โลกกับความเสี่ยงของไทย


เพิ่มเพื่อน    

      ประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจอะไรบ้าง?

      และเราจะสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองได้อย่างไร?

      วันก่อนผมอ่านคำกล่าวเปิดงานสัมมนาประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 โดย ดร.วิรไท  สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ในหัวข้อ  Global Risks and Thailand’s Economic Outlook ที่แปลเป็นภาษาไทยโดยเว็บไซต์ ThaiPublica

      เป็นบทวิเคราะห์ความเสี่ยงและทางแก้ของประเทศที่น่าสนใจมาก

      คุณวิรไทบอกว่าความเสี่ยง 4 ด้านที่อาจสร้างความปั่นป่วนมากขึ้นในระยะสั้นถึงระยะปานกลางมีดังนี้

      1.ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น

      2.ความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มขึ้น

      3.ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

      และ 4.ความเสี่ยงของเสถียรภาพทางการเงินในประเทศจากการใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมากมาเป็นระยะเวลานาน

      ข้อแรกคือ ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งหนีไม่พ้นว่าจะต้องกระทบไทยด้วย

      หลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินโลก เศรษฐกิจไทยก็เหมือนกับอีกหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หรือ  Emerging Economies อื่นๆ ได้รับผลกระทบจากการนำนโยบายการเงินที่มิได้ใช้ในช่วงเวลาปกติมาใช้ (unconventional) ของประเทศพัฒนาแล้วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

      เพราะกระแสเงินทุนไหลเข้าจำนวนมหาศาลที่แสวงหาผลตอบแทน ได้สร้างแรงกดดันให้ราคาสินทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งค่าเงินของประเทศ Emerging Economies และหนี้ภาคเอกชน

      คุณวิรไทบอกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเลี่ยงไม่ได้ที่การกลับทิศของมาตรการสุดขั้ว เช่น การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ (normalization) จะมีผลในระดับเดียวกันต่อประเทศ Emerging  Economies ด้วย และนี่ถือว่าเป็นสาเหตุของความเสี่ยงข้อแรก

      นอกเหนือจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดแล้ว ธนาคารกลางของประเทศอื่นเองก็คาดว่าจะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปกติในปีต่อๆ ไป ขณะที่สภาพคล่องซึ่งอยู่ในระดับสูงกำลังลดลง

      ผลตอบแทนที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและรัฐบาลสูงขึ้น ส่วนประเทศ Emerging Economies ที่อ่อนไหวต่อภาวะภายนอกและค่าเงินอ่อนค่าก็จะประสบกับภาระหนี้ต่างประเทศที่สูงขึ้นเมื่อคำนวณเป็นสกุลเงินท้องถิ่น

      มากไปกว่านี้ สถาบันการเงินระหว่างประเทศคาดว่าพันธบัตรและเงินกู้ร่วม (syndicated loans)  ของประเทศ Emerging Economies ที่มีมูลค่ารวม 2.7 ล้านล้านดอลลาร์จะครบกำหนดไถ่ถอนและชำระคืนภายในสิ้นปี 2019 ซึ่งสัดส่วน 1 ใน 3 ของภาระหนี้นี้อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ ค่าเงินที่อ่อนค่า รวมทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของประเทศ Emerging Economies กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันอาจมีผลทางลบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เราได้เห็นประเทศ Emerging Economies ที่มีปัจจัยแปลกๆ บางประเทศ เช่น ตุรกี, อาร์เจนตินาเผชิญกับแรงกดดัน

      ความเสี่ยงข้อที่สองคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

      นั่นคือการปกป้องทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การตอบโต้กันไปมาของทั้งสองประเทศ และการที่ไม่สามารถคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ได้ทำให้เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและการเงินใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา

       และจนถึงบัดนี้ ผลกระทบจากมาตรการทางภาษีของระหว่างสองประเทศต่อการค้าโลกยังมีอยู่ไม่มาก เนื่องจากต้องใช้เวลากว่าผลจะส่งผ่านเต็มที่

      แต่คุณวิรไทเสริมว่า

      "คาดว่าผลกระทบเต็มของสงครามการค้าที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องนั้นจะเกิดขึ้นในปีหน้า และข้อขัดแย้งทางการค้าที่เกิดเป็นระลอกหลายชุดคงไม่จบลงง่ายๆ หากว่ายังมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก ห่วงโซ่การผลิตหรือ supply chain และเครือข่ายการผลิตทั่วทั้งภูมิภาคก็จะชะงัก ขณะที่ปริมาณการค้าจะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแน่นอน และภาคที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงคือการลงทุนโดยตรง ซึ่งจากที่เราได้เห็นตัวอย่างมาแล้วในอดีต ก็จะลดลงจากความไม่แน่นอน และอาจจะขยายวงไปในแง่ที่ว่าความไม่แน่นอนนั้นจะทำให้การลงทุนลดลง สงครามการค้าที่ยืดเยื้อจะดึงกำลังการผลิตที่จะสร้างการเติบโตในอนาคตลง รวมทั้งชะลอการยกระดับเทคโนโลยีของธุรกิจ"

      (พรุ่งนี้: ความเสี่ยงอีกสองประการของไทย).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"