11 ต.ค.61 - นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์โรคหัด ในเขต 12 (1 ม.ค.-10 ต.ค.61) จำนวนผู้ป่วย 429 ราย สูงสุดคือ จ.ยะลา 282 ราย เสียชีวิต 5 ราย รองลงมา จ.ปัตตานี 61 รายไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนในจังหวัดอื่นๆ พบสัดส่วนการระบาดที่สูงในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สคร.12 สงขลา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา มิได้นิ่งนอนใจ ได้ลงพื้นที่สอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิต โดยจากการลงพื้นที่พบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และสาเหตุเกิดจากการไม่ได้รับวัคซีน และได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจผิดว่า วัคซีนผลิตมาจากส่วนประกอบของหมู จึงปฏิเสธการรับวัคซีน อีกทั้งความครอบคลุมของวัคซีนในพื้นที่ที่มีเด็กเสียชีวิตต่ำกว่าร้อยละ 60 ซึ่งตามเกณฑ์ที่กำหนดต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จึงจะสามารถป้องกันโรคหัดได้
“สคร.12 สงขลา ยันยืนว่าวัคซีนโรคหัดที่นำมาใช้ในประเทศไทย เป็นวัคซีนที่ปลอดภัย ไม่มีส่วนประกอบมาจากหมู เป็นวัคซีนที่มีการใช้กันทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศมุสลิม เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย"
นอกจากนี้วัคซีนยังมีประโยชน์ในการป้องกันโรคหัด และป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคได้ ขอเน้นย้ำให้ประชาชนที่มีบุตรหลานที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคหัดมารับการฉีดวัคซีนโดยด่วน ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านฟรี และหากเด็กในปกครอง มีไข้ ไอ มีผื่นแดงและตาแดง ให้แยกเด็กออกไม่ให้สัมผัสกับเด็กอื่น เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ และในกรณีที่ในบ้านที่มีเด็กสัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วย หากไม่ได้รับวัคซีนหรือฉีดวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ให้ผู้ปกครองนำเด็กไปฉีดวัคซีนให้ครบ หรือในกรณีของเด็กนักเรียน หากมีอาการข้างต้นให้หยุดอยู่บ้าน เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์เช่นกัน
นายแพทย์สุวิช กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลาได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินฯ โรคหัด (EOC) พร้อมทั้งได้ควบคุมการระบาดของโรคหัดในพื้นที่จังหวัดยะลา ด้วยมาตรการ 323 หาให้ครบ ฉีดให้ทันโดยลงพื้นที่เชิงรุกดำเนินการวินิจฉัยโรคให้เร็ว แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ทราบภายใน 3 ชั่วโมงเพื่อสอบสวนโรค หาผู้สัมผัสโรคให้ครบภายใน 2 วัน และดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ผู้สัมผัสโรคภายใน 3 วัน พร้อมกันนี้ สคร.12 สงขลา ได้ร่วมประชุม EOC เพื่อให้ข้อเสนอแนะทางวิชาการและสนับสนุนวัคซีนโรคหัดแก่พื้นที่แล้ว
โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่น พบได้ทุกวัย และพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อายุ 1-6 ปี เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัส จะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายและเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศเมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส เข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ถ้าไม่มีภูมิต้านทาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
อาการของโรคหัด เริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะและกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น และจะสูงขึ้นเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้น ๆ โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม แผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง
ผื่นระยะแรก มีสีแดงจะมีสีเข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย การตรวจในระยะ 1-2 วัน ก่อนผื่นขึ้นจะพบจุดขาวๆ เล็กๆ มีขอบสีแดงๆ อยู่ในกระพุ้งแก้ม จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ก่อนที่จะมีผื่นขึ้น อาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กคือ หูส่วนกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ อุจาระร่วง สมองอักเสบ อุจจาระร่วง สมองอักเสบ พบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ราย ซึ่งจะทำให้มีความพิการเหลืออยู่ ถ้าไม่เสียชีวิต
ทั้งนี้ โรคหัดป้องกันด้วยการฉัดวัคซีน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้วัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปี ครึ่งโดยให้ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคคางทูม หัด หัดเยอรมัน (MMR) หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัดสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |