สบน. เต้นแจงหนี้ประเทศพุ่งแตะ 6.67 ล้านล้านบาท ไม่น่ากังวล ยันไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ระบุเป็นหนี้ดีจากการกู้เพื่อลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ช่วยกันเศรษฐกิจขยายตัว มองปีหน้าการเคลื่อนย้ายเงินทุนยังป่วนหนัก ชี้ยังไม่ใช่จังหวะไทยขยับขึ้นดอกเบี้ย
นายธีรัชย์ อัตนวานิช โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงกรณีที่ยอดหนี้สาธารณะของไทยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือน ส.ค.2561 อยู่ที่ 6.67 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.32% ต่อจีดีพีว่า ยืนยันว่าหนี้สาธารณะที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ไม่ได้มีความน่าเป็นห่วงต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากการเป็นหนี้ของรัฐเพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัว เห็นได้จากยอดจีดีพีที่ผ่านมามีการเติบโตขึ้นสอดคล้องกับจำนวนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น
“การบริหารหนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง คือ ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ซึ่งหนี้สาธารณะในระดับนี้ยังถือว่าค่อนข้างต่ำ และที่สำคัญไม่ควรมองว่าจำนวนหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่สิ่งที่ สบน.ให้ความสำคัญมากกว่านั้น คือการก่อหนี้ที่มีคุณภาพของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ” นายธีรัชย์ กล่าว
นายธีรัชย์ กล่าวอีกว่า การก่อหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจจะให้ความสำคัญกับคุณภาพหนี้และการใช้จ่าย การก่อหนี้ที่ดีคือต้องทำให้เกิดรายได้ในอนาคต และสร้างศักยภาพของประเทศ คน และองค์กรในระยะยาว ซึ่งการก่อหนี้ในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลใช้นั้น ถือว่าเป็นการก่อหนี้ที่มีคุณภาพ ซึ่งในอนาคตจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในอดีตตั้งแต่ไทยประสบกับวิกฤติทางการเงิน จะพบว่ารายจ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐมีตัวเลขที่ต่ำ ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้นโยบายการลงทุนของรัฐบาลประสบปัญหาไม่ต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนในระดับที่ต่ำมากต่อเนื่องหลายปี ย่อมส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับการเคลื่อนย้ายเงินทุนในปี 2562 มีแนวโน้มที่จะมีความผันผวนมากกว่าในปีนี้ เนื่องจากธนาคารกลางของหลายประเทศทยอยกลับเข้าสู่การใช้นโยบายการเงินในระดับปกติ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยปรับเข้าสู่ขาขึ้น ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ไทยนั้นสวนทางกับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังมีความเข้มแข็ง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น ทั้งยังมีเงินทุนไหลเข้าไทยทั้งในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ ซึ่งทำให้ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อรองรับกับความผันผวนของเงินทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ดี มองว่าในขณะนี้อาจยังไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในบางอุสาหกรรมยังเป็นการฟื้นตัวที่เปราะบาง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยนโยบายทางการเงินเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศในระยะหนึ่งไปก่อน
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาดโลกนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ สบน.จะติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อสภาพคล่องของประเทศที่อาจจะลดลงบ้าง ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ได้มอบนโยบายให้ สบน.ไปศึกษาเรื่องแหล่งเงินกู้ โดยเฉพาะการกู้เงินที่จะนำมาใช้ในโครงการลงทุนระยะยาวว่าสามารถใช้เงินกู้จากต่างประเทศที่มีต้นทุนที่ดีได้อย่างไรบ้าง
ขณะที่การออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยจะเน้นการออกพันธบัตรในระยะกลางมากขึ้น เพราะจากที่นักลงทุนประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่เป็นขาขึ้นนั้น จึงทำให้ในปีนี้มีการชะลอการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวลง ดังนั้นในปีหน้า สบน.จะเน้นการออกพันธบัตรอายุ 5 ปี, 10 ปี, 15 ปี, 20 ปี และ 30 ปีเป็นหลัก ส่วนอายุ 50 ปี อาจจะมีบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |