ในที่สุด คนในตระกูล ชินวัตร ก็ต้องตกเป็นจำเลยในชั้นศาลขึ้นมาอีกคน หลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร ในคดีปล่อยกู้กรุงไทย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อวันพุธที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ต้องจับตาดูหลังจากนี้ว่า สุดท้ายแล้ว ชะตากรรมของ พานทองแท้ จะซ้ำรอยบิดา-ทักษิณ ชินวัตร และอา–ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลยุติธรรมตัดสินลงโทษจนต้องหนีคดีไปต่างประเทศหรือไม่?
ที่น่าสนใจคือ ผลพวงจากคดีปล่อยกู้กรุงไทย ทำให้ สองพ่อลูก ทักษิณ-พานทองแท้ อยู่ในสภาพเดียวกัน คือตกเป็นจำเลยในชั้นศาล จากเรื่องปล่อยกู้กรุงไทยยุคทักษิณเป็นนายกฯ หลังก่อนหน้านี้อัยการปัดฝุ่นยื่นฟ้องทักษิณเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ไปเมื่อปีที่แล้ว ในความผิดฐานมีส่วนรู้เห็นกับการทุจริตปล่อยกู้เงินร่วม 9,900 ล้านบาทให้กับกลุ่มบริษัทในเครือกฤษดามหานคร ที่มีสองพ่อลูก วิชัย-รัชฎา กฤษดาธานนท์ ที่มีความมักคุ้นกับทักษิณ เป็นเจ้าของ-ผู้บริหาร อันเป็นการฟ้องคดีตามช่องทางที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ เปิดช่องให้ฟ้องคดีได้ หากจำเลยหลบหนีคดีและไต่สวนคดีลับหลังจำเลยได้
แต่มาตอนนี้ไม่ใช่แค่ทักษิณเท่านั้น แต่ลูกชายพานทองแท้ก็ตกเป็นจำเลยในคดีปล่อยกู้กรุงไทยเช่นกัน เพียงแต่เป็นคนละฐานความผิด เพราะพานทองแท้โดนเรื่อง ความผิดฐานฟอกเงิน หลังจากทาง ปปง.ส่งเรื่องให้ดีเอสไอสอบสวนและทำสำนวนสั่งฟ้องพานทองแท้กับเครือญาติของนางกาญจนาภา หงษ์เหิน อดีตเลขานุการส่วนตัว หญิงอ้อ-พจมาน ณ ป้อมเพชร มารดาพานทองแท้
ทั้งนี้ แนวทางการสอบสวนของ ปปง.-ดีเอสไอ ได้แกะรอยเส้นทางการเงินของผู้เกี่ยวข้องรวมสี่คน คือ นางเกศินี จิปิภพ มารดานางกาญจนาภา, นางกาญจนาภา และวันชัย หงษ์เหิน สามีนางกาญนาภา รวมถึงพานทองแท้ โดยแกะรอยการทำธุรกรรมทางการเงินและการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากเงินกู้กรุงไทยถูกปล่อยสินเชื่อออกมา จนพบว่ามีธุรกรรมการเงินเป็นเช็คสองใบ คือ 26 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท เข้าไปยังบัญชีของกลุ่มผู้ต้องหาโดยเฉพาะเข้าบัญชีพานทองแท้สองครั้ง
ก้อนแรกเกิดขึ้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2546 ที่มีการโอน แคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 26 ล้านบาท จากธนาคารไทยธนาคาร โดยหักจากเงินในบัญชีของนายวิชัยสั่งจ่ายและนำเงินเข้าบัญชีนายพานทองแท้ที่ธนาคารกรุงเทพฯ แต่วันเดียวกันก็มีการยกเลิกรายการ จากนั้นวันรุ่งขึ้นมีการซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายบริษัทหลักทรัพย์ธนชาติ เพื่อชำระค่าหุ้นในบัญชีซื้อขายของนางเกศินี จิปิภพ แล้วนางเกศินีได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 1 ล้าน 8 แสนบาท เข้าบัญชีนายพานทองแท้ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารัชโยธิน
เงินก้อนที่สอง พบการทำธุรกรรม เมื่อ 17 พ.ค.2547 นายวิชัยสั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยธนาคาร จำนวน 10 ล้านบาท เข้าบัญชีเงินฝากพานทองแท้ ที่เป็นบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาบางพลัด ซึ่งก่อนหน้านี้พานทองแท้อ้างว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินจากการทำธุรกิจซื้อขายรถหรูกับนายรัชฎา
จนสุดท้ายเมื่อดีเอสไอส่งสำนวนมายังอัยการ ทางอัยการใช้เวลาพิจารณาอยู่พอสมควร จนมีการเลื่อนสั่งคดีมาแล้วรอบหนึ่ง พร้อมกับการให้ดีเอสไอสั่งสอบสวนเพิ่มเติม โดยแยกสำนวนตามหลักฐานการโอนเงินดังกล่าว สองก้อน ออกเป็น 2 สำนวน
ซึ่งในส่วนของพานทองแท้ถูกอัยการยื่นฟ้องเพียงสำนวนเดียวคือ กรณีเงิน 10 ล้านบาทที่โอนเข้าบัญชีในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่สำนวนเช็ค 26 ล้านบาท อัยการสั่งฟ้องกาญจนาภาและวันชัย โดยพานทองแท้รอดในสำนวนหลัง
ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาฯ เคยตัดสินจำคุกอดีตผู้บริหารกรุงไทยและกฤษดามหานคร เช่น ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ, วิโรจน์ นวลแข, วิชัยและรัชฎา กฤษดาธานนท์ เป็นเวลาหลายปี อันเป็นคำตัดสินที่คงทำให้ทักษิณ–พานทองแท้ ที่ตกเป็นจำเลยในเรื่องปล่อยกู้กรุงไทยเช่นกัน คงผวาไม่น้อย โดยเฉพาะ พานทองแท้ กับหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชี ที่เป็น "จุดตาย” ของคดีนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |