เวทีรับฟังความคิดเห็นโรงไฟฟ้ากระบี่คึก ประชาชนกว่า 2,500 ร่วม ไร้เหตุรุนแรงท่ามกลางการอารักขาเข้ม กลุ่มหนุนเผยคนในพื้นที่จริงอยากได้ ส่วนกลุ่มต้านเมินเวทีบอกไม่โปร่งใส “ถวิลวดี” เล็งชง กม.มีส่วนร่วม
เมื่อวันอาทิตย์ นางถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะคณะผู้ริเริ่มเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสาธารณะ พ.ศ. ... เผยว่าในวันจันทร์ที่ 29 ม.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ตนเองพร้อมคณะจะยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ โดยกําหนดให้มีการรับรองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งกําหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ถือเป็นกลไกสําคัญที่จะช่วยให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นได้และเป็นไปอย่างมีความหมาย
“จุดเด่นของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ เป็นกฎหมายกลางด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และเพื่อให้การมีส่วนร่วมของประชาชนมีมากกว่าการรับรู้นโยบาย แต่ต้องการเสริมอำนาจของประชาชนให้มีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของรัฐ” นางถวิลวดีกล่าว
วันเดียวกัน ที่ทำการ อบต.คลองขนาน ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping หรือ ค.1) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ (ส่วนขยาย) 800 เมกะวัตต์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ครั้งที่ 1 โดยมีผู้มาลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 2,500 คน ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบจากหลายภาคกว่า 2 พันนายมารักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
โดยตามจุดต่างๆ ทั้งทางตรงและทางแยกก่อนเข้าไปยังเวทีรับฟังความคิดเห็น ได้มีการตั้งจุดตรวจทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกรวมฝั่งละ 3 จุด เพื่อคอยตรวจตรารถที่ผ่านไปมาอย่างเข้มงวด ป้องกันมือที่สามเข้ามาก่อความวุ่นวาย
พล.ต.ต.บุญทวี โตรักษา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ได้เตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง อาสาสมัครรักษาความสงบหมู่บ้านรวมกว่า 1,150 นาย วางกำลังภายในบริเวณที่จัดเวทีและตามจุดต่างๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนกับกลุ่มผู้คัดค้าน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งที่ผ่านมา โดยมั่นใจว่าการจัดเวทีครั้งนี้จะไม่เกิดเหตุรุนแรงอย่างแน่นอน
นายสมควร ขันเงิน รองผู้ว่าฯ จ.กระบี่ ในฐานะประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็น ค.1 เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยทุกความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของโครงการให้ครบถ้วนรอบด้าน ครอบคลุมทุกข้อกังวลและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
สำหรับการจัดรับฟังความคิดเห็นได้แบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.การแสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบสอบถาม และแสดงความคิดเห็นด้วยวาจา โดยให้เวลาคนละ 5 นาที จากจำนวน 57 คน ซึ่งบรรยากาศในการแสดงความคิดเห็นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ขณะเดียวกันก่อนเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ตัวแทนเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ 4 ตำบลใน อ.เหนือคลอง นำโดยนายฐานิตย์ เอ่งฉ้วน ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.เหนือคลอง, นายดำรัส ประทีป ณ ถลาง ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมตัวแทนผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่ อ.เหนือคลอง ได้แถลงจุดยืนเพื่อแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยระบุว่าคนกระบี่ในพื้นที่ต้องการความมั่นคงทางพลังงาน และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา จนก่อให้เกิดความเสียหายไปทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
ขณะที่กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกระบี่ โดยนายอมฤต ศิริพรจุฑากุล หนึ่งในแกนนำกล่าวว่า เครือข่ายฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดเวทีดังกล่าว เนื่องจากการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพของ กฟผ.ถูกยกเลิกมาครั้งหนึ่งแล้วโดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรี แต่ กฟผ.ก็นำโครงการเดิมกลับมาใหม่อีกครั้ง ดังนั้นการจัดทำเวที ค.1 ในครั้งนี้จึงไม่มีความโปร่งใส เราจึงไม่ให้ความสำคัญกับเวทีดังกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |