เสวนาในบาร์เบียร์


เพิ่มเพื่อน    

แม่น้ำวอลตาวา, สะพานชาร์ลส์ และผู้คน มีปราสาทกรุงปรากตั้งตระหง่านเป็นฉากหลัง

ขาเป็ดอบและเบียร์ Budweiser Budvar เข้ากันได้ดีมาก ผมซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตข้างป้ายรถรางละแวกพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทางด้านเทคนิคแล้วอุ่นด้วยเตาไมโครเวฟในครัวของโฮสเทล เมื่ออิ่มแล้วถือโอกาสงีบในห้องนอนรวมได้ประมาณ 10 นาทีก็ตื่นตามหลักการงีบหลับที่ไม่ควรนานเกินไป

กลุ่มวัยรุ่นจากตุรกีเพิ่งเข้ามาเช็กอิน พวกนี้หน้าตายิ้มแย้ม เป็นมิตร ผิดแผกไปจากชาติแขกเพื่อนบ้านและชาวยุโรป ส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ มีอยู่คนหนึ่งที่พูดได้ค่อนข้างดี เพื่อนๆ ต้องเรียกให้มาช่วยแปลอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าพวกเขาสนทนากับใคร

ผมออกจากที่พักเพื่อไปหาโกรันตามเวลานัดหนึ่งทุ่มแต่ฝนโปรยเม็ดลงมาอย่างหนัก จึงกลับเข้าไปใส่เสื้อกันฝน (คลุมเฉพาะช่วงตัว) แล้วลงมาหลบอยู่ใต้ชายคาแคบๆ หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง ส่งข้อความทางโทรศัพท์ไปบอกโกรันว่าจะไปสาย รอฝนซาเม็ดลงอีกหน่อย

สาวเอเชียตะวันออกนางหนึ่งในชุดติดกันสีชมพูกางร่มสีแดงเดินผ่านมา เธอมุ่งหน้าสะพานชาร์ลส์ หน้าตาสะสวย รูปร่างดี ผมรู้ตัวอีกทีก็เดินตามหลังเธออยู่กลางสะพานชาร์ลส์เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่สาวผู้มากับฝนจะถูกกลืนหายไปกับฝูงชนที่เชิงสะพานฝั่งเมืองเก่า 

มุมมองจากบนสะพานชาร์ลส์ไปยังฝั่งเมืองเก่า โบสถ์เซนต์ฟรานซิสในสไตล์บาโร้ก (ซ้าย) และหอคอยสะพานชาร์ลส์ในสไตล์โกธิก (ขวา)

เลยจัตุรัสเมืองเก่าไปไม่ไกลนักก็ถึงลานน้ำพุ Wimmerova ผมโทรหาโกรันว่ามาถึงแล้วเขาจึงเดินออกมาจากอาคารใกล้ๆ ลานน้ำพุซึ่งเขาเช่าออฟฟิศเล็กๆ อยู่ในนั้น แล้วพาผมไปร้านอาหารเอเชียที่เจ้าของและพนักงานเป็นคนญี่ปุ่น

โกรันสั่งข้าวผัดเนื้อและซุปยาจีน ผมสั่งแค่เบียร์แก้วเล็กมาจิบเพราะท้องยังแน่นอยู่ด้วยขาเป็ด 2 ขา โกรันบ่นว่าข้าวผัดเนื้อแห้งเกินไป กลืนยาก ให้ผมชิมดู ก็รู้สึกว่ารสชาติใช้ได้ ผมบอกว่าคนไทยกินซุปพร้อมๆ กับข้าวเพราะจะช่วยให้คล่องคอหากข้าวแข็งหรือแห้งไป แต่เขาเล่นกินซุปจนเกลี้ยงก่อนตามแบบฝรั่ง เขาเห็นด้วยกับวิธีการกินของคนไทย

ผมจ่ายเงินค่าท่องเที่ยวในเซอร์เบียและบอสเนียฯ ซึ่งเป็นส่วนต่างให้โกรันซึ่งเขาออกไปก่อนเป็นส่วนมาก แล้วเราก็แยกย้ายกันตรงบาทวิถีแถวๆ ลานน้ำพุ ซึ่งเขาจอดรถไว้ ผมเดินไปยังเวนสลาส์สแควร์ซึ่งเป็นถนนกว้างแบบอเวนิว ลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดยาวจากฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นจุดเชื่อมระหว่างเขตเมืองเก่าและเขตเมืองใหม่ ขึ้นไปยังเนินบนฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ บนเนินมีอนุสาวรีย์เซนต์เวนสสลาส์ อดีตกษัตริย์ผู้เป็นที่รักของชาวเช็กจนได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นนักบุญ ด้านหลังของอนุสาวรีย์คืออาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถัดไปทางด้านซ้ายมือคือโรงละครแห่งชาติ และไม่ไกลออกไปคือสถานีรถไฟแห่งกรุงปราก

แม้ว่าสองฝั่งถนนจะขนาบด้วยอาคารร้านค้าแบรนด์หรู โรงแรม ร้านอาหาร คาสิโน และโชว์เปลื้องผ้า แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเขตมรดกโลกทางด้านประวัติศาสตร์แห่งกรุงปรากได้อย่างไม่ขัดเขิน ผมเดินเล่นไปจนสุดถนนแล้วนึกอะไรไม่ออกก็เดินกลับและมุ่งหน้าไปร้านชาโปรูจ (Chapeau Rouge) ใกล้ๆ จัตุรัสเมืองเก่าอีกจนได้

ค่ำนี้โต๊ะเต็มหมดแล้ว คงเพราะมีวงดนตรีสไตล์ร็อคแอนด์โรลเล่นสดในร้าน ผมจึงเข้าไปนั่งที่บาร์เคาน์เตอร์ หนุ่มใหญ่ศีรษะโล่งเตียนจากเดนมาร์กแนะนำตัว เมื่อทราบว่าผมเป็นคนไทยก็เอาประสบการณ์ในเมืองไทยที่ตัวเองทั้งชอบและไม่ชอบมาเล่าให้ฟัง ถัดจากเขาเป็นสตรีอายุประมาณยี่สิบปลายๆ มาจากไต้หวัน ตอนแรกผมก็นึกว่าเป็นแฟนกันเพราะหนุ่มใหญ่ชาวเดนิชพูดคุยคิกคักเหมือนสนิทกันมานานปรากฏว่าสาวเจ้าขอตัวกลับก่อนจึงได้รู้ว่าเพิ่งเจอกันที่ร้านนี่เอง

ที่โต๊ะกลมติดกับวงดนตรี มีหญิงสาวชาวยุโรปอนงค์หนึ่งนั่งอยู่แต่ผู้เดียวในชุดเดรสแนบเนื้อสีดำ โต๊ะของเธอมีเก้าอี้ว่างหลายตัวแต่ไม่มีใครเข้าไปขอนั่งด้วย เธอหมั่นมองด้วยใบหน้าแต้มรอยยิ้มแปลกๆ มาทางผมและหนุ่มใหญ่เดนิช แต่เราทั้งคู่ทำตัวได้นิ่งพอสมควร และมีเพลงจากวงร็อคแอนด์โรลช่วยยับยั้งความสงสัย หมดเบียร์ 2 ไพนต์ หญิงลึกลับก็เดินออกจากร้านไป ตอนเดินผ่านพวกเราเธอไม่ยักชายตามามอง

จัตุรัสเมืองเก่ากรุงปราก (Old town square) ยามราตรี

สักพักมีหนุ่มอังกฤษมานั่งข้างๆ สวมหมวกแก๊ปและใส่แว่นสายตา ดูๆ ไปหน้าละม้าย “จอห์น เลนน่อน” แห่งเดอะบีเทิลส์ เขาเป็นตากล้องแถมยังเข้าร่วมแสดงบางฉากในภาพยนตร์เรื่อง “โอฟีเลีย” (Ophelia) ซึ่งดัดแปลงจากบทละครเรื่อง “แฮมเล็ต” ของวิลเลียม เชคสเปียร์ (โอฟีเลียคือคนรักของเจ้าชายแฮมเล็ต) เล่าว่าก่อนนี้ได้ถ่ายที่กรุงเบลเกรดมา 2 เดือน เพิ่งย้ายมาถ่ายที่กรุงปรากได้ไม่กี่วัน เท่ากับว่ากองถ่ายอังกฤษ สร้างภาพยนตร์จากบทประพันธ์ของอัครศิลปินชาวอังกฤษ ฉากในบทละครเกิดที่ประเทศเดนมาร์ก ถ่ายทำกันในเซอร์เบียและเช็ก ช่างหลากหลายดีแท้

จากข้อมูลล่าสุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายแล้วในเทศกาล Sundance Film Festival เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา แต่ยังหาบริษัทจัดจำหน่ายไม่ได้ ทั้งที่มีดาราดังอย่างไคลฟ์ โอเว่น และนาโอมิ วัตส์ ร่วมแสดงนำ

บนสะพานชาร์ลส์ยามสงัด มุ่งหน้าฝั่งปราสาทกรุงปราก

ตากล้องจากอังกฤษดื่มได้ไพนต์เดียวก็ขอตัวกลับ มีลุงชาวเช็กมานั่งข้างๆ หนุ่มใหญ่เดนิช ทั้งคู่รู้จักกันดีและศีรษะโล่งเตียนเหมือนกัน หนุ่มใหญ่ชาวเดนิชเป็นคนเลี้ยงเบียร์ลุงเช็ก ทั้งคู่สื่อสารกันเข้าใจเพราะหนุ่มใหญ่เดนิชเดินทางมาทำธุรกิจที่ปรากบ่อยและครั้งละนานๆ จึงพูดภาษาเช็กได้บ้าง

เขาบอกผมว่าลุงคนนี้เคยแสดงเป็น “อุซามะห์ บิน ลาเดน” ในมิวสิควิดีโอของศิลปินจากอเมริกาที่มาถ่ายทำในกรุงปราก ลุงแกมีบทต้องวิ่งไปทั่วทั้งเมือง คงประมาณว่าถูกไล่ล่าจากอเมริกาหรือใครบางคน ตอนนั้นแกยังมีแรงวิ่ง ตอนนี้เจอเบียร์ไป 2 ไพนต์ก็เมาฟุบอยู่กับบาร์เคาน์เตอร์ แต่คาดว่าแกน่าจะดื่มมาก่อนแล้วจากที่อื่น

หนุ่มใหญ่เดนิชขอตัวกลับ ผมเองก็ออกจากร้านไปหลังเขาไม่นาน ลุงบิน ลาเดน คงไม่เป็นไร เท่าที่สังเกตดูแกน่าจะคุ้นเคยกับสถานที่และผู้คนในบาร์แห่งนี้เป็นอย่างดี   

  ปฏิมากรรม 1 ใน 30 ชิ้นบนสะพานชาร์ลส์

ผมเดินข้ามสะพานชาร์ลส์ไปยัง “บลูไลท์” บาร์ฝั่ง Lesser Town ในเวลาเกือบตีหนึ่ง บอดี้การ์ดร่างใหญ่กล้ามโตเปิดประตูให้ คืนนี้มีคนเต็มร้าน เช่นเดียวกับอีกหลายร้านเพราะเป็นคืนสุดท้ายที่นักเที่ยวจะสามารถสูบบุหรี่ในผับบาร์ได้ กฎหมายห้ามจะมีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2017 ถือว่าสาธารณรัฐเช็กออกกฎหมายนี้ช้ากว่าหลายประเทศทั่วโลก พวกนักดื่มที่ควบตำแหน่งสิงห์อมควันด้วยจึงนิยมมาเที่ยวกรุงปรากกันมาก และคืนนี้พวกเขาจำต้องบอกลาบรรยากาศแบบนั้น

โชคดีของผมที่มีโต๊ะว่างใกล้ๆ บาร์เคานเตอร์ สั่งเบียร์ Pilsner มาดื่มฟังเสียงเพลงจากเครื่องเล่น (ที่คาดว่ามาจากคอมพิวเตอร์) สักพักมีคนเข้ามาทัก เขาเป็นชายหนุ่มไว้หนวดโค้งตวัดขึ้นเหมือนเคียวเกี่ยวข้าวคล้ายๆ หนวดน้าเล็ก คาราบาว แต่หมอนี่ยังหนุ่ม อายุไม่เกิน 30 ปี

“คุณเป็นมือสังหารหรือเปล่า ?” คำถามของเขาแปลกๆ ไม่รู้ว่าแฝงนัยะอะไร

“ผมจ้างมือสังหารอีกที” ผมตอบโดยฝืนยิ้มสยามไว้

ทุกเมืองย่อมมีโมงยามแห่งการหลับไหล และในเวลาไร้ร้างผู้คนดูแล้วขรึมขลังยิ่งกว่า

เขาแนะนำตัวแต่ผมลืมชื่อไปแล้ว จำได้แต่ว่ามาจากบราติสลาวา เมืองหลวงของสโลวาเกีย แล้วสตรีคนหนึ่งก็มาเกาะไหล่เขา เธอแนะนำ “ดิฉันชื่อโซฟี มาจากอเมริกา” แต่ผมเรียกเธอ “จูเลีย” เพราะหน้าตาเธอคล้าย “จูเลีย โรเบิร์ต” มาก

จูเลียและคู่ควงของเธอไม่ยอมให้ผมจ่ายค่าเบียร์อีกเลยในคืนนั้น พวกเขาวนเวียนอยู่ที่โต๊ะของผมที่มีเก้าอี้อีกตัวหนึ่ง ผลัดกันนั่งผลัดกันเต้นรำ

เวลาผ่านไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง หนุ่มจากบราติสลาวาถอดเสื้อเต้นรำ ซึ่งในร้านมีเพียงเขาคนเดียวที่ทำเช่นนี้ และอย่างฉับพลันด้วยความเบื่อหรืออยากเอาใจคู่ควง หรือด้วยฤทธิ์ของอะไรไม่ทราบได้ จูเลียที่กำลังนั่งคุยอยู่กับผมก็ยืนขึ้นแล้วถอดเสื้อเต้นอีกคน

ทั้งร้านส่งเสียงฮือฮาหันมามองเป็นสายตาเดียวกัน เพราะเธอไม่ใส่ยกทรง!!

จูเลียขอให้ผมถอดเสื้อเป็นเพื่อนด้วยแต่ผมปฏิเสธ เธออนุโลมให้โดยมีข้อแม้ ขอให้ผมเป็นสมาชิกในวงดนตรีล่องหนของเธอ

ตัวเธอเองเล่นกีตาร์ คู่ควงของเธอเล่นเครื่องเป่า ผมตีกลอง วงดนตรีของเราได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมาก บอดี้การ์ดที่อยู่ข้างนอกยังเดินเข้ามาในร้านแล้วเดินไปนั่งบนเก้าอี้หน้าเปียโน (จริง) แล้วจัดการพรมนิ้วบรรเลง (แบบล่องหน) สร้างสีสันให้กับวงดนตรีนานาชาติวงนี้ขึ้นมาอีก

ผมไม่ได้สังเกตว่าคู่รักหนุ่มสาวคู่อื่นที่มาด้วยกันจะมีปฏิกิริยาอย่างไร หญิงสาวจะบิดหูหรือหยิกสีข้างของแฟนหนุ่มหรือไม่ตอนที่เขาเหลือบมามองท่อนบนที่เปลือยเปล่าของจูเลีย

แม้แต่เมื่อตอนที่เมื่อยเท้าจนต้องกลับมานั่งที่โต๊ะแล้ว จูเลียก็ยังไม่ยอมใส่เสื้อ และไม่มีใครมาขอให้เธอใส่ซะด้วย เพราะการเคารพสิทธิส่วนบุคคลหรือเพราะอยากมอง ผมไม่แน่ใจ

เวลาเกือบตี 4 เหมือนเพียงพอแล้วสำหรับการส่งท้ายค่ำคืนที่ผับบาร์จะอวลด้วยควันบุหรี่เป็นครั้งสุดท้ายในสาธารณรัฐเช็ก คู่รักหยิบเสื้อมาใส่ ชวนผมเดินไปยังสะพานชาร์ลส์ ผมว่า “เราลากันตรงนี้แหละดีแล้ว” ก่อนที่หนุ่มจากสโลวาเกียและสาวจากอเมริกาจะเดินโอบกันออกไป

บนสะพานชาร์ลส์ ในโมงยามที่แทบร้างผู้คน ทั้งคู่จะทำอะไรกันบ้าง ผมไม่อยากคิด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"