บี้กกต.รับบริจาคได้ จ่าย200ซื้อสมาชิก


เพิ่มเพื่อน    

    "วิษณุ" แจง กกต.ขอเพิ่ม 600 ล้านใช้เลือกตั้ง ส.ส. "จรุงวิทย์" ระบุกระบวนการรูปแบบใหม่ต้องใช้งบเยอะ ยันไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองรับเงินบริจาคหรือระดมทุน เพียงแต่ต้องขออนุญาต เหตุไม่อยู่ใน 6 ข้อคลายล็อก คสช.เตรียมส่งหนังสือเวียนแจ้งทุกพรรคทราบ "อนาคตใหม่" จี้ กกต.มีมติขยายตีความการรับบริจาคเพิ่มเติม อ้าง ปชช.จะได้มีส่วนร่วม "พท." ปูดพบบางพรรคเก็บบัตรประชาชนชาวบ้าน จ่ายหัวละ 200 บาท "มิ่งขวัญ" ปัดเข้า "พปชร." รับหลายพรรครุมจีบ รอเวลาพร้อมเปิดตัว
    เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของบประมาณเพิ่มจำนวน 600 ล้านบาทเพื่อจัดการเลือกตั้งว่า งบที่ กกต.ขอเพิ่มนั้นใช้สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ใช่ ส.ว. แต่งบเดิมจำนวนเท่าไรตนจำไม่ได้ เพราะเวลานั้นตั้งงบไว้ขณะยังไม่เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง จึงตั้งเท่าที่จำเป็นไปก่อน ขณะนี้ กกต.ปรารภให้ฟังว่าจำเป็นต้องของบประมาณเพิ่มสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนการคัดเลือก ส.ว.ไม่ต้องใช้เพิ่มแล้ว 
    "จากข่าวที่ออกมาโฆษกรัฐบาลคงฟังแล้วเข้าใจว่าอย่างนั้น ซึ่งผมได้ชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่าจากการหารือร่วมกับ กกต. เกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือก ส.ว. ได้สอบถามว่า กกต.มีปัญหาอะไรหรือไม่ ซึ่ง กกต.ชี้แจงว่ามีปัญหาเรื่องงบประมาณ จึงบอกให้ขอเข้ามา" นายวิษณุกล่าว
    รองนายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ได้สอบถามเกี่ยวกับผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ซึ่ง กกต.ชี้แจงว่าคงประกาศชื่อได้ภายใน 1-2 วันนี้ แต่อาจไม่ครบทุกจังหวัด รวมถึงกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.และผู้เข้ารับคัดเลือก ส.ว. จำเป็นต้องแสดงหลักฐานการชำระภาษีที่เป็นทางการย้อนหลัง 3 ปีด้วย ซึ่งคนที่จะเข้ามาสมัครอาจไม่เคยรู้มาก่อน จึงเป็นปัญหาของทุกพรรคที่ต้องไปขอย้อนหลัง และกรมสรรพากรก็เตรียมการไม่ทัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังจึงรับไปประสานให้ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีก็กำชับว่าเอกสารเหล่านี้มีอยู่ในระบบราชการจึงสมควรอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
    ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ชี้แจงการของบเลือกตั้ง ส.ส.เพิ่ม 600 ล้านบาทว่า งบประมาณ  600 ล้านบาทที่ ครม.เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ กกต.ได้รับอนุมัติงบ ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.มากว่า 4,000 ล้าน แต่ด้วยกระบวนการจัดการเลือกตั้งเป็นรูปแบบใหม่ มีค่าใช้จ่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทนให้ผู้แจ้งเบาะแส  สินบนรางวัลนำจับ การกำหนดให้ กกต.เป็นผู้จัดหาสถานที่สำหรับปิดป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ทำให้งบที่ได้รับยังไม่เพียงพอ จึงได้มีการขออนุมัติเพิ่ม  
    "จากนี้ทางสำนักงานก็จะมาจัดทำแผนการใช้จ่าย และจะเสนอไปให้ ครม.พิจารณาในเร็วๆ นี้ เพราะจำเป็นต้องนำเงินมาดำเนินการ เบื้องต้นเราได้พยายามที่จะปรับลดลงบมาแล้ว โดยก่อนหน้านี้มีขออนุมัติที่กว่า 5,000 ล้าน และบีบลงมาเหลือ 4,000 ล้าน ในส่วนของงบการเลือก ส.ว.เพียงพอแล้ว จึงไม่มีการขอเพิ่ม" พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว
รับบริจาคต้องขออนุญาต
    ถามถึงการรับเงินบริจาคของพรรคการเมือง พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ คสช.ที่ 57/2557 เรื่องให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป ซึ่งมีการห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง แม้จะมีการคลายล็อกตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 แต่ประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ก็ยังมีผลอยู่ ดังนั้นการดำเนินการอย่างอื่นที่นอกเหนือจากการคลายล็อก 6 ข้อ จะต้องมีการขออนุญาตจาก คสช. 
    "การรับเงินบริจาคหรือระดมทุนก็ต้องขออนุญาตในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ได้ห้าม เพียงแค่ต้องขออนุญาต หลังจากนี้ กกต.จะมีการออกหนังสือเวียนแจ้งให้พรรคการเมืองต่างๆ ทราบอีกครั้งว่า หากพรรคจะดำเนินกิจการทางการเมืองนอกเหนือจากการคลายล็อกทั้ง 6ข้อ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 จะต้องขออนุญาต คสช.ก่อน จึงขอให้ทุกพรรคอดทน เพราะเท่าที่ทราบทาง คสช.กำลังพิจารณาเรื่องของการปลดล็อกอยู่" พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว 
    ซักว่าพรรคอนาคตใหม่มองว่า กกต.เป็นเครื่องมือของ คสช.ในการยุบพรรค เลขาฯ กกต.กล่าวว่า เราเป็นเครื่องมือของกฎหมาย หากกฎหมายให้ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ก็ไม่อยากให้พรรคการเมืองทำอะไรที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว อยากให้เหลืออยู่ทุกพรรคจนถึงการเลือกตั้ง 
    "เราคงไม่ออกคำสั่งห้ามรับบริจาคหรือระดมทุนอย่างเป็นทางการ ตามที่พรรคอนาคตใหม่ท้า เพราะกกต.จะมีหนังสือเวียนชี้แจงพรรคการเมืองอยู่แล้ว หากหลังจากนี้ทางพรรคอนาคตก็สามารถสอบถามมาที่ กกต.ได้ ซึ่ง กกต.ก็จะมีหนังสือตอบให้" เลขาฯ กกต.กล่าว
    ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า คำสั่งที่ กกต.อ้าง ในการไม่ให้พรรคอนาคตใหม่รับบริจาคเงินจากประชาชน คือคำสั่งคสช.ที่ 57/2557 ซึ่งห้ามพรรคการเมืองที่มีอยู่ในเวลานั้นทำกิจกรรมทางการเมือง หลังจากนั้น กกต.มีมติออกมาเองว่าการรับบริจาคถือเป็นกิจกรรมทางการเมือง แต่ กกต.มีมติว่าให้รับบริจาคได้ โดยรับเงินได้จากกรรมการบริหารพรรคและกรรมการสาขาเท่านั้น
    "นี่แสดงให้เห็นว่า กกต. แม้จะอ้างอิงคำสั่ง คสช. แต่ก็มีอำนาจในการตีความคำสั่งให้เป็นคุณหรือเป็นโทษกับพรรคการเมืองได้ เพราะฉะนั้นพรรคอนาคตใหม่จึงเรียกร้องให้ กกต.มีมติขยายการตีความการรับบริจาคให้มากกว่าเพียงกรรมการบริหาร เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการบริจาคเงินได้ จะถือเป็นคุณูปการต่อทุกฝ่าย และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้" เลขาฯพรรคอนาคตใหม่กล่าว
    ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวถึงการพรรค รปช.ขอให้สมาชิกจ่ายค่าบำรุงพรรควันละ 1 บาท 1 ปี 365 บาท ซึ่งถูกไปเทียบเคียงกับการรับบริจาคของพรรคอนาคตใหม่ว่า เป็นคนละเรื่องกับการขอรับบริจาคของพรรคอนาคตใหม่ เพราะ รปช.ไม่ได้รับบริจาคเงินจากใครเลย เงินที่มีในบัญชีคือผู้ร่วมก่อตั้งพรรคลงขันคนละ 5 หมื่นบาท มีประมาณ 611 คน และสมาชิกจ่ายค่าบำรุง 365 บาทเท่านั้น เป็นค่าบำรุงพรรคที่ถูกต้องตามกฎหมาย 
ปูดเก็บบัตรจ่ายหัวละ 200
    ที่พรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาพบพฤติกรรมของบางพรรคการเมืองส่งว่าที่ผู้สมัครและเครือข่ายผู้สนับสนุนพรรคไปเก็บบัตรประชาชนของประชาชนในหลายพื้นที่ อ้างว่าเพื่อมาสมัครสมาชิกพรรคการเมือง โดยพบมากในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นที่ จังหวัดนครราชสีมา มีการจ่ายเงินสนับสนุนการหาสมาชิกพรรคดังกล่าวหัวละ 200 บาท โดยประชาชนที่ถูกเก็บบัตรประชาชนมาจะได้หัวละ 100 บาท อีก 100 บาท จะจัดสรรเป็นค่าตอบแทนให้กับเครือข่ายว่าที่ผู้สมัครในพื้นที่ เก็บมาก ได้มาก เก็บน้อย ได้น้อย ไม่แน่ใจว่านี่คือ ผลสัมฤทธิ์และความก้าวหน้าของการปฏิรูปทางการเมืองของรัฐบาลหรือไม่ 
    "ยังมีพฤติกรรมการไปจัดประชุมชาวบ้าน ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น อย่างเอิกเกริก และเปิดเผย โดยไม่สนใจประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด จึงขอตั้งคำถามว่า คำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม มีผลบังคับใช้กับทุกพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ คำสั่งคลายล็อก คลายเท่ากันหรือไม่ คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่ ทำไมถึงถูกมองว่าเลือกปฏิบัติ ทีกับฝ่ายตรงข้าม ขึงขัง เคร่งครัด แต่สั่งให้ลดราวาศอก เอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับพวกพ้องตัวเองหรือไม่" รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว 
    นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์  ประธาน นปช. และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเพื่อชาติ ระบุรัฐธรรมนูญนายมีชัยเขียนไว้ให้รวมกันแพ้ แต่แยกกันชนะ จึงต้องมีหลายพรรคการเมืองเลยต้องดำเนินงานทางการเมืองเหมือนกับกลุ่ม กปปส. ที่จัดตั้งพรรคการเมืองออกมาหลายพรรคว่า ความคิดนายจตุพรกับความคิดตนไม่ตรงกัน แม้คะแนนพรรคหลักคือพรรคเพื่อไทยอาจถูกตัดทอนไปบ้าง อยู่ที่ว่าประชาชนเข้าใจหรือไม่ พรรคเพื่อชาติคงต้องออกแรงมากหน่อย แต่ผมก็ให้กำลังใจ การตั้งพรรคเป็นสิทธิ หากยังยืนฝ่ายประชาธิปไตย ถือว่าเป็นพันธมิตรกันกลายๆ 
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ในฐานะผู้สนับสนุนพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ระบุการตั้งพรรคการเมืองหากไม่ผิดกติกาว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ พล.อ.ประยุทธ์เปิดกว้างทางการเมือง ส่วนที่บอกให้ติดตามว่าสิ่งที่พูดออกมาทำได้หรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป 
    "เมื่อเห็นว่าพรรคเพื่อชาติเปิดกว้างให้ผู้มีจิตใจรักประชาธิปไตยทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม เอาหัวใจประชาธิปไตยมาเป็นตัวตั้ง ก็เป็นหนทางที่ดีที่จะทำให้ประเทศพ้นวิกฤติความขัดแย้งที่มีมานาน ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าใครชนะเลือกตั้ง แต่เมื่อมีความขัดแย้งกันอยู่ ประเทศก็เดินหน้าไม่ได้ เราจึงต้องหาแนวทางเดินหน้าประเทศไปสู่ความสงบ เพราะเราล้มเหลวอยู่ในวังวนความขัดแย้งไม่ได้อีกแล้ว พรรคเพื่อชาติจึงถือเป็นหนึ่งทางเลือกหนึ่งที่จะพาประเทศออกจากวังวนความขัดแย้ง" นายจตุพรกล่าว
    ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายธนา ชีรวินิจ อดีต ส.ส.กทม. กล่าวถึงกรณีอดีตสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) 4 คน ลาออกไปอยู่พรรคอื่นว่า แต่ละคนมีสิทธิ์ตัดสินใจและใช้วิจารณญาณ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวก็อาจกระทบกับพรรคบ้าง แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะพรรคมีผู้สมัครแทนไว้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่กังวลว่าจะถูกดึงฐานเสียงไป เพราะเชื่อว่าประชาชนจะใช้วิจารณญาณว่าควรที่จะมีผู้แทนที่สังกัดพรรคมาดูแล และพรรคประชาธิปัตย์ก็มีศูนย์ประสานงานของพรรคในแต่ละเขต ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อได้ตลอด
    วันเดียวกัน ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย แถลงชี้แจงกรณีมีข่าวเตรียมเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า ขอยืนยันไม่เคยเข้าไปพบกับหัวหน้าพรรคหรือผู้ใหญ่ในพรรค หรือขอไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ และไม่มีการคุยกันในเรื่องอย่างนี้เลย ไม่คิดจะไปอยู่กับพรรคนี้ แต่ในฐานะเป็นคนไทยคนหนึ่ง ตลอดเวลาหลายปี ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง พูดคำเดียวสั้นๆ ว่า เป็นห่วงปากท้องชาวบ้าน ถ้ามีโอกาสจะกลับมาทำงานการเมือง เพราะตัวเองเชี่ยวชาญเรื่องอะไรทุกคนก็ทราบดี ในอดีตสมัยเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ยังจำได้ชาวนาต้องถือปืนไปนอนเฝ้าข้าว ราคายางกิโลละกว่า 100 บาท
    "ที่ผ่านมามีคนมาทาบทามให้ไปช่วยงานการเมือง ในวันนี้แข็งแรงดี มีเรี่ยวแรงพร้อมทำงาน ถ้ามีโอกาสจะขอกลับมาทำงานให้กับประเทศ ส่วนจะอยู่พรรคไหน ขอเวลาตัดสินใจก่อน เพราะยังมีเวลาเหลือก่อนที่จะครบกำหนดกรอบ 90 วันก่อนการเลือกตั้ง หากไปอยู่พรรคใดจะแถลงแจ้งให้ทราบ" นายมิ่งขวัญกล่าว
    ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร กล่าวว่า ได้เดินทางมายื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษานายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. คนที่ 2 เพราะกำลังจะเดินเข้าสู่ถนนการเมืองอย่างเต็มตัว โดยจะนำประสบการณ์ไปใช้ในการทำงานกับกลุ่มสามมิตรและพรรคพลังประชารัฐที่กลุ่มสามมิตรจะไปสังกัดด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"