ปฐมวัย เป็นช่วงเวลาของการพัฒนาที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ สุขภาวะที่เกิดในช่วงปฐมวัยจะติดตัวเป็นต้นทุนชีวิตเมื่อเติบโต ในวัยนี้เด็กจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วทั้งทางสมอง การใช้ภาษา ทักษะทางสังคม ทางอารมณ์ และการเคลื่อนไหว การลงทุนในงานพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว
สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. เป็นสำนักที่มีหน้าที่สนับสนุนดูแลสุขภาวะของเด็กทุกช่วงวัย โดยมีจุดเน้นสำคัญคือ การดูแลเด็กปฐมวัย หรือตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึง 8 ปี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุด หรือกล่าวได้ว่า เป็นการทำเหตุให้ดี เพื่อผลที่ดีจะเกิดตามมา
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. กล่าวใน งานลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ถือเป็นจุดคานงัดของการพัฒนาเด็กปฐมวัย เนื่องจากในสังคมปัจจุบันครอบครัวส่วนใหญ่ไม่สามารถเลี้ยงลูกเล็กได้เองเพราะพ่อแม่ต้องไปทำงาน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต่างๆ จึงกลายเป็นทางเลือกหลักปัจจุบันเด็กปฐมวัยร้อยละ 76.3 อยู่ในการดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/โรงเรียนอนุบาล
สสส.เล็งเห็นความสำคัญจึงร่วมมือกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และภาคีภาควิชาการ ดำเนินงานพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแบบก้าวกระโดดภายใต้ โครงการสร้างเสริมศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย (COACT) โดยเป็นการพัฒนาทั้งระบบ (Whole School Approach) เพื่อสนับสนุนเด็กปฐมวัยให้มีการพัฒนาสมวัยอย่างสมดุลทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
โครงการ COACT มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ 1. มุ่งพัฒนาให้เกิดระบบการดูแลส่งเสริมเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่เหมาะสมในทุกด้านโดยใช้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นหน่วยในการขับเคลื่อน 2.ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ บุคลากร การบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณ ตามความพร้อมของแต่ละฝ่าย 3. มุ่งพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด และ 4.สนับสนุนการจัดการความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการวิจัย ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมี ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ร่วมโครงการและยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ จำนวน 23 ศูนย์ กระจายทั่วทุกภาคของประเทศ
นางสาวณัฐยา กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คือ การที่ทุกฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญอย่างแท้จริงโดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่นที่เป็นผู้ดูแลหลัก สิ่งนี้จะทำให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นหนึ่งในศูนย์เรียนรู้ต้นแบบที่มีความเข้มแข็ง จากเดิมที่เป็นศูนย์ขนาดเล็ก 3 แห่งกระจายอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ก็มารวมเป็นศูนย์เดียว
ส่งผลให้เกิดการรวมบุคลากรและทรัพยากรต่างๆ เอื้อให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดจนกลายเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ได้รับความไว้วางใจจากครอบครัวกว่าร้อยละ 70 ของตำบลออนใต้ โดยสิ่งที่โดดเด่นมากคือการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของศูนย์ฯ จนเกิดเป็นชมรมผู้ปกครองที่มีความเข้มแข็ง เป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างบ้านและโรงเรียนในการพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบไร้รอยต่อ
“ขั้นต่อไปของการทำงานคือ การขยายเครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจากศูนย์เรียนรู้ต้นแบบไปยังศูนย์อื่นๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการเพิ่มจำนวนศูนย์เรียนรู้ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดย สสส. พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเห็นผลสำเร็จไปพร้อมกัน ” นางสาวณัฐยา กล่าว
นางเจริญวรรณ มงคลจีระอุทัย รักษาการหัวหน้า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลออนใต้ กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลออนใต้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 โดยรวมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในตำบลออนใต้ทั้ง 3 แห่ง และย้ายมาอยู่ที่ปัจจุบันเมื่อเดือนมกราคม 2558 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาได้ 2 ปีในปัจจุบันมีจำนวนเด็ก 160 คน ทั้งในชั้นเตรียมอนุบาล และชั้นอนุบาล1-3 สำหรับจุดเริ่มต้นของการพัฒนานั้น เริ่มจากผู้นำชุมชนเห็นความสำคัญโดยทางเทศบาลตำบลออนใต้เข้ามาส่งเสริม ร่วมกับการสร้างภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานต่างๆ นำมาสู่การเข้าร่วมโครงการ COACT ที่สนับสนุนโดย สสส.
นางเจริญวรรณ เล่าต่อว่า การเข้าร่วมโครงการ COACT ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กออนใต้มีความเข้มแข็งด้านการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยการนำรูปแบบการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเพื่อความเป็นเลิศใน “5 ระบบหลัก” คือ 1. ระบบบริหารจัดการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2. ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม 3.ระบบการจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 4. ระบบการดูแลสุขภาพ และ 5. ระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน มาบูรณาการให้เข้ากับบริบทในพื้นที่ และปัญหาที่พบในศูนย์ เช่น เรื่องระบบการดูแลสุขภาพ ซึ่งทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเคยประสบปัญหาโรคมือเท้าปากในเด็กระบาดอย่างหนัก จึงแก้ไขด้วยการจัดการให้มีการตรวจร่างกายนักเรียนก่อนเข้าโรงเรียน 10 ท่า ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และจัดทำจุดล้างมือ เพื่อป้องกันและขจัดเชื้อโรค ซึ่งมาตรการนี้เป็นผลให้ไม่มีโรคมือเท้าปากเกิดขึ้นอีก
นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเด็ก ทางศูนย์ได้จัดทำสนาม BBL ตามมาตรฐานที่ สสส.แนะนำ เพื่อให้เด็กได้มีพื้นที่เสริมกิจกรรมทางกายอีกด้วย อีกทั้งยังสนับสนุนให้มีกิจกรรมดนตรีกระตุ้นทักษะสมอง EF (Executive Function) โดยนำเครื่องดนตรีท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการสร้างการเรียนรู้ไปพร้อมกิจกรรมเคลื่อนไหวตามจังหวะ ช่วยแก้ปัญหาความก้าวร้าวในเด็ก และลดปัญหาเด็กสมาธิสั้นได้ ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้นถึง 80% อีกด้านที่เป็นจุดเด่น คือ ระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน โดยจะมีการวางแผนการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกับผู้ปกครอง และชุมชน ในเรื่องการดูแลและพัฒนาเด็กอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอทำให้เกิดแนวคิดพัฒนาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ผู้ปกครองบางท่านก็สนับสนุนอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก ขณะที่ชุมชนก็จะมาช่วยเหลือเสมอเมื่อมีการจัดกิจกรรมขึ้นในศูนย์
“เคยถามผู้ปกครองท่านหนึ่งว่า ทำไมถึงเข้ามาช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คำตอบที่ได้คือ การช่วยพัฒนาสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก็เหมือนช่วยสร้างพัฒนาการให้แก่ลูกของตนเอง ประโยชน์ที่ได้มันมากกว่าการลงทุน ซึ่งพอได้ยินเช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้ภูมิใจ” นางเจริญวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
การพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างถูกต้อง จะช่วยเด็กๆ เติบโตย่างสมดุลทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ก่อนกลายเป็นพลเมืองที่มุ่งทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และการพัฒนา
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |