ขึ้นชื่อมาตลอดว่า เป็นพรรคที่ ปรับตัว ได้เก่งในสถานการณ์เพื่อ “ผลชนะ” สำหรับ “เพื่อไทย” ดังจะเห็นวิวัฒนาการมาตลอดตั้งแต่สิ้น “ไทยรักไทย” แต่ยังสามารถแปรสภาพมาเป็น “พลังประชาชน” แล้วชนะการเลือกตั้ง ทั้งที่รัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนขึ้นเพื่อมุ่งบล็อกโดยเฉพาะ
แม้กระทั่งต้องเสีย “พลังประชาชน” อีกเป็นคำรบสอง จนเป็น “เพื่อไทย” ในปัจจุบันก็ยังสามารถโกยแต้มในสนามเลือกตั้งปี 2554 แบบถล่มทลาย
มาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งนี้มีการถอดบทเรียนในอดีตแบบละเอียดยิบ หวังสกัดการเมืองผูกขาดแบบเดิมๆ โดยเฉพาะการสร้าง “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ถัวคะแนนเฉลี่ยให้พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถมี ส.ส.เขต มามีโอกาสได้ที่นั่งในสภาฯ
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนรูปแบบการลงคะแนนมาเป็น “บัตรใบเดียว” ซึ่งตรงนี้ทำให้พรรคใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” ซึ่งได้คะแนนเสียงเกิน 200 มาตลอด ได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะยิ่งคะแนน ส.ส.เขต ได้มากเท่าไร คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ตัวเองจะหายไปจำนวนมาก
ทำให้โอกาสที่ “เพื่อไทย” จะได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียวมีอยู่เพียงน้อยนิด และเหตุนี้เองทำให้คนมองว่า รัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งสกัดขั้วอำนาจเก่าโดยเฉพาะ ผ่านกติกาในรัฐธรรมนูญ
แต่ “เพื่อไทย” ยังคงเป็น “เพื่อไทย” วันยังค่ำ ที่สุดก็พลิกแพลงเพื่อหาทางกลับมามีอำนาจอีกครั้งได้ หลัง “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรับกลยุทธ์ รวมกันตายหมู่ แยกตีมีแววชนะ ให้สมาชิกกระจายตัวไปอยู่พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก เพื่อไล่เก็บคะแนน “ปาร์ตี้ลิสต์”
“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” แกนนำพรรคเพื่อไทย แยกออกไปทำพรรค “เพื่อธรรม” โดยมี “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว “นายใหญ่” และ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ผู้เป็นสามี กำกับดูแล โดยผู้สมัครพรรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นอดีต ส.ส.ในปีกของ “เจ๊แดง” ซึ่งมีอยู่จำนวนมากภายในพรรค
“ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเคยถูกใบแดงครั้งยุบพรรคพลังประชาชน ขยับออกมาคอนโทรลพรรค “เพื่อชาติ” เพื่อรองรับบรรดาแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และภาคประชาชน ที่ไม่มีพื้นที่ในพรรคเพื่อไทย โดยมี “สงคราม เลิศกิจไพโรจน์” เจ้าของศูนย์การค้าดังย่านลาดพร้าวเป็น “นายทุน”
นอกจากนี้ยังมีพรรค “ประชาชาติ” ของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” แกนนำกลุ่มวาดะห์ ที่ตั้งเป้าจะกวาด ส.ส.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพรรคที่ถูกมองว่าเป็น เนื้อเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และพรรคเสรีรวมไทยของ “วีรบุรุษนาแก” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
แผนนี้จึงเป็นที่ตื่นตาตื่นใจมาตลอดสัปดาห์ เพราะมันเป็นช่องทางที่ “เป็นไปได้” ในการที่จะพา “เพื่อไทย” ตัดเส้นทางการเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังถูกบอนไซการเป็น “รัฐบาลพรรคเดียว”
ที่เหลือจากนี้คือ การ “จัดทัพ” ว่า แต่ละพรรคจะให้อดีต ส.ส.คนไหนไปอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วแต่ละพรรคจะให้ใครเป็น “ตัวชูโรง” เพื่อเรียกคะแนน นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “ทักษิณ” ต้องบินมาบัญชาการถึง “ฮ่องกง”
กลับไปดูท่าทีของฝ่ายอำนาจปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กตู่” หรือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กลับไม่แสดงอาการตื่นตระหนกกับยุทธศาสตร์ใหม่ของ “ศัตรู” พร้อมทั้งบอกด้วยว่า เป็นสิทธิ์ที่ทำได้
ไม่ใช่เพียงแค่พูดเท่านั้น แต่ความเคลื่อนไหวที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ฝ่ายอำนาจในปัจจุบันมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ ยังแทบไม่ปรากฏ ซึ่งหากมองในความเป็นจริง ตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ และ “กรธ.” เคาะเอาระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” น่าจะมีการคิดกรณีนี้ไว้แล้วเช่นกัน
ซึ่งช่วงที่รัฐธรรมนูญเป็นรูปเป็นร่างก็มีการพูดว่า ถ้ามาสูตรนี้ “เพื่อไทย” อาจไปสร้างพรรคใหม่ขึ้นมาเพื่อ แยกกันตี ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
เป้าหมายในการเขียนรัฐธรรมนูญน่าจะมุ่งในการไม่ทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งมีขนาดใหญ่โตเกินไปอยู่แล้ว ไม่ถึงขนาดถอนรากถอนโคน
แม้จะเป็น “พวกเดียวกัน” ออกไปสังกัดคนละค่าย เพื่อไปเก็บกวาดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แล้วมารวมกันใน “สภา” แต่มันก็ยังดีกว่าการ “กระจุกตัว” อยู่ในพรรคเดียวเหมือนแต่ก่อน ซึ่งมีอำนาจมหาศาล
ขณะเดียวกัน “การแยกค่าย” เป็นซุ้มเล็กซุ้มใหญ่ ไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะต้องอย่าลืมว่า สำหรับการเลือกตั้งแล้ว “ทุน” คือเรื่องสำคัญก็ไม่ผิดนัก และที่ผ่านมา “นายใหญ่” คือ ท่อน้ำเลี้ยงหลัก
ที่ต้องจับตาคือ “นายใหญ่” จะอัดฉีดทุกพรรคที่เป็นสาขาของตัวเองหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าทั้ง “เพื่อธรรม” และ “เพื่อชาติ” ต้องการส่ง ส.ส.ลงทั้ง 350 เขต ทั้ง 2 พรรค ยังไม่นับรวม “เพื่อไทย” ที่เป็น “พรรคแม่” ซึ่งต้องส่งครบทุกเขตอย่างแน่นอน
แล้วหากต้องลงทุนทั้ง “3 พรรค” ทางฝั่งอำนาจเก่าพร้อมทุ่มเต็มที่หรือไม่ในการเดิมพันครั้งนี้ เพราะยังไม่รู้ว่า ต่อให้รวมเสียงกันได้พอตั้งรัฐบาล จะต้องเจออุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงอีกหรือไม่ เพราะอีกฝั่งก็คงไม่ยอมเช่นกัน และมันมี กับดัก เต็มไปหมด
ความซับซ้อนในระดับพื้นที่ยิ่งสำคัญ การจะลงไปเอาคะแนนปาร์ตี้ลิสต์แต่ละเขต ถึงเวลาจริงมันอาจสร้างความสับสนให้กับผู้มีสิทธิ์ในการแยกแยะว่า เขตนี้ควรจะกาให้ใครระหว่าง “เพื่อไทย – เพื่อธรรม – เพื่อชาติ” หนำซ้ำ ถ้าไป “ชี้นำ” ก่อนก็เสี่ยงที่จะผิดกฎหมายเลือกตั้งอีก
นอกจากนี้ อีกเหตุผลสำคัญในการ “แยกค่าย” ของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ไม่ใช่แค่แผน “แยกกันตี” แต่ลึกๆ มันมีความไม่ลงตัวอยู่พอสมควร โดยเฉพาะพวกที่เคยอยู่ในระบบปาร์ตี้ลิสต์เก่า แต่พอกติกาฉบับใหม่ที่ “เพื่อไทย” อาจได้แต่ ส.ส.เขต จึงทำให้พวกนี้อยากจะมาลงสนามมากกว่า จึงเกิดการแย่งกันลงพื้นที่ และทับซ้อนกันหลายแห่ง
คนไม่พอใจ หรือไม่มีทางเลือกก็ย้ายออกจากค่ายไปอยู่กับพรรคที่ตั้งใหม่เพื่อหา “ที่ลง” แต่การแยกออกไป มันก็ชนะไม่ง่ายเหมือนตอนอยู่ “เพื่อไทย”
ทุกคนอาจรู้ว่า พรรคนี้คือ พวกเดียวกับ “เพื่อไทย” แต่เวลาลงคะแนนก็ต้องกาให้กับผู้สมัคร “เพื่อไทย” ก่อน หรือหากไม่มี ส.ส.จากเพื่อไทยในเขตดังกล่าว แต่เป็นของพรรคอะไหล่แทน คะแนนนี้ก็อาจแกว่งไปหา ตาอยู่ ที่อื่นก็เป็นได้ ดังนั้นมันจึงไม่ง่ายสำหรับภารกิจเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์
ต่างจากอีกขั้วที่มี “พลังประชารัฐ” เป็นแกนหลัก แม้จะมีพรรคสาขาเยอะเหมือนกัน แต่ไม่ได้หวังจะพึ่งคะแนนเหล่านี้เป็นหลักแต่แรก แต่หวังผนึกกำลังพรรคการเมืองเก่าที่มีสายสัมพันธ์อันดี ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์
เหนือสิ่งอื่นใด “พลังประชารัฐ” ไม่ต้องออกแรงมากเท่ากับ “เพื่อไทย” เพราะมี ส.ว. 250 เสียงอยู่ในสภาฯ ตัวเองเพียงแค่หามาอีกไม่เท่าไร
หรือต่อให้ “เพื่อไทย” คะแนนเกิน 250 จริงๆ ก็อาจนำไปสู่ สุญญากาศ ทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อมี ตอ อันใหญ่อย่าง ส.ว. 250 คนอยู่ในสภาฯ
บางทีนี่อาจสาเหตุว่า ทำไม “ท็อปบูต” ถึงไม่ออกอาการกับยุทธศาสตร์ใหม่ของ “เพื่อไทย” เท่าไร!!.
ทีมข่าวการเมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |