มาเลเซียเตรียมยกเลิกโทษประหารชีวิต


เพิ่มเพื่อน    

คณะรัฐมนตรีมาเลเซียให้ความเห็นชอบกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ระบุประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน เตรียมส่งให้สภาผู้แทนราษฎรแก้กฎหมายสัปดาห์หน้า เผยสองสาวต้องสงสัยฆาตกรรม "คิม จองนัม" พี่ชายผู้นำเกาหลีเหนือ จะได้รับอานิสงส์ เช่นเดียวกับนักโทษรอประหารมากกว่า 1,200 คน

ภาพ ธงชาติมาเลเซีย / Sky News

    สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 อ้างคำกล่าวของโกบินด์ ซิงห์ เดโอ รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและมัลติมีเดียของมาเลเซีย ยืนยันว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว และตัวเขาหวังว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายโดยเร็ววัน

    กฎหมายมาเลเซียบังคับให้ใช้บทลงโทษประหารชีวิตกับความผิดร้ายแรงหลายประการ อาทิ ฆาตกรรม, ลักพาตัว, ครอบครองอาวุธปืน และการค้ายาเสพติด การประหารชีวิตใช้วิธีการแขวนคอ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยที่อังกฤษยังเป็นเจ้าอาณานิคม

    โกบินด์กล่าวว่า รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะประชาชนชาวมาเลเซียคัดค้านการลงโทษด้วยวิธีนี้

    หนังสือพิมพ์สตาร์ของมาเลเซียรายงานก่อนหน้านี้ โดยอ้างคำกล่าวของเหลียว วุย เกียง รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ว่านักโทษเด็ดขาดทั้งหมดที่รอการประหารชีวิตจะได้รับการระงับโทษประหารชีวิตไว้ชั่วคราว เนื่องจากรัฐบาลกำลังจะยกเลิกโทษประหาร รัฐบาลจะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายนี้เข้าสภาผู้แทนราษฎรในวันจันทร์หน้า

    การระงับใช้โทษประหารชีวิตในครั้งนี้จะแผ่อานิสงส์ถึงผู้ต้องสงสัยฆาตกรรมคิม จองนัม พี่ชายต่างมารดาของคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือด้วย ศาลมาเลเซียตัดสินว่าสามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 รายนี้ ได้แก่ สิตี ไอส์ยะห์ หญิงสาวชาวอินโดนีเซีย และเจือน ถิ เฮือง หญิงสาวชาวเวียดนาม ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้สารพิษลอบสังหารคิม จองนัม ที่สนามบินกัวลาลัมเปอร์ เมื่อต้นปีที่แล้ว

    นอกจากนี้ มาเรีย อัลวีรา ปินโต เอกซ์ปอสโต พลเมืองออสเตรเลียที่ศาลอุทธรณ์มาเลเซียตัดสินเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า มีความผิดฐานลอบขนยาเสพติด ก็จะได้รับยกเว้นโทษประหารชีวิตเช่นกัน คุณยายวัย 54 ปีรายนี้ถูกจับกุมเมื่อเดือนธันวาคม 2557 พร้อมกับยาไอซ์ 1.1 กิโลกรัม ขณะเดินทางผ่านสนามบินกัวลาลัมเปอร์จากนครเซี่ยงไฮ้ของจีนเพื่อต่อไปยังกรุงเมลเบิร์นของออสเตรเลีย

    เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว องค์การแอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนลเคยจัดอันดับว่า มาเลเซียเป็นประเทศประหารชีวิตนักโทษมากเป็นอันดับ 10 จาก 23 ประเทศที่ประหารชีวิตนักโทษในปี 2559

    รายงานของหนังสือพิมพ์นิวสเตรทไทมส์ระบุไว้ว่า มาเลเซียประหารชีวิตนักโทษ 35 คน ระหว่างปี 2550-2560 รายงานของเอเอฟพีกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมาเลเซียมีนักโทษประหาร 1,267 คน หรือ 2.7% ของนักโทษที่มีอยู่ 60,000 คน

    นักสิทธิพากันยินดีกับการตัดสินใจของรัฐบาลมาเลเซีย นักสิทธิเหล่านี้มักกล่าวกันว่า ไม่เคยมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าโทษประหารชีวิตสามารถยับยั้งผู้กระทำผิดไม่ให้ก่ออาชญากรรมรุนแรงหรือค้ายาเสพติด

    เอ็น. สุเรนดรัน ที่ปรึกษากลุ่มทนายความเพื่อเสรีภาพ ออกแถลงการณ์ว่า โทษประหารชีวิตนั้นป่าเถื่อนและโหดร้ายเกินจินตนาการ ทันทีที่มาเลเซียยกเลิกโทษประหารชีวิต มาเลเซียก็จะมีความชอบธรรมที่จะต่อสู้เพื่อรักษาชีวิตชาวมาเลเซียจะโดนประหารชีวิตในต่างแดน

    ปัจจุบันมีเพียง 23 ประเทศที่ยังบังคับใช้โทษประหารชีวิต รายงานของแอมเนสตีฯ เมื่อเดือนที่แล้วกล่าวว่า มีนักโทษถูกประหารทั่วโลกในปีที่แล้ว 993 คน แต่ยังไม่รวมนักโทษ "หลายพันคน" ที่เชื่อว่าโดนจีนประหารชีวิต หากไม่นับรวมจีนซึ่งไม่เปิดเผย "ข้อมูลลับ" นี้ แอมเนสตีฯ ระบุว่า อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และปากีสถาน คือประเทศที่ประหารนักโทษมากที่สุดตามลำดับ โดยคิดเป็น 84% ของนักโทษที่ถูกประหารในปี 2560.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"