ประชาชนปฏิรูปตำรวจเรียกร้อง'บิ๊กตู่'สั่งสอบสวนฆาตกรรมอำพราง 20 ศพในจังหวัดกาฬสินธุ์


เพิ่มเพื่อน    

12 ต.ค.61 - เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) รวมกับสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) แถลงการณ์ เรื่อง  ขอให้พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเร่งปฏิรูปงานสอบสวนให้พนักงานอัยการ และฝ่ายปกครองร่วมตรวจที่เกิดเหตุสอบสวนคดีสำคัญ และผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในจังหวัด"

แถลงการณ์ สืบเนื่องมาจากกรณีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม  ๒๕๖๑  ยกฟ้องกลุ่มตำรวจฝ่ายสืบสวนจังหวัดกาฬสินธุ์ ๖ คนที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษจับกุมกรณีร่วมกันฆ่าแขวนคออำพรางศพนายเกียรติศักดิ์  ถิตย์บุญครอง  เมื่อปี ๒๕๔๗ และอัยการได้สั่งฟ้องนำสืบพยานจนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาประหารชีวิตและจำคุกจำเลยแต่ละคนตามพฤติการณ์กระทำผิดนั้น

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจและองค์กรสิทธิมนุษยชนเห็นว่า คำพิพากษายกฟ้องที่สร้างความสะเทือนใจให้กับญาติพี่น้องของนายเกียรติศักดิ์ฯ และประชาชนผู้รักความยุติธรรมทั่วประเทศดังกล่าว ได้สะท้อนถึงจุดอ่อนของระบบตำรวจและกระบวนการยุติธรรมอาญาไทยที่ต้องได้รับการปฏิรูปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนตามที่มีเสียงเรียกร้องตลอดมาอย่างเร่งด่วน

เนื่องจาก การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง ๖ คนนั้น  เป็นการยืนยันว่า คดีมีพยานหลักฐานชัดเจนว่าตำรวจกลุ่มดังกล่าวได้ร่วมกันฆ่าและอำพรางศพนายเกียรติศักดิ์ฯ จริงอย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น

แต่การที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลว่า  “คดีมีพยานเพียงปากเดียวและไม่น่าเชื่อถือ”  มีเหตุอันควรสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทุกคนนั้น แม้จะเป็นการให้เหตุผลตามหลักกระบวนการยุติธรรมสากลในเรื่องที่จำเลยจะไม่ถูกลงโทษโดยปราศจากข้อสงสัยว่าเป็นผู้กระทำผิด แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษโดยยึดมาตรฐานการพิจารณาเช่นเดียวกับศาลฎีกา  ย่อมหมายความว่า ทั้งสองศาลแน่ใจว่าจำเลยทั้ง ๖ คนกระทำความผิด  หากแต่ศาลฎีกามีความเห็นแตกต่างว่ายังไม่มีความชัดเจนเพียงพอโดยปราศจากข้อสงสัย
 
แม้คำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถือว่าถึงที่สุดแล้วจะทำให้จำเลยซึ่งเป็นตำรวจทั้ง ๖  ไม่ต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์  และกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ไปทันที  สามารถรับราชการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษากฎหมายได้ตามปกติ     แต่รัฐบาลก็ต้องมีคำตอบต่อผู้เสียหายและครอบครัวรวมทั้งประชาชนว่า  “ใครเป็นคนฆ่านายเกียรติศักดิ์ฯ และนำไปแขวนคออำพรางศพ  และจะมีกระบวนการใดในการสืบสวนสอบสวนนำตัวกลุ่มคนร้ายผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไปอย่างไร"  

รวมทั้งเร่งสอบสวนคดีฆาตกรรมอำพรางกว่า ๒๐ ศพในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งบางศพเป็นการฆ่าแขวนคอลักษณะเดียวและช่วงเวลาเดียวกันอีก ๒ - ๓ ศพ  รวมทั้งคดีฆาตกรรมอำพราง ๒,๕๐๐ ศพ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงเวลาการปราบยาเสพติดปี ๒๕๔๗ และยังอยู่ในอายุความด้วย ปัญหาการฆาตกรรมอำพรางดังกล่าว  ยังได้สะท้อนถึงปัญหาตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไทยที่มีจุดอ่อนสร้างความเดือดร้อนร้ายแรงต่อประชาชนอย่างยิ่ง   เนื่องจากรัฐไม่สามารถควบคุมตำรวจจำนวนมากมิให้กลายเป็นผู้ร้ายก่ออาชญากรรมเสียเองตามที่ปรากฏเป็นข่าวมากมายได้   

นอกจากนี้เมื่อเกิดการกระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นการประทุษร้ายต่อชีวิตและสิทธิเสรีภาพของประชาชน   ก็เป็นเรื่องยากที่ผู้เสียหายหรือแม้แต่รัฐจะสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานนำไปพิสูจน์ให้ศาลลงโทษอย่างปราศจากข้อสงสัยได้  เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุ ก็ไม่มีหน่วยราชการอื่นแม้แต่อัยการผู้มีหน้าที่ฟ้องคดีสามารถเข้าไปตรวจสอบรวมรวมพยานหลักฐานได้  แม้แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็มีอำนาจสอบสวนหลังจากเกิดเหตุนานหลายปี
 
จุดอ่อนในระบบงานสอบสวนที่ถูกผูกขาดและขาดการตรวจสอบจากภายนอกดังกล่าว ทำให้คนไทยต้องอยู่กันอย่างหวาดผวาจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของตำรวจ  ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม ควบคุมตัว และการสอบสวนที่ถูกบิดเบือนทำลายพยานหลักฐานได้ ผู้คนไม่มีความเชื่อมั่นว่า  กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะสามารถเป็นหลักประกันคุ้มครองความปลอดภัยในสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง
  
จึงขอเรียกร้องให้พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  และนายกรัฐมนตรีเร่งแก้ปัญหาตำรวจและกระบวนการยุติธรรมอย่างเร่งด่วนดังนี้

๑. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับการสอบสวน
๑.๑ ให้พนักงานอัยการ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีสำคัญหรือเมื่อได้รับการร้องเรียน  โดยพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รายงานให้พนักงานอัยการและนายอำเภอทราบทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ
๑.๒  การแจ้งข้อหาหรือเสนอศาลออกหมายจับต้องให้พนักงานอัยการตรวจพยานหลักฐานและให้ความเห็นชอบ  โดยมั่นใจว่า เมื่อแจ้งข้อหาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์ให้ศาลพิพากษาลงโทษได้เท่านั้น 
๑.๓  กรณีที่มีปัญหาตำรวจไม่รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ  ให้ผู้เสียหายหรือผู้กล่าวโทษสามารถแจ้งให้พนักงานอัยการดำเนินการสอบสวนได้

๒. แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และระเบียบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด  มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย รักษากฎหมายและปกครองตำรวจในจังหวัด  มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายหัวหน้าสถานีและสั่งเลื่อนเงินเดือนตำรวจในจังหวัดเมื่อได้รับความเห็นของ กต.ตร.จังหวัด โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการกิจการตำรวจจังหวัด” แทน

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายกรัฐมนตรีจะให้ความใส่ใจในการแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมอันสำคัญ ปฏิรูปตำรวจ และการสอบสวนนี้อย่างจริงจัง  ด้วยสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและหลักสากล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"