สถานีรถไฟ Sealdah แห่งนครโกลกาตา ประเทศอินเดีย
วีซ่าแบบยื่นสมัครออนไลน์ หรือ e-Visa (Electronic Visa) ของประเทศอินเดียนั้นสมัครได้ง่ายมาก เพียงกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์ม แนบไฟล์ภาพถ่ายหน้าตรงและพาสปอร์ตหน้าที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของเราลงไป จ่ายเงินโดยบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต อีกหนึ่งวันให้หลังก็ได้รับอีเมลยืนยันว่าวีซ่าได้รับการอนุมัติแล้ว
ผมสมัคร e-Visa นี้ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแต่ไม่ได้เดินทาง จะเดินทางอีกทีวีซ่าก็หมดอายุไปแล้ว จึงต้องสมัครใหม่ ค่าธรรมเนียมสมัครวีซ่าเมื่อเดือนมีนาคมนั้นอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐฯ แต่พอสมัครในเดือนกันยายนพี่เขาก็เพิ่มขึ้นเป็น 80 เหรียญ บวกค่าดำเนินการอะไรต่างๆ อีก 2 เหรียญกว่าๆ คิดเป็นเงินไทยรวมเกือบๆ 2,800 บาท
นักเลงเว็บบอร์ดท่องเที่ยวต่างบ่นกันยกใหญ่ว่าคิดจะขึ้นก็ขึ้น แถมขึ้นทีเกือบเท่าตัว บางคนเสนอว่าใครอยากไปอินเดียต้องรีบไป ก่อนที่ค่าวีซ่าจะขึ้นไปถึง 200 เหรียญ
เครื่องบินของสายการบินโลว์คอสต์ยอดนิยมสายหนึ่งร่อนลงจอดที่สนามบินโกลกาตาท่ามกลางสายฝนที่มากับร่องมรสุมในอ่าวเบงกอลช่วงกลางเดือนกันยายน เวลาที่ผมออกจากท่าอากาศยานนานาชาติ “เนตาชี สุภาษ จันทระ โพส” ซึ่งเป็นชื่อทางการของสนามบินนั้นก็ปาเข้าไปราวตี 2 แล้ว เด็กวัยรุ่นจาก Hotel Babul ยืนถือป้ายชื่อของผมอยู่ตรงทางออก เขากล่าวยินดีต้อนรับแล้วโทรศัพท์ให้รถมารับ ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีรถเก๋งคันจิ๋วก็มาถึง
โรงแรมแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากสนามบินประมาณ 500 เมตรเท่านั้น แต่ถนนบังคับให้ต้องอ้อมไปประมาณสามสี่กิโลเมตร ในซอยเล็กๆ เฉอะแฉะจากฝนที่ลงมาตั้งแต่เมื่อคืนวาน มีที่พักตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ไว้รองรับผู้โดยสารที่มีไฟลท์ขาออกตอนเช้าตรู่และไฟลท์ขาเข้าเวลาดึก นอนไม่นานก็เช็กเอาต์ออกไป ส่วนมากจะให้บริการรับ-ส่งที่สนามบินฟรี
ในเว็บไซต์ของ Hotel Babul ก็เขียนว่า “บริการรับ-ส่งฟรี” แต่ผมจองจากเว็บไซต์เอเจนซีชื่อดัง booking.com ได้ราคาถูกกว่านิดหน่อย คิดว่าจะรับ-ส่งฟรีเหมือนกัน แต่พอจ่ายเงินตอนเช็กอิน ลุงรีเซ็พชั่นบวกค่าไปรับเพิ่ม 200 รูปี รวม 1,914 รูปี ผมให้ไป 2,000 รูปี แกทำเฉยไม่ยอมทอนเงิน วัยรุ่นชายที่รอรับผมที่สนามบินเปลี่ยนบทบาทเป็นเบลบอยถือกระเป๋าไปเปิดห้องพักให้ ผมเดินตามเข้าไป แล้วสั่งน้ำดื่มมา 1 ขวด เขาไปหยิบจากครัวของโรงแรมแล้วบอกราคา 30 รูปี ผมว่าค่อยจ่ายพรุ่งนี้กับรีเซ็พชั่น เขาปิดประตูออกไปด้วยใบหน้าเศร้านิดๆ ผมจึงเรียกให้กลับมารับทิป 100 รูปี ความปรีดาก็เข้าแทนที่บนใบหน้าเดิม
เช้าวันต่อมามีเสียงกดกริ่งดังสนั่น ผมงัวเงียเปิดประตู บ๋อยในชุดเต็มยศถือถาดอาหารเช้ามาเสิร์ฟถึงเตียงพร้อมใบเซ็นรับและมีช่องให้เขียนความคิดเห็นทั้งที่ยังไม่ได้กิน ผมเห็นคนอื่นๆ เขียนไว้ว่า “Very Good” ก็แกล้งมองไปที่อาหาร แล้วใส่ข้อความ “Excellent” ลงไป
กะจะนอนต่อแต่หลับไม่ลงเพราะอาหารส่งกลิ่นเครื่องเทศโชยเข้าจมูกกดดันให้ต้องลุกขึ้นมากิน มีโรตีประมาณ 5 แผ่น แกงกะหรี่มันฝรั่ง ไข่เจียว ทุกอย่างรสชาติไม่เลว ยกเว้นขนมหวานลูกกลมๆ ที่หวานเลี่ยนและมันจนต้องจอดที่คำแรก
เวลา 11 โมงผมก็เช็กเอาต์ตามเวลาที่รีเซ็พชั่นบอกเมื่อคืน ทั้งที่ในเว็บไซต์ของโรงแรมระบุว่าเช็กเอาต์ได้จนถึงเที่ยงตรง หรืออาจจะเป็นเพราะจองกับเว็บไซต์เอเจนซี่จึงไม่ได้สิทธิทั้งรถรับ-ส่งฟรีและเวลาเช็กเอาต์ ยังดีที่เอาข้าวมาให้กิน ลุงรีเซ็พชั่นคนเดิมยื่นซองใส่ใบเสร็จให้ แกไม่ทวงค่าน้ำ 30รูปี ผมก็ไม่ทวงเงินทอน 86 รูปี ถือว่าเจ๊ากันไป
ผมกะจะนั่งเล่นอีกสักสี่ห้านาที ลุงรีเซ็พชั่น (ที่อาจจะเป็นผู้จัดการด้วย) ก็ให้บ๋อยแบกกระเป๋าผมไปช่วยเรียกแท็กซี่ ส่วนดอร์แมนรุ่นใหญ่ก็ช่วยมาถือเป้ใบเล็กให้ ผมเดินตามทั้งคู่ออกไปเกือบถึงปากซอย พวกเขาคุยกับคนขับรถคันสีขาวซึ่งเป็นแท็กซี่ป้ายดำว่าผมจะไป Sudder Street โชเฟอร์หน้าเหี้ยมบอกราคา 700 รูปี ผมบอกว่า 2 ปีที่แล้วผมนั่งจากสนามบินไป Sudder Street ยังไม่ถึง 300 เลย เขาว่าไม่มีแล้วราคานั้น “รถของผมคันใหญ่ กินน้ำมันเยอะ มีแอร์ และตอนนี้ถนนเปลี่ยนเส้นทาง” ผมต่อเหลือ 500 รูปีเขาก็ไม่ยอม กลับบอกวิธีการนั่งรถเมล์เข้าเมืองให้แทน
ความจริงเห็นรถแท็กซี่สีเหลืองรุ่นเก่าคลาสสิควิ่งไปมาบนถนนหลายคัน แต่ด้วยความเกรงใจสองคนที่แบกกระเป๋าอยู่ผมก็เลยยอมให้ไอ้หน้าเหี้ยมโขกราคา เพราะสองคนนี้คงจะไม่ยอมกลับเข้าโรงแรมถ้าผมไม่ได้รถ ตอนหลังกลับมาคิดดูก็ให้สงสัยว่าเป็นความร่วมมือกันทำมาหากินระหว่างโรงแรมกับแท็กซี่ แต่ก็อาจจะไม่ใช่เพราะไม่เช่นนั้นผู้เข้าพักทั้งหลายคงระบายลงในเว็บไซต์รับรองจนชื่อเสียงโรงแรมเละไปแล้ว
วิ่งมาได้เกินครึ่งทางอากาศร้อนขึ้น ผมเพิ่งมาสังเกตว่าไอ้หน้าเหี้ยมไม่ได้เปิดแอร์จึงขอให้เปิด เขาก็เปิดแต่โดยดี ระหว่างนี้ก็ชวนจะพาไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่แบบราคาเหมา ผมบอกว่า “ที่พูดมาน่ะ ไปมาหมดแล้ว” ก็เลยเงียบไป
ตอนใกล้ถึง Sudder Street ไอ้หน้าเหี้ยมเลี้ยวเข้าปั๊ม ขอเงินค่ารถไปเติมน้ำมัน ผมยื่นให้ 500 รูปี ก็บอกให้เอามาอีก ผมยื่นใบละ 100 ไปให้ เขาก็ยังขออีก ผมไม่มีใบละ 100 แล้วจึงให้ใบละ 500 ไป แต่เขาไม่ยอมคืนใบ 100 กลับมา เติมน้ำมันเสร็จก็กลับเข้ามานั่งประจำที่คนขับ ผมถามว่า “เงินทอนล่ะ ?” ไอ้หน้าเหี้ยมพูดมา 2 ประโยค
“ไม่มีเงินทอน” และ “เงินทอนอยู่ในอากาศ” ผมพยายามระงับอารมณ์ คิดว่าถึงแล้วค่อยจัดการ
พอถึงปากซอย Sudder Street เขาก็ยังพูดประโยคเดิม “No change” และ “Chang is in the air” ผมไม่ลงจากรถและบอกให้เขาไปแลกจากพวกแท็กซี่ที่จอดอยู่หน้าปากซอย สุดท้ายเขาก็ยื่นใบละ 500 มาให้ ขอให้ผมไปแลกกับเกสต์เฮาส์ริมถนน
ผมหยิบเป้ใบเล็กออกไปเพราะของมีค่าอยู่ในนี้ ทิ้งกระเป๋าสะพายหลังใบใหญ่ไว้ในรถ เดินไปขอแลกกับรีเซ็พชั่นเกสต์เฮาส์ เขาบอกไม่มีให้แลก เดินไปอีกหน่อยเจอร้านรับแลกเงินก็เดินเข้าไปขอแลก ลุงคนนั่งหลังเคาน์เตอร์ใจดีให้แลก ระหว่างที่ลุงนับเงินอยู่นั้นผมหันไปเห็นไอ้หน้าเหี้ยมขยับรถเหมือนจะออกไป จึงวิ่งไปหา ปรากฏว่าเขาแค่ขยับให้เข้าที่เข้าทางเพราะจอดขวางชาวบ้านอยู่ ผมกลับไปรับเงินใบละ 100 รูปี 5 ใบจากลุงแลกเงิน แล้วเดินกลับมายื่นให้ไอ้หน้าเหี้ยม 1 ใบ ตอนนี้ไอ้หน้าเหี้ยมกำลังท้าตีท้าต่อยอยู่กับคนขับแท็กซี่ 2 คนที่รอลูกค้าอยู่ พวกเขาเป็นชายหนุ่มแต่ไม่ยอมสู้ ผมจ้องทะเบียนรถ 25H 3368 ของไอ้หน้าเหี้ยมแล้วเดินเข้าซอยไป
Sudder Street ถือเป็นย่านนักท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็กเกอร์เหมือนถนนข้าวสารของกรุงเทพฯ มีที่พักราคาถูกอยู่หลายแห่ง เดินไม่ไกลก็ถึงHotel Maria ในตรอก Stuart Lane ชื่อเป็นโรงแรมแต่ห้องพักเป็นแบบเกสต์เฮาส์ซ่อมซ่อ ผู้จัดการชื่อ “อาเหม็ด” จำผมได้ เขายื่นมือมาขอจับ จัดให้ผมได้พักห้องเดิม คือห้อง 2 เตียงบนชั้นดาดฟ้า เตียงหนึ่งไว้นอน อีกเตียงไว้วางของ เพราะบนพื้นนั้นสกปรกเกินไป
แมวดำชื่อ “ซาร่า” ยังอยู่ที่นี่ ผมแอบดีใจที่อาเหม็ดรักษาคำพูดของ “ฮิโรกิ” เพื่อนญี่ปุ่นของผมว่าจะให้มันอยู่ที่นี่ไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย ฮิโรกิได้ให้เงินไว้เล็กน้อยด้วย นอกจากซาร่าแล้วก็ยังมีแมวสีขาวอีกตัว แต่มันไม่ได้ขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้าแบบซาร่า
ป้าย Clean City ระหว่างทางเดินไปยังสถานีรถไฟ Sealdah
สองปีที่แล้วผมและฮิโรกิได้นำกระดูกของปีเตอร์ เพื่อนชาวแคนาเดียนผู้ล่วงลับมาลอยอังคารที่แม่น้ำฮูคลี ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของคงคามหานที ปีเตอร์เป็นผู้พาแม่ของซาร่าไปผ่าท้องคลอดที่โรงพยาบาลเมื่อราวห้าหกปีก่อน ตอนที่ปีเตอร์ไม่อยู่โรงแรม คนของ Hotel Maria ได้นำแมวร่วมครอกกับซาร่าและอีกหลายตัวที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่ของโรงแรมใส่กระสอบไปทิ้งที่ไหนสักแห่ง คนทิ้งคงคิดว่าไกลพอแล้วที่แมวในกระสอบจะกลับโรงแรมไม่ได้ บางกระแสก็ว่าที่จริงแล้วมีคนเอาแมวทั้งหมดไปฆ่าทิ้ง
ซาร่ากลับมาที่โรงแรมได้เพียงตัวเดียว และกลายเป็นที่รักของแขกที่นิยมพักบนชั้นดาดฟ้า คนของโรงแรมคงคิดว่านังนี่หนังเหนียวและมากับดวง ป่วยการจะนำไปกำจัดอีกรอบ มันจึงอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้
ผมลงไปถามอาเหม็ดว่าในย่าน New Market ซึ่งอยู่ไม่ห่างออกไปมีซิมการ์ดขายหรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่มี” แล้วพาผมเดินไปในซอกเล็กที่แยกไปจากตรอก Stuart Lane มีซุ้มเล็กๆ ขายซิมการ์ดอยู่ในนี้ อาเหม็ดคุยกับหนุ่มประจำโต๊ะเป็นภาษาเบงกาลีแล้วบอกผมเป็นภาษาอังกฤษว่า “450 รูปี ใช้ได้28 วัน โทรในประเทศฟรี และใช้อินเตอร์เน็ตได้วันละ 1.4 กิกกะไบต์” พูดเสร็จเขาก็เดินกลับโรงแรม
ฝนตกลงมาตอนที่ผมนั่งรอคิว การลงทะเบียนใช้ซิมต้องใช้หลักฐานรูปถ่าย พาสปอร์ตหน้าข้อมูลส่วนบุคคลและหน้าที่มีวีซ่า ภายในซุ้มมีเครื่องถ่ายเอกสารซึ่งหนุ่มคนขายเป็นคนจัดการให้ ผมกรอกข้อมูลส่วนตัวลงในแบบฟอร์ม ใช้เวลานานกว่าจะเสร็จเรียบร้อย มีช่องให้เขียนชื่อ “บิดาหรือสามี” ด้วย (เช่นเดียวกับการเช็กอินที่โรงแรมเมื่อคืนนี้) ส่วนซิมการ์ดจะใช้การได้ต้องรออีกประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง หันไปดูป้ายโปรโมชั่นต่างๆ ที่ติดไว้ไม่มีราคา450 รูปีเลย มีแต่ราคาถูกกว่านั้น และแพคเกจที่ตรงกับที่อาเหม็ดพูดนั้นราคา 199 รูปี ไม่รู้ว่าสองฝ่ายนี้จะแบ่งส่วนต่าง 251 รูปีกันอย่างไร
ผมเดินกลับที่พัก ใช้อินเตอร์เน็ตจาก Wifi เพื่อดูเส้นทางที่จะเดินไปยังสถานีรถไฟ Sealdah ซึ่งอยู่ห่างออกไปเกือบ 3 กิโลเมตร แล้วก็เดินไปตามเส้นทางนั้น พื้นถนนเปียก หลายช่วงของเส้นทางสกปรกเต็มไปด้วยขยะและมูลสัตว์ เดินอยู่สักพักก็หลงทิศสับสน ถามทางจากคนท้องถิ่น 3 ครั้ง ตอนใกล้ๆ ถึงสถานีรถไฟเห็นอุโมงค์ลอดถนน เขียนข้อความ “Welcome to Subway” ผมก็ดีใจว่าขากลับจะได้นั่ง Subway หรือรถไฟใต้ดินกลับไปยังสถานีPark Street ที่อยู่ใกล้ๆ ที่พัก
สถานีหลักในเมืองโกลกาตาที่มีรถไฟวิ่งระหว่างเมืองมี 3 สถานี คือ Howrah, Kolkata และ Sealdah แห่งนี้ แต่เที่ยวรถไฟที่ผมต้องการจะโดยสารไปเมืองคยาในวันพรุ่งนี้จากสถานีนี้กลับจองไม่ได้ และฟังป้าเจ้าหน้าที่พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง สำเนียงของแกโหดเหลือเกินจนสุดท้ายผมต้องถอย เจ้าหน้าที่หญิงอีกคนแนะนำให้ขึ้นจากสถานี Howrah และให้ไปจองที่สำนักงานการรถไฟอินเดียเขตตะวันออก ย่าน Fairlie Place ซึ่งก็คือสถานที่ที่ผมใช้บริการเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จึงต้องบ่นกับตัวเองว่าไม่รู้จะเดินมาที่นี่ทำไมให้เสียเวลา
ขากลับผมเดินไปยังอุโมงค์ที่เขียนว่า “ขอต้อนรับสู่ซับเวย์” หมายจะนั่งรถไฟใต้ดิน ปรากฏว่า “ซับเวย์” ที่ว่านี้เป็นเพียงทางใต้ดินที่แปลตรงตามตัว หรืออุโมงค์ที่ลอดไปยังอีกฝั่ง แค่สร้างอุโมงค์ลอดถนนทำไมต้องเขียนป้ายเสียใหญ่โตจนทำให้เข้าใจผิดกันด้วย ยอมรับว่าเจ็บปวดอย่างมากจนอยากจะร้องให้
หนุ่มสามล้อถีบพาผู้เขียนลัดเลาะไปตามซอกซอยหนีความจอแจของการจราจรบนถนนใหญ่
ก้มหน้าเดินต่อไปได้เกือบครึ่งกิโลเมตรก็คิดว่านั่งริคชอว์หรือสามล้อถีบจะดีกว่า เจอหนุ่มน้อยนักปั่นบนอานจักรยาน ด้านหลังตรงที่นั่งผู้โดยสารเป็นหญิงสาว เธอไม่ลงจากรถ เหมือนจะขอนั่งไปด้วย ผมถามราคา สารถีตอบ 100 รูปี หันไปยังหญิงสาวเธอก็ไม่ยอมลงจนชายหนุ่มต้องบังคับให้เธอลง พาหนะยังไม่เคลื่อนไปไหนเพราะฝ่ายหญิงกำเงินอยู่ในมือ คาดว่าเป็นเงินที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของฝ่ายชาย สุดท้ายเธอก็ยัดใส่กระเป๋าเสื้อของหนุ่มน้อยเพราะไม่อย่างนั้นหนุ่มน้อยก็จะไม่ปั่นออกไป ปั่นมาได้ราว 50 เมตร หญิงสาวก็ตะโกนอะไรบางอย่างแล้ววิ่งตามมา เธอส่งเงินที่เหลือให้กับฝ่ายชายจนครบจำนวน แล้วการเดินทางกลับที่พักของผมก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเสียที
“เมียผมงี่เง่าชะมัด” สารถีวัยรุ่นเอ่ยออกมา
พอถึงหน้าที่พักผมยื่นธนบัตรใบละ 200 รูปีให้ เขาทอนกลับมา 50 รูปี ผมบอกว่า “ทอนให้ครบ” เขาก็พูดว่า “ไม่มีแล้ว” ผมยืนยันว่า “ไม่ได้ เอามาให้ครบ” เขาแกล้งทำเป็นหา เห็นผมยังยืนจ้องอยู่จึงยื่นใบ 50 รูปีมาให้อีกใบ
มาถึงได้วันเดียวต้องบอกว่าโกลกาตาต้อนรับได้ประทับใจมากๆ เลยครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |