ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ ถือว่าขยายตัวได้เป็นอย่างดี โดยหลายหน่วยงานมีการปรับประมาณการการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยสนับสนุนทั้งในและนอกประเทศ รวมกับปัจจัยเรื่องความแข็งแกร่งของพื้นฐานเศรษฐกิจ ที่ถือเป็นภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนในหลายๆ เรื่องจากตลาดโลก
"ธนาคารโลก (World Bank)" ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ออกมาขยับคาดการณ์จีดีพีของไทยปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 4.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.1% ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากความพยายามและเร่งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศอย่างจริงจัง จนกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อีกทั้งความพยายามในการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ด้านภาษีอย่างจริงจังอีกเช่นกัน ก็ถือเป็นอีกประเด็นที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และคาดว่าในระยะยาวด้วย
นอกจากนี้ "ธนาคารโลก" ยังชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่ช่วยสะท้อนว่าเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง จากวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศตุรกี และหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจในหลายประเทศในภูมิภาคให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาท อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในขณะที่ไทยเองไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวมากนัก ด้วยเพราะเสถียรภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และภาคการคลังก็อยู่ในระดับที่มั่นคง โดยมีหนี้สาธารณะในระดับต่ำเพียง 43% ของจีดีพี รวมถึงยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ไทยไม่เกิดความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว
ขณะที่ภาคการส่งออก แม้ว่าในปีนี้จะยังขยายตัวได้เป็นอย่างดี แต่ในระยะต่อไปในปี 2562-2563 "ธนาคารโลก" มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ภาคการส่งออกในตลาดโลกจะมีปัญหา ไม่ราบรื่น เฟื่องฟูเหมือนที่ผ่านๆ มา เนื่องจากตลาดการค้าโลกจะมีความผันผวนมากขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงในหลายๆ เรื่อง ทั้งการกีดกันทางการค้า สงครามการค้า ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นในช่วงต่อไปนี้ ทำให้ไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจถึง 70% ต้องหันมาให้ความสำคัญในการหาตลาดส่งออกรองรับ หรือทดแทนตลาดส่งออกหลักที่อาจมีปัญหา
ซึ่ง "ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ถือเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศนี้ยังมีทิศทางการเติบโตที่น่าสนใจ ประกอบกับไทยจะต้องหันมาดูปัจจัยขับเคลื่อนจากภายในประเทศมากขึ้น ที่แม้จะมีการประเมินว่าปัจจัยขับเคลื่อนเรื่องการลงทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่จะแผ่วลง แต่ก็ยังมีปัจจัยภายในประเทศอื่นๆ ที่มีความพร้อมในการสนับสนุนการเติบโตของประเทศในระยะต่อไปได้
ขณะที่ "ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)" ยังคงคาดการณ์ว่าปีนี้จีดีพีไทยจะขยายตัวได้ที่ 4.4% โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักยังมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น ส่วนภาคการส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 9% ก่อนจะปรับลดลงในปี 2562 มาอยู่ที่ระดับ 4.3% ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั่นเอง
ส่วน "กระทรวงการคลัง" เอง ก็ยังการันตีว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งอย่างมาก สามารถรองรับปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี โดยสะท้อนจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาไทยยังไม่มีปัญหาการไหลออกของเงินทุน แม้ว่าจะมีการขายหุ้นออกไปบ้าง แต่ก็เป็นการโยกเงินไปลงทุนในพันธบัตรแทน ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีเงินไหลเข้าไปลงทุนในตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเนื่องจากนักลงทุนต้องการพักเงินรอไว้ลงทุนในประเทศไทยต่อ เพราะเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง มั่นคง ไม่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และความชัดเจนของโครงการลงทุนระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ไปจนถึงความชัดเจนของการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในปีหน้า ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่น และเลือกที่จะลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในไทยต่อไป.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |