หลายองค์กรร่วมจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ปี 2561 พม.ชูวิสัยทัศน์ “คนไทยมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วในปี 2579” 


เพิ่มเพื่อน    

อาคารสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก / หลายองค์กรร่วมจัดงาน ‘สร้างไทยไปด้วยกัน : สร้างบ้าน สร้างชุมชน  ไทยทุกคนมั่นคง  เข้มแข็ง’  เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก  โดยมีผู้แทนจากเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยในไทยและจาก 10 ประเทศในเอเซียเข้าร่วมงานประมาณ 200  คน    ขณะที่พลเอกอนันตพร  รมว.พม.ชูวิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579”  ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยน้อยทั่วประเทศกว่า 3 ล้านคนให้บรรลุผลตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20ปี

วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี  องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World  Habitat  Day’  มีเป้าหมายเพื่อให้นานาประเทศให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย  หรือมีที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม  และหามาตรการแก้ไขปัญหา  โดยในปี 2561 นี้  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย  คือ  การเคหะแห่งชาติ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ  ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกตลอดช่วงเดือนตุลาคมนี้

โดยในวันนี้ (10 ตุลาคม)  ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) อาคารสำนักงานสหประชาชาติ  ถนนราชดำเนินนอก  มีการจัดงาน ‘สร้างไทยไปด้วยกัน : สร้างบ้าน สร้างชุมชน ไทยทุกคนมั่นคง เข้มแข็ง  เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก  โดยความร่วมมือระหว่าง  ESCAP  การเคหะแห่งชาติ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  มูลนิธิที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย(ACHR)  โดยมีผู้แทนจากขบวนองค์กรชุมชน  เครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย  ผู้แทนจากประเทศเอเซีย  และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ 200   คน  

พลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า  วันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้องค์การสหประชาชาติกำหนดหัวข้อหลักในการรณรงค์เรื่อง “การจัดการขยะโดยเทศบาล” (Municipal Solid Waste Management)  ซึ่งการขจัดขยะเป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อสิ่งแวดล้อม  จำเป็นที่ชุมชน  ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันในการจัดการ  โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนจะต้องมีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้น  

“ส่วนในประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน (Housing for all) การทำให้คนไทยมีบ้านอยู่อาศัยอย่างถ้วนทั่ว  มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย  รวมถึงการมีชุมชนเข้มแข็ง  มีสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี  ถือว่าบ้านเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาด้านต่าง ๆ  (Housing at a center)”  รมว.พม.กล่าว

พลเอกอนันตพรกล่าวต่อไปว่า  ประเทศไทยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาติ  เป้าหมายที่ 11 เรื่อง “การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความสามารถในการปรับตัว  มีภูมิต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสุขภาวะอย่างครอบคลุมและยั่งยืน”  และวาระใหม่ในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (New Urban Agenda)  ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการมาตลอด  และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับรองวาระใหม่ในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนแล้ว  และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก  จัดทำแผนการพัฒนาเพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

(วาระการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (New Urban Agenda) เป็นเอกสารซึ่งประเทศสมาชิกและองค์การระหว่างประเทศรับรองร่วมกันในการประชุมสหประชาติว่าด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างยั่งยืน  ครั้งที่ 3 (Habitat 3)  ณ เมืองกีโต  สาธารณรัฐเอกวาดอร์  เมื่อเดือนตุลาคม  2559  เพื่อเป็นวิสัยทัศน์ของประชาคมโลกในการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนโดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง   และส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่น  ตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชนในการพัฒนาเมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในทุกมิติ  โดยเชื่อมโยงกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน  ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573)  และความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง)

พลเอกอนันตรพรกล่าวด้วยว่า  กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ( พ.ศ.2560-2579)  ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวมีวิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579”  โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยประมาณ  3-4  ล้านครัวเรือน   ทั้งนี้แผนแม่บทดังกล่าว  มีกลไกในการขับเคลื่อนงาน  คือ มีคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  และมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยขึ้นมา  เพื่อส่งเสริมการออมและเป็นแหล่งทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยขึ้นมา

พลเอกอนันตพรกล่าวด้วยว่า  นับแต่เริ่มแผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2560 การเคหะแห่งชาติและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้จัดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยไปแล้วกว่า 200,000 ครัวเรือน  เช่น  การเคหะฯ ทำเรื่องแฟลตดินแดงที่ประชาชนอยู่อาศัยมานานกว่า 50 ปี  โดยมีเป้าหมายประมาณ 6,500  ยูนิต  เก็บค่าเช่าประมาณ 1,000-4,000บาทต่อเดือน   ประมาณอีก 6 ปีจะแล้วเสร็จทั้งหมด  ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  หรือ พอช. ทำเรื่องบ้านมั่นคงไปแล้วประมาณ  100,000  หลัง  และโครงการบ้านพอเพียงซึ่งเป็นโครงการซ่อมแซมบ้านเรือนในชนบทที่ยากจนประมาณ  80,000 หลัง  และกระทรวง พม.  ทำเรื่องบ้านผู้สูงอายุ  คนพิการ  ฯลฯ  ประมาณ  40,000-50,000 หลัง

“อีกประมาณ 17 ปี  หรือภายในปี 2579 คาดว่าจะทำเรื่องบ้านได้ทั้งหมด 3-4 ล้านหลังตามแผนแม่บทที่อยู่อาศัย 20 ปี    ซึ่งจะต้องมีการสำรวจข้อมูล   ส่งเสริมการออมทรัพย์  การจัดหาที่ดินใหม่ที่ไม่ไกลและสะดวกในการเดินทาง  การออกแบบบ้าน  ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้   ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความสำเร็จ   ขณะเดียวกัน พอช.และการเคหะฯ  เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้วก็จะช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น  จะมีการสร้างอาชีพ  มีตลาดประชารัฐ  สร้างรายได้  ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง  มีความมั่นคงในชีวิตต่อไป”   พลเอกอนันตพรกล่าวทิ้งท้าย

การจัดงาน ‘สร้างไทยไปด้วยกัน : สร้างบ้าน สร้างชุมชน ไทยทุกคนมั่นคง เข้มแข็ง  เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกในปีนี้  นอกจากจะมีการจัดเวทีเสวนา  และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศแล้ว  ภายในงานยังมีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่หน่วยงานและบุคคลที่สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยจำนวน  15 ราย  ได้แก่

1.เทศบาลเมืองสุรินทร์  จังหวัดสุรินทร์  2.องค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา จังหวัดเชียงใหม่  3.เครือข่ายคนไร้บ้าน  4.คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตตำบลระบำ จังหวัดอุทัยธานี  5.โครงการบ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) 6.โครงการบ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า) 7.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  จังหวัดนครศรีธรรมราช   8.มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  9.กรมธนารักษ์  10.สำนักปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)  11.กรมเจ้าท่า   12.ธนาคารอาคารสงเคราะห์  13.บริษัท SCG  14.เครือข่ายชุมชนริมคลอง และ 15. นายจรัส อมรชัยนนท์ (เจ้าของที่ดินชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง)

สำหรับผู้แทนจากเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศเอเซียที่เข้าร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกในประเทศไทยมีทั้งหมด 10 ประเทศ  จำนวน 57 คน  เช่น  อินเดีย  ปากีสถาน  กัมพูชา  พม่า  เวียดนาม อินโดนีเซีย   ฟิลิปินส์  ฯลฯ  นอกจากนี้ผู้แทนต่างประเทศจะเดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างๆ  ที่มีการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก  เช่น  บ้านหาดเล็ก  อ.คลองใหญ่  จ.ตราด ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินของกรมเจ้าท่า  กระทรวงคมนาคม, บ้านมั่นคงชนบทตำบลปากช่อง  อ.ปากช่อง  จ.นครราชสีมา  เป็นที่ดิน ส.ป.ก.ที่ยึดคืนมาจากผู้ครอบครองไม่ถูกต้อง,  บ้านมั่นคง  อ.เมือง  จ.นครสวรรค์ฯลฯ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"