“ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ถกเครียด 2 ชั่วโมง ก่อนให้สรุปผล 10 พ.ย.ว่าจะเอาอย่างไรแน่แผน “แยกกันเดินร่วมกันตี” “ประวิตร-วิษณุ” ไฟเขียวสมุนพบนายเหนือ ชี้ทุกคนมีเสรีภาพ! รับตั้งพรรคเงาขึ้นได้ หากมีทุนมีสมองก็ไม่ผิด เสื้อแดงอ้าแขนรับ “เพื่อชาติ-เพื่อธรรม” อุตตมสุดมึนข่าวไขก๊อก 12-13 ธ.ค.มาอย่างไร บิ๊กป้อมลั่นเสียงโห่บุรีรัมย์เป็นการต้อนรับ ภท.รีบปัดข่าวเลือกข้าง บอกต้องรอหลังเลือกตั้ง
เมื่อวันจันทร์ มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) แจ้งความเคลื่อนไหวของนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเมื่อวันที่ 8 ต.ค. นายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ร่วมรับประทานอาหารและหารือกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการ พท. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรค และแกนนำอดีต ส.ส.ภาคอีสานประมาณ 5 คน ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นการหารือถึงยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทย และวิเคราะห์มุมมองความเป็นไปได้ต่างๆ ว่าจะมีอะไรทำให้ พท.ประสบอุบัติเหตุได้หรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้ทุกฝ่ายจะนำมุมมองต่างๆ ที่พูดคุยกันไปวิเคราะห์ถึงการเดินเกมเพื่อไปสู่การเลือกตั้งว่า สมาชิก พท.จะอยู่สู้ต่อไปในนามพรรคเพื่อไทย หรือต้องย้ายไปยังพรรคสำรองที่เตรียมไว้แล้ว
“ผลสรุปจะออกมาภายในวันที่ 10 พ.ย. เนื่องจากวันที่ 24 พ.ย.จะเป็นเส้นตาย 90 วันการเป็นสมาชิกพรรคก่อนการเลือกตั้ง หลังการพูดคุยนายทักษิณจะเดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังอยู่ที่เกาะฮ่องกง ก่อนที่ทั้ง 2 คนจะเดินทางไปพบกันที่สาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป” รายงานระบุ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงแกนนำ พท.เดินทางไปพบนายทักษิณว่า เราปล่อยให้เขาออกนอกประเทศได้แล้ว เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ว่าเขาไปทำอะไร ส่วนจะผิดในลักษณะการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ต้องไปถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวเช่นกันว่า ไม่มีอะไรที่น่าจะผิดกฎหมาย สื่อไม่ควรสรุปเองว่าการซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางไปต่างประเทศก็เพื่อที่จะไปคุยกันในเรื่องที่เป็นข่าว เพราะเขาอาจไปทำอย่างอื่นก็ได้ เช่น ช็อปปิ้งหรือเดินเล่นกินข้าว การจะทำอะไรผิดกฎหมายนั้นต้องมีพฤติการณ์ที่ชัดเจน แต่การซื้อตั๋วไปฮ่องกง ดูไบ มอนเตเนโกรนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกคนมีเสรีภาพในการเดินทาง
“ต่อให้ไปเจอคุณทักษิณ ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร จะถือว่าคุณทักษิณครอบงำพรรคหรือไม่ ขออย่าได้วินิจฉัยเลยเรื่องนี้ ถูกกฎหมายหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถูกต้องหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองตั้งพรรคสำรองเพื่อรองรับการเลือกตั้งว่า พรรคการเมืองจะแตกยอดจดทะเบียนออกไปอีกกี่พรรคก็เรื่องของเขา เพราะเมื่อแยกออกไปแล้วก็ถือว่าเป็นคนละพรรคกัน ไม่ใช่หัวหน้าพรรคคนเดียวกัน คนละนโยบาย ถือเป็นคนละนิติบุคคล ส่วนเป้าหมายจะเหมือนกับพรรคที่แตกยอดออกมาหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะเรื่องนี้ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย แม้บางพรรคจะยอมรับว่าได้ตั้งพรรคสำรองไว้
“ใครจะมีทุน มีสติปัญญา จะไปคิดตั้งพรรคเพิ่มก็ไม่แปลกอะไร มันมีมาทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่เราอาจไม่รู้สึกว่าโจ่งแจ้ง ที่เขาต้องตั้งพรรคเพิ่มเพราะต้องการเก็บคะแนนให้ได้มากที่สุด เมื่อเขามองว่าเป็นช่องทางที่สามารถทำได้ก็เรื่องของเขา” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า รูปแบบนี้ตอบโจทย์การปฏิรูปพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะแทนที่นักการเมืองจะทำให้พรรคเข้มแข็ง แต่กลับตั้งพรรคเพิ่มเพื่อให้ได้คะแนนเสียงมากๆ นายวิษณุตอบว่าไม่ทราบ ตอบไม่ถูก เชื่อว่าประชาชนจะพิจารณาแล้วตัดสินใจได้ เมื่อเขาทำได้โดยไม่ผิดก็ไม่เป็นไร
แดงไม่ขัดจับมือ 'พธ.-พช.'
นายนิสิต สินธุไพร สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำคนเสื้อแดงกล่าวถึงพรรคเพื่อชาติ (พช.) ที่ได้รับการสนับสนุนจากแกนนำคนเสื้อแดงบางส่วน โดยยอมรับว่าตอนนี้มีทั้งพรรคเพื่อธรรม (พธ.) พรรคเพื่อชาติ แต่ยังไม่รู้ว่านโยบายจะเป็นอย่างไร รวมทั้งแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ยังไม่เคยหารือกันเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
“ไม่มีปัญหา เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ทราบถึงนโยบายจุดยืนว่าเป็นอย่างไร รู้เพียงแค่มีพรรคเพื่อชาติเกิดขึ้นแล้ว โดยวันที่ไปจัดรายการช่องพีซทีวี เจอกับนายจตุพรก็ได้สอบถามถึง ซึ่งนายจตุพรบอกเพียงว่าจะมีพรรคเพื่อชาติเกิดอีกพรรคหนึ่ง จากนั้นก็ไม่ได้ถามอะไรต่อ” นายนิสิตกล่าวตอบข้อถามที่ว่า พรรคเพื่อชาติและพรรคเพื่อธรรมเป็นพันธมิตรของพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่
ขณะที่นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ สมาชิกพรรคเพื่อไทยและอดีต รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อชาติ เพราะให้ใช้ห้างอิมพีเรียลสำโรงในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ว่า พรรคเพื่อชาติจัดตั้งมานานแล้ว โดยคนรู้จักกันเขามาขอใช้สถานที่ประชุม ก็ให้ใช้โดยเก็บเงินค่าเช่าเหมือนกรณีทั่วไป ส่วนตัวยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ลงในชื่อเพื่อไทย
มีรายงานข่าวจากผู้ร่วมก่อตั้งพรรค พช.ว่า การก่อตั้งพรรคเพื่อชาติเป็นยุทธศาสตร์การเก็บคะแนนทุกคะแนนไม่ให้ตกน้ำ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบีบให้พรรคการเมืองเล็กลง ทำให้ต้องหาทางออก โดยมีเป้าหมายด้านเศรษฐกิจและสร้างความปรองดอง ซึ่งในวันประชุมใหญ่ในเดือน พ.ย.นี้จะมีแนวร่วมคนเสื้อเหลือง-แดงระดับบิ๊กเนมมาร่วมเปิดตัว โดยตั้งเป้าหมาย ส.ส. 20-30 คน
สำหรับกระแส 4 รัฐมนตรีที่ไปร่วมงานพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น นายวิษณุย้ำว่าได้พูดในที่ประชุม ครม.ไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบอกอะไรอีก เชื่อว่าแต่ละคนรู้อยู่แล้วว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และการที่รัฐมนตรีลงเล่นการเมืองก็ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ส่วน 4 รัฐมนตรีจะลาออกหรือไม่ เมื่อไร ไม่เคยมีใครมาปรึกษา
พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงการลาออกของ 4 รมต.เช่นกันว่า "เป็นเรื่องของเขา เขาคิดของเขาเองได้"
อุตตมปัดไขก๊อก 12-13 ธ.ค.
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่าที่หัวหน้าพรรค พปชร.ปฏิเสธกระแสข่าวจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการในวันที่ 12-13 ธ.ค.ว่า ไม่เคยพูด ไม่เคยได้ยิน ตอบได้อย่างเดียวคือถึงเวลาที่เหมาะสมจะรู้เอง ส่วนเรื่องคุณสมบัติที่เป็นผู้จัดตั้งพรรค ซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปตั้งข้อสังเกตว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญนั้น ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ยืนยัน 4 รัฐมนตรีไม่ลงสมัคร ส.ส.แน่นอน
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าวประเด็นนี้เช่นกันว่า ไม่ทราบเรื่องการจะลาออกในวันที่ 12-13 ธ.ค.เลย คิดว่าสื่อคงคำนวณเองว่าจะลาออกเมื่อปลดล็อกหรือเมื่อพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ประกาศเลือกตั้งแล้ว
“มีสิทธิ์ตั้งคำถามได้ แต่ต้องย้อนไปดูในอดีตว่าหลายรัฐบาลปฏิบัติอย่างไร เช่น 2-3 รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็อยู่ถึงวันเลือกตั้งด้วยซ้ำ ไม่มีใครออกสักคน จึงต้องให้ความเป็นธรรมในการเทียบเคียงกับแนวปฏิบัติที่ผ่านมาด้วย” นายพุทธิพงษ์กล่าว
ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวเรื่องนี้ว่า หากพูดถึงความต่อเนื่องของงาน ถ้าอยู่ทำงานต่อไปคงจะเหมาะสมกว่า แต่ถ้าพูดถึงประเด็นความเหมาะสมหรือไม่ คนที่ทำงานเป็นถึงระดับเสนาบดี ก็ควรใช้วิจารณญาณทำงานและขอให้วางตัวเป็นกลางให้มากที่สุด ขอให้คิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติในการทำงานในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม เป็นสิ่งสำคัญมากกว่า
“สมัยก่อนเวลารัฐบาลยุบสภาก็ไม่เห็นมีรัฐมนตรีคนไหนลาออกไม่ใช่หรือ ก็เห็นรักษาการกันต่อไป จนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่แล้วก็ส่งไม้ต่อ ก็เห็นอยู่กันจนนาทีสุดท้าย ซึ่งครั้งนี้ก็คล้ายๆ กัน และในวันนี้ทุกคนก็ตั้งหน้าที่จะเดินหน้ากันไปให้ถึงวันเลือกตั้ง 24 ก.พ.62 และถ้าเกิดออกในช่วงนี้ก็อย่างที่ผมบอกแล้วว่าต้องปรับ ครม. เหลือเวลาเพียง 3-4 เดือนคงไม่ใช่เรื่องง่าย” นายวราวุธกล่าว
วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกระแสถูกชาวบุรีรัมย์โห่ขณะไปเปิดการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบ "บุรีรัมย์โมโตจีพี" ว่า "เขาโห่ต้อนรับ ไม่ได้โห่ไล่ โห่ให้รองนายกฯ ถ้าโห่ไล่ก็ต้องขว้างสิ่งของใส่ เขาจะมาโห่ไล่ทำไม ไปทำงานให้เขา ซึ่งก็ได้ยินเพราะเสียงดัง ไม่ได้รู้สึกดีใจอะไร รู้สึกปกติ ส่วนที่โซเชียลระบุว่าเป็นการโห่ไล่นั้น ยืนยันว่าเขาต้อนรับอย่างดี ส่วนคุณเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็ดีไม่มีอะไร และส่วนที่ลงพื้นที่อีสานบ่อยนั้น ไปทำงานเรื่องของหนี้นอกระบบ และวันที่ 26 ต.ค.นี้ก็จะไป จ.ศรีสะเกษ"
ส่วนนายสรอรรถ กลิ่นประทุม คณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการเชื่อมโยงพรรคกับรัฐบาลในการไปเปิดงานของ พล.อ.ประวิตรว่า งานแข่งขันจักรยานยนต์ถือเป็นงานระดับโลก ต้องให้คนระดับประเทศเปิดงานก็ถูกต้องแล้ว ส่วนการจับพรรคไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ ถือเป็นเรื่องธรรมดาตามวิถีการเมืองที่ต้องดิสเครดิตชิงความได้เปรียบ ซึ่งพรรคไม่ได้ให้ความสำคัญอะไร แต่หากกล่าวหาที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงและกระทบกับพรรคจนเกิดความเสียหาย พรรคต้องดำเนินการตามกฎหมาย
“ก่อนจับเราไปอยู่กับใคร อยากให้ย้อนไปฟังที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคพูดเมื่อคราวประชุมใหญ่ ว่าพรรคจะไปทางไหนต้องดูหลังการเลือกตั้ง ตรงนั้นเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่าวันนี้พรรคยังไม่เลือกข้าง แต่จะรอดูการตัดสินใจของประชาชนเป็นหลัก เพราะพรรคการเมืองต้องฟังประชาชน” นายสรอรรถกล่าว
สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตรองนายกฯ จะเข้าร่วมพรรค พปชร.ว่าเป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาเห็นพรรคดีเขาก็เข้า ถ้าเห็นพรรคไม่ดีเขาก็ไม่เข้า เป็นเรื่องธรรมดา
ที่พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการเมือง บุตรชาย พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้ก่อตั้งพรรคปวงชนชาวไทย เดินทางมาสมัครเป็นสมาชิก ชพน. โดยมี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้า ชพน.และคณะต้อนรับ โดย พล.อ.ฐิติวัจน์กล่าวว่าคุ้นเคยกับ ชพน.มาร่วม 30 ปีตั้งแต่สมัยเด็กๆ ถือเป็นการตัดสินใจโดยส่วนตัว ไม่มีใครมาชวน และได้แจ้งให้ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรทราบแล้ว เพราะต้องลาออกจากกรรมการปฏิรูปการเมือง โดยบุคคลทั้งสองไม่ได้สั่งหรือฝากให้ความเห็นใดๆ
ชงชื่อสุวัจน์เป็นนายกฯ
นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรค ชพน.กล่าวว่า นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกฯ และอดีตประธานที่ปรึกษาพรรรคยังไม่ได้เดินทางมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค แต่มั่นใจว่าจะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคแน่ หลังจากคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในช่วงปลายเดือน ต.ค. เพราะนายสุวัจน์อาจเป็น 1 ใน 3 รายชื่อที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกฯ ด้วย
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรและยุโรปได้รับเชิญให้ไปออกรายการ Today ของบีบีซี ซึ่งรายการได้แนะนำนายธนาธรในฐานะนักธุรกิจที่เข้ามาทำงานการเมืองเพื่อหวังเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยพิธีกรถามถึงเหตุผลที่กล้าเสี่ยงเข้ามาทำงานการเมือง ทั้งที่เป็นมหาเศรษฐี มีชีวิตที่สุขสบายอยู่แล้ว ซึ่งนายธนาธรระบุว่า ลำพังเพียงความสำเร็จในทางธุรกิจไม่สามารถทำให้พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ในประเทศได้ แต่ต้องการให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยนับล้านๆ คนดีขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่ตนเอง ซึ่งความเสี่ยงนั้นคุ้มค่าเพราะเป็นการทำเพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป ตลอดชีวิตที่ผ่านมา 40 ปีผ่านการรัฐประหารมาแล้วถึง 5 ครั้ง ลูกหลานคนไทยไม่ควรต้องเผชิญกับอนาคตแบบนี้อีกต่อไป
“ถ้า คสช.จะสกัดกั้นการลงเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ก็จะเสียหน้าตักมาก และไม่มีเหตุผลที่ดีพอ ส่วนเรื่องคดีความที่เกิดขึ้นกับผมและกรรมการบริหารพรรคเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องที่พรรคคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว จึงไม่ได้กังวลใจอะไร เพราะในไทยการเข้าสู่การเมืองและเปิดหน้าชนกับรัฐบาลทหาร จำเป็นต้องเผชิญกับเรื่องเช่นนี้อยู่แล้ว” นายธนาธรกล่าวตอบข้อถามที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลทหารจะไม่ยอมให้พรรคอนาคตใหม่ลงเลือกตั้ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |