“ออมสิน” ชี้มาตรการเบรกแบงก์ปล่อยสินเชื่อบ้านหลังสอง ดีกับสถาบันการเงิน แต่กระทบภาคอสังหาริมทรัพย์—รับเหมา-เฟอร์นิเจอร์-ผู้บริโภคสะดุดทั้งระบบ แนะผ่อนปรนใช้กับบ้านหลังที่สามขึ้นไป พร้อมเลื่อนเวลาบังคับใช้
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า การปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อระบบธนาคาร ที่จะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเก็งกำไร และไม่ให้เกิดปริมาณที่อยู่อาศัยในตลาดสูงกว่าความต้องการ (Over Supply) และคาดว่าผลกระทบจากมาตรการจะส่งผลให้ธนาคารจะมีแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลง ไม่ได้มีการแข่งขันกันให้สินเชื่อสูงมากอย่างในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี แม้ว่ามาตรการจะส่งผลดีต่อธนาคาร แต่ก็อยากให้ ธปท.พิจารณาให้รอบคอบว่ามาตรการมีผลดีผลเสียอย่างไร โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบการและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งผู้บริโภค เนื่องจากจะได้รับผลกระทบทั้งหมด และอาจทำให้ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องสะดุด ทำให้ความต้องการซื้อตกลง และที่สำคัญกระทบธุรกิจต่อเนื่อง อสังหาริมทรัพย์หลายกลุ่ม เช่น ธุรกิจรับเหมา ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ มีการจ้างงานน้อยลงและมีปัญหาทั้งระบบเศรษฐกิจ
“อยากให้ ธปท. ดูเหตุผลของทุกฝ่าย แม้ว่าธนาคารจะรับประโยชน์จากมาตรการ เพราะความเสี่ยงในการปล่อยกู้ลดลงลดลง แต่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้งธนาคารออมสินเอง และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) น่าจะมีข้อเสนอคล้ายกัน คือ บังคับใช้เกณฑ์ตั้งแต่บ้านสัญญาหลังที่ 3 ขึ้นไป รวมทั้ง ให้เลื่อนกำหนดเวลาใช้จากเดิมในวันที่ 1 ม.ค.2562 นี้ออกไปก่อน” นายชาติชาย กล่าว
นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันธนาคารออมสินมีสัดส่วนการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย เฉลี่ยรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70-80 ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมด จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ และเชื่อว่าผู้ที่มากู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จะเป็นการกู้เพื่ออยู่อาศัยเอง ไม่ใช่การเก็งกำไร โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว ในส่วนของคอนโดมิเนียมในเขตเมืองจะมีทั้งที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง และอาจจะซื้อเพื่อลงทุนอยู่บ้างเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี เห็นด้วยกับการใช้เกณฑ์สินเชื่อบ้าน ของธปท. เพราะเชื่อว่า ธปท.อยากดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ให้เกิดปัญหาฟองสบู่ ขณะที่ในด้านสินเชื่อ ก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน สถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่ออาศัยตามมูลค่าหลักประกัน (LTV limit) ที่ 90-95% โดยธปท.มองว่าสูงเกินไป จึงปรับให้เหลือ 80% โดยอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นว่าระดับดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งเกณฑ์การนับสินเชื่อ top-up ที่ใช้หลักประกันเดียวกันในการยื่นกู้ ซึ่งจากเดิมมีการให้วงเงินเพิ่ม 5-10% จากหลักประกันมีความเหมาะสมหรือไม่
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |