หอรำลึกเจียงไคเช็ก ในเขตจงเจิ้ง กรุงไทเป
การชดเชยการเสียมารยาทโดยนั่งเป็นเพื่อนคุยกับหนุ่มเกย์สิงคโปร์ถึงตีห้าเพราะไปทักว่าเขาเป็นเกย์ (ซึ่งเขาก็เป็นจริงๆ) ทำให้วันนี้ตื่นมาเวลาประมาณ 11 โมง และกว่าจะพร้อมอาบน้ำแต่งตัวก็บ่ายโมงเข้าไปแล้ว
เพื่อสลัดอาการหนักศีรษะออกไปจึงกินบะหมี่ฟรีและกาแฟฟรีของ NEOSOHO 24/7 WORK & RELAX CABIN แล้วออกจากที่พักในเขตจงเจิ้ง นั่งเมโทรสายสีแดงสู่ “หอรำลึกเจียงไคเช็ก” (Chiang Kai-Shek Memorial Hall) ซึ่งก็ยังอยู่ในเขตจงเจิ้ง และ “จงเจิ้ง” นี้คงมาจากชื่อของ “เจียง ไคเช็ก” ในภาษาจีนมาตรฐานที่เรียกว่า “เจียง จงเจิ้ง”
เป็นที่น่าสังเกตว่าเวลาผมพูดกับคนไต้หวันถึงชื่อ “เจียง ไคเช็ก” พวกเขาจะถามกลับว่า “ใครกัน ?” ผมต้องบรรยายอยู่เป็นนาที แล้วพวกเขาก็จะพูดว่า “อ๋อ เจียง จงเจิ้ง”
หอรำลึกแห่งนี้เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1976 หรือ 1 ปีหลังการเสียชีวิตของ “จอมพลเจียง” ภายในพื้นที่ 240,000 ตารางเมตรของ “จัตุรัสอิสรภาพ” โดยสถาปนิกผู้ชนะการประกวดได้ออกแบบให้คล้ายคลึงสุสานของ “ดร.ซุน ยัตเซ็น” ที่เมืองนานกิง มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1980 วันครบรอบ 5 ปีการเสียชีวิตของอดีตผู้นำคนแรกของไต้หวัน
ทางขึ้นตัวอาคารเพื่อไปยังประตูทางเข้า 2 ฝั่งมีบันไดฝั่งละ 89 ขั้น สื่อถึงอายุของเจียง ไคเช็ก ขณะที่เสียชีวิต ชั้นล่างของอาคารประกอบไปด้วยห้องสมุดและบรรดาเอกสารแสดงชีวประวัติของประธานาธิบดีเจียง รวมถึงประวัติศาสตร์และพัฒนาการของไต้หวัน ส่วนชั้นที่ 2 แสดงรูปปั้น ภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ขณะมีชีวิต สื่อเคลื่อนไหว และนิทรรศการต่างๆ ที่น่าประทับใจมาก
นิทรรศการแสดงภาพถ่ายและข้าวของเครื่องใช้ของ “จอมพลเจียง”
ผมค่อนข้างสนใจประเด็นที่เขาเดินทางไปเรียนจนจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยของญี่ปุ่น และช่วงที่เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 (ก่อนจะตามมาด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2) เจียง ไคเช็ก ได้นำกองทัพจีนของเขายืนหยัดต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นอยู่ถึง 8 ปี ก่อนจะเป็นผู้ประกาศชนะศึกพร้อมๆ กับห้ามปรามประชาชนไม่ให้แก้แค้นศัตรูผู้รุกรานและให้ร่วมกันสร้างชาติขึ้นมาใหม่ จนจีนกลายเป็น 1 ใน 4มหาอำนาจของโลก แม้ว่าต่อมาจะต้องนำทัพหนีลงมายังเกาะไต้หวันในปี ค.ศ. 1949 เพราะไม่อาจต้านกำลังของจีนคอมมิวนิสต์ได้ และเท่ากับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองที่กินเวลา 2 ช่วง ยาวนาน15 ปี
เดินดูอยู่จนเกือบจะทั่ว เจ้าหน้าที่ก็ประกาศหมดเวลาเยี่ยมชมตอน 6 โมงเย็น ก่อนจะขึ้นเมโทรกลับที่พักได้เดินผ่านร้านผลไม้ปั่นของป้าริมถนน เขียนกำกับไว้ว่าเป็นแบบออร์แกนิก จึงสั่งฝรั่งมาดื่มเสริมวิตามินซี 1 แก้ว ราคาแค่ 40 เหรียญไต้หวัน ถัดจากร้านป้าเป็นร้านกาแฟ มีอาหารจำพวกเบอร์เกอร์ บาร์บีคิว เครื่องดื่มคอกเทล และเบียร์ขายด้วย เมื่อเห็นแม่ค้าและได้สบตาไป 2 วินาทีก็คิดว่าป้าไม่น่ามาเปิดร้านดักอยู่ก่อนเลย
แม่ค้าสาวกำลังจัดแจงเครื่องดื่มให้กับนักท่องเที่ยวฝรั่งคู่หนึ่ง ไอ้หนุ่มแอบถ่ายรูปเธอตอนทำงาน พอเธอหันมาโดยที่เขาไม่ทันตั้งตัวก็บอกให้เธอยิ้ม เธอก็ยิ้มอย่างร่วมไม้ร่วมมือ ฝ่ายหญิงสาวที่มากับไอ้หนุ่มด้วยก็ไม่ว่าอะไร ส่วนผมได้แต่ยืนดูดน้ำฝรั่งชำเลืองมองอยู่ห่างๆ
ตัดสินใจไม่กลับที่พัก นั่งเมโทรไปโผล่ที่ย่านซินยี่ เพื่อดู "ไทเป 101" ตึก 101 ชั้น ความสูง509.2 เมตร แล้วต่อไปยังย่านซิเหมิน ออกจากสถานี Ximen ก็พุ่งไปเข้าแถวซื้อของทอดร้านที่ซื้อเมื่อวันก่อน คราวนี้ขอเปลี่ยนจากไก่ทอดเป็นเห็ด หนักงานถามว่า “เผ็ดไหม ?” ผมตอบว่า “ไม่เผ็ด” เห็ดที่ได้กลับไม่มีรสชาติอะไรเลยนอกจากเห็ดกับน้ำมัน แล้วเข้ามินิมาร์ทไปซื้อเบียร์มากินคู่กับเห็ดทอดจืดบนม้านั่งแถวนั้นที่ผู้คนกำลังพลุกพล่าน จากนั้นก็ไปซื้อกระเป๋าเป้ใบเล็กในร้านใหญ่ที่เขียนป้ายลดราคาตัวโตซึ่งเล็งไว้ตั้งแต่วันแรกแล้ว
จำลองห้องทำงานของมหาบุรุษแห่งไต้หวัน
เดินไปเดินมาอยู่ได้สักพัก สุดท้ายก็จบลงที่ย่านบาร์หลังตึกแดงอยู่ดี คราวนี้ไม่นั่งร้านเดิมเพราะดูเงียบเหงาเหลือเกิน เปลี่ยนเป็นร้านเล็กๆ มีลูกค้าสามสี่โต๊ะ ดูลิสต์เบียร์แล้วไม่มีอะไรน่าดื่ม สั่งไฮเนเก้นขวดเล็กในราคา 150 เหรียญ ทั้งที่ผมไม่ค่อยชอบเบียร์ขวดเขียวนี่เท่าไหร่ บาร์นี้ชื่อ Young Man Barคิดเอาว่าเป็นบาร์สำหรับคนหนุ่ม พอพิจารณาดูเด็กเสิร์ฟแล้วก็พบว่าเป็นเด็กหนุ่มรูปร่างกำยำกันทุกคน ทำให้ระแวงว่าเป็นบาร์เกย์หรือเปล่า หรือหุ่นดีไว้ล่อกลุ่มลูกค้าสาวๆ กันแน่ แต่ก็มีอยู่แค่ฝรั่งสาว 2 คนซึ่งคุยกันเองตลอดเวลา หมดขวดผมก็ออกเดิน เพราะรู้สึกว่าไม่น่านั่งเท่าไหร่
เดินไปเรื่อยๆ ในทิศทางกลับที่พัก สุดท้ายก็เจอ Oxygen Bar บาร์เบียร์ของ Oxygen Hostel ที่พลัดหลงมาแวะดื่มเมื่อคืนวาน คืนนี้ผมสั่งเอลตัวเด่นชื่อ #1 มาดื่ม 1 ไพนต์ ได้ความจากคืนก่อนว่าร้านนี้เจ้าของเป็นอเมริกันที่มาอยู่ไต้หวัน และเบียร์นี่ก็มาทำในไต้หวัน รสชาติดีทีเดียว เรื่องเบียร์คราฟต์นี่ของอเมริกันเขาไม่เป็นรองใคร และพอมาขายในไต้หวันราคาก็แค่ไพนต์ละ 100 เหรียญ หรือประมาณ 110บาท ราคานี้หาทั่วเมืองไทยก็ไม่เจอครับ เพราะอะไรต้องไปถามพวกยักษ์ใหญ่และผู้ออกกฎหมายเอาเอง
วันนี้สาวรับออร์เดอร์หน้าตาดีและดูจะยุ่งตลอดเวลา เหมือนเธอจะทำงานให้โฮสเทลด้วย ผมเดินไปขอพาสเวิร์ด Wi-fi เธอก็ยิ้มบอกอย่างน่ารัก แต่คืนนี้ผมอยู่ไม่นาน เบียร์หมดแก้วก็เดินกลับที่พักเพราะมีซิงเกิ้ลมอลต์ Maccanlan เหลืออยู่ให้จัดการอีกเกือบครึ่งขวด
แวะซื้อขนมขบเคี้ยวขึ้นไปกินแกล้มในพื้นที่ส่วนกลางของที่พักแล้วปิดท้ายด้วยบะหมี่ฟรี แต่พอเข้านอนหลับไปได้ไม่นานก็เจอเสียงกรนมหาภัย ตอนแรกนึกว่ามาจากห้องลุงอเมริกันที่เพี้ยนๆ ชอบเปิดเพลงหวานๆ แต่กลายเป็นอีกห้องถัดไปอีกด้าน เมื่อทนไม่ไหวก็เดินออกไปหน้าฟรอนต์ขอให้รีเซ็พชั่นเกย์หนุ่มเปลี่ยนห้องให้ เขาใจดีเปลี่ยนให้ไปนอนในโซนที่ไม่ได้รับลูกค้า (คนละห้องโถงกัน) มีเพียงเพื่อนร่วมงานของเขานอนอยู่บางห้อง ผมฉวยข้าวของเท่าที่ถือได้ออกมาจากห้องเดิมแล้วเข้านอนห้องใหม่ ต้องขอบคุณเกย์หนุ่มจากใจจริง
รถยนต์คาดิลแลก รุ่น “ฟลีทวู้ด” ของอดีตผู้นำไต้หวัน
วันต่อมาแม้จะตื่นมาทันอาหารเช้าแต่ก็เหลือไม่มากแล้ว กินเสร็จก็กลับไปต้องนอนต่อจนถึงบ่ายโมงเพราะยังเพลียอยู่ ตื่นอีกครั้งมากินกาแฟจากเครื่องที่ใส่แคปซูลกาแฟสดเข้าไป กดปุ่มแล้วน้ำกาแฟก็ไหลลงถ้วย ผมกินแบบ Strong ไป 1 ถ้วย และแบบ Light อีก 1 ถ้วยก็ฟื้นคืนชีพเดินไปขึ้นเมโทรสายสีแดงสายเดิมไปยังสถานีหอรำลึกเจียงไคเช็กอีกครั้ง แต่ออกประตูคนละฝั่งถนนกับร้านกาแฟสาวสวยเมื่อวาน พยายามวางมาดพระเอกหนังจีนยุค 90's ค่อยๆ หันไปมองทางร้านของเธอ ปรากฏว่าร้านเธอปิด ร้านป้าขายน้ำผลไม้ก็ปิด คงเพราะวันนี้เป็นวันอาทิตย์
หัวถนน Nanhai Road ซึ่งอยู่ตรงข้ามถนนที่จะเดินไปยังหอรำลึกเจียงไคเช็ก มีตลาดสมุนไพรตั้งอยู่ในอาคาร ผมลองเดินแหย่เข้าไป เห็นแบ่งประเภทกันวางขายในแต่ละชั้น มีส่วนที่เป็นตลาดสดและร้านอาหารอยู่ในนี้ด้วย ก่อนจะออกมาแล้วเดินยาวไปยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ (National Museum of History) ค่าเข้าชมแค่ 30 เหรียญ
ผมรู้สึกประทับใจกว่าพิพิธภัณฑ์กู้กง หรือพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติเสียอีก ผู้เข้าชมค่อนข้างน้อย จัดแสดงของหายากประเภทเครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ ของใช้ทำจากสำริด อาวุธโบราณ เครื่องราง ตราสัญลักษณ์ งานแกะสลัก ของประดับตกแต่ง ฯลฯ ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีชาติจีน เก่าแก่ชนิด 8– 9 พันปีก็มี ของสะสมมีหลากหลาย อาทิ ภาพเขียนพู่กันจีน ตัวอักษรที่เขียนจากพู่กันจีน การจัดแสดงนิทรรศการงานฝีมือจากหยก นิทรรศการละครจีนโบราณ และที่สำคัญสามารถถ่ายรูปได้
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี ค.ศ. 1955 ถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ชาติแห่งแรกที่สร้างขึ้นในไต้หวัน ในยุคเริ่มแรกจัดแสดงเพียงภาพและโมเดลเท่านั้น กระทั่งปี ค.ศ. 1956 กระทรวงศึกษาธิการได้ส่งมอบงานฝีมือจีนที่ถูกญี่ปุ่นยึดไปตั้งแต่สงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1894 – 1895) จำนวน 2ล็อต จากนั้นก็ได้ของสะสมมาจากอดีตพิพิธภัณฑ์แห่งมณฑลเหอหนานอีกชุดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นฐานของคอลเล็คชั่นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่ปัจจุบันมีของสะสมมากถึงกว่า 6 หมื่นชิ้น มี 5 ชิ้นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุประจำชาติโดยกระทรวงวัฒนธรรม และ 42 ชิ้นในฐานะโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ
งานปั้นสามสี ขุดพบจากสุสานราชวงศ์ถังในเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน
ตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์มีจำนวน 4 ชั้น ขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า ส่วนที่เป็นระเบียงของชั้น 4 มีจุดพักผ่อนชมวิวสระบัวด้านล่าง ชั้น 2 และชั้น 3 มีร้านอาหารและร้านกาแฟที่ตกแต่งสวยงาม บรรยากาศดี ชั้นล่างขายของที่ระลึก
ในละแวกนี้มีพิพิธภัณฑ์อีกอย่างน้อย 4 – 5 พิพิธภัณฑ์ให้เลือกเข้าชมตามความสนใจ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์ที่เดินผ่านเมื่อตอนบ่าย ขาเดินกลับผมแวะร้านอาหารร้านแรกที่เจอเพราะท้องร้องหนักตั้งแต่อยู่ในพิพิธภัณฑ์แล้ว สั่งบะหมี่โดยชี้ไปที่รูปในเมนู บวกไข่ต้มใบชา 1 ฟอง ราคาเพียง 75เหรียญไต้หวัน ต้องจ่ายเงินก่อนตามระเบียบของร้านจำนวนมากที่นี่ รออยู่นานเหมือนกันกว่าจะได้บะหมี่ชามใหญ่มาวางตรงหน้า ซึ่งผลออกมาไม่ผิดหวัง
เมื่อกลับถึงที่พักก็เจอหนุ่มเกย์สิงคโปร์คนที่ผมต้องนั่งคุยเป็นเพื่อนจนถึงตี 5 เมื่อวันก่อน เขา (เธอ) ไปเที่ยวเกาสง เมืองชายทะเลทางใต้มา 2 วัน ขณะที่ผมผ่อนคลายด้วยเบียร์กระป๋องอยู่ที่โต๊ะเขาก็เข้ามานั่งเล่าถึงเรื่องไปเที่ยว และชวนไปดินเนอร์ ผมบอกว่า “ปวดเท้า ไปเถอะ ถ้ากลับมาไม่ดึกมากก็คงยังนั่งอยู่ตรงนี้”
ผมลงจากที่พักไปซื้อเบียร์เดินดื่มกลับมา (จนตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเสียมารยาทหรือผิดกฎอะไรหรือไม่) หนุ่มรีเซ็พชั่นหน้าใหม่แนะนำให้ไปกินบะหมี่ร้านหนึ่ง ผมเกิดหิวขึ้นมาอีกจนได้จึงลงจากที่พักไปอีกรอบ เดินไปตามลายแทงแต่สับสนไม่รู้ว่าร้านไหน เดินวนไปเวียนมาอยู่พักหนึ่งก็นั่งที่ร้านบะหมี่ที่เขียนว่า 24ชั่วโมง จะนั่งริมบาทวิถี หรือนั่งบนเคาน์เตอร์ประจันหน้ากับคนขายก็ได้ ผมชี้สั่งไปที่รูปภาพเมนู พ่อค้าและพ่อครัวในคนเดียวกันบอกว่าหมด ตอนนี้มีอยู่อย่างเดียว เป็นบะหมี่ซุปข้นๆ ผมก็ไม่ขัด เขาตักใส่ชามกระดาษขนาดเล็กมาในราคา 40 เหรียญ อร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ จึงคิดว่าน่าจะเดินมาถูกร้านตามคำแนะนำ
สิ่งแสดงในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ขวามือสุดคือเตาสำริดก่อนสมัยพุทธกาลราว200 – 400 ปี
ก่อนกลับขึ้นห้องพักผมเดินไปซื้อเบียร์อีกกระป๋องและไก่ทอด TKK 1 ชิ้นกลับที่พัก ไก่รสชาติเข้ากับเบียร์ได้ดี เบียร์หมดผมก็ต่อด้วยซิงเกิลมอลต์ที่เหลืออยู่นิดหน่อย หนุ่มรีเซ็พชั่นคนใหม่พูดภาษาอังกฤษได้ไม่คล่องแต่อัธยาศัยดีที่สุด เดินเข้ามาแนะนำอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง พอจะเข้านอน หนุ่มเกย์สิงคโปร์ก็กลับมาจากดินเนอร์ ผมต้องนั่งคุยอีกเกือบครึ่งชั่วโมง แล้วเขา (เธอ) ก็ขอเฟซบุ๊กไปจนได้
เช้าวันต่อมาผมนั่งรถบัสจากอาคารใกล้ๆ Main Taipei Station ไปสนามบิน ผู้หญิงไทย 3 คนขึ้นมานั่งข้างๆ ตอนลงจากรถเห็นขนาดกระเป๋าของแต่ละคนที่พยุงกันออกมาจากที่เก็บสัมภาระใต้ท้องรถก็รู้เลยว่ามาเพื่อการใด มันคือสิ่งที่ชาวไทยไม่แพ้ใครในโลก “ช็อปปิ้ง” นั่นเอง
ตอนผ่าน ตม. สนามบินดอนเมือง แม่สาวชาวไทยทั้ง 3 อนงค์ไม่มีใครมีปากกาเพื่อจะเขียนข้อมูลลงบัตรขาเข้า จึงให้ยืมไป 2 ด้าม เป็นปากกาฟรีที่เขียนดีมาก ผมหยิบมาจาก NEOSOHO 24/7 WORK & RELAX CABIN
หันหลังกลับไปเพราะคิดว่าพวกหล่อนจะเอาปากกามาคืน แต่ภาพที่เห็นคือมีคนยืมต่อกันไปเป็นทอดๆ เหมือนว่าเครื่องบินทั้งลำไม่มีใครมีปากกาเลย
ผมจึงเปลี่ยนเป็นโบกมือบ๊ายบาย.
ภาชนะใส่น้ำอายุระหว่าง 3,300 – 4,800 ปีก่อนพุทธกาล
โซนภาพเขียนพู่กันจีนในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |