศไปได้หรือไม่ ผมว่าต้องดูหลักตรงนี้คือดูที่ความสามารถของเขา แต่เรื่องนี้จริงๆ ไม่ได้ซับซ้อนอะไร คือเหมือนกับวนอ้อมกันไปอ้อมกันมาโดยที่เราก็พอจะรู้คำตอบ พอมองเห็นได้ว่าในวงการการเมือง วงการการบริหารประเทศ หรือการแสดงออกถึงความเป็นผู้นำ มีคนกี่คนที่สามารถนำพาประเทศไปได้ และผ่านวิกฤติต่างๆ ไปได้ เราทุกคนมองเห็น เพียงแต่ว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับมันเท่านั้นเอง
เมื่อถามว่าได้คุยกับทุกพรรคการเมืองหรือยัง และเป็นพันธมิตรกันหรือไม่ ณัฏฐพล-ว่าที่รองหัวหน้าพรรค พปชร. ออกตัวว่าตอบแทนพรรคไม่ได้ เพราะเรายังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ไม่ได้มีการประชุมกัน แต่ว่าในการพูดคุยทางการเมือง ผมว่าคนที่คิดคล้ายกันมองไปในทางเดียวกันก็น่าจะคุยกันได้ แต่ถ้าเผื่อมีความคิดที่แตกต่างกัน มันไม่มีทางหรอกที่คนซึ่งมีความเห็นต่าง และไม่มีการประนีประนอมกัน แล้วจะมาคุยกัน มันเป็นไปไม่ได้
มันขึ้นอยู่กับความตั้งใจของคนสองฝ่าย-สามฝ่าย-สี่ฝ่าย ว่าความตั้งใจที่จะให้ประเทศเดินไปข้างหน้ามีขนาดไหน ผมว่าหากทุกคนมีการลดอัตตาของตัวเอง ผมว่าทุกอย่างมันคุยกันได้ หากว่าไม่นึกถึงประโยชน์ของตัวเอง แต่นึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก มันเดินไปได้ทั้งนั้น
-พปชร.คุยทางการเมืองกับ ปชป.ได้ไหม?
ในเรื่องของแนวคิดอะไรต่างๆ ก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ในการตั้งใจที่ต้องการจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปข้างหน้าในทางที่ควรจะเดิน ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ผมคิดว่าในแนวความคิดนั้นเหมือนกัน แต่องค์ประกอบที่จะสร้างพรรค บริหารพรรค อันนี้อาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่อุดมการณ์ในความคิดคงไม่ได้แตกต่างกันมาก อาจจะมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยสบายใจในบางเรื่อง แต่ผมว่าอันนั้นเป็นเรื่องของคนที่อยู่กันคนละพรรค จะให้เหมือนกันทุกอย่างคงเป็นไปไม่ได้.
.......................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |