กก.ปฏิรูปประเทศฯ หารือ "จักรทิพย์" เดินหน้าปฏิรูปตำรวจ เคาะนำร่อง 4 กิจกรรมเร่งด่วน ทั้งให้แจ้งความได้ทุกท้องที่ จัดทนายประจำโรงพัก ห้ามนำตัวผู้ต้องหาแถลงข่าว และการปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุด "อำนวย" เชื่อจะช่วยลบคำครหา "เศรษฐีนอนบ้าน ขอทานนอนคุก" แย้มร่าง กม.ปฏิรูปสีกากีเสร็จแล้ว รอชงครม.พิจารณา ก่อนเสนอ สนช.ขั้นสุดท้าย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 9 ต.ค. นายอัชพร จารุจินดา ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม พร้อมคณะ เข้าพบพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อหารือการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการดำเนินการระหว่างองค์กร โดยเฉพาะแผนระยะเร่งด่วน การรับแจ้งความร้องทุกข์ต่างท้องที่, การห้ามนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว, โครงการทนายอาสาประจำสถานีตำรวจ และการปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการ
จากนั้นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมได้หารือกับคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย รักษาการผู้ช่วย ผบ.ตร. ใช้เวลาประมาณ 1 ชม.
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม แถลงว่า ตามนโยบายรัฐบาล การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ที่มีความเร่งด่วนโดยไม่ต้องแก้กฎหมาย ไม่ต้องใช้งบประมาณ หรือที่ต้องใช้ก็มีจำนวนไม่มาก คณะกรรมการฯ จึงคัดกิจกรรม มีด้วยกัน 142 กิจกรรรม แต่กิจกรรมเร่งด่วนครบตามองค์ประกอบมี 4 กิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ 1.การรับแจ้งความต่างท้องที่ แจ้งความได้ทั่วราชอาณาจักรเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว 2.การจัดให้มีทนายความประจำทุกสถานีตำรวจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน คนรวยมีทนายความประจำตัว คนจนไม่มีเงินจ้างทนายเมื่อเดินขึ้นโรงพักมีทนายความรอให้คำปรึกษา
"ในระยะแรกจะจัดทนายให้ครบทั้ง 1,482 สถานีไม่ได้ แต่จะจัดทนายไว้ที่ สภ.เมืองทุกจังหวัด แล้ว สภ.เมืองสามารถที่จะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังสถานีในจังหวัดเดียวกันได้ โดยมีว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ ให้ความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" พล.ต.ท.อำนวยกล่าว
ส่วน 3.การห้ามนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว การนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวเป็นการล่อแหลมในการประจานผู้ต้องหา ทุกคนต้องถือว่าบริสุทธิ์ตราบใดที่จะมีคำพิพากษาของศาลจนถึงที่สุด แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต่อสาธารณะ เช่น เตือนภัยให้กับสังคม สามารถทำได้ เรื่องนี้นายกฯ และ ผบ.ตร.ก็ได้มีวิทยุเร่งด่วนไปแล้ว กฎหมายก็เขียนต้องมาขับเคลื่อนกันต่อ และ 4.การปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุด เมื่อศาลพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุด แปลว่าองค์กรในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ต้องออกมาขับเคลื่อนตามด้วย ทั้งตำรวจ อัยการ ราชทัณฑ์
“4 กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมนำร่อง ต่อจากนี้ไปเป็นการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างอื่น เช่น การนำกำไลข้อเท้าอีเอ็มมาใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อลบคำพูดที่ว่าเศรษฐีนอนบ้าน ขอทานนอนคุก รวมทั้งจากนี้คณะกรรมการปฏิรูปฯ จะเดินหน้าปฏิรูปไปพร้อมๆ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" พล.ต.ท.อำนวยกล่าว
คณะกรรมการปฏิรูปฯ กล่าวว่า ในวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้ประชุมนัดสุดท้ายของการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาได้ตกผลึกเสร็จสิ้นแล้ว ต่อไปนำเข้าสู่ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำเข้า สนช. ถ้าผ่านเป็นที่เรียบร้อย ก็แปลว่ากฎหมายใช้บังคับ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้าง อำนาจการสืบสวนสอบสวน
ด้าน พล.ต.อ.วิระชัยกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ที่ได้กำหนดกิจกรรมเร่งด่วนทั้ง 4 เรื่อง
ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์กล่าวเช่นกันว่า สภาทนายความได้ประสานกับ ตร.เรื่องทนายความประจำสถานี การเตรียมความพร้อมได้อบรมทนายความอาสาเพื่อให้มีมาตรฐานการช่วยเหลือประชาชน คนจนคนยากไร้ต้องมีทนายความให้คำปรึกษา ทั้งแพ่งและอาญา ทั้งผู้ต้องหาและผู้เสียหาย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนทนายที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 9,000 คน
วันเดียวกัน ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติชุดใหม่ นำโดย พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย รักษาการผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าทีมโฆษก ตร., พล.ต.ต.มนตรี ยิ้มแย้ม รักษาการจเรตำรวจ และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ผกก.ตม.จันทบุรี ในฐานะรองโฆษก ตร. แถลงแผนการทำงานของทีมโฆษก ตร.
พล.ต.ท.ปิยะกล่าวว่า ทีมโฆษก ตร.จะทำหน้าที่สื่อกลางในการนำเสนอผลการปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในภาพรวมไปถึงประชาชนและตำรวจทั้งกว่า 2 แสนนาย ในการรับทราบข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้อง โดยได้วางระบบการทำงานสอดประสานระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับกองบัญชาการภาค กองบังคับการ และสถานีตำรวจ รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานความมั่นคง ทั้งของรัฐบาล เหล่าทัพ และกระบวนการยุติธรรม
โฆษก ตร.กล่าวว่า ในการชี้แจงประเด็นเร่งด่วนเรื่องใดก็ตามที่เป็นเหตุด่วนเหตุร้าย ผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ หรือหัวหน้าสถานีตำรวจ ต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยทันที ไม่จำเป็นต้องให้ทางส่วนกลางชี้แจง โดยในทีมโฆษก ตร. ได้แบ่งความรับผิดชอบการตอบประเด็นทั่วไปหรือเหตุที่เกิดเร่งด่วนให้ พ.ต.อ.กฤษณะเป็นคนรับผิดชอบ ส่วนงานกิจกรรมหรือตรวจสอบความประพฤติตำรวจ ให้ พล.ต.ต.มนตรีเป็นคนชี้แจง ถ้าเป็นประเด็นเชิงนโยบาย มอบหมายให้ พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รรท.ผบช.ภ.2 เป็นคนรับผิดชอบ
"ตัวผมจะคอยชี้แจงประเด็นที่อาจมีผลกระทบต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติในภาพรวม หรือการประสานกับหน่วยงายราชการอื่น พร้อมทั้งการรับนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อให้เป็นไปทิศทางเดียวกัน" โฆษก ตร.กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |