อุ้ม4รมต.-'เอ็งชั่ว ข้าเลว' คสช.ติดหล่ม 'ทักษิณ' ทวงอำนาจคืน


เพิ่มเพื่อน    

 

 แกนนำรัฐบาล คสช.ยืนกรานปกป้อง 4 รัฐมนตรีที่ไปร่วมเป็นแกนนำ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เลขาธิการพรรค และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกพรรค โดยไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมที่อาจมีการใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์ทางการเมือง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ชี้แจงว่า การที่รัฐมนตรีไปทำงานการเมืองนั้น เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล ได้ย้ำเตือนในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย รวมถึงช่วงที่เขามาขออนุญาตก็ได้บอกไปว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน อย่าทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเสียหาย เพราะในการบริการราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีทั้ง 4 คน ไม่ใช่ผู้ตัดสินหลักใน ครม. เพราะการจะออกมติอะไรจะต้องเป็นมติของ ครม.ทั้งคณะ 


    “คงไม่ได้ไปเอื้อประโยชน์อะไรกับใครทั้งสิ้น ไม่ได้เอื้อประโยชน์อย่างเช่นที่ผ่านมาหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ เพราะหลายคนออกมาพูดว่าจะเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเคยเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า แล้วใครเป็นคนทำ ถ้าไม่มีก็แล้วไป แต่ขอร้องอย่ามาอ้างว่า วันนี้จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ รัฐบาลนี้ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการเอื้อประโยชน์อยู่แล้ว เราจะดูแลพี่น้องประชาชนต่อไป สานต่องานรักษาความสงบเรียบร้อย อะไรผิดกฎหมายก็ผิดกฎหมาย" 
    ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ยืนยันเหมือนกันว่า การที่ 4 รมต.ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ทำผิด และกฎหมายไม่ได้ห้าม ขณะที่ 4 รัฐมนตรียืนยันว่า พร้อมจะสวมหมวกใบเดียวในเวลาที่เหมาะสม 
    ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระบุว่า "กำลังหลบเลี่ยงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งความเสื่อมทางการเมือง และปัญหาวิกฤติในอดีตก็เป็นเพราะการหาช่องโหว่ของกฎหมาย เราไม่ดูเจตนารมณ์ ไม่ยึดถือเรื่องของมารยาท และธรรมาภิบาล ดังนั้นวันนี้คนที่เกี่ยวข้องที่จะเข้าไปบริหารพรรคการเมือง ซึ่งมีส่วนได้เสียในการเลือกตั้งโดยตรง ก็ต้องแสดงให้เห็นว่ายังเชื่อในหลักธรรมาภิบาล หรือเคารพในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มากกว่าที่จะบอกว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ หรือไม่ผิดกฎหมาย" 
    เช่นเดียวกับ นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มองว่า 4 รัฐมนตรีควรลาออกทันที ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ทางการเมืองในยุคปฏิรูป โดยเฉพาะรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันที่ประกาศเป็นรัฐบาลปฏิรูปต้องเป็นแบบอย่างของการปฏิรูปการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดกันแห่งผลประโยชน์ คือ ความได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการเมือง และเพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ของประเทศ แม้ ครม.ชุดนี้จะไม่ใช่รัฐบาลรักษาการก็ตาม
    "ในยุคปฏิรูปยิ่งต้องถือปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญยิ่งกว่ารัฐบาลรักษาการ เพราะรัฐมนตรีทั้ง 4 คนนี้เหมือนทำงานมือเดียว เนื่องจากมีข้อห้ามเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศหลายข้อหลายประการ ทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากการทำงานของ 4 รัฐมนตรีไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย รัฐมนตรีทั้ง 4 ท่านได้ทุ่มเทให้กับการปฏิรูปประเทศในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อตัดสินใจจะลงมาทำงานการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นการตัดสินใจที่ดีเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประชาชนในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ก็ขอให้ยึดหลักการปฏิรูปที่เราเคยร่วมคิดร่วมทำกันมาอย่างแท้จริง” นายอลงกรณ์ กล่าว
    จะเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของ หลักธรรมาภิบาล และ เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญในยุคปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ก็วิพากษ์วิจารณ์บรรดานักการเมืองมาโดยตลอดว่ารัฐบาลที่ไร้ธรรมาภิบาล ทำให้เกิดวิกฤติทางการเมืองจนตนเองต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา
    แต่ไฉนพฤติกรรมของรัฐบาล คสช.กลับไร้ธรรมาภิบาลไม่ต่างจากนักการเมือง
    โดยเฉพาะ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย อ้างว่า "กรณีที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ใช่กรณีที่ ครม.หมดวาระ แต่เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีบางคนมีบทบาททางการเมืองในฐานะพรรคการเมือง ดังนั้นจะเรียกว่ารักษาการก็ไม่ได้ เป็นเหตุการณ์ที่เบากว่าสถานการณ์ที่รัฐบาลยุบสภาฯ แล้วพากันไปลงเลือกตั้งเสียอีก"
    เป็นตรรกะวิบัติสมกับฉายา "เนติบริกร"
    ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลชุดก่อนเมื่อมี พ.ร.ฎ.จัดการเลือกตั้งแล้วก็เป็นรัฐบาลรักษาการถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจในการกำหนดงบประมาณแผ่นดิน การทำโครงการใหญ่ๆ หรือการแต่งตั้งโยกย้าย ยกเว้นกรณีที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องขอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่กรณีนี้เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม นอกจากนี้ยังมีอำจาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ที่เหมือนดาบอาญาสิทธิ์ ใช้ฟาดฟันใครหรือปกป้องใครก็ได้ 
    ดังตัวอย่าง กรณีการแต่งตั้ง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตแกนนำ กปปส. เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง และแต่งตั้ง 2 พี่น้องตระกูลคุณปลื้ม นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษานายกฯ และ นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นผู้ช่วย รมต.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ 
    โดยเฉพาะล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งปลด พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี พ้นจากตําแหน่งนายกเมืองพัทยา แล้วตั้ง นายสนธยา เป็นนายกเมืองพัทยาแทน สุดท้ายทั้ง นายพุทธิพงษ์ และ นายอิทธิพล (น้องชายนายสนธยา) ก็ไปปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 
    นี่คือพฤติกรรมการใช้อำนาจรัฐเอื้อพวกพ้อง เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ที่ไม่ต่างจากนักการเมืองในอดีต เปรียบเสมือน "เอ็งชั่ว ข้าเลว" ไม่สนใจว่าประเทศกำลังเข้าสู่การปฏิรูป แล้วจะให้ไว้ใจได้อย่างไรว่านับตั้งแต่วันนี้ถึงวันมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งหรือมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้วจะไม่ใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์พวกพ้องอีก
    พฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาล คสช.ที่ส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศล้มเหลว 4 ปี ส่งผลต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลเสื่อมลง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องขับไล่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร - นอมินีระบอบทักษิณ จนบาดเจ็บล้มตาย เพื่ออยากเห็นการปฏิรูปประเทศ ก่อนมีการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลกำลังจะจัดเลือกตั้งก่อนปฏิรูป 
    ไม่นับกลุ่มมวลชนของระบอบทักษิณที่คับแค้นกองทัพใช้อำนาจปืนล้มรัฐบาลเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง แล้วเขียนรัฐธรรมนูญวางกลไกกติกาใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจ และยังแสดงพฤติกรรมที่เอาเปรียบเพื่อนเช่นนี้อีก 
    กลายเป็นการเปิดโอกาสให้ ระบอบทักษิณ พลิกฟื้นขึ้นมาช่วงชิงอำนาจอีกครั้ง โดยล่าสุด นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เดินทางมาที่เกาะฮ่องกง และจะอยู่จนถึงวันที่ 8 ต.ค.นี้ โดยมีกลุ่มอดีต ส.ส. และแกนนำพรรคเพื่อไทย จากทั้ง กทม.และภาคอีสาน เดินทางไปพบ 
    โดยจะพูดคุยหารือถึงบุคคลที่จะมาทำหน้าที่นำพรรคเพื่อไทย การประชุมคัดเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่วันที่ 28 ต.ค. นอกจากนี้ยังจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย รวมทั้งพรรคในเครือข่ายที่ชัดเจน อย่าง พรรคเพื่อธรรม และ พรรคเพื่อชาติ ตลอดจนพรรคเครือข่ายพรรคอื่นๆ ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นการตัดคะแนนเสียงกันเองในการเลือกตั้ง
    แสดงว่า ทักษิณ เปิดหน้าสู้ศึกเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ทั้งที่ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เป็นนักโทษหนีคุกในคดีทุจริต ตามหมายจับของศาลฎีกาฯ แต่รัฐบาล คสช.ซึ่งมีอำนาจพิเศษเต็มมือกลับไม่สามารถจัดการกับนักโทษ 2 คนนี้ได้ 
    แม้จะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แฝงเจตนาบั่นทอนพรรคการเมืองใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย ให้ได้จำนวน ส.ส.ลดน้อยลง ด้วยระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม กาบัตรเดียว 2 ระบบ โดยหากเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมืองใดชนะเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่เอาคะแนนเสียงจากระบบเขต ไปรวมกับระบบบัญชีรายชื่อเหมือนเดิมอีก ก็ยังไม่สามารถบั่นทอนได้
    โดยมีกระแสข่าวว่า ทักษิณ แก้เกมด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองสำรอง คือ พรรคเพื่อธรรม เน้นเจาะฐานเสียงภาคเหนือ ส่วน พรรคเพื่อชาติ เน้นเจาะฐานเสียงภาคใต้ ซึ่งทั้ง 2 พรรคเป็นแนวร่วมกับ พรรคเพื่อไทย รวมทั้ง พรรคอนาคตใหม่ ด้วยยุทธศาสตร์แยกกันเดินร่วมกันช่วงชิงคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด 
    ซึ่งประเมินกันว่า พรรคเพื่อไทย ยังจะได้รับชัยชนะได้ ส.ส.อันดับ 1 เช่นเดิม เมื่อรวมกับพรรคแนวร่วมแล้วเชื่อว่าจะได้จำนวน ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อเกิน 250 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร
    ส่วน พรรคพลังประชารัฐ พรรคเครือข่าย คสช.แม้จะได้แรงหนุนจากอำนาจรัฐก็ไม่มีทางชนะอันดับ 1 ได้ หรือแม้รวมกับพรรคแนวร่วมอื่นๆ โอกาสจะได้เกิน 250 เสียงก็เป็นไปได้ยาก
    แม้เครือข่าย คสช.มั่นใจว่ามีจำนวน ส.ว. 250 เสียงอยู่ในมือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของ 2 สภา หรือใช้เสียงเกิน 375 หากมีเสียงในสภาผู้แทนเกิน 126 ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคที่ชนะอันดับ 1 ได้
    แต่การทำเช่นนั้นแม้กฎหมายไม่ได้ห้าม และเป็นไปตามกติกาของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็จะฝืนความรู้สึกของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งว่าต้องการให้พรรคที่ชนะอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามประเพณีการปกครองของระบอบประชาธิปไตย 
    การเมืองไม่ใช่เรื่องของคณิตศาสตร์หรือเป็นไปตามกฎหมายอย่างเดียว เช่น ยุค รสช. ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ จากเสียงสนับสนุนข้างมากของพรรคการเมืองในสภาฯ แต่ก็ไม่มีความชอบธรรมและฝืนความรู้สึกประชาชน จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หรือกรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้เสียงข้างมากผ่านร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย เพื่อช่วยพี่ชายตัวเองให้พ้นผิด ก็นำไปสู่การชุมนุมต่อต้านจนเกิดวิกฤติถึงบัดนี้
     ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาล คสช. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพิจารณาไตร่ตรองถึงหลักธรรมาภิบาล ความชอบธรรม ไม่ฝืนความรู้ประชาชน ก่อนที่ประวัติศาสตร์เลือดจะซ้ำรอยอีก.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"