คุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยวิเคราะห์ “ความเสี่ยง 4 ประการ” ของประเทศไทยตามที่มานำมาเล่าในคอลัมน์สองวันที่ผ่านมาแล้ว ก็ตั้งคำถามว่าเราจะเผชิญกับความเสี่ยงเหล่านี้ได้อย่างไร
คำตอบสั้น ๆ คือ : สร้างภูมิคุ้มกันและเสริมความสามารถ
ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของความเสี่ยงนี้ และมีความพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงนี้หรือไม่
คุณวิรไทชี้ให้เห็นว่า ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยความไม่สมดุล การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวในระดับดี ความต้องการในประเทศยังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยต่ำสุดที่เคยมี ทำให้เศรษฐกิจเป็นแบบเศรษฐกิจ 2 ความเร็ว (two-speed economy) อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ลดลงแล้วใน 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจมีสัญญาณเติบโตแบบสมดุลมากขึ้น เราเริ่มเห็นการเติบโตที่การส่งออกเริ่มส่งผลกระจายไปสู่ภาคอื่นของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน
ธปท.ประมาณการว่า การบริโภคภาคเอกชนจะยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง เพราะปัจจัยหลัก เช่น การจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยังคงส่งสัญญาณการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวด้วยแรงหนุนจากโครงการการลงทุนภาครัฐ ควบคู่กับความเชื่อมั่นโดยรวมที่เพิ่มขึ้น
แบงก์ชาติพยากรณ์ล่าสุดบอกว่า เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 4.4% ในปีนี้ และเติบโต 4.2% ในปี 2019 ซึ่งเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่งสองปีติดต่อกันนับจากปี 2008
แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเงินที่มีหลากหลายมิติผูกติดกับความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างประเทศ ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะป้องกันตัวเองจากปัจจัยภายนอกที่มากระทบ (external shock)
ในความเห็นของผู้ว่าการแบงก์ชาตินั้น สิ่งที่ประเทศจะทำได้ดีที่สุดในการป้องกันตัวเอง คือ
สร้างภูมิคุ้มกันและความยืดหยุ่นกับความสามารถที่จะฟื้นตัวให้กับเศรษฐกิจ
“แม้เราจะมีกันชนรองรับความผันผวนจากภายนอกที่จะต้านความผันผวนระยะสั้นในตลาดโลก แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพเศรษฐกิจและความสามารถของการฟื้นในระยะยาวคือ โครงสร้างพื้นฐานที่จะเสริมประสิทธิภาพการผลิตรวมทั้งระบบนิเวศที่เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอีกหลายปีข้างหน้า” คุณวิรไทยืนยัน
พร้อมกับเสริมว่า “ผมมีความยินดีที่จะบอกว่า เรากำลังอยู่บนเส้นทางการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แต่โดยที่เวลามีจำกัด จึงค่อนข้างยากที่จะตัดสินโครงการทั้งหมดที่ได้ริเริ่มไป แต่ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและดิจิทัลที่ค้างไว้นานมาก”
คำเตือนของคุณวิรไทที่ชัดเจนมากก็คือ ประเทศไทยจะคิดแบบสบายๆ ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
“ภายใต้ภูมิทัศน์โลกที่มีความท้าทายนี้ ความใจเย็นนั้นมีราคาแพงและอาจจะเป็นอันตรายได้ เรา ทั้งธนาคารกลาง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และทุกคนในห้องนี้ จะต้องมีความระมัดระวัง เราต้องรักษากันชนและสร้างภูมิคุ้มกัน แม้จะมีความท้าทายอยู่เบื้องหน้า เราต้องมองไปที่เป้าหมายระยะยาวของเรา” คุณวิรไทบอกระหว่างการกล่าวคำปราศรัยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ในหัวข้อ “Global Risks and Thailand’s Economic Outlook”
และจบด้วยประโยคที่น่าสนใจมากว่า
“ผมขอจบการปาฐกถาด้วยการขอเล่าถึงสิ่งที่ผมชอบทำเมื่อมีเวลา นั่นคือ การออกเดินด้วยเท้าในระยะทางไกลหรือ hiking ซึ่งคนที่ออกเดินทางด้วยเท้าหรือ hiker มี 2 แบบ แบบแรกจะชื่นชมกับวิวข้างทาง ชมนก ชมต้นไม้ และทิวทัศน์ภูเขา ส่วนแบบที่สอง จะให้มองเฉพาะเส้นทางข้างหน้า ซึ่ง hiker แบบแรกนี้เลี่ยงไม่ได้ที่จะสะดุดก้อนหินบ้าง กิ่งไม้ตกใส่บ้าง ขณะที่ hiker แบบหลังเมื่อเงยหน้าขึ้นก็จะพบว่าตัวเองหลงทางเสียแล้ว
“ดังนั้น เราไม่สามารถเดินทางไปยังเป้าหมายด้วยการเพียงมองขึ้นข้างบนหรือมองลงล่าง เราต้องใส่ใจกับความเสี่ยงระยะสั้น ขณะที่เราเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายระยะยาว”
เราคงเป็นนักเดินแบบทอดน่อง, ไร้ทิศทางไม่ได้อีกต่อไป!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |