ร.๗ เสด็จฯเลียบมณฑลพายัพ  ดำเนินนโยบายประนีประนอมชาวจีน


เพิ่มเพื่อน    


    ระหว่างวันที่ ๖ มกราคมถึงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ (พิษณุโลก) และมณฑลพายัพ (แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย พะเยาและเชียงใหม่) เป็นเวลา ๓๒ วัน เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสำคัญนานาประการ เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังเสวยราชสมบัติได้เพียงปีเศษเท่านั้น
    ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรีที่ทรงเคยเสด็จฯ มณฑลฝ่ายเหนือ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปตั้งแต่ครั้งทรงผนวชใน พ.ศ.๒๓๗๖ และเมื่อทรงครองราชย์แล้วใน พ.ศ.๒๔๐๙  
    ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินพระบรมราโชบายตามแบบอย่างพระบรมชนกนาถ เสด็จฯ ทรงปิดทองสมโภชพระพุทธชินราชและจำลองหล่อพระพุทธชินราชเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ และต่อมาเสด็จประพาสต้นเป็นครั้งแรกเมื่อรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๓ (พ.ศ.๒๔๔๗) 
    ส่วนมณฑลพายัพนั้นไม่ปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดแห่งราชวงศ์จักรีเคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึงในขณะครองราชย์ แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๔๕๓-๒๔๖๘) เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึงเมืองนครเชียงใหม่เมื่อพ.ศ.๒๔๔๘ ขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร 
    พระราชดำริสำคัญเกี่ยวกับการเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพครั้งนั้น ถูกยกมากล่าวอ้างอิงในจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือพระพุทธศักราช ๒๔๖๙ ซึ่งรวบรวมโดย รองอำมาตย์ตรี กมล มโนชญากร จ่าจังหวัดน่าน ความว่า 
    “ หัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือเป็นเมืองที่ตั้งมาแต่โบราณกาล บางเมืองบางสมัยถึงได้ใช้เป็นราชธานีในสยามประเทศนี้ ทั้งประกอบด้วยเป็นเมืองที่มีนักปราชญ์ชั้นเอกเลื่องลือนาม....นับว่ายังไม่มีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์ใดได้เสด็จ พระราชดำเนินไปเลย จริงอยู่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (บางทีพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปแล้วแต่เสด็จฯ ไปเมื่อยังมิได้ราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตราธิราช เพราะฉะนั้นหาก ครั้งนี้ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังมณฑลพายัพ ก็ต้องนับว่าพระองค์เป็นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์แรกที่ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังมณฑลนั้น...”
    เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ ต่อมาเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาความยุ่งยากและวิกฤติเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข     
    นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีการดำเนินนโยบายประนีประนอมกับชาวจีน การต่อต้านชาวจีนโดยเน้นเรื่องเชื้อชาติและการปลุกกระแสชาตินิยมหมดไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตระหนักดีว่าการตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ชาวจีนไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีอย่างใด และการใช้พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แบบบังคับให้มีการผสมกลมกลืนระหว่างชาวไทยกับชาวจีนไม่ได้ผลดีเท่ากับวิธีการปล่อยให้ผสมกลมกลืนกันเองโดยธรรมชาติ 
    ดังเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จฯ เลียบมณฑลพายัพและนครเชียงใหม่ สมุหเทศาภิบาลกราบบังคมทูลเบิกพวกพ่อค้าจีนจังหวัดเชียงใหม่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบพ่อค้าจีนที่เชียงใหม่ ความว่า 
    “...เราได้ฟังถ้อยคำของท่านทั้งหลายซึ่งกล่าวอวยชัยให้พรเราพร้อมทั้งพระราชินี กระทำให้เป็นที่จับใจเรายิ่งนัก เพราะนอกจากเป็นเครื่องสำแดงอัธยาศัยไมตรีหวังดีต่อเราให้ปรากฏส่วนอันที่จริง ความสัมพันธ์ในระหว่างคนไทยกับจีนนี้จะพึ่งมีขึ้นในบัดนี้หรือในเร็ววันนี้หามิได้ ได้มีมาแต่ครั้งโบราณกาลนมนานมาแล้ว ถึงแม้ไทยกับจีนจะไม่ใช่ชนชาติเดียวกัน แต่เพราะไทยกับจีนได้ไปมาค้าขายทำการติดต่อกันมา 
    ด้วยความเรียบร้อยเป็นเวลาช้านานจนสนิทชิดเชื้อเป็นอย่างกันเอง อาศัยความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันนี้และเป็นเหตุจูงใจคนไทยมีตัวเราเป็นอาทิ ให้บังเกิดความรักใคร่นับถือจีนเสมอเหมือนพี่น้องหรือมิตรสหายของไทยทีเดียว 
    อีกประการหนึ่งเล่า ประชาชนชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งเคหสถานและประกอบการอาชีพอยู่ในเมืองไทยก็ได้ทำความเจริญแก่ประเทศสยามเป็นอเนกประการ พยานหลักฐานที่แลเห็นได้ง่ายซึ่งควรหยิบยกขึ้นอ้างในที่นี้นั้น ก็เช่นการกสิกรรมและพาณิชการซึ่งพวกท่านได้จัดทำอยู่ในบัดนี้เป็นตัวอย่าง 
    ทั้งในบางครั้งบางสมัยจีนยังได้เป็นกำลังช่วยเหลือราชการบ้านเมือง ตลอดถึงช่วยในการกุศลสาธารณประโยชน์อย่างอื่นๆ อันเป็นเครื่องสนับสนุนเพิ่มพูนความเจริญแห่งชาติให้สำเร็จลุล่วงไปก็ยังมีอีกมากมาย 
    ท่านทั้งหลายจงมั่นใจเถิดว่า คนจีนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย แม้จะแตกต่างกับคนไทยก็แต่เพียงชาติกำเนิดเท่านั้น แต่ในส่วนสิทธิอำนาจอันชอบธรรมซึ่งคนจีนควรจะพึงมีพึงได้แล้วคนจีนจะไม่แตกต่างกับคนไทยเลย
    ตัวเราพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของเราได้พยายามอยู่แล้วอย่างเต็มที่ที่จะให้คนจีนได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ความยุติธรรม ความพิทักษ์รักษา และความเสมอภาค ฯลฯ เท่าเทียมกับคนไทยผู้เป็นเจ้าของถิ่นฐานบ้านเมืองเหมือนกัน 
    วันนี้ท่านทั้งหลายถือว่าเป็นศุภวารดิถีอภิลักขิตกาลตรงกับวันขึ้นปีใหม่ทางฝ่ายจีนโดยจันทรคตินิยม ได้พรักพร้อมกันมาสโมสรสันนิบาต ณ ที่นี้อวยชัยให้พรเรา 
    ฉะนั้นในนามแห่งคนไทยและชาติไทยมีตัวเราเป็นประมุข เราขออำนวยพรให้ท่านทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยไมตรีหวังดีต่อตัวเราพร้อมพระราชินี จงดลประสิทธิ์ในจตุรพิธพรทั้งสี่ ประสพแต่สิ่งเป็นศรีศุภมงคลสวัสดิ์ นิราศไร้สรรพภัยพิบัติอุปัทวันตราย ประกอบการค้าขายวัฒนาสถาพรโดยลำดับเป็นนิตย์นิรันดร์ เทอญ”
    การที่พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบพ่อค้าชาวจีนข้างต้น บ่งชี้ว่าทรงตระหนักถึงปัญหาคนจีนในสยามเป็นอย่างดี 
    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการใช้ลัทธิชาตินิยมต่อสู้กับอิทธิพลของคนจีน ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ว่าอยากเห็นการผสมผสานระหว่างคนไทยกับคนจีน รวมทั้งจะปฏิบัติต่อคนจีนเช่นเดียวกับคนไทย 
    ทั้งนี้ เพราะความใกล้ชิดสนิทสนมของคนทั้งสองเชื้อชาติที่มีมาแต่อดีต พระองค์ทรงเห็นว่าการดำเนินมาตรการเช่นนี้จะทำให้คนจีนมีความรู้สึกเป็นคนไทยและจงรักภักดีกับแผ่นดินสยามเช่นเดียวกับแผ่นดินเกิด จะเห็นได้จากความสืบเนื่องต่อมาในรัชสมัยของพระองค์มิได้ออกพระราชบัญญัติใหม่ๆ เกี่ยวกับคนจีนอีก 
    ยกเว้นพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๗๐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมการอพยพการเข้ามาของคนจีนมิให้มีจำนวนมากเกินไป 
    นับแต่การสร้างทางรถไฟสายเหนือ สายอีสาน สายใต้เสร็จสิ้นไม่นาน ชาวจีนจำนวนมากได้โยกย้ายถิ่นฐานทั้งจากที่อยู่ในสยามนานแล้ว และที่เพิ่งจะเดินทางขึ้นมาจากสิงคโปร์ และมลายู ชาวจีนให้จับจองพื้นที่ริมทางรถไฟสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่ ทั่วประเทศไทย ชาวจีนส่วนใหญ่ทำมาค้าขาย จึงมีอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจสูง  และด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทย ชาวจีนกับคนไทยผสมกลมกลืนกันโดยธรรมชาติ และเป็นหนึ่งเดียวมาถึงทุกวันนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"