อลหม่านรีดเงินสมทบบุหรี่ 2 บาท/ซอง รัฐยันจำเป็น เอกชนเต้นอยู่ไม่ได้!


เพิ่มเพื่อน    

 

 

อีโคโฟกัส

 

กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอีกครั้ง หลังมีข่าวว่ารัฐบาลจะเก็บเงินสมทบจากบุหรี่อีกซองละ 2 บาท ซึ่งแน่นอนว่าเงินสมทบที่ถูกเก็บเพิ่มขึ้นนี้ ต้องมีผลต่อราคาขายปลีกบุหรี่ในท้องตลาดแน่นอน นั่นเพราะผู้ประกอบการไม่สามารถทนแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ “ผู้บริโภค” จะถูกผลักภาระให้แบกจำนวนเงินที่ถูกเรียกเก็บเพิ่มนี้ไว้เอง

ขณะที่ประชาชนก็ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นในมุมที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเก็บเงินสมทบจากบุหรี่เพิ่มอีกซองละ 2 บาท เพื่อนำไปใช้รองรับในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมองว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม ที่จะเก็บเงินจากผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพ เพื่อไปใช้ในการดูแลสุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ กันออกไป ขณะที่บางกลุ่มก็มองว่าเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้จำกัด และมุมมองต่าง ๆ อีกมากมาย

ต้องบอกว่า ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง แต่ก็แว่วว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบกฎหมายนี้เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งยังมีการประเมินกันอีกว่า คงจะใช้เวลาไม่นานนักที่กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ในที่สุด

ย้อนกลับมาจุดเริ่มต้นของประเด็นนี้ เมื่อกระทรวงการคลังได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยงานบริการภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งสาระสำคัญคือ การให้เก็บเงินจากบุหรี่อีกซองละ 2 บาท ให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคิดเป็นเงินปีละประมาณ 3 พันล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ว่า กองทุนฯ ดังกล่าว ได้รับเงินสนับสนุนจากงบประมาณปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ จึงต้องหาแหล่งเงินเพิ่มเติม จนกลายเป็นเหตุผลที่ว่ากระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการยกร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขยังได้มีการทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เรียบร้อยแล้ว และแน่นอนว่า เสียงตอบรับมีทั้งแง่บวก และแง่ลบ แต่ส่วนใหญ่จะเอนเอียงไปในทางไม่เห็นด้วยเสียมากกว่า นั่นเพราะมีการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า “อะไรเป็นเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาว่าต้องเก็บเงินสมทบจากสินค้าบาป คือ บุหรี่ เพียงสินค้าเดียว ไม่รวมสินค้าบาปชนิดอื่น ๆ อาทิ สุรา เบียร์ และยาเส้น เหมือนกับการเก็บเงินภาษีเข้ากองทุนอื่น ๆ ที่มีการตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้”

ขณะที่ทางฟากฝั่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันว่า ประเด็นการเก็บเงินสมทบจากสินค้าประเภทบุหรี่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ!

 

 

ในมุมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบุหรี่นั้น แน่นอนว่า ไม่มีใครเห็นด้วยกับเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนหนึ่งให้เหตุผลว่า จากผลกระทบภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560 ซึ่งมีการปรับอัตราภาษียาสูบใหม่ โดยจัดเก็บด้านปริมาณ อยู่ที่ 1.20 บาทต่อมวล ขณะที่ด้านมูลค่าสำหรับบุหรี่ที่ราคาไม่เกิน 60 บาทนั้น จะอยู่ที่ 20% ส่วนบุหรี่ที่ราคาสูงกว่า 60 บาท จะอยู่ที่ 40% และภายในเดือน ต.ค. 2562 จะมีการปรับภาษีในส่วนมูลค่าขึ้นเป็น 40% เท่ากันหมดทุกชนิดราคาบุหรี่ ตรงนี้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ “การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ทำให้ยอดขายหายวูบไปจาก 80% เหลือ 60% เท่านั้น และจากที่เคยมีกำไรซองละ 7 บาท ก็เหลือกำไรซองละไม่ถึง 1 บาทด้วยซ้ำ นั่นสะท้อนชัดเจนว่า หากรัฐบาลไฟเขียวเก็บเงินสมทบเพิ่มจากบุหรี่อีกซองละ 2 บาท จะทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุนยับเยิน

แม้ว่าเรื่องนี้จะยังไม่ผ่านความเห็นชอบของ ครม. แต่ล่าสุด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาชี้แจงแล้วว่า “กำลังพิจารณาอยู่”  ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุถึงประเด็นดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพราะไม่ได้ต่างไปจาก พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้ อปท. รวมทั้งกรุงเทพมหานครจัดเก็บภาษีการค้าปลีกบุหรี่มวนละ 10 สตางค์ ซึ่งไม่ต่างกับกฎหมายที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยเงินที่จัดเก็บเพิ่มก็นำมาช่วยกองทุนสุขภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์

ด้าน “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.การคลัง ยอมรับว่า หากมีการเก็บเงินจากบุหรี่เพิ่มอีกซองละ 2 บาท จะกระทบกับอุตสาหกรรมบุหรี่ทั้งระบบ ไม่ได้กระทบเฉพาะ ยสท. แห่งเดียวเท่านั้น แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่ากระทรวงสาธารณสุขเองก็มีความจำเป็น เพราะเงินจากกองทุนฯ มีไม่พอใช้ ก็มีความจำเป็นจะต้องหาแหล่งเงินที่มีความมั่นคง และการเก็บเงินสมทบเพิ่มจากบุหรี่ ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ จึงน่าจะทำได้

สำหรับข้อสังเกตที่ว่าง พ.ร.บ. จัดเก็บเงินสมทบฯ จะขัดกับ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง หรือไม่นั้น มีจุดที่ต้องพิจารณาคือ มาตรา 25 และมาตรา 26 หากเป็นเรื่องการเก็บภาษีกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเสนอมาให้กระทรวงการคลังพิจารณา แต่ถ้าไม่ใช่การเก็บภาษี กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่จำเป็นต้องส่งกฎหมายมาหารือ กับอีกประเด็นที่เป็นข้อข้องใจ ว่าเหตุใดจึงเก็บเงินสมทบจากบุหรี่เพียงสินค้าเดียว แต่ไม่เก็บจากสินค้าบาปชนิดอื่น ๆ รมว.การคลัง ชี้แจงว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดว่ากระทรวงสาธารณสุขมีวัตถุประสงค์อะไรจึงเก็บเฉพาะบุหรี่เท่านั้น

เรื่องเงินสมทบจากบุหรี่ยังไม่จบดี ก็มีประเด็นให้ตามต่ออีกว่า กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างทบทวนโครงสร้างภาษียาสูบในภาพรวม โดยเฉพาะภาษียาเส้น ที่ยอมรับว่าปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีในอัตราต่ำมาก แม้ว่าจะมีการปรับอัตราใหม่ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2560 ก็ตาม แต่ราคายาเส้นก็ยังต่ำกว่าราคาบุหรี่ซองอย่างมาก จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคยาเส้นมากขึ้น แม้จะทราบดีว่ายาเส้น “ทำลายสุขภาพมากกว่า” เพราะคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างกัน

ภาษียาเส้นเคยมีการปรับอัตรามาแล้ว ซึ่งตอนนั้นมีการคิดแบบ 2 เทียร์ แต่โครงสร้างใหม่เหลือแค่เทียร์เดียว เช่น ยาเส้นปรุง เก็บ 10% ของมูลค่าและกรัมละ 1.20 บาท ซึ่งต่ำกว่าการเก็บภาษีบุหรี่ที่ 20-40% ตามมูลค่าและมวนละ 1.20 บาท ทำให้คนหันไปบริโภคยาเส้นมากขึ้น โดยกรมฯ ยอมรับว่าการปรับปรุงภาษียาเส้นจะต้องคิดให้รอบคอบ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน อาจกระทบกับอาชีพของชาวบ้านได้


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"