ป.ป.ช.ฟันแก๊ง “นวพล บุญญามณี” อดีตนายกฯ อบจ.ปมซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล้านฮั้วราคา อึ้ง! ปี 2558 เพิ่งถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 18 ปี 20 เดือนกรณีทุจริต “องค์กรต่อต้านโกง” พอใจผลสอบธีออส 2 แต่ยังส่ง 2 ประเด็นติดใจให้ ค.ป.ท.สอบต่อ
เมื่อวันศุกร์ นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานายนวพล บุญญามณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา น้องชายนายนิพนธ์ บุญญามณี นายกฯ อบจ.สงขลา กับพวก กรณีสมยอมกันในการเสนอราคาตามโครงการจัดซื้อพันธุ์สัตว์น้ำ (กุ้งก้ามกราม) จำนวน 40 ล้านตัว งบประมาณ 10,000,000 บาท โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคาบางรายให้มีสิทธิทำสัญญา
โดย ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์ว่า 1.นายนวพล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 12 และมีมูลเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม พ.ร.บ.อบจ.2540 มาตรา 79 2.นายสามารถ บุญทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักบริหารงานนโยบายและแผน 7 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต อบจ.สงขลา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (2) (4) และตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 12 และผิดวินัยอย่างร้ายแรง 3.นายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง ผู้ประกอบการจำหน่ายพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งเป็นคู่เทียบ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 รวมทั้งความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วมาตรา 4 และตามมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 4.นายเฉลิมภูมิ สุวรรณกระจ่าง ผู้ประกอบการจำหน่ายพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งเป็นคู่สัญญา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ถึงแก่ความตายแล้ว จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ และ 5.นายสุเรน พันธภาค ผู้ประกอบการจำหน่ายพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งเป็นคู่เทียบ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่ารู้เห็นหรือร่วมกระทำความผิดตามที่กล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป
“ป.ป.ช.สงขลาได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เอกสารหลักฐานและคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนายนวพล, นายสามารถ และนายธรณิศ พร้อมทั้งส่งรายงาน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับนายสามารถ โดยในกรณีของนายนวพล ยังให้แจ้งผล ป.ป.ช.ดังกล่าว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย”
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 6 ก.ค.2558 ศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกากรณีนายนวพล อดีตนายก อบจ.สงขลา ถูกฟ้องฐานทุจริตต่อหน้าที่ ขณะเป็นรองนายก อบจ.สงขลา โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสงขลาให้จำคุกนายนวพลเป็นเวลา 18 ปี 20 เดือน
วันเดียวกัน นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงผลการพิจารณากระบวนการจัดหาโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (ธีออส 2) ของคณะกรรมการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งขึ้นว่า พอใจผลตรวจสอบ ส่วนอีก 2 ประเด็นที่ยังไม่ข้อสรุปที่ชัดเจน ทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของ Andy Witt นั้น องค์กรจะส่งให้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) พิจารณาและดำเนินการโดยตรงต่อไป รวมถึงพิจารณาว่าจะจัดส่งคณะผู้สังเกตการณ์กลับเข้ามาทำหน้าที่ต่อไปอีกหรือไม่ เนื่องจากโครงการยังอยู่ในข้อตกลงคุณธรรม แต่ขาดผู้สังเกตการณ์ เนื่องจากได้ลาออกไป
“ประเด็นที่ยังไม่มีข้อสรุป ไม่มีหลักฐานปรากฏเด่นชัด ก็ขึ้นอยู่กับ ค.ป.ท.ว่าจะดำเนินการอะไร อย่างไร ถ้ายังคิดว่ามีประเด็นอยู่ ก็อาจตั้งคณะกรรมการไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนจะไปถึง ป.ป.ช.หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับ ค.ป.ท.เช่นกัน ซึ่งองค์กรก็ถือได้ว่าทำหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว”นายวิชัยกล่าว
ดร.ธีรพล กาญจนากาศ หนึ่งในคณะผู้สังเกตการณ์ กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มก่อนจะมี พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ดังนั้นจึงมีความคลาดเคลื่อนและอาจไม่เข้าใจกันบ้างระหว่างผู้สังเกตการณ์กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ซึ่งไม่ใช่ถึงขั้นร้ายแรง และยังไม่ปรากฏอะไรที่ชี้ชัดไปในทางทุจริต ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ส่วนที่ยังมีบางประเด็นยังคลุมเครือ ก็ไม่ใช่ปัญหารุนแรงถึงขั้นต้องยุติโครงการ
“อย่างผมเรียนแต่ต้นว่า ยังไม่เห็นอะไรที่ทุจริต ยังไม่มีอะไรชี้ชัด เพราะฉะนั้นก็เหลืออย่างเดียวว่า ประพฤติมิชอบหรือไม่ ประพฤติมิชอบคือปฏิบัติตามกฎระเบียบครบถ้วนหรือไม่ หากว่าครบถ้วนก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าไม่ครบถ้วน มัวซัวไปบางจุด เข้าใจว่าจะมีมาตรา 89 ของ ป.ป.ช. ก็คงจะส่งที่หน่วยงานต้นสังกัดนั้นพิจารณา คือกลับไปที่จิสด้า พิจารณาว่าจะตั้งกรรมการสอบวินัยหรือไม่ ซึ่งมีตัวอย่างหลายคดีมาแล้ว” ดร.ธีรพลกล่าว
สำหรับผลสอบกระบวนการจัดหาโครงการธีออส 2 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งขึ้น มี ศ.พิเศษ หิรัญ รดีศรี เป็นประธาน สรุปว่ายังไม่พบประเด็นการทุจริต ส่วนประเด็นการประเมินและให้คะแนนทางเทคนิค ยังอยู่ในกรอบของข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ที่วางไว้ใน ITB ส่วนประเด็นวงโคจรของดาวเทียมขนาดเล็กนั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของดาวเทียมขนาดเล็กที่ผิดไปจากข้อกำหนด
ส่วนประเด็นขั้นตอนการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดหาฯ พบว่าทุกขั้นตอนได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารจิสด้า ถือว่าเป็นไปตามกฎหมาย และก่อนการตรวจสอบมีการลงนามในสัญญาแล้ว คณะกรรมการฯ จึงไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับความถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติตามระเบียบ เนื่องจากได้ผ่านพ้นขั้นตอนที่อาจพิจารณาได้ ขณะที่ประเด็นผลประโยชน์ร่วมกันของ Mr. Andy Witt กับ Surrey Satellite Technology (UK) นั้น คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าไม่สามารถระบุความสัมพันธ์กันได้และยังไม่มีหลักฐานปรากฏ เนื่องจากเวลาตรวจสอบน้อยไป และบริษัท Surrey มีหนังสือยืนยันว่าไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมายโดยตรงไปดำเนินการต่อตามที่เห็นสมควรในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |