หยุดสร้างข่าวลวงเพื่อล้มคู่แข่งขัน


เพิ่มเพื่อน    

 

ในช่วงเวลาที่จะมีการประมูลการสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อสนับสนุนความสำเร็จของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) ที่มีบริษัทและกลุ่มบริษัทเข้าประมูลถึง 31 ราย การแข่งขันค่อนข้างจะรุนแรง จึงทำให้มีการรวมตัวของบริษัทต่างๆ ที่จะนำเอาความรู้ความสามารถและทักษะมารวมกันให้เป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน ประชาชนที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวนี้ก็จะได้รับรู้ว่าบริษัทไหนรวมตัวกันบ้าง ความถนัดของแต่ละบริษัทที่มารวมตัวกันนั้นคืออะไร และมีแนวโน้มที่น่าจะได้เป็นผู้ดำเนินโครงการ เพราะมีความพร้อมทั้งด้านเทคนิคและด้านการเงิน จนทำให้คู่แข่งบางรายเกิดความวิตกว่ากลุ่มบริษัทดังกล่าวน่าจะเป็นผู้ชนะ และได้ใช้วิธีการแข่งขันที่ไม่ถูกต้อง ด้วยการใช้สื่อในเครือข่ายธุรกิจโจมตีคู่แข่งด้วยข่าวที่ไม่จริง (fake news) บ้าง ปล่อยข่าวลือ (rumor) บ้าง ข่าวผิดๆ (misinformation) บ้าง หรือข่าวที่จงใจบิดเบือน (disinformation) บ้าง ทั้งหมดนี้ทำด้วยความตั้งใจที่จะให้ร้ายคู่แข่ง เพื่อให้คู่แข่งถูกชิงชัง ให้คู่แข่งมีภาพลักษณ์เป็นผู้ร้าย ไม่มีความน่าเชื่อถือ และจะได้พ่ายแพ้การประมูล เป็นการตีปลาหน้าไซว่า “อย่าให้รายนี้ชนะนะ เขาเป็นคนไม่ดี” แต่ที่น่าแปลกก็คือ เรื่องการปล่อยข่าวลือข่าวลวงเพื่อทำร้ายคู่แข่งนั้นจะปรากฏอยู่ในกลุ่มสื่อดังกล่าวเพียงกลุ่มเดียว สะท้อนให้เห็นความไม่มีจรรยาบรรณของสื่อที่ทำงานรับใช้นายทุนโดยไม่ยึดหลักความถูกต้อง
 

* ไม่มีการเจรจาขอเช่าพื้นที่ราชพัสดุสร้างเมืองใหม่ก็จะปล่อยข่าวลือว่ามีเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ออกมาชี้แจงก็ไม่ฟังยังเอามาพูดต่ออีก
 

* ไม่มีการขอเช่าที่ 4,000 ไร่ เพื่อสร้างเมืองใหม่ก็หาว่ามี เจ้าหน้าที่ชี้แจงก็ไม่ฟัง
 

* ไม่มีใครจะทำให้เกษตรเดือดร้อน ก็ไปเล่าว่าประชาชนจะต้องถูกไล่ออกจากพื้นที่
 

คู่แข่งไม่ได้สิทธิพิเศษใดๆ ในการเข้าประมูลก็หาว่ามีเพราะมีความสัมพันธ์กับผู้บริหาร ทั้งหมดนี้ทำไปเพื่ออะไร ทำไมไม่สู้กันอย่างตรงไปตรงมา ใครดีใครได้ ใครพร้อมกว่าคนนั้นได้ ในการต่อสู้ควรจะมุ่งนำเสนอโครงการที่ตนเองจะสร้างให้มีจุดเด่นเหนือคนอื่น (ตามที่ตนเองเข้าใจ) และให้โครงการปราศจากจุดอ่อน มุ่งเน้นที่ความพยายามของตนเอง ดีกว่ามุ่งเน้นการตำหนิคนอื่น เอาเวลาที่จะสร้างเรื่องให้ร้ายคนอื่นนั้นไปมุ่งพัฒนาโครงการของตนเองให้ดีเถิด สำหรับคนที่เป็นสื่อก็เช่นกัน ควรจะทำงานอย่างมีจรรยาบรรณ เสนอข่าวที่ถูกต้อง ไม่เสนอข่าวปลอม ไม่เสนอข่าวลวง ไม่เสนอข่าวผิดและบิดเบือน แม้จะถูกบัญชาการโดยนายทุนให้สร้างข่าวหลอก ข่าวลวง ข่าวผิด ข่าวบิดเบือน ก็ควรจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัดก่อนนำเสนอ และถ้าถูกบัญชาให้ทำข่าวที่ไม่จริงก็ต้องมีความกล้าหาญด้วยความสุจริตในวิชาชีพ ที่จะบอกกับนายทุนว่าการทำสื่อต้องมีจรรยาบรรณ ต้องมีความสุจริตในวิชาชีพ ไม่ขายวิญญาณและยอมทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องมีความเป็นมืออาชีพในการหาข่าว หมายความว่า “ทำข่าวได้เก่งกว่ามือสมัครเล่น” และมีความตระหนักรู้และปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ การที่สื่อมวลชนรับใช้นายทุนทำลายความน่าเชื่อถือของคู่แข่งในการเข้าประมูลโครงการของรัฐนั้น ท่านเคยคิดไหมว่าท่านไม่ได้ทำลายคู่แข่งนายทุนของท่านเท่านั้น แต่ท่านอาจจะกำลังทำลายโอกาสของประเทศไทยเช่นกัน เพราะถ้าท่านมีลีลาความสามารถในการสื่อสารท่านก็จะทำให้ประชาชนเกลียดชังคู่แข่งรายดังกล่าว และเมื่อกระแสความเกลียดชังรุนแรงและชัดเจนไปทั่วทั้งสังคม คณะกรรมการก็ต้องคิดหนัก ในที่สุดอาจจะต้องตัดสินใจทำตามกระแสเพื่อความสงบสุขขององค์กรที่จะไม่ถูกก่นด่าจากสังคมว่าไปตัดสินใจให้รายที่มีปัญหาด้านความโปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องจริง การกระทำเช่นนี้คือการตีปลาหน้าไซเพื่อไม่ให้กรรมการผู้คัดเลือกตัดสินใจเลือกคู่แข่ง เป็นการสร้างความชิงชังคู่แข่งให้เป็นกระแสสังคม และต้องการให้กระแสสังคมนี้ไปกดดันคณะกรรมการในการตัดสินใจ การกระทำเช่นนี้เป็นทั้งความไม่มีจรรยาบรรณ และไม่ใช่การต่อสู้กันด้วยความยุติธรรม
 

การเป็นสื่อนั้นต้องยึดหลักธรรมาภิบาล เสนอข่าวที่ถูกต้อง ไม่เสนอข่าวลวง ข่าวหลอก หรือข่าวบิดเบือน ไม่จงใจสร้างข่าวลือเพื่อผลประโยชน์ขององค์หรือบุคคลใดๆ ก่อนจะนำเสนอข่าวใดหากยังไม่มั่นใจในเนื้อข่าวก็ต้องทำข่าวแบบสืบสวน (investigative report) และในการนำเสนอก็ต้องให้ข่าวตามความเป็นจริงอย่างไม่บิดเบือน (precision journalism) ยึดหลักว่า “เรื่องไม่จริง ไม่พูด” และการเป็นสื่อที่ดีต้องไม่ยอมที่จะทำตามคำสั่งของใครให้ทำร้ายองค์กรหรือบุคคลด้วยข้อความอันเป็นเท็จ เมื่อถูกบัญชาให้ทำอะไรที่ไม่ถูกต้องก็ต้องมีความกล้าหาญพอที่จะบอกว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง และไม่ควรทำ ต้องไม่ลืมว่าไม่มีสื่อรายใดเป็นผู้ผูกขาดการให้ข่าวสาร มีสื่ออื่นๆ อีกมากมายที่เขาจะนำเสนอข่าวเดียวกัน เมื่อสื่อใดเสนอข่าวให้ร้ายใคร หรือเชียร์ใครอย่างไม่เป็นความจริง ประชาชนมีโอกาสได้พบเจอข่าวจากสื่อรายอื่นๆ ที่เขานำเสนอข่าวตรงกัน และแตกต่างไปจากข่าวของสื่อที่นำเสนอเรื่องเท็จเพียงรายเดียวนั้น ประชาชนก็จะจับได้ว่าสื่อนั้นโกหก เมื่อเป็นเช่นนั้นประชาชนเขาก็จะไม่หยุดเพียงเท่านั้น เขาก็จะสืบสาวราวเรื่องต่อไปว่า ทำไมสื่อรายดังกล่าวนั้นจึงสร้างข่าวลือ จึงสร้างข่าวลวง จึงทำข่าวเท็จ ในที่สุดพวกเขาก็จะรู้ความจริงว่าสื่อรายนั้นยอมละทิ้งอุดมการณ์ของการเป็นสื่อที่มีจรรยาบรรณเพื่อรับใช้นายทุน สื่อรายนั้นก็จะเสียชื่อเสียง ถ้าเป็นสื่อที่เคยมีภาพลักษณ์ดีมาก่อน ก็จะทำให้ภาพลักษณ์ชื่อเสียงเสียหาย คุณงามความดีที่ได้สั่งสมมาหลายสิบปีก็จะจบสิ้นลงด้วยการกระทำที่ไร้จรรยาบรรณเพื่อรับใช้นายทุนในการทำร้ายคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม รักษาภาพลักษณ์ที่สั่งสมไว้มาอย่างยาวนาน ทำสิ่งที่ถูกต้องดีกว่านะคะ ถือเป็นการปฏิรูปตามแนวทางของการพัฒนาประเทศเถอะค่ะ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"