จรวดโซยุซของรัสเซียประสบปัญหาเครื่องยนต์จรวดขัดข้องภายหลังทะยานขึ้นจากฐานปล่อยในคาซัคสถานเมื่อวันพฤหัสบดี เพื่อนำนักบินอวกาศรัสเซียและสหรัฐไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ทำให้ยานต้องลงฉุกเฉิน โชคดีนักบินอวกาศทั้ง 2 ปลอดภัย
ภาพจากนาซา จรวดโซยุซพุ่งจากสถานีอวกาศไบโคนูร์ของรัสเซีย เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 / (NASA/Bill Ingalls) / AFP
สำนักงานอวกาศรอสคอสมอสของรัสเซียเปิดเผยผ่านข้อความทวิตเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2561 ว่าระบบการช่วยชีวิตฉุกเฉินทำงานได้ผล ยานสามารถลงถึงพื้นที่คาซัคสถาน และลูกเรือรอดชีวิต นักบินอวกาศนิก เฮก ชาวอเมริกันจากองค์การนาซา และอเล็กเซย์ ออฟชินิ ชาวรัสเซีย ติดต่อกับหอควบคุมภาคพื้นดินที่ส่งเจ้าหน้าที่เข้าให้การช่วยเหลือแล้ว
เอเอฟพีกล่าวว่า ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ยืนยันกับผู้สื่อข่าวเช่นกันว่า นักบินอวกาศทั้ง 2 นายปลอดภัย
ภาพการถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ตของรอสคอสมอสถูกตัดสัญญาณไม่นาน หลังจากจรวดลำนี้ถูกปล่อยจากสถานีอวกาศไบโคนูร์ของรัสเซีย ในคาซัคสถาน เมื่อเวลา 15.40 น. วันพฤหัสบดีตามเวลาประเทศไทย
นักบินอวกาศนิก เฮก และอเล็กเซย์ ออฟชินิ รายงานตัวต่อดมิตรี โรโกซิน ผู้อำนวยการรอสคอสมอส ก่อนขึ้นยานโซยุซ เอ็มเอส-10 / Kirill KUDRYAVTSEV / AFP
อุตสาหกรรมด้านอวกาศของรัสเซียประสบกับปัญหาหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียยานอวกาศและดาวเทียมไปหลายดวง
องค์การนาซาได้ถ่ายทอดสัญญาณสดการปล่อยจรวดเช่นกัน โดยผู้บรรยายเผยว่าเกิดปัญหากับจรวดหลังจากจรวดท่อนแรกแยกตัวได้ไม่กี่วินาที ทำให้นักบินอวกาศในยานโซยุซ เอ็มเอส-10 ลำนี้ เข้าสู่ภาวะการดิ่งลงสู่พื้นโลก ต่อมาผู้บรรยายของนาซากล่าวว่า นักบินทั้งสองยังอยู่รอดปลอดภัยและกำลังสื่อสารกับทีมกู้ภัยหลังจากยานลงพื้นทางตะวันออกของเมืองเชซคาซกันของคาซัคสถาน
ผู้บรรยายของนาซากล่าวด้วยว่า การดิ่งลงนี้มีความเร็วแรงกว่าการลงพื้นปกติ แต่นักบินล้วนผ่านการฝึกเพื่อรับมือกับสถานการณ์แบบนี้มาแล้ว
ภาพจากสำนักงานอวกาศรัสเซีย นักบินอวกาศนิก เฮก (ซ้าย) รับการตรวจร่างกายที่เมืองเชซคาซกัน / Russian Space Agency Roscosmos / AFP
นักบินอวกาศซึ่งเป็นอดีตนักบินของกองทัพทั้งคู่ เตรียมจะขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) เพื่อไปสมทบกับนักบินอวกาศ อเล็กซานเดอร์ เกิร์สต์ ของสำนักงานอวกาศแห่งยุโรป, เซเรนา ออนอน-แชนเซลเลอร์ จากนาซา และเซอร์เกย์ โปรคอปเยฟ ของรัสเซีย การเดินทางนี้จะใช้เวลานาน 6 ชั่วโมง เพื่อไปสู่ไอเอสเอส ซึ่งโคจรรอบโลกที่ความเร็วประมาณ 28,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ไอเอสเอสนี้เป็นความร่วมมือที่หาได้ยากยิ่งระหว่างรัสเซียกับสหรัฐ และจะอายุครบ 20 ปี ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |