ภาคต่อศึกชิงแหล่งปิโตรเลียม


เพิ่มเพื่อน    

    
    คิดอยู่แล้วว่าจะต้องเป็นประเด็นขัดแย้ง และมีผู้ต่อต้านเหมือนกับโครงการอื่นๆ ด้านพลังงาน เนื่องจากการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่จะหมดอายุ ทั้งแหล่งเอราวัณที่จะหมดอายุในปี 2565 และแหล่งบงกชที่จะหมดอายุในปี 2566 มีบางกลุ่มคนที่มองว่าเป็นการขายทรัพยากรของประเทศให้บริษัทต่างชาติหรือเอกชนรายใหญ่ของไทยเข้ามากอบโกยทำกำไร รวมทั้งเงื่อนไขการประมูลอาจจะส่งเสริมให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้นมาโดยตลอด
    และก็เป็นอย่างที่ว่าจริงๆ สืบเนื่องจากการเปิดประมูลโครงการดังกล่าวผ่านขั้นตอนมาหลายขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการเรียกผู้สนใจหารือถึงเงื่อนไขการประมูล การเปิดพิจารณาคุณสมบัติผู้สนใจก่อนที่จะยื่นประมูล และการเปิดให้เข้าชมข้อมูลการผลิตของทั้ง 2 โครงการ โดยที่ผ่านมาก็พอจะได้ยินผ่านหูผ่านตามาบ้างว่ามีบริษัทอะไรบ้างที่สนใจที่จะร่วมประมูลจริงๆ และยื่นตรวจสอบคุณสมบัติเข้ามา
    ซึ่งก่อนที่จะมีการเปิดยื่นซองประมูลในวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ต่อต้านนำโดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านพลังงาน ออกมากล่าวว่าการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ จะทำการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชนั้นเข้าข่ายประพฤติมิชอบ ทำให้รัฐบาลเสียหาย เนื่องจากไม่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประมูลรายหนึ่งที่มีข่าวเกี่ยวกับการซื้อขายน้ำมันเถื่อน
    แต่ด้วยความมั่นใจของนายศิริ การเปิดประมูลดังกล่าวจึงดำเนินไปท่ามกลางทั้งเสียงคัดค้านและเสียงเชียร์สนับสนุนจากหลายกลุ่ม ทั้งด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยนายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภา  กล่าวว่า ทาง ส.อ.ท.มีความเป็นห่วงหากการประมูลล่าช้าไปมากกว่านี้ จะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเพราะค่าไฟจะสูงขึ้น และอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็จะไม่เกิดขึ้น
    นางสาวอัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ สร.ปตท.  กล่าวว่า สร.ปตท.ขอแสดงจุดยืนต้องการให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจในสิ่งที่จะทำให้ประเทศและประชาชนไม่เสี่ยงกับการขาดแคลนพลังงาน หรือตกอยู่ในภาวะที่ต้องใช้พลังงานในราคาที่สูงเกินความจำเป็น จึงต้องการให้รัฐบาลดำเนินการตามแผนที่กำหนด เนื่องจากมีความล่าช้ามาก ทำให้เสียโอกาสในการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้ในเวลาที่เหมาะสมกับความจำเป็น ขณะเดียวกัน ยังขอสนับสนุนการเปิดประมูลที่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน เพื่อปกป้องคนงานทั้งหมดในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและห่วงโซ่อุปทานทั้งปิโตรเลียมขั้นต้น และปิโตรเลียมขั้นปลาย 
    นายพนมทวน ทองน้อย รองประธานบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (สร.กฟผ.) กล่าวว่า เป็นห่วงการรักษาความมั่นคงต่อเนื่องของพลังงาน ซึ่งทาง ทสร.กฟผ.หวังให้การประมูลครั้งนี้มีความเป็นธรรมโปร่งใส ตรวจสอบได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนส่วนรวม เรื่องนี้ถือว่าข้อมูลทั้งสองด้านอาจไม่ตรงกัน ทำให้มีมุมมองและความคิดไม่เข้าใจกัน 
    และเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ตลอดทั้งวันที่เปิดรับซองการประมูลก็มี 2 บริษัทหลัก คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เข้ายื่นประมูลทั้ง 2 แหล่งการผลิต โดยในแหล่งบงกชได้มีการร่วมทุนกับบริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ขณะที่บริษัทเชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ก็มีการเข้ายื่นซองประมูลทั้ง 2 แหล่งเช่นเดียวกัน และได้ร่วมทุนกับบริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด ด้วยซึ่งถือว่าเป็นศึกชิงแหล่งระหว่าง 2 บริษัทยักษ์อย่างชัดเจน
    ขณะที่การต่อต้านจะมีเสียงดังขึ้นมาบ้างก่อนที่จะถึงวันยื่นซอง แต่หลังจากนั้นก็ไม่สามารถที่จะล้มมการดำเนินงานต่อไปได้ ซึ่งการประมูลเดินหน้าไปตามกำหนดการที่ตั้งไว้ และจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนในการพิจารณาหาผู้ชนะ ยังไงก็ตามเชื่อว่าการประมูลครั้งนี้ก็ต้องมีคนเข้ามาต่อต้านอีกอยู่ดี ไม่น่าจะจบลงได้อย่างสวยงาม ซึ่ง 2 บริษัทที่ร่วมประมูลและกระทรวงพลังงานก็ต้องเหนื่อยหน่อยที่จะพยายามสร้างความมั่นใจกันต่อไป.

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"