ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ 0.4%


เพิ่มเพื่อน    

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่ม 308-330 บาทต่อวัน เพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ 0.4%   


ผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ที่เคาะออกมาในคืนวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา โดยมีมติให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ด้วยอัตรา 308-330 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 315.97 บาทต่อวัน จากเมื่อปี 2560 มีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ในช่วง 300-310 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 305.44 บาทต่อวัน โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 นี้ เป็นการปรับขึ้นแบบไม่เท่ากันทั่วประเทศตามแต่ละพื้นที่ โดยจัดกลุ่มจังหวัดแบ่งค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 7 ระดับ ต่างจากปีก่อนที่แบ่งออกเป็น 4 ระดับ เนื่องจากเพิ่มตัวแปร เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI), ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) เข้ามาในสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบใหม่ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า จังหวัดที่ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดที่ 330 บาทต่อวัน เป็นจังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งสอดคล้องไปกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการดึงดูดแรงงานที่พอจะมีทักษะฝีมือให้เคลื่อนย้ายมาทำงานในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษมากยิ่งขึ้น ขณะที่จังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่น้อยที่สุด ที่ 308 บาทต่อวัน เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนน้อย ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มไม่มาก แต่สอดคล้องกับค่าครองชีพของแรงงาน ซึ่งน่าจะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการเข้าไปลงทุน เพื่อสร้างงานให้คนในพื้นที่มากขึ้นตามไปด้วยค่าแรงขั้นต่ำปี 61 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6% ดันต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่ม 0.4% 


อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6% จะส่งผลกระทบทางตรงต่อต้นทุนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) ให้เพิ่มขึ้นประมาณ 0.5% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในภาคบริการที่มักพึ่งพิงแรงงานไร้ฝีมือ และจ่ายค่าจ้างโดยอ้างอิงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลัก ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหารและที่พักแรม รวมถึงธุรกิจผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มและเฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนภาคเกษตรกรรม 
ขณะที่ ธุรกิจอื่นๆ ที่แต่เดิมจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากหรือพึ่งพิงแรงงานกึ่งมีฝีมือเป็นหลัก อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากจำต้องปรับเพิ่มค่าจ้างของแรงงานกึ่งมีฝีมือเพื่อรักษาระดับความต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานกึ่งมีฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือไว้ท่ามกลางสภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของธุรกิจและอุตสาหกรรมในภาพรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 0.4% ของต้นทุนทั้งหมด 

นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีทางเลือกค่อนข้างจำกัดในการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ ดังนั้น หากภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถนำค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า ก็น่าจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนบางส่วนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"