22 กันยายน กองทัพอิหร่านจัดงานสวนสนามที่เมือง (Ahvaz – ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้) เกิดเหตุผู้ก่อการร้ายอย่างน้อย 4 คนโจมตีผู้ร่วมงานด้วยอาวุธสงคราม มีผู้เสียชีวิต 26 คน บาดเจ็บเกือบ 70 ราย ผู้ก่อการร้ายทั้ง 4 เสียชีวิตหรือถูกจับกุม ทางการอิหร่านกล่าวโทษรัฐบาลสหรัฐ ซาอุฯ กับสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์มีส่วนเกี่ยวข้อง อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ชี้ว่าศัตรูหวังสร้างความปั่นป่วน
สัปดาห์ต่อมาอิหร่านตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธใส่กลุ่มก่อการร้ายทางภาคตะวันออกของซีเรีย 6 ลูก เป้าหมายดังกล่าวอยู่ห่างจากฐานปล่อยขีปนาวุธ 570 กิโลเมตร เป็นขีปนาวุธรุ่น Zolfaqar กับ Qiam มีพิสัย 750 กับ 800 กิโลเมตร
ขีปนาวุธอย่างน้อย 1 ลูกมีข้อความว่า 'Death to America', 'Death to Israel', 'Death to Al Saud' และประโยคที่ให้ความหมายตามบทบัญญัติศาสนาว่า “ต่อสู้กับเพื่อนซาตาน”
ไม่ใช่ของแปลกใหม่ ประเด็นการตีความ :
การที่ขีปนาวุธมีข้อความดังกล่าวย่อมถูกตีความได้ว่ารัฐบาลอิหร่านมิได้มุ่งโจมตีกลุ่มก่อการร้ายเท่านั้น ยังต้องการสื่อว่าใครเป็นศัตรูที่ต้องทำลาย และเป็นศัตรูที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติตามหลักศาสนา
การตอบโต้ด้วยขีปนาวุธไม่ใช่ของแปลกใหม่ เมื่อมิถุนายน 2017 อิหร่านยิงขีปนาวุธใส่ผู้ก่อการร้ายหลังรัฐสภาอิหร่านถูกโจมตี
และหากถอยไปอีกปีเมื่อมีนาคม 2016 อิหร่านได้ทำเรื่องถูกตีความให้น่ากลัวพอกันด้วยการทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง 2 ลูก รุ่น Qadr-H กับ Qadr-F พลจัตวา Amir Ali Hajizadeh ผู้บัญชาการทหารอากาศแห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolution Guards Corps Aerospace Force) แถลงหลังทดสอบว่าเป็นการซ้อมรบตามแผนป้องกันประเทศ ใช้ยิงศัตรูของอิหร่านโดยเฉพาะอิสราเอล อิหร่านไม่มีแผนรุกรานใครแต่พร้อมยิงขีปนาวุธใส่ผู้ที่คิดทำลายล้างอิหร่าน ระบอบไซออนนิสต์ (Zionist regime) เป็นเป้าหมาย “เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงออกแบบขีปนาวุธพิสัย 2,000 กิโลเมตร ขีปนาวุธดังกล่าวสามารถยิงถึงเป้าหมายระยะ 2,000 กิโลเมตรในเวลา 12-13 นาที อาวุธดังนี้มีเพื่อป้องกันประเทศ ไม่ละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ ไม่ได้ติดหัวรบนิวเคลียร์
สื่ออิหร่านรายงานว่าบนตัวขีปนาวุธดังกล่าวมีข้อความ “อิสราเอลต้องถูกลบออกจากหน้าประวัติศาสตร์” หรือออกจากแผ่นดินโลกเป็นภาษาฮีบรู (Hebrew)
การเขียนเป็นภาษาฮีบรูบ่งบอกว่าต้องการให้คนอิสราเอลอ่าน ต้องการสื่อสารถึงอิสราเอลโดยตรง
ประโยคต้องการ “ลบอิสราเอลออกจากแผนที่” หรือประโยคที่มีความหมายคล้ายกันเป็นคำพูดที่ถูกกล่าวถึงเสมอๆ เช่นเมื่อเดือนตุลาคม 2005 ประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ประกาศว่า “อิสราเอลจะต้องถูกลบออกจากแผนที่”
จึงเป็นอีกครั้งที่ประโยคดังกล่าวปรากฏผ่านสื่อระหว่างประเทศ ตอกย้ำเป้าหมาย ทัศนคติที่รัฐบาลอิหร่านมีต่อพวกไซออนนิสต์ คำถามสำคัญคืออิหร่านหวังเพียง “ป้องกันประเทศ” หรือปรารถนา “ลงมือทำลายศัตรู” (เป็นฝ่ายบุก) หากวันใดพร้อมที่จะทำเช่นนั้น
ถ้ามองจากมุมนายกฯ เนธันยาฮูย่อมได้คำตอบว่าอิหร่านหวังมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อโจมตีอิสราเอล เป็นเหตุผลให้รัฐบาลอิสราเอลอ้างความชอบธรรมที่จะต่อต้านโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ปิดล้อมคว่ำบาตรจนกว่าอิสราเอลจะเห็นว่าตนปลอดภัยซึ่งหมายถึงระบอบอิหร่านต้องถูกล้มล้าง ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
หลายคนเชื่ออีกว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 สงครามนิวเคลียร์ล้างโลกที่จะเกิดในอนาคตมีต้นเหตุมาจากอิหร่าน
อิหร่านส่งสารเตือน :
ถ้าวิเคราะห์แบบพื้นฐาน การยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ 6 ลูกทำลายกลุ่มก่อการร้ายเป็นเพียง “ปฏิกิริยาตอบโต้” อีกมุมมองคือเป็นการรบติดพัน เนื่องจากทุกวันนี้กองกำลังติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุนกำลังต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายในซีเรียกับอิรักอยู่แล้ว ต่างยิงกันไปยิงกันมา ครั้งนี้ฝ่ายผู้ก่อการร้ายเพียงฉวยโอกาสลงมือก่อเหตุในเขตประเทศอิหร่านเท่านั้น
หากมองย้อนหลัง 1 ปีในเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโจมตีรัฐสภา ศัตรูยังคงหาช่องก่อเหตุเป็นระยะ กลุ่มก่อการร้ายอาจเป็นกลุ่มเดียวกันหรือคนละกลุ่ม และน่าจะมีมากกว่า 1 กลุ่ม ยากที่อิหร่านจะปราบปรามหรือสกัดได้หมด
หากคำกล่าวหาของอิหร่านถูกต้อง กลุ่มเหล่านี้มีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุน ยิ่งเชื่อได้ว่าเหตุก่อการร้ายเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีก
อิหร่านจะสามารถปราบปรามรัฐบาลหรือระบอบศัตรูที่เอ่ยถึงได้หรือไม่
ความบาดหมางที่ดำเนินต่อไป :
ในอีกด้านหนึ่งทุกวันนี้รัฐบาลสหรัฐ ซาอุฯ กับพวกกำลังเล่นงานอิหร่านอย่างหนักหน่วงอยู่แล้ว การประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ (JCPOA) ของรัฐบาลทรัมป์ การยกระดับมาตรการคว่ำบาตร ขู่ห้ามบริษัทเอกชนทุกแห่งทั่วโลกทำธุรกิจกับอิหร่าน มีผลต่อเศรษฐกิจอิหร่านอย่างชัดเจน ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจสังคมภายในที่มีอยู่แล้วในรุนแรงกว่าเดิม
การประกาศว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรูเป็นคำพูดที่คุ้นชิน
ล่าสุดในช่วงประชุมสมัชชาสหประชาชาติ รัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลซาอุฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ อิสราเอลส่งสัญญาณร่วมจุดยืนล้มล้างระบอบอิหร่าน ทั้งนี้จะรอให้การเมืองอิหร่านร้อนจนระเบิดออกมาก่อน
ฝ่ายรัฐบาลอาหรับกล่าวหาเรื่อยมาว่าอิหร่านแทรกแซงกิจการภายในของตน ทั้งยังเป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย Adel al-Jubeir รมต.กระทรวงการต่างประเทศซาอุฯ กล่าวว่า “อิหร่านไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับโลกอาหรับจึงต้องถูกขับออกไป” “เราจะเจรจากับประเทศที่ต้องการฆ่าเราได้อย่างไร” ประโยคนี้หากตีความแบบการทูตคือกำลังสื่อว่าระบอบอิหร่านเป็นภัยคุมคามที่น่ากลัวร้ายแรง หากตีความตรงตัวอักษรคือการชี้ว่าเป็นศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้
ด้าน Yousef al-Otaiba เอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ประจำสหรัฐกล่าวว่าแรงกดดันจากภายนอกเป็นกุญแจและจำต้องมีเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอิหร่าน ต้องปิดล้อมอิหร่านทุกทาง
เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่รัฐบาลสหรัฐ พวกซาอุฯ และอิสราเอลต่างพูดเป็นนัยหรือพูดตรงๆ ว่าต้องการล้มล้างระบอบอิหร่านแต่ยังไม่สำเร็จ ถ้อยคำรุนแรงที่ปรากฏจึงไม่ใช่อะไรแปลกใหม่เช่นกัน ที่พอจะแตกต่างจากเดิมคือ ความร่วมมือ 3 เส้าระหว่างรัฐบาลสหรัฐ พวกซาอุฯ และอิสราเอลปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้นทุกที ไม่ใช่อะไรที่ต้องปิดลับอีกแล้ว
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ถ้าวิเคราะห์โดยมองที่เหตุก่อการร้ายนี้เพียงเรื่องเดียวอาจได้ข้อสรุปอย่างหนึ่ง หากมองภาพกว้างมองย้อนอดีตจะพบว่าอิหร่านเคยตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธใส่กลุ่มก่อการร้าย จึงไม่ใช่ของแปลกใหม่ เป็นการโต้กลับเมื่อถูกเล่นงานด้วยอาวุธเป็นครั้งๆ
สมรภูมิต่อต้านก่อการร้ายทั้งในอิรักกับซีเรียต่างมีกองกำลังติดอาวุธที่รัฐบาลอิหร่านสนับสนุน กองกำลังเหล่านี้ยังคงอยู่ ยังรบในซีเรีย ดังนั้น สงครามต่อต้านผู้ก่อการร้ายดำเนินต่อไป และผู้ก่อการร้ายย่อมหาทางโต้กลับและทำอยู่แล้ว เป็นสงครามที่ต่างฝ่ายต่างต่อสู้กันและกัน ดังนั้น หากยึดว่าเหตุยิงในการสวนสนามเป็นฝีมือผู้ก่อการร้าย ย่อมควรสรุปว่าเหตุการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามในขณะนี้
รัฐบาลอิหร่านต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบโต้ โดยไม่กังวลว่าสหรัฐกับพวกจะโต้กลับหรือไม่ เพราะที่กระทำต่ออิหร่านในขณะนี้รุนแรงมากอยู่แล้ว สื่อบางสำนักบทวิเคราะห์บางชิ้นพยายามชักนำให้คิดรู้สึกรุนแรง บ้างเอ่ยถึงสงครามโลกครั้งที่ 3 (ไม่กี่เดือนก่อนก็คาดเดาว่าเกาหลีเหนือกับสหรัฐจะทำสงครามนิวเคลียร์) เป็นความจริงที่อิหร่านกับปรปักษ์หลายประเทศกำลังทำสงครามในระดับหนึ่ง เช่นการคว่ำบาตรเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ การตีความว่าสมรภูมิซีเรียคือสมรภูมิตัวแทน (proxy war) แต่ยังไม่ร้ายแรงถึงขั้นเป็นสงครามโลกในความหมายว่าใช้อาวุธสงครามห้ำหั่นกันทั้งโลก แต่ไม่ได้แปลว่าความเป็นปรปักษ์จะลดน้อยลง
โลกที่เป็นอยู่จริงเป็นเช่นว่า.
ภาพ : Adel al-Jubeir รมต.กระทรวงการต่างประเทศซาอุฯ
ที่มา : https://www.facebook.com/ksamofa/photos/a.501311693212397/2506948445982035/?type=3&theater
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |