เมื่อวานผมเขียนถึงแนวทางวิเคราะห์ “ความเสี่ยง 4 ประการ” ที่ไทยต้องเผชิญในความเห็นของคุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ในคำกล่าวเปิดงานสัมมนาประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ในหัวข้อ “Global Risks and Thailand’s Economic Outlook”
คอลัมน์เมื่อวานกล่าวถึงความเสี่ยง 2 เรื่องแรก
ความเสี่ยงเรื่องที่ 3 ในความเห็นของคุณวิรไทยคือ “ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์” ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ท่านบอกว่านอกเหนือจากประเด็นที่ค้างคาที่รอการแก้ไข เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี และการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit แล้ว ก็มีประเด็นใหม่ที่เปราะบางเพิ่มขึ้น
เช่น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจากข้อตกลงนิวเคลียร์ การประจำการทางทหารในทะเลจีนใต้ และการเพิ่มขึ้นของภัยไซเบอร์ทั้งกลุ่มที่เปิดเผยและกลุ่มที่ไม่เปิดเผยตัว ซึ่งเรื่องที่กลายเป็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นใน 2-3 ปีที่ผ่านมา
ในคำปราศรัยนั้นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ บอกว่า “แม้ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นยังไม่นำไปสู่การปรับตัวลดลงของตลาดอย่างรุนแรง หรือทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกชะลอตัว แต่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ทำให้ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดการเงินและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ”
สังเกตว่าคุณวิรไทบอกความเสี่ยงเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ไม่พาดพิงถึงประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคง ซึ่งมีมิติกว้างไกลออกไปอีก
ความเสี่ยงข้อสุดท้ายเป็น “ความเสี่ยงในประเทศ”
ผู้ว่าฯ ธนาคารกลางบอกว่า แม้เสถียรภาพการเงินโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง แต่ก็มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความ ”เปราะบาง” ให้กับเสถียรภาพการเงินในระยะต่อไป
ปัญหาหลักคืออัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำมากย่อมนำไปสู่พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน หรือ search-for-yield และการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าความเป็นจริง (underpricing of risks)
นั่นย่อมเป็นความท้าทายในสภาวะที่มีหน่วยงานด้านการกำกับดูแลจำนวนมาก
“การออกกฎเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานหนึ่ง มีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้กิจกรรมทางการเงินที่อาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นนั้น ออกนอกขอบเขตการกำกับดูแลของหน่วยงาน ซึ่งเราได้เห็นแล้วจากพื้นที่ความเสี่ยงที่กระจายไปทุกส่วนของความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านกำกับดูแล ทั้งความล่าช้าของการลดภาระหนี้ครัวเรือน การขยายตัวอย่างมากของกองทุนเพื่อการลงทุนต่างประเทศ แต่กระจุกตัวในประเทศ Emerging Economies บางประเทศ เงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้เงินไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการกู้ของลูกหนี้ธุรกิจ และการเติบโตอย่างรวดเร็วของตราสารหนี้เอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับ” คุณวิรไทยอธิบาย
ตัวอย่างคือ เมื่อเร็วๆ นี้ เราสังเกตเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยให้ผู้ซื้อบ้านที่ต้องการผลตอบแทนจากการให้เช่าและทำกำไรจากการขายต่อ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value) สูงขึ้น เป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงในภาคการเงิน รวมไปถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เงินกู้ที่อยู่อาศัย ของกลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังที่สองและหลังที่สามยังคงเพิ่มขึ้น
“ผมได้กล่าวถึงความเสี่ยงทั้ง 4 ข้อที่เรากำลังเผชิญอยู่ และแม้ผมจะแยกแยะออกเป็นข้อๆ แต่โดยที่ปัจจัยความเสี่ยงเหล่านี้มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ดังนั้นแม้ว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจ ความปั่นป่วนของตลาดในตุรกีที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นถึงผลที่เกิดจากการตอบสนองของตลาด ที่นำไปสู่การเทขายเพื่อลดความเสี่ยง และเมื่อหันมามองรอบบ้านเรา เราได้เห็นประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ ตลาดเงินตกอยู่ในภาวะลำบาก แม้เศรษฐกิจขยายตัวดี” ผู้ว่าฯ ธนาคารกลางบอก
แต่ความเสี่ยงที่อาจไม่ได้อยู่ในกรอบของ 4 ข้อนี้ก็ยังมี เช่น การพัฒนาการในบางด้านที่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักได้
ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ที่อาจจะมีผลให้รูปแบบธุรกิจดั้งเดิมเปลี่ยนโฉมไป
หรือผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า
นั่นย่อมแปลว่าความเสี่ยงสำหรับประเทศไทยอาจมีมากกว่าที่เราเห็นและเป็นอยู่
แล้วคุณวิรไทมองว่าคนไทยจะต้องมองหาวิธีการป้องกันและตั้งรับความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไร? อ่านต่อพรุ่งนี้ครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |