กกต.ช่วงเปลี่ยนผ่าน จากยุค คสช.สู่การเลือกตั้ง
ช่วงเวลานี้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคการเมือง ผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นไปอย่างคึกคัก แต่เมื่อเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะหลังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมา องค์กรที่จะมีบทบาทและมีอำนาจมากที่สุดในช่วงดังกล่าวก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นประธาน กกต.คนที่ 5 และเป็นประธาน กกต.คนแรกที่มาจากสายกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ผ่านตำแหน่งสำคัญในกระทรวงการต่างประเทศมาแล้วมากมาย เช่น อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ-อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายที่มีบทบาทสำคัญในการสู้คดีเขาพระวิหารที่ศาลโลก กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประธาน กกต.ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงแนวทางการทำงานในฐานะประธาน กกต. ที่ผู้คนเรียกขานกันว่า ประธาน 7 เสือ กกต. โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมความพร้อมของสำนักงาน กกต.ต่อการจัดการเลือกตั้งในปีหน้า อันเป็นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังประเทศไทยว่างเว้นการเลือกตั้ง ส.ส.มาร่วม 8 ปี นับจากเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2554 (ไม่นับการเลือกตั้งปี 2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ)
-กกต.ชุดนี้เข้ามา ชื่อที่ส่งไปยัง สนช.รวมด้วยกันทั้งสิ้น 7 ชื่อ โดย สนช.โหวตเห็นชอบ 5 ชื่อ แต่ สนช.ถูกตั้งโดย คสช. แล้ว กกต.มาทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะมีการเลือกตั้ง จะมีหลักประกันการทำงานอย่างไร?
ตัวผมเองไม่ได้คิดอะไร ผมคิดว่าระบบการเมืองการปกครองของไทยในขณะนี้ ก็มี สนช.ที่เป็นฝ่ายสภาฯ มี คสช.ที่คอยรักษาความสงบ มีรัฐบาล ในเมื่อประเทศชาติต้องเดินไปเรื่อยๆ สนช.ก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อเขาเห็นชอบใคร คนนั้นก็ต้องไปทำหน้าที่
ส่วนตัวผมไม่ได้คิดจะไปโยงว่า สนช.ตั้งโดยใคร ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะไม่เช่นนั้นบ้านเมืองเราก็จะไม่มีผู้ออกกฎหมาย จะไม่มีรัฐบาล ไม่มีอะไรต่างๆ ในเมื่อขณะนี้ สนช.เป็นเหมือนรัฐสภา มีอำนาจหน้าที่ในการเห็นชอบคนมาทำหน้าที่เป็น กกต. เขาก็ปฏิบัติหน้าที่ของเขา
-ยืนยันกับประชาชนได้ว่าจะไม่มีเรื่องทำนองการล็อบบี้ การประสานงานมายัง กกต.เพื่อขอให้ทำหรือช่วยอะไร?
กกต.เราเป็นองค์กรอิสระ เราต้องยึดมั่นมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่บัญญัติว่า
“องค์กรอิสระต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม” และหน้าที่ของเราคือจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเป็นธรรม ไม่ว่าใคร จะมีข้อเสนอแนะหรือมีความเห็นอะไรก็บอกเราได้ เราก็รับฟัง แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะปฏิบัติให้เป็นไปตามสิ่งที่เขาประสงค์หรือพึงประสงค์ได้ เพราะการดำเนินการของเรามีกรอบว่าต้องทำตามกฎหมาย
เมื่อเราอธิบายทุกคนว่าสิ่งที่เราทำเพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนี้ เราไม่ได้ทำเพราะว่าเราคิดอย่างอื่นนอกกรอบ ผมว่าสิ่งนี้ก็จะเป็นเกราะกำบังความสุจริต และความสุจริตใจของกรรมการ ไม่ว่าจะเป็นชุดไหนก็ตาม เพราะถ้าทำตามกฎหมาย ไม่มีใครว่าได้
กรรมการทุกคนคิดเหมือนกันว่า ทำตามกรอบกฎหมาย เอาความสุจริตใจ เอาความเป็นกลางเป็นเกราะ เพราะหากมีคนไม่เห็นด้วยหรือว่ามาสั่นคลอน มาทำอะไรที่อยากให้เราทำ แต่หาก กกต.เราใช้หลักนี้ ผลสุดท้าย ก็ไม่มีใครว่าอะไรเราได้ เพราะเราจะไม่ได้ทำอะไรผิด เมื่อเรายึดมั่นในกฎหมายและความเป็นกลาง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อเราเข้ามาทำหน้าที่เราก็ต้องพร้อม เพราะ กกต.ต้องมีความกล้าหาญ ซึ่งความกล้าไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็กล้า แต่บางทีเราต้องกลัวก่อน แล้วก็บริหารตัวเองให้กล้า เพราะเรามีหน้าที่ต้องทำ
ถามต่อไปว่า การทำหน้าที่ของ กกต.ในยุค คสช.ที่หัวหน้า คสช.มีมาตรา 44 ถึงขั้นเคยปลดอดีต กกต.มาแล้ว แต่ กกต.ชุดปัจจุบันก็จะปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด อิทธิพร-ประธาน กกต. ย้ำว่า คือ ณ เวลาใด อำนาจหน้าที่ของใครก็ปฏิบัติให้เต็มที่ของ กกต. เราคือจัดการเลือกตั้งและให้ประชาชนรับรู้เรื่องประชาธิปไตย ให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันการเมือง สิ่งนี้คือหน้าที่ของ กกต.เรา ส่วนหน้าที่ของ คสช.คือรักษาความสงบก็เป็นหน้าที่ของ คสช. และหลายประเด็นเราก็เห็นผลงานว่าเขารักษาความสงบ จัดระเบียบ ส่วน สนช.มีหน้าที่ออกกฎหมายก็ออก ทุกคนต่างปฏิบัติตามหน้าที่
ผมก็ไม่ได้คิดว่าใครจะมาล้ำเส้น เพราะว่า คสช.มีอำนาจในการทำอะไร เขาก็มีอำนาจ เราก็ไม่ควรจะมานั่งคิดไปว่า เมื่อ กกต.เราทำงานไปแล้วจะเป็นอย่างไร มันจะเกิดกรณีเช่นนั้น เพราะหน้าที่ของ กกต. เราไม่ได้อยู่ที่ว่าต้องไปกังวลเรื่องนั้น หน้าที่ของเราคือว่า ทำงานให้เสร็จ ทำงานให้ทัน ทำงานให้ดี มีเท่านี้จริงๆ
อิทธิพร-ประธาน กกต. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของ กกต.ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งในปีหน้า โดยเฉพาะหากมีการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.2562 ว่า กกต. เราเตรียมมามากพอในระดับที่สามารถมั่นใจได้ว่าถ้ามีเลือกตั้งเรามีความพร้อม เพราะว่าไม่ใช่แค่ กกต.ชุดปัจจุบันที่เข้ามาเตรียมการ แต่ กกต.ชุดก่อนหน้านี้ และทางสำนักงาน กกต.ที่ได้เตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งไว้ค่อนข้างมาก มีการเตรียมงานที่ควรดำเนินการภายในกรอบเวลาต่างๆ มาโดยตลอด
...กกต.ชุดปัจจุบันก็ได้เข้ามาสานต่อและตระหนักดีว่าจะต้องรีบทำอย่างรวดเร็วในเวลาที่มีอยู่ในขณะนี้ แต่เราไม่ค่อยหนักใจมาก เพราะว่าเราได้ทำงานกับมืออาชีพอย่างสำนักงาน กกต. เราก็ทำให้มั่นใจว่า ทุกอย่างดำเนินการไปตามขั้นตอนและแผนงานที่ได้วางไว้ อะไรที่ต้องวางแผนงานเพิ่มขึ้นเราก็จะวาง
ส่วนเจ้าหน้าที่ของ กกต.ก็มีเพียงพอและมีความพร้อมแล้ว อีกทั้งยังมีเครือข่ายอาสาสมัคร และพันธมิตรกับ กกต. เช่น กระทรวงมหาดไทย และยังจะมีหน่วยงานอื่นเข้ามาเสริมด้วย
เมื่อถามว่าจากระยะเวลาในปัจจุบัน จนถึงวันที่ 24 ก.พ.62 หากการเลือกตั้งไม่เลื่อนออกไป ในฐานะประธาน กกต.เป็นห่วงเรื่องไหนบ้างว่าอาจมีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่อาจทำให้การเตรียมการของ กกต.ทำได้ไม่ทัน ประธาน กกต. แสดงความเชื่อมั่นว่า กกต.พร้อมหมด โดยตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. จังหวัดต่างๆ สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดต่างๆ จะประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 3 รูปแบบให้พรรคการเมือง และประชาชนในจังหวัดต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์ ให้ข้อคิดเห็น ซึ่งคาดว่าใช้เวลา 10 วัน ถึงวันที่ 13 ต.ค.
...หลังจากนั้นวันที่ 14-16 ต.ค. หลังจากปิดรับฟังความคิดเห็น สำนักงาน กกต.จังหวัดจะต้องไปศึกษาประมวลความเห็นต่างๆ ภายใน 3 วัน และส่งให้ กกต.ภายในวันที่ 17 ต.ค. จากนั้น กกต.จะพิจารณาตัดสินว่ารูปแบบไหนดีที่สุด ถูกต้องที่สุด บางครั้งอาจจะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ กกต.จะต้องใช้บทบาทอำนาจหน้าที่ด้วยความสุจริต เป็นกลางมากที่สุดในการเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยเราต้องตัดสินใจในทางใดทางหนึ่งที่จะมุ่งประโยชน์กับการเลือกตั้งเป็นเกณฑ์ คงเข้าข้างใครไม่ได้ โดย กกต.ต้องอธิบายได้ด้วยว่าเหตุใดถึงเลือกรูปแบบนั้น
เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับในวันที่ 11 ธ.ค. สิ่งที่ กกต.ต้องทำหลังจากนั้นคือ เตรียมการเลือกตั้ง ทั้งอุปกรณ์ เตรียมคน สร้างความเข้าใจ ความรู้กับประชาชน ให้ความร่วมมือกับพรรคการเมืองสนับสนุนเพื่อชี้แจงให้ทราบว่าตามกฎหมายใหม่มีอะไรบ้างที่ทำได้ ทำไม่ได้ ต้องซักซ้อมเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ เพราะกฎเกณฑ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงมาก ประชาชนจะต้องรู้ โดยต้องใช้เครือข่ายและสำนักงาน กกต.จังหวัด ช่วยประชาสัมพันธ์ให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ที่สำนักงาน กกต.ได้เสนอไปยังรัฐบาล เพื่อเป็นงบค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง ประธาน กกต. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาพบว่า งบที่ กกต.ได้ขอไปยังรัฐบาลมีประมาณ 6 พันกว่าล้านบาท แต่เราได้มาจำนวน 4 พันกว่าล้าน ดังนั้นต้องมีส่วนที่ยังขาดอยู่จากที่ กกต.ขอไปกว่าพันล้าน แต่ในขณะนี้เรากำลังพิจารณาดูว่าในส่วนไหนที่เราจะสามารถดำเนินการโดยการปรับลดเงินที่ขอเอาไว้ให้เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติ ถ้าเราสามารถทำได้ก็จะได้ไม่ต้องของบประมาณเพิ่ม แต่ถ้าเราได้พยายามลดค่าใช้จ่ายและประหยัดที่สุดแล้วยังไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายให้เหลือตามที่เราได้ เราก็คงจะต้องทำเรื่องของบกลางเพิ่มขึ้น ซึ่งงบดังกล่าวรวมถึงงบที่ต้องใช้กับกระบวนการเลือก ส.ว.ด้วย โดยเราได้น้อยกว่างบประมาณที่ขอไว้ไม่มากนัก แต่ว่าจะเป็นการดำเนินงานที่เราจะพยายามเพื่อให้จำนวนเงินในการใช้จ่ายการเลือก ส.ว.มีไม่สูงเท่าที่เราขอไป
ไม่โละผู้ตรวจเลือกตั้ง คัดออกบางชื่อ
-ความคืบหน้าการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งทั่วประเทศ 616 ตำแหน่ง ถึงตอนนี้ กกต.ได้หารือกันหรือยังว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป?
เราได้เคยพูดคุยกับ กกต.ชุดที่แล้ว เราก็เห็นว่า กกต.ชุดที่แล้วได้ดำเนินการเรื่องการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งและแต่งตั้งตามกรอบเวลาที่มีขึ้น เพราะเมื่อ พ.ร.ป.กกต.มีผลใช้บังคับ กกต.มีหน้าที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง และดำเนินการตามกรอบเวลาที่ควรจะเป็น เมื่อถึงเวลา กกต.ชุดที่แล้วได้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกบุคคล ซึ่งในการคัดเลือกเราดูรายชื่อจากที่ผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัด เมื่อได้รายชื่อมาจำนวนหนึ่ง กกต.ชุดที่แล้วก็ได้คัดเลือกบนพื้นฐานของการเสนอชื่อ ที่ได้ทำดีที่สุดตามอำนาจหน้าที่ที่จะทำได้ จนได้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง จำนวน 616 คน
จนต่อมามีการนำชื่อทั้งหมดตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีใครร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้วและมีการรายงานผลตรวจสอบมาที่ส่วนกลาง
โดยในที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 2 ต.ค.61 ได้มีการพูดคุยกันแล้ว ว่าจำนวน 616 คน เราจะรับทั้งหมดหรือเราเห็นว่าบางคนเราไม่อาจจะรับได้ด้วยเหตุผลความน่าเชื่อถือ ในการเป็นบุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่ช่วยเราในการตรวจสอบการเลือกตั้ง
ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาว่าตามข้อร้องเรียนที่มีนั้นมีใครที่ไม่ควรผ่านคุณสมบัติ ซึ่งเราไม่ได้พิจารณาเอง แต่พิจารณาบนพื้นฐาน คือ 1.ข้อร้องเรียนที่เราได้รับในระดับจังหวัด 2.ความเห็นในระดับจังหวัด 3.ความเห็นของสำนักงาน กกต. 4.ที่ประชุม กกต.
โดยชื่อที่ไม่ผ่านการพิจารณามีไม่มาก เพราะผมก็เชื่อว่ากระบวนการคัดเลือกตั้งแต่ระดับจังหวัด จนส่งมาที่ส่วนกลาง และส่งให้ กกต.ชุดที่แล้ว ต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบ และเปิดเผยโปร่งใส การคัดเลือกชื่อมาจาก กกต.ชุดที่แล้ว ผมจึงเชื่อว่าได้ทำอย่างเต็มที่
...ก็มีบางจังหวัดบางคนที่เราไม่รับรอง แต่ทั้งนี้อยู่ระหว่างทำคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ คาดว่าในอีก 2-3 วัน จะมีการประกาศอย่างชัดเจน เรื่องนี้ กกต.เราได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนที่สุด เพราะผู้ที่จะเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งจะต้องได้รับความน่าเชื่อถือทั้งจาก กกต.และประชาชน
ถามต่อไปว่า บางจังหวัดที่ชื่อเดิมหายไป ชื่อไม่ครบ จะต้องมีการเลือกและตั้งใหม่หรือไม่ เรื่องนี้ ประธาน กกต. เปิดเผยแนวทางไว้ว่า จะแต่งตั้งใหม่หรือไม่ ตอนนี้มีช่องทางอยู่หรืออาจจะใช้เท่าที่มีอยู่ก่อน เพราะจริงๆ แล้วการตั้งให้ครบ 616 คน เป็นการตั้งให้เต็มจำนวน แต่กฎหมายได้เปิดช่องไว้ว่าไม่ต้องครบ 616 คนก็ได้ แต่ต้องมีจำนวนเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่เมื่อถึงเวลาจริง
อิทธิพร-ประธาน กกต. ยังกล่าวถึงเป้าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ การเลือกตั้ง ส.ส.ที่ กกต.ตั้งเป้าไว้ว่าผมและสำนักงาน กกต.ได้ตั้งเป้าว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ คือร้อยละ 80 ของผู้มีสิทธิ์ และบัตรเสียไม่เกินร้อยละ 3 เพราะว่า กกต.ชุดที่แล้วได้วางรากฐานการให้ความรู้ประชาชน ในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ดีมาก มีทั้ง รด. จิตอาสา และลูกเสือจิตอาสา มีดีเจของวิทยุชุมชน มีโครงการพระธรรมวิทยากรและพระคาทอลิก มีองค์กร NGO ที่มาร่วมกับเราทั่วประเทศ ซึ่งทำมามากกว่า 5 ปีแล้ว ผนวกกับเรามีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษากว่า 146 แห่ง โดยรณรงค์ในเรื่องหน้าที่พลเมือง และเรายังมีศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.) ทุกตำบลของประเทศไทย จึงเป็นกลไกที่จะรณรงค์ให้คนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เราจึงหวังว่าการรณรงค์เช่นนี้จะมีส่วนช่วยเสริม ให้มีผู้มาลงคะแนนมากขึ้น จากเดิม 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ ให้ถึงร้อยละ 80 ได้
-มองว่าคนไทยจะตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากแค่ไหน หลังไม่ได้เลือกตั้งกันมาร่วม 8 ปี นับจากปี 2554?
ปัจจุบันนี้การที่เรามีสื่อ และคนไทยใช้สื่อกันมากอย่างเห็นได้ชัด ความรับรู้ของประชาชนเรื่องการเลือกตั้ง และการต้องการเพื่อออกไปใช้สิทธิ์ น่าจะมีมากกว่าเดิมมา เช่น ในตำบลต่างๆ มีทั้งอินเทอร์เน็ต และมี ศส.ปชต.ทุกตำบล อีกทั้งตอนนี้ปี่กลองยิ่งตีแรงขึ้น เพราะกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งออกมาหมดแล้ว การเลือกตั้งชัดเจนแล้วว่าต้องทำภายใน 150 วัน หลังจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ 11 ธ.ค.2561 ผมเชื่อว่าประชาชนจะมีความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ พรรคการเมืองก็จะมีบทบาทสำคัญเช่นกัน เมื่อสามารถเริ่มหาเสียงได้ตามกฎหมาย ก็จะเป็นพลังและพลวัตรที่จะเป็นแรงส่งให้คนสนใจออกมาเลือกตั้งกันมาก
เมื่อตั้งคำถามว่า ก่อนเข้ามาเป็น กกต.มองปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งอย่างไร ที่ผ่านมามีการพูดกันว่า เงินไม่มา กาไม่เป็น กกต.ชุดปัจจุบันจะทำให้เรื่องแบบนี้หายไปได้อย่างไร คำถามดังกล่าว อิทธิพร-ประธาน กกต. ให้ความเห็นว่า ผมเชื่อว่าการให้การศึกษากับประชาชนรุ่นปัจจุบันและรุ่นใหม่ รวมทั้งเยาวชนที่จะเข้ามาเป็นประชาชนในอนาคต เป็นเรื่องที่สำคัญในการปลูกฝังค่านิยมของประเทศของชุมชน มันไม่ใช่เรื่องทำได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ต้องเริ่มทำตั้งแต่ที่เขาเป็นเด็กเป็นเยาวชน จนถึงตอนที่เขามีสิทธิ์เลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคงทางการเมือง และความมั่นคงทางการเมืองจะนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม ความวุ่นวายที่เราเคยประสบกันมาน่าจะลดน้อย และหายได้ไปในที่สุด หากเรารู้ว่าหน้าที่ของเราในฐานะพลเมือง นั่นคือการไปใช้สิทธิ์ หรือถ้าอยากมีส่วนในการทำงานเพื่อประเทศ ก็ลงสมัคร ส.ส. โดยต้องเป็นผู้สมัครที่ดี ทำงานกับพรรคการเมืองที่มีคุณภาพ การเมืองก็จะมีเสถียรภาพ
เรื่องดังกล่าวเป็นอุดมคติก็จริง แต่ผมคิดว่าต้องเริ่มทำไปเรื่อยๆ และหยุดไม่ได้ และตอนนี้มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะอำนวยความสะดวกให้กับคนทั่วๆ ไป ในการหาข่าว เพราะฉะนั้นการให้การศึกษาอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ช่วงใดช่วงหนึ่งของการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่พึงกระทำ อิทธิพร-ประธาน กกต. ยังกล่าวถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น กกต.จะสามารถลดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงลงได้หรือไม่ว่า ขณะนี้ กกต.มีเครื่องมือมากขึ้น โดยเป็นเครื่องมือทางกฎหมาย นั่นก็คือตัว กกต.เองตอนนี้ สามารถแต่งตั้งพนักงานให้เป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจหน้าที่ตาม ป.วิอาญา เพราะฉะนั้น เรามีขีดความสามารถในการป้องกันการทำผิดมากขึ้น จากเดิมแต่ก่อนต้องพึ่งตำรวจและอัยการ แต่ตอนนี้อำนาจหน้าที่นี้มาอยู่ในมือเรา
...เรามีอำนาจหน้าที่ในการหาข่าว แสวงหาข่าว และขอความร่วมมือจากหน่วยข่าว เรามีเครื่องมือในการกันบุคคลไว้เป็นพยาน มาตรการในการคุ้มครองพยาน ให้รางวัลผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งสิ่งพวกนี้เดิม กกต.ไม่มี แต่ตอนนี้เรามีแล้ว เราก็จะดูว่าเครื่องมือที่ใช้ป้องกันการทุจริตที่เอ่ยมา จะสามารถป้องกันได้แค่ไหน แต่โดยหลักแล้วคาดว่าจะสามารถป้องกันได้มาก เพราะว่าถ้ามีการทุจริต ผู้ทุจริตหรือผู้สมัครหรือใครก็ตาม จะต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง-อาญา และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง สิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือในการป้องกัน ที่อยู่ในมือเรา
...อย่างเช่น กกต.คนเดียว ก็สามารถสั่งระงับการเลือกตั้งในบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตนั้นได้ หากเห็นว่ามีพฤติกรรมที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต มาตรการใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ ตามกฎหมายอย่างน้อยก็ทำให้ชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้ถ้ากระทำผิดมันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ส่วนเราจะใช้เครื่องมือได้ดีแค่ไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับการประชาสัมพันธ์ของเราด้วยว่า จะให้สาธารณชนทราบเรื่องพวกนี้ได้มากเพียงใด
เรื่องป้องกันการซื้อเสียง ผมคิดเองว่า เดิมการซื้อเสียงก็เป็นการให้เงิน ส่วนรูปแบบก็หาวิธีการต่างๆ เช่น ให้เงินพาไปดูงาน แต่เป็นการท่องเที่ยว สิ่งที่เราจะพูดได้ก็คือว่า การได้ประโยชน์จากเงินซื้อเสียง ในจำนวนไม่เท่าไหร่ แต่ได้ส่งผลเสียต่อระบบการเมืองการปกครองของประเทศ และคนที่ร่วมด้วยก็อาจจะมีความผิด เพราะรับเงิน แต่หากไม่รับแล้วมาชี้เบาะแสให้เรา ถือว่าเป็นพลเมืองที่ดี และปกป้องระบบการเมืองประชาธิปไตยของประเทศ และยังมีเงินรางวัลให้
-กฎหมายเข้มงวดมากขึ้น คนที่คิดจะทุจริตก็อาจหาวิธีการที่แยบยลมากขึ้น?
การสืบสวนสอบสวนเป็นเรื่องที่ กกต.พยายามเพิ่มขีดความสามารถของคน กกต.เองด้วย เช่น การแสวงหาข่าว ก็เป็นเรื่องการหาเบาะแส หาพยานหลักฐานที่จะต้องทำให้ดีขึ้น ให้ชัดเจนขึ้นเพื่อป้องปรามวิธีการที่จะแยบยลขึ้นในการจะใช้วิธีไม่สุจริต เช่น หากมีการให้เงิน ก็ยังมีลายนิ้วมืออยู่ แบบนี้ก็จะเถียงไม่ออก เราคิดจะนำเรื่องนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในเรื่องการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อป้องกัน และบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ในอนาคตหากเรามีเวลาพอ เราก็จะขอความร่วมมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม
-ที่ผ่านมาการพิจารณาสำนวนการสอบสวนคดีเลือกตั้งของ กกต.เพื่อให้ใบเหลืองใบแดง ถูกมองว่าล่าช้าและบางคดีส่งฟ้องไปศาลก็ยกฟ้อง?
ก็เป็นข้อเท็จจริงในอดีตที่ กกต.เองก็เห็นว่าจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำสำนวน ยิ่งปัจจุบันกฎหมาย กกต.ให้อำนาจเราเป็นทั้งพนักงานสืบสวนและไต่สวน เราก็มีการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น เพราะตอนนี้ถือเป็นหน้าที่ของเราโดยตรง จากเดิมสำนวนที่เราเคยทำแล้วส่งไปที่ศาลและอัยการ จะไม่ได้คุณภาพเหมือนที่ผ่านมา ตอนนี้ไม่มีข้อยกเว้นไม่มีข้อแก้ตัวแล้ว
ที่ผ่านมาสำนักงาน กกต.มีการจัดสัมมนากันหลายรุ่น ตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ก็เดินทางไปเปิดปิดมาแล้วหลายรุ่น ก็เห็นมีการสรุปกันอย่างเข้มข้น มีการบรรยายจากตัวแทนศาล อัยการ ผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องคดี ผู้มีความชำนาญ มีการทำเวิร์กช็อปให้ด้วย เพื่อที่เมื่อมีการดำเนินการจริงสำนวนของ กกต.จะต้องเป็นสำนวนที่ใช้ได้ ไม่ใช่ล่าช้า ไม่มีคุณภาพ มันหมดเวลาแล้ว กกต.เราจะพยายามทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด
-ในฐานะประธาน กกต.ยืนยันได้ว่าการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง การซื้อสิทธิ์ขายเสียงจะต้องไม่เกิดขึ้นหรือลดน้อยลง?
ใช่ครับอันนี้คือหน้าที่หลักของ กกต. ผมว่าหน้าที่หลักๆ ของ กกต.ก็เช่น 1.ทำให้องค์กร กกต.เข้มแข็ง 2.ทำให้ประชาชนเข้าใจถึงระบบการเลือกตั้งและระบบการปกครอง และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและสังเกตการณ์กระบวนการเลือกตั้งของเราด้วย รวมถึงทำให้พรรคการเมืองต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีคุณภาพ
เมื่อ กกต.องค์กรเรามีความเข้มแข็ง ประชาชนเข้มแข็ง พรรคการเมืองเข้มแข็ง ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่มีคุณภาพ เมื่อการเลือกตั้งมีคุณภาพก็จะนำไปสู่การป้องกันป้องปรามการทุจริตไม่ให้มี หรือว่ามีแต่ต้องมีน้อยที่สุด
ปัจจุบัน กกต.มีเครื่องมือเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อย เราก็ต้องใช้เครื่องมือนี้เป็นตัวกรองทำให้การเลือกตั้งออกมาดีที่สุด โกงน้อยที่สุด ส่วนจะได้หรือไม่ได้เมื่อผลออกมาเราก็ต้องมาวิเคราะห์ตัวเองว่าเรามีจุดอ่อนตรงไหน ถ้าออกมาเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ได้ก็จะดีใจและจะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นอีก แต่หากผลออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่เราตั้งเป้าเอาไว้ เราก็ต้องมาดูว่าจุดอ่อนอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งเมื่อมีเครื่องมือแล้วเราป้องปรามได้ แล้วผลการเลือกตั้งออกมาพบว่ามีการทุจริตน้อยที่สุด การเลือกตั้งก็จะมีมาตรฐานได้รับการยอมรับทั้งจากคนในประเทศเราเองและต่างประเทศ และความมีประสิทธิภาพจากการเลือกตั้งมันน่าจะดีขึ้น หวังไว้อย่างนั้น
ต่อข้อถามที่ว่า ในฐานะอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นถูกจับตาจากนานาประเทศเพราะเป็นการเลือกตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐประหารไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตย หากได้มีโอกาสพบปะหรือพูดคุยกับตัวแทนต่างประเทศ เช่น เอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ จะบอกถึงเรื่องการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอย่างไร อิทธิพร-ประธาน กกต. ให้ทัศนะว่า เรากำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นมีหลักประการเดียวก็คือว่า ถ้าเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม มีการทุจริตน้อย ผลการเลือกตั้งก็จะเป็นที่ยอมรับทั้งจากประเทศเราและประเทศอื่นด้วย
ผมเคยอยู่กระทรวงการต่างประเทศมา ผมก็ตระหนักดีว่าทุกประเทศต่างให้คุณค่ากับการเป็นประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ เราเองก็ให้ความสำคัญกับประเทศอื่นๆ ที่เราอยากเห็นเขาเป็นประชาธิปไตย แต่เราเองก็เข้าใจว่าบางครั้งประชาธิปไตยต้องมีเส้นทางของประชาธิปไตยตามระบบสังคมการเมืองเฉพาะด้านของแต่ละประเทศ ก็เป็นเรื่องที่ว่าแต่ละประเทศเขาอาจเฝ้าดูว่า ประเทศไทยจะก้าวไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อย่างไร ผมก็มีหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ต้องอธิบายให้เขาฟัง
ใกล้คลอดกฎเหล็ก หาเสียงผ่านโซเชียล
ประธาน กกต. ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาขอบเขตการหาเสียงเลือกตั้งผ่านสื่อโซเชียลมีเดียว่า เมื่อช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการยกร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้นำเรื่องหลักการเสนอให้ที่ประชุม กกต.รับทราบแล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงลงรายละเอียดแต่ละข้อว่าจะทำอย่างไร จะเขียนออกมาอย่างไร ผมเข้าใจว่าระเบียบดังกล่าวน่าจะเสร็จในเร็ววันนี้ เพราะตอนที่ตั้งกรรมการชุดนี้ขึ้นมาก็มีการกำหนดการทำงานไว้ว่า ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือนคงไม่นานไปกว่านี้
สิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญก็คือ หลัง กกต.มีการยกร่างระเบียบดังกล่าวเสร็จแล้ว เราต้องไปรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ เช่น พรรคการเมือง ประชาชน กกต.ก็ต้องการทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว จะได้มีระเบียบรองรับเตรียมเอาไว้เมื่อมีการหาเสียงได้ตามกฎหมาย
-การรณรงค์หาเสียงผ่านสื่อโซเชียลมีเดียควบคุมได้ยาก ตรงนี้อาจเปิดช่องให้มีการโจมตีกันทางอ้อมของพรรคการเมือง จะมีแนวทางป้องกันอย่างไร?
การกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายเป็นการหาเสียงที่ต้องห้ามหรือไม่ หากว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป แต่เรื่องระเบียบที่จะออกมาไม่ใช่เป็นการห้ามหาเสียง แต่เป็นการให้หาเสียงได้ เพียงแต่อยากจะให้มีการแจ้งรูปแบบต่อ กกต.ด้วย แต่ไม่ใช่เป็นการขออนุญาต ยืนยันว่ายังคงให้หาเสียงได้ แต่การหาเสียงนั้นต้องไม่เป็นการใส่ร้ายหรือกระทบต่อสิทธิของผู้อื่น หากพบว่าเข้าข่ายใส่ร้ายเราก็จะขอให้เขาลบ แต่หากเขาไม่ดำเนินการลบ เราก็จะลบเองโดยอาศัยวิธีการทางเทคนิคซึ่ง กกต.เชื่อว่าทำได้ แต่เขาก็จะต้องรับผิดตามเนื้อหาที่เขียน ก็เหมือนกรณีไปหาเสียงแล้วใส่ร้ายคนอื่นแล้วต้องมีความผิดตามกฎหมายแพ่งและอาญา
-ในฐานะประธาน กกต.ชุดที่ 5 ต้องการให้คนพูดถึงหรือจดจำ กกต.ชุดนี้อย่างไร เพราะที่ผ่านมานับแต่มี กกต.ก็มี กกต.บางชุดถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำงาน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี?
เวลาผมได้ยินคนพูดคำว่า 7 เสือ หรือ 5 เสือ กกต. ซึ่งผมไม่คิดว่าเป็นเสืออะไร แต่เป็นเรื่องของภาระหน้าที่ซึ่งสำคัญมาก โดย กกต.เราก็ต้องเตือนตัวเองว่าหน้าที่ของเราต้องเป็นกลาง ต้องทำงานให้มีความสุจริตเที่ยงธรรมมากที่สุด ไม่เอาความคิดของตัวเอง ความเชื่อของตัวเองมาใช้เป็นพื้นฐานในการทำงาน เพราะเรื่องที่เรากำลังทำอยู่เป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ ที่เราต้องยึดมั่นมุ่งมั่นในการทำงานให้ดีที่สุด
ก่อนหน้าที่ผมจะมารับหน้าที่อย่างเป็นทางการในช่วง 17-18 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน กกต.ได้ให้ผมไปพูดเรื่องวิธีคิดและแนวทางการทำงานของผม (งานสัมมนาเจ้าหน้าที่ของ กกต.ที่จังหวัดชลบุรี) ผมก็ได้บอกไปว่าผมมีคาถาไม่กี่อย่าง และคาถาสำคัญเรื่องหนึ่งที่วันสัมมนาดังกล่าวไม่ได้พูด ก็คือเรื่องบทบัญญัติในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่บัญญัติว่า องค์กรอิสระต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
เรื่องนี้อยู่ในหัวของผมทุกวัน จะคิดทำอะไรก็ตามผมต้องดึงตัวเองกลับมาว่า ถ้าผมตัดสินใจไปอย่างนี้ มันเรื่องประโยชน์ของสำนักงานผม ประโยชน์ของใคร หรือประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม อันนี้เป็นคาถาที่ใหญ่ที่สุด เพราะถูกเขียนไว้เป็นมาตราต้นๆ ของรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่สอง กฎหมายว่าด้วย กกต.ก็บัญญัติไว้ว่า ในการเลือกบุคคลที่จะมาเป็น กกต.ต้องมีความรับผิดชอบสูง ต้องมีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องมีพฤติกรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม ไม่มีพฤติกรรมยอมคน ไปอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใด มีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จ ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจหน้าที่อย่างสุจริตเที่ยงธรรม กล้าหาญ ปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลยพินิจ และปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ผมก็เชื่อว่า กกต.แต่ละท่าน แต่ละวันที่มาทำงานจากงานที่ต้องทำ เช่น การให้ความรู้ประชาชน การสนับสนุนพรรคการเมือง เราก็ต้องทำงานบนพื้นฐานนี้
"เราจึงไม่ได้เป็นเสือ แต่เราเป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องทำงานด้วยกันด้วยลักษณะนี้"
ตอนนี้ กกต.ก็หารือกันในทุกๆ เรื่อง เพราะว่าการทำงานในลักษณะเป็นคณะกรรมการจะช่วยทำให้งานของ กกต.ที่ออกมาได้รูปได้ร่างมากที่สุดในทุกเรื่องที่เราต้องปฏิบัติ เราจะนำเข้าที่ประชุม กกต. พิจารณาร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีมติเห็นชอบกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งกัน แต่เป็นเพราะว่า ความตั้งใจที่จะรับฟังเหตุผลของแต่ละคนมีส่วนสำคัญมาก
...ดังนั้นการทำงานของ กกต.ในขณะนี้ ในรูปของคณะกรรมการจึงดีกว่าที่จะไปแบ่งงานในด้านต่างๆ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละท่าน เราเห็นว่าวิธีการทำงานที่ทำอยู่ตอนนี้ในลักษณะของบอร์ดดีที่สุด บอร์ด กกต.คิดอย่างไรก็บอกกับสำนักงาน กกต. สำนักงานมีปัญหาอะไรก็เสนอบอร์ด หากเราปฏิบัติหน้าที่แบบนี้เรื่อยๆ ไป ผมก็เชื่อว่าเราจะเห็นความมีคุณภาพและความตั้งใจจริงของคณะกรรมการ ว่าทำงานอะไรก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและบทบาทหน้าที่ตามที่ได้บอกข้างต้น
-ก่อนหน้านี้เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นอดีตเอกอัครราชทูต การทำงานไม่ต้องไปเผชิญหน้าหรือต้องรับแรงกดดันอะไรมาก แต่การเป็น กกต.ต้องแจกใบเหลือง ใบแดง ต้องควบคุมการเลือกตั้ง ต้องเจอแรงเสียดทานจากฝ่ายต่างๆ อาจจะมีศัตรูทางการเมือง พรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส.ไม่พอใจ หนักใจไหม?
ใครก็ตามที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ย่อมตระหนักได้ว่าจะต้องเจอแรงเสียดทาน แรงกดดันที่จะต้องมีที่ต้องเจอค่อนข้างเยอะ เพราะเป็นเรื่องระดับชาติ เป็นการเมืองระดับชาติ แต่สำหรับผมเรื่องแรงเสียดทานก็เคยประสบอยู่บ้างสมัยเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เช่นทำเรื่องเขตแดน ทำเรื่องคดีปราสาทพระวิหาร
...เรื่องเขาพระวิหาร ประเด็นว่าไทยเสียดินแดนหรือไม่เป็นเรื่องที่กดดันมากเช่นกัน ผมไม่ได้คิดเป็นห่วงเรื่องแรงกดดัน เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนเมื่อคิดเห็นอย่างไรก็สามารถแสดงความคิดเห็นของเขาได้ จะแรงหรือไม่แรงก็เป็นเรื่องของเขา หากแรงมากก็มีกระบวนการทางกฎหมาย แต่สำหรับตัวผมเองตั้งใจอยู่เสมอว่าเมื่อต้องทำอะไร ผมก็จะต้องทำ หากจะมีใครว่าอะไรก็ไม่เป็นไร เป็นสิทธิ์ของเขา เพราะเขามองการทำงานของผมอยู่ สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวก็คือว่า ผมตั้งใจทำงานให้มากที่สุด ให้ดีที่สุด หากทำอะไรผิดพลาดก็จะทบทวนและแก้ไขให้ดีที่สุด สิ่งนี้คือสิ่งที่ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มต้นรับราชการเมื่อปี 2523 ว่าจะทำงานลักษณะนี้ ส่วนจะโดนว่ามากหรือน้อยหรือจะมีการชื่นชม ก็จะน้อมรับแล้วก็เดินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่ผมต้องยุติบทบาทนั้น
ดังนั้น ผมก็เตรียมตัวมาแล้วเช่นกัน แต่ผมไม่เห็นว่าจะเป็นแรงกดดัน แต่ผมถือว่าเป็นสิ่งที่ผมรับได้และมองในแง่ดี โดยจะไม่ไปตอบโต้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของผมและไม่ใช่วิธีคิดของผมด้วย
ถามย้ำว่า ในช่วงการทำหน้าที่หากถูกฟ้องร้องจากการปฏิบัติหน้าที่การเป็น กกต.ก็ไม่หวั่นอะไร ประธาน กกต. กล่าวตอบว่า คนที่เป็นข้าราชการทุกคนมีสิทธิ์ถูกฟ้องร้อง ตอนนี้โอกาสถูกฟ้องร้องอาจจะมากขึ้น แต่ด้วยความเชื่อว่าเราต้องทำอะไรให้ถูกต้องถูกกฎหมาย รวมถึงความเชื่อในระบบยุติธรรมในสังคม ผมก็เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องคุ้มครองให้ผมทำงาน กกต.ต่อไปโดยไม่ท้อถอย เพราะมันไม่อยู่ในความคิดของผม ผมรู้ว่าผมจะต้องเผชิญสิ่งที่เป็นแรงเสียดทาน แต่ว่าโดยส่วนตัวแล้วเมื่อปวารณามาเป็นข้าราชการ มาทำงานในตำแหน่งนี้แล้ว จะเอาประเด็นเหล่านี้มาเป็นม่านขวางก็คงจะทำงานแบบตอนนี้ไม่ได้.
............................................
จากอดีตนักการทูต สู่เก้าอี้ประธาน กกต.
การที่ อิทธิพร-ประธาน กกต. ได้รับเลือกจากที่ประชุม 5 กกต.ให้เป็นประธาน กกต. ถือว่าเป็นเรื่องพลิกความคาดหมายอย่างมาก เพราะเป็นชื่อที่ไม่เคยปรากฏผ่านสื่อมาก่อนว่าจะเป็นแคนดิเดตประธาน กกต.
เมื่อถามว่าการได้รับเลือกให้เป็นประธาน กกต. คนมองกันว่าค่อนข้างพลิกล็อก เพราะก่อนหน้านี้มีการเสนอข่าวว่าจะมีแคนดิเดตอีกสองคน อิทธิพร-ประธาน กกต. กล่าวในเรื่องนี้ไว้ว่า ผมตระหนักดีว่าการเป็นประธาน กกต. บทบาทหน้าที่จะมีเยอะ ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง เช่นเข้าร่วมประชุมอะไรต่างๆ แต่ผมเองก็ไม่ได้หนักใจ และไม่ได้แปลกใจอะไรขนาดนั้น เพราะว่าก็เป็นการเลือกกันเองของที่ประชุม กกต. ซึ่งเมื่อเลือกกันเองก็ต้องแล้วแต่ กกต.ท่านอื่นๆ จะบอกว่าผมดีใจหรือไม่ ผมก็ต้องบอกว่าผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเลือกให้เป็น ปธ.กกต.และจะมุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด
-จากการเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศมาร่วม 36 ปี ตอนนี้มาเป็นประธาน กกต.ประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง ชีวิตการทำงานอะไรต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?
ก็เปลี่ยนครับ เพราะว่าสมัยรับราชการอยู่กระทรวงการต่างประเทศจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนน้อย แต่การเป็น กกต.เกี่ยวข้องกับประชาชน รัฐบาล เกี่ยวข้องกับรัฐสภา พรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง การปฏิบัติสัมพันธ์ในงานของ กกต.จึงมีกับทุกภาคส่วน แต่ของกระทรวงการต่างประเทศจะไม่ทุกภาคส่วน อาจมีแค่บางครั้ง จึงแตกต่างกัน
ถามถึงว่าจะนำประสบการณ์สมัยอยู่กระทรวงการต่างประเทศ และการเป็นอดีตนักการทูตมาใช้ในการเป็นประธาน กกต.ได้มากน้อยแค่ไหน อิทธิพร-ประธาน กกต. เผยแนวทางไว้ว่า การรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน และหาจุดที่จะนำไปสู่จุดที่จะยอมรับกันได้เป็นเรื่องสำคัญ และอยากให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าสิ่งที่ถูกในวันนี้อาจเป็นสิ่งที่ถูกน้อยลงในวันหน้า ดังนั้นการหาจุดร่วมกัน การเข้าใจกฎ กติกาจึงสำคัญมากๆ
...การเลือกตั้งไม่ได้มีครั้งเดียวแล้วก็อยู่ตลอดชีวิต แต่การเลือกตั้งมีขึ้นในครั้งนี้ แล้วก็จะเกิดขึ้นอีกครั้งหน้า โดยตามกฎหมายก็อีกสี่ปี การเลือกตั้งรอบนี้หากเราคะแนนน้อยกว่า แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาแนวคิดและการทำงานเพื่อประชาชน จากนั้นยกที่สองก็อีกสี่ปีข้างหน้า การรู้แพ้รู้ชนะ รู้ว่าตัวเองยังมีโอกาส มีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย
......คือว่าถ้าทุกคนเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน คือผมจะไม่เอาความเห็นของผมไปใส่คุณ บังคับให้คุณเชื่อ ขณะเดียวกันคุณก็ไม่นำความคิดคุณมาบังคับใส่ผม แต่เมื่อใดก็ตามที่เราคุยกันบ่อยครั้งขึ้น เราอาจหาจุดอะไรร่วมกันได้ นั่นคือเราสามารถทำงานร่วมกันได้เสมอ ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกันเลย เพียงแต่ยอมรับว่ามีความแตกต่างอยู่ อันนี้ก็เป็นจุดที่ว่าสมัยอยู่กรมสนธิสัญญาและกฎหมายมีงานที่ต้องเจรจาสองฝ่าย ก็ต้องพูดกันแบบนี้ ซึ่งหากผลสุดท้ายเห็นพ้องกันมันก็ง่าย แต่หากไม่เห็นพ้องกัน ก็ต้องหาจุดไหนที่จะเป็นจุดกลางที่คุณก็ไม่รู้สึกเสีย ผมก็ไม่รู้สึกเสีย คุยกันครั้งเดียวรู้เรื่องหรือไม่ หากคุยกันยังไม่รู้เรื่องก็มาคุยกันอีกอาจ 4-5 ครั้ง
การทูตแบบนี้ก็ช่วยฝึกคนให้มองอะไรที่กว้างขึ้น รวมถึงการทูตแบบพหุภาคี ซึ่งหากเราไปนั่งที่ยูเอ็นที่ต้องไปเจรจาข้อมติต่างๆ บางทีมีข้อเสนอมามาก ก็ต้องทำอย่างไรให้มีข้อเสนอที่เหลือน้อยลง จนถึงน้อยที่สุดและนำไปสู่การตัดสินร่วมกันได้ อันนี้ต้องอาศัยความเข้าใจและความอดทน โดยความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญมาก ความอดทนด้วยเช่นกัน แล้วก็มองไปข้างหน้า หาทางสายกลาง สิ่งเหล่านี้ผมก็คิดว่าจะเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้าจากการที่ได้เคยฝึกตัวเอง ฝึกความคิดตัวเองจากการทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ก็หวังว่าจะได้ประโยชน์บ้าง
อิทธิพร-ประธาน กกต. ยังกล่าวถึงการทำให้ กกต.พัฒนาเป็น กกต.4.0 ตามแนวทางที่เคยไปกล่าวไว้ตอนแสดงวิสัยทัศน์กับกรรมการสรรหาฯ กกต.ว่า 4.0 เป็นเรื่องการทำให้ทันกับยุคสมัย โปร่งใส มีธรรมาภิบาล โดยมุ่งเน้นเรื่องตัวองค์กร บุคลากรของ กกต. การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่ออำนวยความสะดวก ลดค่าใช้จ่าย สิ่งเหล่านี้ก็คือแนวทางการทำงาน เพราะผมเชื่อว่าหากองค์กรไม่เข้มแข็งก็จะไม่สามารถผลักดันสิ่งเหล่านี้ได้ คำว่าองค์กรเข้มแข็งไม่ใช่ตัวองค์กรอย่างเดียว แต่ตัวผู้บริหาร, กกต., บุคลากรต้องเข้มแข็งหมด เราจะอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ เทคโนโลยีเรื่องใดเป็นเรื่องดีก็ต้องนำมาใช้ ภายใต้หลักที่ต้องคำนึงว่าคุ้มค่าเงินหรือไม่ และเมื่อนำมาใช้แล้วจะสามารถอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้หรือไม่อย่างไร.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
ชัชดนัย ตันศิริ
………………………………………
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |