นายสมเดช นาคดี 18 ปีกับภารกิจงดงาม :อาสาเก็บขยะป่าชายเลน


เพิ่มเพื่อน    

ท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงาม ผู้คนต่างอาศัยพึ่งพาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในการทำกิน  แต่จะมีสักกี่คนที่มีจิตสำนึกรักธรรมชาติและตอบแทนแผ่นดินบ้านเกิดด้วยจิตอาสาที่แน่วแน่มั่นคง ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอด 18 ปี

​นายสมเดช นาคดี หรือน้าเตี้ย ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านคลองเก่า  ปากน้ำปราณบุรี    ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์                                 ชาวปากน้ำปราณที่เกิดและอาศัยผืนดินแห่งนี้ไม่ต่างจากชาวบ้านคนอื่นๆ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เขาทำสม่ำเสมอคือ การอนุรักษ์ป่าชายเลนและท้องทะเลปากน้ำปราณมาตลอดระยะเวลานาน สิ่งที่ผู้คนพบเห็นจนชินตาคือ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านคลองเก่าออกมาอาสาช่วยกันเก็บขยะจากป่าชายเลนและท้องทะเลของพวกเขา 

​อาชีพของน้าเตี้ยคือการรับนักท่องเที่ยวลงเรือเพื่อชมความสวยงามของวนอุทยานปราณบุรีและป่าบริเวณศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี  และเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงของปากน้ำปราณในช่วง ปี พ.ศ. 2524-2539 ที่ทางราชการได้จัดสรรพื้นที่บางส่วนให้คนเข้ามาเช่าทำสัมปทานนากุ้ง ซึ่งส่งผลให้ทะเลอันแสนสงบอุดมไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา เริ่มเปลี่ยนเป็นนากุ้ง และภายหลังจากกระแสนากุ้งเฟื่องฟูไม่กี่ปี พื้นที่ก็เริ่มเสื่อมโทรม อากาศที่เคยสดชื่นเปลี่ยนเป็นมลพิษเพราะมีการปล่อยน้ำเสียจากนากุ้งมายังแหล่งน้ำ พื้นที่สาธารณะและบ้านเรือนของชาวบ้าน  แหล่งน้ำบริเวณหลังบ้านน้าเตี้ยที่เคยมีกุ้งหอยปูปลาก็หายไปหมดสิ้น กลายเป็นน้ำที่เริ่มเน่าเสีย  ชาวบ้านที่เคยหาปลาไว้ทำอาหารกินแต่ละวัน จำต้องออกไปหาปลาจากแหล่งอื่น

เมื่อการทำนากุ้งไม่ได้ผลเหมือนในช่วงแรก ก็มีการเลิกกิจการปล่อยให้พื้นที่แถบนี้กลายเป็นนากุ้งร้าง

ปี พ.ศ.2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ไปยังวนอุทยานปราณบุรี เวลานั้น สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินาถฯ  ท่านทรงรับสั่งว่า "ป่าฉันหายไปไหน" ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวบ้านอย่างหาที่สุดมิได้  เพราะหน่วยงานราชการได้น้อมรับพระกระแสรับสั่ง โดยทำการเวนคืนพื้นที่สัมปทานนากุ้ง 

หลังจากนั้นจึงหันมาร่วมมือกันพลิกผืนดินอันแห้งแล้งให้กลับมาเป็นป่าอีกครั้งตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50โดยบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)เป็นหนึ่งในองค์กรที่เข้าร่วมปลูกและฟื้นฟูรับผิดชอบพื้นที่จำนวน 1 ล้านไร่ซึ่งพื้นที่แปลงปลูกป่า FPT 29 และ FPT 29/3 ป่าชายเลนปราณบุรี ที่มีความเสื่อมโทรมและมีสภาพเป็นนากุ้งร้าง เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูป่าตามโครงการฯ นี้ด้วย

น้าเตี้ยและชาวบ้านคลองเก่า ตำบลปากน้ำปราณ จึงได้เข้าร่วมในโครงการฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกจากการร่วมใจปลูกป่าแล้ว จุดเปลี่ยนในชีวิตของน้าเตี้ยเกิดขึ้นในวันที่พานักท่องเที่ยวสามีภรรยาชาวต่างขาติและมัคคุเทศก์ นั่งเรือชมต้นโกงกางโบราณอายุกว่า 100 ปี ระหว่างนั้นนักท่องเที่ยวหันมาถามว่า พามาดูธรรมชาติหรือขยะ พร้อมชี้ไปที่กองขยะที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ซึ่งลมพัดพามากองรวมกันอยู่กลางป่าชายเลน  น้าเตี้ยรู้สึกอายและคิดขึ้นมาในทันทีว่าทำงานมีรายได้จากอาชีพนี้จะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไม่ได้แล้ว ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ที่จะแก้ไขให้ผืนป่าและท้องทะเลให้กลับมาสะอาดเช่นเดิมเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมธรรมชาติปราศจากขยะ 

       ตั้งแต่วันนั้นเขาเริ่มลงมือเก็บขยะจากป่าโกงกาง ทะเลแม่น้ำลำคลองซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย   เพราะต้องลุยโคลนขี้เลนที่สูงมิดตัวเข้าไปเก็บขยะ บางครั้งเหยียบโดนเปลือกหอยนางรม เศษแก้ว จึงต้องระวังไม่ให้บาดเท้า  น้าเตี้ยยอมรับว่าเหนื่อยกว่าเก็บขยะบนบกมากๆ ต้องมีความตั้งใจจริง ตอนแรกๆ ที่เก็บขยะ เวลากลับถึงบ้านแต่ละที ลูกเมียเหม็นไปทั้งบ้าน เพราะเนื้อตัวเต็มไปด้วยกลิ่นขยะ แต่ต่อมาทุกคนเข้าใจและมาช่วยกันทั้งครอบครัว 

            มีครั้งหนึ่งขณะพายเรือเก็บขยะใต้สะพานปลา มีคนงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มารับจ้างทำงานในเรือ โยนกล่องข้าวที่กินเสร็จทิ้งลงน้ำ เศษข้าวปลิวเต็มหน้าของน้าเตี้ย ครั้นพูดกัน เจ้าของแพปลากลับพูดว่า “คนไทยยิ่งกว่านี้อีก  ใครๆ ก็ทิ้งกันแบบนี้ทั้งนั้น” คำพูดที่ได้ยินไม่ได้ทำให้น้าเตี้ยย่อท้อแต่กลับคิดว่าไม่เป็นไร เรามีจิตใจที่อาสามาเก็บขยะ เพราะฉะนั้นเราต้องทำต่อไป จนถึงวันนี้ 18 ปีแล้วทุกครั้งเมื่อเห็นว่าเริ่มมีขยะก็จะรวมกลุ่มช่วยกันเก็บ ปัจจุบันเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านคลองเก่ามีสมาชิก ผู้ใหญ่50-60 คน เด็ก 30 คน โดยทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ

​  ผลงานของเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านคลองเก่าทำให้วันนี้ ไม่มีภาพขยะล้นจนเหยียบลงไปไม่มิดหลงเหลือให้เห็นอีก ปากน้ำปราณกลับคืนสู่ธรรมชาติ แม้จะเป็นที่แหล่งขนถ่ายสินค้าเป็นศูนย์กลางค้าขาย หรือมีบางกลุ่มที่ยังไม่รู้จักทิ้งขยะให้เป็นที่ แต่จากการทำงานจิตอาสาต่อเนื่องทำให้ขยะน้อยลงจนเกือบไม่มีแล้ว        

​ นอกจากอาสาเก็บขยะ น้าเตี้ยยังมีเรือนเพราะชำต้นกล้าพันธุ์ไม้สำหรับป่าชายเลนไว้ขยายพันธุ์ให้ชุมชนด้วย รวมทั้งเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชนและผู้สนใจในหลักสูตรห้องเรียนนอกสถานที่มากว่า 2 ปีแล้ว โดยปลูกจิตสำนึกรักษาความสะอาดของแหล่งธรรมชาติป่าชายเลนและท้องทะเล เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดจากความสำนึกลงมือทำเมื่อเราไม่ทิ้งขยะในที่ห้ามทิ้ง บ้านเมืองจะสะอาด 

​  " ชาวปากน้ำปราณโชคดีมากที่มีป่าล้อมรอบ เป็นปอดให้เราหายใจ ฟากหนึ่งเป็นวนอุทยานปราณบุรี อีกฟากหนึ่งเป็นป่าของศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี มีต้นโกงกางประวัติศาสตร์ที่ในหลวงรัชกาลที่9 และสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูก  พวกเรามีพระมหากษัตริย์ที่มีสายพระเนตรยาวไกลและห่วงใยราษฎร รับสั่งให้ราษฎรได้รับประโยชน์จากป่า ซึ่งปรากฏผลเห็นชัดเจนในเวลานี้ที่พวกเรามีป่าอันอุดมสมบูรณ์ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา เพราะพระบารมีของทุกพระองค์ เกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจชาวบ้านมีรายได้พอเลี้ยงชีพจากการทำกินในผืนป่าและการท่องเที่ยวที่มีผู้มาเยือนปีละกว่าแสนคน เกิดยุวมัคคุเทศก์ซึ่งมีรายได้จากการนำเที่ยวช่วยบางเบาภาระผู้ปกครอง" น้าเตี้ยกล่าว 

"เวลาผมรู้สึกเหน็ดเหนื่อย แต่เมื่อนึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมติดตามพระองค์ท่านมาตลอด ในหลวงท่านไม่เคยหยุดพักผ่อนเลย ผมจะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ไม่ได้เสี้ยวหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงงานเพื่อคนไทย

ผมปวารณาตัวต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านว่า ผมจะทำต่อไปจนถึงวันที่ผมทำไม่ไหว ใครไม่ลองทำจะไม่รู้ สำหรับผมแม้จะเหนื่อยมากแค่ไหน เมื่อนึกถึงพระองค์ท่านผมปลาบปลื้มมีแรงจะทำกันต่อไป ทุกครั้งที่เก็บขยะแล้วหันกลับไปมองเห็นความสะอาดแล้ว รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการตอบแทนคุณแผ่นดินเกิดที่อาศัย”

ทุกวันนี้น้าเตี้ยก็ยังคงทำงานของตัวเองต่อไป

18 ปีทีเดียวกับจิตสำนึกที่งดงาม ที่อาสาเก็บกวาดบ้านเกิดของตัวเองให้สะอาด

งานที่คนมองว่าไร้ค่า แต่ทว่ายิ่งใหญ่มากนัก


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"