หยุด"ไทย"เป็นทางผ่านค้างาช้าง


เพิ่มเพื่อน    


        สิ่งมีชีวิตหลายชนิดในโลกตั้งแต่ในท้องทะเล จนถึงป่าใหญ่ นับวันมีความเสี่ยงลดลง ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของป่า หรือจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่แย่ไปกว่านั้นคือการถูกทำร้ายด้วยฝีมือของมนุษย์  โดยเฉพาะ “ช้าง” เป็นสัตว์ป่า อีกหนึ่งชนิดที่ถูกมนุษย์ทำร้ายด้วยการ ฆ่าถลกหนัง ถอดงาทั้งกิ่ง เพื่อนำไปทำเครื่องประดับหายาก ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่มีการนำงามาได้จากช้างที่เสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนช้างป่าที่ถูกฆ่ามีจำนวนมากถึงหลักหมื่นตัวในแต่ละปี

          ด้วยเหตุนี้องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) องค์กรที่มีเป้าหมายหลักเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมาย จึงได้จัดโครงการรณรงค์ “ไอวอรี่ ฟรี (Ivory Free)” ในหลายประเทศโดยมีบุคคลมีชื่อเสียงระดับโลกกว่า 100 คนร่วมเผยแพร่ข้อความรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหา การฆ่าและค้าสัตว์แบบผิดกฎหมาย ผ่านสโลแกน "หยุดซื้อ หยุดฆ่า" โดยทำงานในเอเชียเป็นหลักในประเทศที่ยังมีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าสูง เช่นจีน ฮ่องกง และไทย

          สำหรับในประเทศไทยไวล์ดเอด ได้ร่วมกับกรมป่าไม้ รณรงค์ #ไม่เอางาไม่ฆ่าช้างโดยการเปิดตัวโฆษณา “เพลงช้าง” ที่มีใหม่ ดาวิกา โฮเน่ นักแสดงผู้มีชื่อเสียงเป็นทูตโครงการ

          นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด เผยว่า งาช้างมีคุณสมบัติทางเคมีไม่ต่างอะไรกับฟันของมนุษย์แต่รู้หรือไม่ว่าการได้มาของงาช้างต้องแลกกับชีวิตของช้างที่ต้องถูกฆ่าอย่างโหดร้าย ซึ่งเราไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ๆ ต้องมารับฟังเรื่องเศร้าว่าช้างตัวสุดท้ายตายหมดไปจากโลกเพราะความต้องการที่ไม่จำเป็นของมนุษย์ จากผลสำรวจต่างๆ แสดงว่าปัจจุบันอัตราการลดลงของประชากรช้างแอฟริกาอยู่ที่ร้อยละ 8 ต่อปี หรือมีช้างแอฟริกามากถึง 33,000 ตัวที่ถูกฆ่าเอางา     ซึ่งเฉลี่ยช้างที่ถูกฆ่าประมาณวันละ 96 ตัวต่อวัน ถูกฆ่า 1 ตัวต่อ 15 นาที 

          ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมามีการพบซากช้างป่ามากถึง 90 ตัวถูกฆ่าเพื่อเอางาที่บอตสวานา ขณะที่องค์กร Elephant Family  เปิดเผยในรายงานล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ว่าการฆ่าช้างถลกหนังในประเทศเมียนมาร์ เพื่อป้อนตลาดอาชญากรรมข้ามชาติในจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น รายงานอ้างข้อมูลของกรมป่าไม้เมียนมาร์อีกว่าในปี 2553 พบซากช้าง 4 ตัว ปี 2556 พบช้างถูกฆ่า 26 ตัว และในปี 2559 จำนวนช้างที่ถูกฆ่าอยู่ที่ 61 ตัว ส่วนเมื่อปีที่แล้วข้อมูลของรัฐบาลเมียนมาร์ระบุว่าอยู่ที่ 59 ตัว แต่การคาดการณ์จากหลายแหล่งประเมินว่าจำนวนที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้ โดยสาเหตุการตายส่วนใหญ่เกิดจากการฆ่าช้างเพื่อเอาชิ้นส่วนเช่นกัน โดยวิธีการทำให้ช้างตายก่อนที่จะถลกหนัง คือการยิงลูกดอกอาบยาพิษให้ช้างตายช้าๆ อย่างทรมาน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ทำให้รู้ว่าตราบใดที่ยังมีความต้องการและการยอมรับในการใช้ผลิตภัณฑ์งาช้างอยู่ในสังคม ประชากรช้างทั่วโลกก็ยังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์

        ทั้งนี้ข้อมูลของไวล์ดเอด ยังระบุอีกว่า การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือมากกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ประชากรสัตว์ป่าหลายชนิดทั่วโลกลดลงเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับการปราบปรามการค้ายาเสพติด ความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้ ทุกๆ ปี เงินจำนวนหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐถูกนำไปใช้ในการพิทักษ์สัตว์ป่าที่อาศัยตามธรรมชาติ แต่แทบจะไม่ได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อลดความต้องการซื้อและบริโภคซากชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า และเป็นเหตุให้เกิดโครงการที่มีการรณรงค์ลดความต้องการผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าจึงได้ดำเนินโครงการ Ivory Free Thailand ที่มีเป้าหมายรณรงค์ให้คนไทยหยุดซื้อหยุดใช้และหยุดรับผลิตภัณฑ์งาช้างเป็นของขวัญมาตั้งแต่ปี 2559 และล่าสุด ระดมดาราและผู้มีอิทธิพลทางสังคมของไทยกว่า 100 คนร่วมแสดงจุดยืนไม่เอางาไม่ฆ่าช้างเพื่อเป็นพลังในการยุติการฆ่าช้างเอางาเมื่อเดือนก.ย. 2560

        ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ ยังได้กล่าวต่ออีกว่า จากที่เคยรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ตอนนี้ประเทศจีนซึ่งเคยเป็นตลาดค้างาช้างผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ออกกฎหมายปิดตลาดค้างาช้างอย่างสมบูรณ์มีไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ส่วนที่ฮ่องกงสภาบัญญัติฮ่องกงได้ทำการทบทวนร่างแผนดำเนินการปิดตลาดค้างาช้างของรัฐบาลแล้ว   ส่วนรัฐบาลสิงคโปร์ประกาศว่ากำลังพิจารณาแผนการปิดตลาดค้างาช้างในประเทศอย่างสมบูรณ์ ส่วนทางไต้หวันกำลังทบทวนตัวบทกฎหมายและดำเนินการปราบปรามผู้ค้างาช้างผิดกฎหมายเช่นกัน และเตรียมประกาศปิดตลาดค้างาช้างให้ได้ภายในปี 2563 ส่วนประเทศเวียดนามเอง ก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้าผลิตภัณฑ์สัตว์ป่ารวมถึงงาช้างให้เข้มงวดขึ้นทั้งเพิ่มอัตราค่าปรับและบทลงโทษซึ่งและสหรัฐอเมริกาก็ได้เริ่มกระบวนการยุติการซื้อขายงาช้างในประเทศแล้ว 

     สำหรับในประเทศไทยก็ยังมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องผ่านโฆษณา ที่ได้ทูตด้านช้างมามาช่วยรณรงค์ ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง หากคนไทยรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากการซื้อการขายผลิตภัณฑ์เท่าไหร่พวกเขาก็จะไม่อยากเกี่ยวข้องกับเบื้องหลังการค้าอันโหดร้ายมากเท่านั้น การได้รับการสนับสนุนจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชนเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพื่อที่จะทำให้การไม่เอางาไม่ฆ่าช้างเป็นวิถีใหม่ของคนในสังคม ร่วมกันเปลี่ยนมุมมองที่มีต่องาช้างและปกป้องชาวโลกไปด้วยกัน เพราะหยุดซื้อคือหยุดฆ่า

      “อยากให้ทุกคนตระหนักว่า ความผูกพันของลูกช้างกับแม่ช้างเป็นความผูกพันที่ใกล้ชิดไม่ต่างจากมนุษย์ แม่ช้างใช้เวลาอุ้มท้องกว่า 22 เดือนหรือเกือบ 2 ปีและยังต้องใช้เวลานานกว่า 2 ถึง 4 ปีในการเตรียมความพร้อมร่างกายเพื่อจะมีลูกสัก 1 ตัวโดยนับเป็นเวลาที่ยาวนานสำหรับการเพิ่มประชากรช้างแต่มนุษย์กลับใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีฆ่าชีวิตพวกเขา ” นายจอห์น กล่าว

      ด้านนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ช้างเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย การอนุรักษ์และปกป้องช้าง ถือเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน สถานการณ์ช้างในไทยตอนนี้โชคดีที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นปีละ 8% โดยช้างป่ามีประมาณ 3,300 ตัว และช้างบ้านมีประมาณ 3,300 ตัวเท่ากัน แสดงให้เห็นว่าเรายังคงอนุรักษ์และปกป้องช้างได้ดีอยู่ ส่วนเรื่องของการค้าขายงาช้างในไทยที่ถือเป็นประเทศค้าขายอันดับต้นๆ ที่ผ่านมารัฐบาลได้เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายรวมถึงออกพระราชบัญญัติงาช้างเพื่อควบคุมการค้างาช้างมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2558 ไทยออกพระราชบัญญัติงาช้างเพื่อควบคุมตลาดค้างาช้างถูกกฎหมายที่มาจากช้างบ้านของไทยที่เป็นช้างเอเชียเท่านั้น และรัฐบาลยังได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ. ศ. 2535 กำหนดให้ช้างแอฟริกาเป็นหนึ่งในสัตว์คุ้มครองของไทย มีผลห้ามทำการซื้อขายหรือครอบครองงาช้างแอฟริกา และปรากฏว่าตั้งแต่พระราชบัญญัติงาช้างมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบันมีร้านค้างาช้าง 47% หรือจำนวน 100 ร้าน จาก 215 ร้านได้แจ้งยกเลิกการค้างาช้างด้วยความสมัครใจ นับจนถึงกลางปี 2560 และมีการซื้อขายงาช้างถูกกฎหมายที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ลดลงไปร้อยละ 58 เปรียบเทียบกับกลางปี 2559 นอกจากนี้ผู้ค้างาช้างที่มีใบอนุญาตในกรุงเทพต่างรายงานว่าไม่มีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างเพิ่มเติมจากผู้ครอบครอง งาช้างรายอื่นเลยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

      “ประเทศไทยมุ่งมั่นในการปราบปรามการค้างาช้างผิดกฎหมายมาโดยตลอด การบังคับใช้กฎหมายและการลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้างจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อให้การปราบปรามได้ผลมากที่สุด แต่ที่น่าห่วงคือไทยเป็นประเทศทางผ่าน หากมีการค้างาช้างในประเทศใกล้เคียง ก็อาจจะมีการมาถึงประเทศไทย ตรงนี้จะยุติยังไง ก็หวังว่าความร่วมมือกับองค์กรในครั้งนี้จะเป็นการยืนยันเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของไทยที่จะปกป้องช้างไทย อนาคตความเป็นไปได้ของการยกเลิกค้าขายงาช้างในไทยไปเลยอาจต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร เพราะเรื่องค้าขายงาช้างเป็นเรื่องที่อยู่ในบ้านเรามานาน แต่ก็เชื่อว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ความคิดความเชื่อคนไทยก็จะเปลี่ยนไปตาม ตอนนี้คนสนใจงาช้างน่าจะมีไม่ถึง 10% แล้ว” นายปิ่นสักก์ กล่าว

      ด้านดาวิกา โฮร์เน่ ในฐานะทูตโครงการ กล่าวว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและเป็นที่รักของคนไทยมาโดยตลอด ทุกๆคนรวมทั้งตนเองยังเกิดและเติบโตมากับเพลงช้าง แต่มีหลายอย่างที่เรายังไม่เคยทราบถึงข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังชีวิตช้างเลย ว่ามีปัญหาอย่างไร เขาใช้ชีวิตอย่างลำบาก เมื่อถูกทำร้าย เขามีความรู้สึกเหมือนคน เพียงแต่พูดไม่ได้ค่านิยมของคนที่ซื้อผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนช้างที่นิยมมอบให้แก่กันเพราะคิดว่าเป็นเรื่องของการเสริมดวง ความสวยงามต่างๆ นานา ควรต้องหยุดได้แล้วเพราะเราอยู่ในยุคสมัยใหม่ การหาเครื่องประดับที่สวยงามปัจจุบันก็มีหลากหลายมากขึ้นด้วยโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งชิ้นส่วนสัตว์ ฉะนั้นเราควรหยุดซื้อ เพราะถ้าเราหยุดซื้อ ก็เหมือนว่าเราช่วยหยุดฆ่าด้วย 

        สำหรับโฆษณารณรงค์ “เพลงช้าง” จะมีการเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งประเภทบิลบอร์ด และทางโซเชียลมีเดีย สนามบินสุวรรณภูมิ และสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"