"สามารถ"ชี้สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่สองไม่ช่วยแก้แออัด ใช้เงินละลายแม่น้ำเสียเปล่า


เพิ่มเพื่อน    

 

"สามารถ"ชี้สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่สองส่งกลิ่น ส่อละลายเงิน 4 หมื่นล้านแต่ไม่แก้แออัด  แนะลงทุนหมื่นล้านรับได้ 30 ล้านคนเหมือนกัน 

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (TER2)ของสนามบินสุวรรณภูมินั้นมีความไม่ชอบมาพากลและท้ายที่สุดการลงทุนถึง 4.2 หมื่นล้านบาทจะไม่สามารถแก้ปัญหาความแออัดอีกทั้งยังทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเสียชื่อเสียงในฐานะเกทเวย์ของภูมิภาคอีกด้วย เนื่องจากหลักการขยายสนามบินนั้นต้องขยายพื้นที่ในเขตการบิน(Airside)และการขยายพื้นที่นอกเขตการบิน(Landside) 

อย่างไรก็ตามแต่การก่อสร้าง TER2 ในจุดดังกล่าวนั้นไม่มีการเพิ่มพื้นที่ Airside เพราะเป็นการใช้หลุมจอดเดิมที่มีอยู่แล้ว 14 หลุมจอด ทอท.คุยว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนปี แต่ผมเห็นว่าเป็นไปไม่ได้แน่ เพราะต้องอาศัยอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) ซึ่งจะรองรับได้ 15 ล้านคนต่อปีอย่างไรก็ตาม การใช้หลุมจอดของอาคารเทียบเครื่องบินรองจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย เพราะจะต้องใช้บริการรถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) จากTER2 ไปสู่อาคารผู้โดยสารปัจจุบัน ซึ่งเป็นAPMลอยฟ้า ต่อจากนั้นจะต้องเปลี่ยนไปใช้เอพีเอ็มใต้ดินจากเทอร์มินัล 1 ไปสู่อาคารเทียบเครื่องบินรองเพื่อรอขึ้นเครื่องต่อไป 

"เชื่อว่าคงไม่ต้องใช้เม็ดเงินหลายหมื่นล้านในการก่อสร้างอาคารใหม่เพื่อรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน เพียงแค่เลือกใช้แนวทางขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกซึ่งจะสามารถรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปีโดยใช้เม็ดเงินเพียงแค่ 8,000-10,000 ล้านบาทและเป็นไปตามแผนแม่บท อีกทั้ง ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกมากกว่าเพราะสามารถใช้ APM เชื่อมต่อไปยังอาคาร SAT1 ได้เลย อีกทั้งยังใช้เวลาก่อสร้างน้อยกว่า ส่วนอาคารหลังที่ 2 นั้นให้ไปก่อสร้างฝั่งถนนบางนา-ตราด เพื่อแยกประเภทผู้โดยสารออกจากกันและแบ่งเบาปริมาณจราจรในเส้นทางเข้าสนามบินปัจจุบัน อีกทั้งยังสามารถเชื่อม TER1 และ TER2 ด้วย APM ใต้ดินอยู่แล้วอีกด้วย"นายสามารถ กล่าว

อย่างไรก็ตามมองว่าสนามบินสุวรรณภูมิไม่จำเป็นต้องมีอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปีตามแผนแม่บทใหม่ของ ทอท.เนื่องจากรัฐบาลได้เปลี่ยนจากนโยบายสนามบินเดียวเป็นนโยบาย 2 สนามบิน (Dual Airports) และในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนเป็นนโยบาย 3 สนามบิน (Triple Airports) ซึ่งประกอบด้วยสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา โดยจะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้ผู้โดยสารกระจายไปใช้ทั้งสนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภานอกเหนือจากสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยเหตุนี้ สนามบินสุวรรณภูมิจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องมีถึง 3 เทอร์มินัล 

ด้านนายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย (จำกัด)มหาชน หรือ ทอท.กล่าวว่าสาเหตุที่ก่อสร้างอาคารหลังที่สองบริเวณจุดดังกล่าวนั้นเพื่อเพิ่มจำนวนประตูเชื่อมเครื่องบิน (Contact Gate) และเพิ่มจุดรับกระเป๋าและจุดตม. จากเดิมที่ผู้โดยสารทุกคนจะต้องไปกระจุกอยู่ที่ด่านตม.และจุดรับกระเป๋าเพียงแห่งเดียวคือภายในอาคารปัจจุบันส่งผลให้เกิดปัญหาความแออัด 

อย่างไรก็ตามส่วนด้านการเลือกขยายอาคารฝั่งทิศตะวันตกแทนที่จะเป็นอาคารฝั่งทิศตะวันออกตามแผนเดิมนั้นเนื่องจากการขยายอาคารฝั่งตะวันออกจะทำลายทัศนียภาพและเอกลักษณ์อันสวยงามของอาคารผู้โดยสารปัจจุบันซึ่งลงทุนไปถึง 1 แสนล้านบาท อีกทั้งการขยายจุดังกล่าวนั้นยังมีระดับเพดานที่จำกัดเพียง 4-5 เมตรเนื่องจากต้องใช้แนวหลังคาเดียวกับอาคาร Concourse A เดิม อีกทั้งยังต้องก่อสร้างทางยกระดับเพื่อประชิดอาคารเพิ่มขึ้นซึ่งปัจจุบันพื้นที่แทบจะไม่เพียงพอก่อสร้างแล้ว นอกจากนี้จะต้องเจอผลกระทบจากรถขนส่งขนาดใหญ่ที่ต้องวิ่งเข้าและออกพื้นที่ก่อสร้างใกล้กับอาคารผู้โดยสารหลักซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 22,000 เที่ยวตลอดระยะเวลาก่อสร้าง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"