รัษฎา-พิกุล ทนายโจทก์และญาติ
11 ต.ค.61 - นายรัษฎา มนูรัษฏา กรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความฯ ในฐานะทนายความโจทก์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังฎีกายกฟ้องหมด!กลุ่มตร.กาฬสินธุ์ คดีฆ่าอำพรางแขวนคอหนุ่มวัย 17 ว่าวันนี้ศาลฎีกายกฟ้องจำเลยที่เป็นตำรวจทั้ง 6 ราย ถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ตนเคารพคำพิพากษาของศาลฎีกาแต่ยังไม่เห็นพ้องด้วย โดยคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อปี 2547 มีวัยรุ่นถูกตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ จับกุมแล้วในวันรุ่งขึ้นพบว่าถูกแขวนคอตายอยู่ในกระท่อม จ.ร้อยเอ็ด หลังเกิดเหตุญาติผู้ตายได้ขอความช่วยเหลือทางคดีมายังสภาทนายความฯ ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย แต่งตั้งคณะทำงานแล้วให้ความช่วยเหลือญาติที่เข้าเป็นโจทก์ร่วม
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลย 5 ราย ยกฟ้อง 1 ราย เราไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลงโทษจำคุกทั้ง 6 คน ขณะที่ศาลฎีกายกฟ้อง โดยหยิบยกความเห็นของพยานที่ให้ผู้ตายยืมโทรศัพท์เพื่อโทรติดต่อหาย่าผู้ตาย ซึ่งยังมีข้อสงสัย
นายรัษฎา กล่าวต่อว่า แต่เราเห็นว่ายังมีพยานปากสำคัญอื่นๆ อีก โดยเฉพาะย่าของผู้ตายและมีบุคคลมาประกันตัวให้ผู้ตาย โดยที่ญาติไม่ทราบเรื่อง แล้วตำรวจทำบันทึกประจำวันว่าปล่อยตัวกลับบ้านไปแล้ว พยานเหล่านี้อยู่ในสำนวนคดีที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอทำไว้อย่างดีที่สุด ซึ่งศาลฎีกายังไม่ได้หยิบยกประเด็นเหล่านี้ เราก็จะได้ศึกษาในเชิงวิชาการว่ารายละเอียดคำพิพากษาเป็นอย่างไร
นอกจากนี้แล้วอยากจะฝากถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตใน จ.กาฬสินธุ์ กว่า 20 รายในช่วงปี 2546 - 2547 แล้วยังหาตัวคนร้ายไม่ได้เลย คดีมีอายุความนาน 20 ปี จึงเห็นว่าเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะต้องสั่งการให้สืบหาตัวคนร้ายที่แท้จริงมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้ หากหัวหน้าสถานีตำรวจระบุได้สืบหาตัวคนร้ายมาแล้วเป็นเวลานาน แต่ไม่ทราบตัวผู้กระทำผิดให้งดการสืบสวนสอบสวนนั้น ตนคิดว่าญาติพี่น้องของคนตายเขายังสงสัยอยู่ว่าคนร้ายที่ทำให้ลูกหรือคนในครอบครัวเขาตายเมื่อไหร่จะถูกนำตัวมาลงโทษ
ทั้งนี้ ขอให้มีการคุ้มครองพยานในคดีนี้ที่เขาออกมาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือว่ามีความเสี่ยงที่ออกมาพูดความจริง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยาน เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ต้องให้ความสำคัญ
ด้านนางพิกุล พรหมจันทร์ ญาติของผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ศาลฎีกาได้หยิบยกคำฎีกาของจำเลยมา ฎีกาของโจทก์แทบไม่หยิบยกมาเลย พยานคดีนี้ไม่ได้มีแค่คนเดียว มีการผ่าพิสูจน์ศพของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ด้วย เรื่องการใช้โทรศัพท์ในเขตพื้นที่ก็เป็นการดำเนินการของ พล.ต.ท.ไมตรี ฉิมเฉิด ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บังคับการปราบปรามภาค 4 ได้ดำเนินการอย่างดีที่สุด รอบคอบที่สุด แทบจะไม่มีพิรุธ เป็นข้อสงสัยว่าทำไมศาลฎีกาไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามว่าในการรวบรวมพยานหลักฐานได้นำข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมโยงในคดีหรือไม่ นางพิกุล กล่าวว่า ขณะนั้นเราไม่สามารถที่จะใช้อำนาจขอข้อมูลได้ เพราะเป็นอำนาจของพนักงานสืบสวนสอบสวนกองปราบปราม ซึ่งทางนั้นได้ทำอย่างรอบคอบแล้ว ขณะที่นายรัษฎา กล่าวเสริมว่า คดีนี้มีการหาหลักฐานเชื่อมโยงจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และพบว่ามีสัญญาณโทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 1 ไปปรากฏอยู่ในพื้นที่ใกล้กับจุดเกิดเหตุที่พบศพผู้ตาย ในเขต อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าช่วงเวลามีความคลาดเคลื่อนไม่ใกล้เคียงกัน เพราะระยะทางจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ค่อนข้างไกล แต่ข้อเท็จจริงจุดที่เกิดเหตุ จ.กาฬสินธุ์ กับ จ.ร้อยเอ็ด ใช้เวลาเดินทางไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็สามารถไปถึงกันได้ ซึ่งตนเคยลงไปดูที่เกิดเหตุแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องไปสืบสวนหาตัวคนร้ายที่ทำให้เสียชีวิต โดยคดีนี้มีอายุความ 20 ปี
เมื่อถามว่าจะมีโอกาสที่จะพบพยานหลักฐานใหม่ สำหรับรื้อฟื้นคดีได้หรือไม่ นายรัษฎา กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องรื้อฟื้นคดี ถ้ามีพยานหลักฐานเราก็สามารถเอาคนผิดมาฟ้องคดีได้ คงไม่ได้รื้อฟื้นเพราะศาลฎีกายกฟ้องจำเลยไปแล้ว การรื้อฟื้นคดีเป็นเรื่องที่ฝ่ายจำเลยจะยกขึ้นมาเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่ กรณีลักษณะนี้มีหลายคนเสียชีวิต บางคนตายใจกลางเมือง บางคนนั่งแขวนคออยู่ที่สวนสาธารณะ แต่หาตัวคนร้ายไม่ได้ ซึ่งคดียังไม่ขาดอายุความ ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องดำเนินการ ซึ่งญาติของผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็มาร้องเรียนที่สภาทนายความฯ หลายราย สื่อมวลชนควรจะต้องไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ว่า กรณีที่มีผู้เสียชีวิตและยังไม่ได้ตัวคนร้ายจะมีมาตรการหรือดำเนินการอย่างไร
ถามว่าที่มีการให้ข้อมูลว่ามีเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ในท้องที่ จ.กาฬสินธุ์ กว่า 20 รายนั้น ปัจจุบันได้มีการทำสำนวนส่งฟ้องศาลแล้วกี่ราย นางพิกุล กล่าวว่า นอกจากคดีนี้แล้ว ดีเอสไอดำเนินการอยู่อีก 2 คดี อยู่ในสำนักคดีอาญา 1 ของดีเอสไอ ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน แต่คดียังไม่ได้ส่งให้อัยการฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาล รวมแล้วคดีการฆ่าลักษณะนี้ที่ จ.กาฬสินธุ์ ดีเอสไอรับไว้ทั้งหมด 3 คดี ซึ่งโดนแขวนคอตายลักษณะเดียวกัน
ทั้งนี้ช่วงท้าย นางพิกุล ยังกล่าวด้วยว่า ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ได้ระบุถึงมูลเหตุจูงใจที่นายเกียรติศักดิ์ถูกฆ่าไว้ในหน้า 33 ด้วยว่าน่าจะไปรู้เห็นพัวพันเกี่ยวกับการซื้อขายยาเสพติด พร้อมหยิบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหน้า 33 ขึ้นมาโชว์ให้ผู้สื่อข่าวดูด้วย โดยกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้มีความวิตกในความปลอดภัย ซึ่งตนก็ไม่เคยมีปัญหาพิพาทกับใคร ถ้าตนเกิดเสียชีวิตก็ขอให้สื่อมวลชนทุกคนเป็นพยานว่ามีเรื่องนี้เรื่องเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น บรรดาญาติและผู้ติดตามให้กำลังใจพวกจำเลยต่างดีใจร่ำไห้เข้าสวมกอดพวกจำเลย ขณะที่นางพิกุล ญาติผู้เสียชีวิตระบุเบื้องต้นว่าพูดไม่ออกเลย
ทั้งนี้คดีนี้เกิดขึ้นในปี 2547 ช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกันช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญใน จ.กาฬสินธุ์ อย่างต่อเนื่องที่สามารถตรวจสอบรายชื่อได้มีทั้งสิ้น 28 ราย โดยเฉพาะกรณีการฆ่าแขวนคอนายเกียรติศักดิ์ ญาติของนายเกียรติศักดิ์ได้เข้าร้องเรียนสาเหตุการเสียชีวิตต่อดีเอสไอ พนักงานสอบสวนดีเอสไอจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถจับกุมตัวจำเลยทั้งหกได้ ก่อนศาลฎีกาจะยกฟ้องดังกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |